พ่อเล็ก กุดวงค์แก้ว หนึ่งในนักการศึกษาตามมิติทัศน์หรือญาณวิทยาใหม่ ๒๐๒๐


""หลักสูตรทุกวันนี้มันสอนให้คนเป็นทาส บ่ได้สอนให้คนเข้มแข็ง บ่ได้สอนให้คนพึ่งตนเองได้ การศึกษาที่มันถูกต้องอีหลีก็คือ การศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม ให้ทุกคนมีชีวิตที่มีความสุขได้ สังคมมีความสุขได้ นั่นคือเป้าหมายของการศึกษา" เล็ก กุดวงค์แก้ว

           "หลักสูตรทุกวันนี้มันสอนให้คนเป็นทาส บ่ได้สอนให้คนเข้มแข็ง บ่ได้สอนให้คนพึ่งตนเองได้ การศึกษาที่มันถูกต้องอีหลีก็คือ การศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม ให้ทุกคนมีชีวิตที่มีความสุขได้ สังคมมีความสุขได้ นั่นคือเป้าหมายของการศึกษา แต่ปัจจุบันเขาเรียกว่าเป็นการศึกษาเพื่อเอาตัวรอด ยุคนี้เป็นยุคแย่งอาหารกันกิน แย่งดินกันอยู่ แย่งคู่กันพิศวาส แย่งอำนาจอยากเป็นใหญ่เป็นโต สับสนวุ่นวาย แต่ก่อนมันเป็นวัฒนธรรมฮักแพงแบ่งปัน แต่ปัจจุบันมันเป็นวัฒนธรรมแก่งแย่งแข่งขัน"

           เป็นข้อความบางตอนจากการให้สัมภาษณ์ ค.คน Magazine ฉบับเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๕ (คอลัมน์ "ปลาทวนน้ำ" โดยคุณเมธิรา เกษมสันต์) ของพ่อเล็ก กุดวงค์แก้ว ปราชญ์ชาวบ้านแห่งบ้านบัว อ.กุดบาก สกลนคร ซึ่งโดนใจครูวุฒิมาก จึงขออนุญาตนำมาจั่วหัวในบันทึกนี้ เพื่อยกเป็นตัวอย่างให้เห็นถึงคุณสมบัติ "นักการศึกษาแท้" ที่สามารถออกแบบหลักสูตร "การศึกษาเรียนรู้" ที่สอดคล้องกับบริบท, เนื้อแท้ และความเป็นจริงของสังคม ชุมชน ผู้คน และสิ่งแวดล้อม ได้อย่างกลมกลืนเป็นเนื้อเดียว "ง่าย... แต่งามและทรงคุณค่า"

            กว่า ๕ ปีมาแล้วที่ครูวุฒิมีบุญได้มีโอกาสได้พูดคุยกับพ่อเล็กอย่างใกล้ชิดและถึงรากถึงแก่น ครั้งแรกที่งานชุมนุมลูกโลกสีเขียว ที่บ้านโคกใหญ่ อ.น้ำพอง ขอนแก่น เมื่อ ๒ มีนา ๕๐ ครั้งที่ ๒ ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กทม. ในงานประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เมื่อ ๑๗ ธันวา ๕๒ ซึ่งทำให้ครูวุฒิถึง "บางอ้อ" ในหลายๆเรื่อง และรู้สึกทึ่งในมิติทัศน์และวิธีคิดของพ่อเล็กมาก

            เช่น "คนส่วนใหญ่บ่ฮู้ว่าเฮาเป็นไผ คิดแต่ดูถูกตัวเอง กูจน กูโง่ ไทบ้านเฮาถูกทำลายความเชื่อมั่นมาเป็นร้อยปีละ (ตรงกับคำกล่าวของท่าน ศ.นพ.ประเวศ วะสี ใน "ระบบการเรียนรู้ใหม่ ไปให้พ้นวิกฤตการแห่งยุคสมัย" หน้า ๑๑ : ครูวุฒิ) จากนักการเมืองไทยที่บอกว่าเฮาเป็นประเทศที่ยากจน ด้อยการพัฒนา เฮาก็คล้อยตามเขา แต่ความจริงเฮาบ่ได้จนทุกอย่าง มีทั้งดิน มีทั้งห้วยหนองคลองบึง มีทั้งแม่น้ำลำธาร มีทั้งพืชพรรณธัญญาหารหลายร้อยหลายพันชนิดในผืนป่า แล้วยังมีสัตว์หลายร้อยหลายพันชนิดทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ มีทั้งภูมิปัญญาหลายด้านมากในบ้านเฮา แต่เฮาบ่เห็นคุณค่าตรงนี้ เฮาก็เลยบอกและดูถูกตัวเองว่า ตัวเองบ่มีหยัง" (หนึ่งในคำสัมภาษณ์ใน ค.คน)

            "พระอาทิตย์ส่องสว่างเพียงกลางวัน พระจันทร์ส่องสว่างเพียงกลางคืน แต่ปัญญาส่องสว่างทั้งกลางวันกลางคืน แม้กำแพงกั้นกลางก็ยังสามารถมองเห็นทะลุได้" ในงานรับรางวัล "คนนอกกรอบ" ของทีวีบูรพา

            "ภูมิปัญญามีอยู่ทุกที่ในผืนแผ่นดิน ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ก็ไม่ได้ไปเรียนในมหาวิทยาลัย แต่ไปเรียนกับธรรมะ คือธรรมชาติ พ่อเคยบอกให้ลูกสาวไปเรียนรู้กับนก เอาภูมิปัญญากับนก นกมันบ่มีมือ แต่มันเป็นหยัง มันพึ่งตนเองได้ มันโง่หรือฉลาด แต่เฮามีทั้งพ่า(พร้า) มีทั้งจอบ มีทั้งเสียม มีทุกอย่างเลย แต่มันพึ่งตนเองบ่ได้ นี่มันอายนกนะ" (หนึ่งในคำสัมภาษณ์ใน ค.คน)

            ที่ยกเอาปัญญาของพ่อเล็กมาเขียนถึงนี้ ครูวุฒิมีเจตนาที่อยากจะบอกว่า นี่คือแบบอย่างของ "การศึกษาหนึ่งเดียวกับชีวิต" การศึกษาที่ไม่ยึดติดกับหลักสูตรแบบญาณวิทยาเก่า(และปัจจุบัน)ที่เราท่านคุ้นเคยจนไมรู้สึกว่าแปลก(ทั้งที่แปลกมาก) นี่คือหนึ่งในรูปแบบการศึกษาที่ควรจะเป็น และที่โคกเพชร ใช้รูปแบบการศึกษาเรียนรู้แบบนี้มากกว่าการศึกษาตามหลักสูตรของ ศธ.

            พ่อเล็ก จบการศึกษาในระบบเพียง ป.๔ แต่ด้วย "สติ" และ "ปัญญา" ที่สั่งสมมาจากประสบการณ์และธรรมชาติรอบข้าง จึงเกิดเป็น "ภูมิปัญญาแท้" ที่ภาคประชาสังคมให้การรับรอง โดยไม่ต้องมีเอกสารหรือใบรับรองความรู้ใดๆจากสถาบันอัน(ทึกทักว่า)ทรงเกียรติ แต่เป็นที่ยอมรับโดยมหาชนในองค์ความรู้และประสบการณ์อันเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งเป็นรูปแบบที่ครูวุฒิเสนอไว้ใน "การศึกษาไทยที่ใฝ่ฝัน ณ วันนั้น ๒๐๒๐"

            "อยากให้เขาเข้าใจว่า เฮาควรภูมิใจในตัวเฮาเอง ควรภูมิใจในประเทศตัวเอง ควรภูมิใจในบ้านเกิดของตัวเองเถอะ เพราะมันเป็นบ้านที่อุดมสมบูรณ์มาก ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งภูมิปัญญา ทั้งวัฒนธรรมที่ฮักแพงแบ่งปันกัน มันสุดยอดนะ แล้วคิดจั่งได๋เฮาสิฮักษาและฟื้นฟูสิ่งเหล่านี้ให้มันมั่นคงและยั่งยืน อยู่กับพวกเฮาตลอดไป นั่นคือสิ่งที่สำคัญมาก" (จาก ค.คน)

            นี่คือการศึกษาไทย ที่ควรจะเป็นและบอกลูกหลานไทยมานานแล้ว แต่การศึกษาไทยกลับไปสร้างค่านิยมให้คนดูถูกตัวเองและประเทศตัวเอง คนทั้งชาติจึงขาดความมั่นใจ จนต้องปีนป่ายหาความรู้จากครูอาจารย์ สถานศึกษา และตำราแบบท่องจำ แล้วก็ทำอะไรไม่เป็น

             เอ้อ.... แล้วว่าไง? ท่าน "นักการศึกษาไทย" เจ้าของหลักสูตรฯ...ที่รัก.!...

................................................................................................

หมายเลขบันทึก: 494936เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2012 01:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กรกฎาคม 2012 08:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบพระคุณพี่น้องผู้เปี่ยมน้ำใจท่านเหล่านี้ 

Blank    krugui
Blank    Sila Phu-Chaya
Blank    คนบ้านไกล
Blank    ดร. จันทวรรณ ปิยะวัฒน์
Blank    kwancha
Blank    อ.นุ
Blank    น้อย น้ำพอง

ด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท