สู้ Pride ด้วยสติ


เมื่อกี้ผมรู้สึกดีใจเล็กๆ เพราะ ClassStart มีสมาชิกใหม่มาจากโรงเรียนสอาดเผดิมวิทยา จ.ชุมพร แต่ยังไม่ได้เห็นสมาชิกจากโรงเรียนศรียาภัยซึ่งเป็นโรงเรียนเก่าสมัยมัธยมของผมเลย แต่ยังไงก็คิดว่าอีกไม่นานก็คงจะได้เห็นครับ

ทำ ClassStart นี่ผมได้ผลตอบแทนทางใจมาก แต่ละวันผมจะคลิกดูรายการสมาชิกใหม่วันละเกือบร้อยรอบ (ได้มั้ง) และเวลาเห็นสมาชิกที่เพิ่มขึ้นแต่ละคนก็จะมีความสุขเล็กๆ ทุกครั้ง

เรื่อง "ผลตอบแทน" จากการทำงานในชีวิตของมนุษย์เรานี่่น่าคิดทีเดียว แน่นอนว่าเราต้องทำงานเพื่อให้มีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว ที่จริงแล้วเราไม่ได้ทำงานเพื่อเงิน แต่เราทำงานเพื่อให้ได้ปัจจัยต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เพียงแต่เราไม่สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้โดยตรง เราเลยต้องทำทางอ้อมเพื่อเอาผลงานไปแลกเปลี่ยนกับผู้ที่ทำสิ่งที่เราต้องการทางตรงเท่านั้นเอง

โดยทั่วไปเราจะทำงานได้ "เกินความต้องการ" หมายความว่าผลงานของเรานั้นจะเกินความต้องการเพื่อเลี้ยงตัวให้รอด ผลงานที่เหลือเก็บซึ่งแปลงสภาพเป็นตัวเงินแล้วนั่นเราสะสมไว้เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในอนาคต

แต่มนุษย์เราก็แปลก พอเราทำได้เกินความต้องการจนมีเก็บ เราก็ปรับ "ความต้องการ" ของเราให้เพิ่มขึ้นไปให้เท่ากับความสามารถในการทำงานของเรา อย่างไรก็ตามมนุษย์เรามีความสามารถในการประมาณที่ไม่สมบูรณ์ หมายความว่าบางครั้งเราปรับความต้องการจนเกินความสามารถทำให้กลายเป็นความทุกข์ไปที่ต้องทำงานเกินตัว

ความต้องการนี่ไม่ได้อยู่ในรูปที่แปลงสภาพเป็นเรื่องเงินได้อย่างเดียวนะครับ บ่อยครั้งที่เรามีความต้องการที่จะแปลงสภาพเป็นการตอบสนองความฝัน ชื่อเสียง หรืออื่นๆ ที่เป็นสิ่งนับไม่ได้อีกมากมาย พวกนี้เป็นทุกข์ทั้งนั้น ไม่ได้ต่างกับความต้องการที่แปลงเป็นตัวเงินนับได้เลย

ที่จริงแล้วผมขึ้นต้นบันทึกนี้ว่าผมมีความสุขในการได้เห็นสมาชิกเพิ่มขึ้นใน ClassStart พอเขียนมาถึงตรงนี้แล้วผมก็ไม่แน่ใจว่าความสุขที่ผมมีนี้จะเหมือนหรือแตกต่างจากนักธุรกิจที่เห็นกำไรในบัญชีเพิ่มขึ้นอย่างไร ผมเองก็ไม่ได้ทำธุรกิจที่จะมีตัวเงินในบัญชีให้รู้สึกเพื่อจะได้เปรียบเทียบความเหมือนหรือความต่าง

แต่อย่างหนึ่งที่ผมรู้คือ การทำงานที่ไม่หวังผลทางการเงินแต่หวังผลตอบแทนทางจิตใจนี่ก็สร้างความทุกข์ได้ไม่น้อยทีเดียวถ้าไม่ระวังตัวตั้งสติให้ดี

เหมือน ClassStart นี่ ภายในเวลาเพียงครึ่งปีมีสมาชิกแล้วเกือบห้าหมื่นคน หมายความว่าระบบนี้มีประโยชน์แน่นอนต่อการศึกษาของไทย ความรู้สึกนี้สร้างความเร่าร้อนในใจผมมากทีเดียว ผมเกิดความอยากที่จะทำโน่นทำนี่มากมายเพื่อให้ระบบดีมากที่สุด ความคิดความฝันวิ่งเข้ามาเองในสมองตลอดเวลาไม่ได้อยู่นิ่ง

เชื่อไหมครับ ความรู้สึกว่าตัวเองสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้นี่เป็นทุกข์อีกแบบหนึ่ง เป็นความเร่าร้อน พลุ่งพล่านใจ ไม่มีความสงบ อธิบายลำบากครับ แต่ไม่ใช่ความสุขแน่นอน เพราตกอยู่ในวังวนมายาคติของความคิดของตัวเอง

ผมคิดว่าความรู้สึกนี้คือบาปที่อันตรายที่สุดในบาปทั้งเจ็ด (Seven Deadly Sins) ในศาสนาคริสต์ นั่นคือ "ความหลงทะนงตน" (Pride) นั่นเอง

ก่อนหน้านี้ผมไม่ค่อยเข้าใจบาปทั้งเจ็ดเท่าไหร่ ผมค่อนข้างจะเถียงด้วยซ้ำว่าเรียงลำดับผิดพลาด แต่ชีวิตที่อายุมากขึ้นและได้เจอประสบการณ์ทั้งสุขทั้งทุกข์มากขึ้นทำให้ผมเข้าใจมากขึ้นและรู้แล้วว่าลำดับของบาปทั้งเจ็ดนั้นไม่ได้ผิดพลาดเลย

Pride นี่อันตรายมาก แต่เดี๋ยวนี้ผมมีอาวุธดี นั่นคือ "สติ" (mindfulness) ที่จะไม่ทำให้ตัวเองหลงลงไปกับ Pride ครับ สตินี่เป็นอาวุธที่ดีที่ทำให้เราเอาตัวรอดจากบาปทั้งหลายได้ดีมาก แต่ก็ต้องอาศัยการฝึกฝนอยู่ไม่น้อย ที่จริงแล้วการฝึกสติเป็นทักษะที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์มากทีเดียว

สตินี่เป็นศัพท์ของพุทธ แต่ที่จริงแล้วเป็นปรัชญาที่มีอยู่ในทุกศาสนาอยู่ที่ว่าจะอธิบายกันในรูปแบบอย่างไร บันทึกนี้คงต้องมีภาคต่อไปที่จะอธิบายว่าศาสนาอื่นๆ สอนเรื่องสติอย่างไรตามในมุมมองที่ผมสังเกตมา

ไว้ได้เขียนเมื่อไหร่ก็อย่าลืมคลิกอ่านกันนะครับ

ส่วนบันทึกนี้ที่เหมือนกับการบ่นกับตัวเองเพราะขึ้นต้นจนลงท้ายแทบจะไม่เกี่ยวกันเลยก็คงต้องจบเพียงแค่นี้

หมายเลขบันทึก: 495665เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2012 19:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 สิงหาคม 2012 04:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)
  • ยินดีด้วยกับ classstart ค่ะ..สมควรแก่การ pride 
  • คำนี้ ทำให้นึกถึง pride parade ที่ san francisco อิๆ
  • รออ่านประสบการณ์ มุมมองของอาจารย์ค่ะ : ดำรงความภูมิใจอย่างไร ไม่ให้กลายเป็นหลงตัวเอง..หรือติดกับดัก จนทำเกินกำลัง 
  • สัปดาห์นี้อ่าน Leadership and self deception แล้วติดหนึบ ทำให้รู้ว่าภาวะหลงตน "อย่างละเอียด" (อย่างหยาบคือคุยโม้โอ้อวด) คือการ "ติดดี" มีผลให้มองคนอื่นในแง่ลบ ว่างๆ จะมา ลปรร. อีกค่ะ

จริงๆ pride นี่มีศัพท์ที่เทียบเท่ากันในศาสนาพุทธด้วยนะครับ แต่ผมนึกไม่ออกครับ (ตอนนี้ก็ยังนึกไม่ออก)

ส่วนมากจะแปล "มทะ" และ "มานะ" ว่า pride ครับ "อติมานะ" หรือ "อภิมานะ" ก็ใช้ แต่ไม่ค่อยเจอ (อาจมีคำอื่นอีก)

  • สวัสดีค่ะอาจารย์
  • ไม่เคยติดตามบันทึกอาจารย์มาก่อน  พอได้อ่านอย่างละเอียด ประณีตจึงได้เห็นสาระหลายๆ อย่างที่ต้องกับจริตของตัวเองมากทีเดียว ทำให้อยากติดตามไปเรื่อยๆ
  • ดิฉันคิดว่าในทุกๆ ศาสนามี "แก่น" ที่ตรงกัน ต่างกันที่วิธีสอน และเมื่อได้ศึกษาพุทธศาสนา (แม้ไม่ต้องลึกซึ้งมาก) ก็ได้เห็นความเป็นเหตุเป็นผลในการสอนสูงมาก
  • ดิฉันอ่านหนังสือชื่อ "โจนาธาน นางนวล" หลายหน หลายวาระ ต่างช่วงอา่ยุ และพบปรัชญาพุทธศาสนาเยอะไปหมดในนั้น  ทำให้เชื่อว่าพุทธศาสนานี่จะเป็นศาสนาของโลกได้จริงอย่างที่ไอน์สไตน์เคยพูดได้
  • บันทึกนี้ทำให้ดิฉันคิดห่วงใยคนไทยรุ่นใหม่ๆ ที่มีตัวชี้วัดความสำเร็จที่ "ตัวเงิน" อย่างน่ากลัว  โดยเฉพาะนักวิชาชีพสายสาธารณสุข
  • ประโยคนี้ของอาจารย์ "การทำงานที่ไม่หวังผลทางการเงินแต่หวังผลตอบแทนทางจิตใจนี่ก็สร้างความทุกข์ได้ไม่น้อยทีเดียวถ้าไม่ระวังตัวตั้งสติให้ดี" มันกระทบใจดิฉันมาก
  • สุดท้ายขอบพระคุรอาจารย์ที่ทำให้การใช้งาน G2K ของดิฉันราบรื่นแล้ว

ยิ่งผมศึกษามากขึ้นเรื่อยๆ ผมก็พบว่าทุกศาสนาสอนเรื่องเดียวกันจริงๆ ครับ ไม่ได้มีศาสนาใดดีกว่าศาสนาใดเลยครับ

  • ขอแสดงความยินดีด้วยครับ
  • ผมมีเพื่อนอยู่โรงเรียนนี้
  • โรงเรียนสอาดเผดิมวิทยา จ.ชุมพร
  • สมัยอยู่ New Zealand ด้วยกัน
  • แบบที่อาจารย์ว่าไว้
  • ยังไม่เห็นนักเรียนจากศรียาภัย
  • แต่ที่ ม เกษตรฯ กำแพงแสน ผมมีลูกศิษย์มาจาก ศรียาภัย หลายคนเลยครับ
  • เด็กๆมาเรียนวิศวะฯกัน

* อ่านแล้วนึกถึงหนังชื่อ " Pride and Prejudice "..สะท้อนท่าทีของคนที่หลงในอัตตาและอคติของคนเราที่เห็นอยู่ทั่วไป

* กรณีของการสร้างระบบ Class Start ที่ขยายประโยชน์แก่การศึกษาแบบ non profit นี้เป็นทานบารมีที่มีอานิสงค์สูงมากค่ะ..ขอให้กำลังใจ..

คำว่าสติ สำคัญมากเชียว นะคะ

ในศาสนาคริสต์ นั่นคือ "ความหลงทะนงตน" (Pride) นั่นเอง

อ.ธวัชชัยครับ  ผมไม่แน่ใจว่า ถ้าเป็นศาสนาพุทธ จะเทียบได้กับครับว่า อัตตา รึป่าวครับ

ขอ  ให้กับบทความนี้นะครับ เพราะชี้ให้คนขาดสติอย่างผม ได้มีสติขึ้นมาบ้างครับ

จริงด้วยครับ Pride น่าจะแปลเป็นคำพุทธที่เรารู้จักกันทั่วไปว่า "อัตตา" ครับ

จริงๆ pride นี่มีศัพท์ที่เทียบเท่ากันในศาสนาพุทธด้วยนะครับ แต่ผมนึกไม่ออกครับ (ตอนนี้ก็ยังนึกไม่ออก)

ค้นจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดยพระธรรมปิฎก

ตรงกับคำว่า มานะ ค่ะ

pride  มานะ, มทะ.

เท่าที่เคยอ่านมาและทำความเข้าใจ คำว่า มานะในทางพุทธไม่ใช่แปลว่า มานะ บากบั่นพยายาม นะคะ หากหมายถึง ความทะนงตน หลงตน เย่อหยิ่ง ถือดี อหังการ เป็นไปในทางที่ อกุศล (ทาง negative)ก็ว่าได้

พระธรรมปิฏกหรือพระพรหมคุณาภรณ์ อธิบายคำนี้อย่างละเอียดในหนังสือ พุทธธรรมด้วยค่ะ

 

และหนทางแก้ มีธรรมเพื่อละมานะ โดยรายละเอียดเป็นหัวข้อธรรมใหญ่อ่านจากหนังสือพุทธธรรม หนังสือพระไตรปิฏก หรือ ที่นี่

ถ้าแปลความแบบง่าย ๆ คือ ให้ปฎิบัติตามหัวข้อธรรมที่ว่าด้วย ความถ่อมตน

เป็นเรื่องที่ต้องค่อย ๆ อ่านทำความเข้าใจค่ะ

 

ขอ ลปรร อีกนิดค่ะ พี่อ่านหนังสือพุทธธรรมแล้วเห็นว่า อธิบายได้ดีมาก ๆ จนอยากเชื้อเชิญให้อาจารย์อ่านดู ไม่ได้คิดว่า ศาสนพุทธสอนดีกว่าศาสนาอื่น ๆ แต่เมื่อคิดว่า เรา(พี่)เติบโตมาในสังคมรอบตัว วัฒนธรรมแบบไทย อ่านหนังสือทางศาสนาพุทธแล้วคิดตามได้เข้าใจได้ง่ายขึ้นค่ะ

ขอบคุณค่ะ  

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท