ทาน และ data มาจากรากศัพท์เดียวกัน


 

คนไทยคงจะคุ้นเคยกับคำว่า ทาน มาพอๆ กับการได้รู้จักพุทธศาสนานั่นแหละ แม้ว่าทุกศาสนาคงจะมีแนวคิดเรื่องทาน แต่คนไทยคงรู้จักคำว่าทานครั้งแรกจากพุทธศาสนา ผ่านภาษาบาลีและสันสกฤต (ทั้งบาลีและสันสกฤตใช้ว่า “ทาน” เหมือนกัน) 

ดังปรากฏคำว่า "ทาน" ในศิลาจารึกหลักที่ 1 (หากยอมรับ) และยังถือเป็นคำที่ใช้กันทั่วไป

ส่วนในภาษาอังกฤษ คำว่า data แม้จะไม่ใช้คำเก่านัก แต่คนไทยก็รู้จักคำนี้พอสมควร โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับสถิติ และคอมพิวเตอร์

ทาน กับ data ดูเหมือนจะไม่เข้ากัน แต่ก็ความจริงแล้ว ทั้งสองคำมีความสัมพันธ์กันใกล้ชิดแนบแน่น และมีประวัติความเป็นมายาวววววนานทีเดียว...

 

ก่อนอื่น ท่านที่สนใจประวัติคำ โดยเฉพาะคำภาษาบาลีสันสกฤต และคำภาษายุโรป พึงทราบว่า ‘ท’ ในภาษาบาลีสันสกฤต ตรงกับ ‘d’ ในภาษาอินเดีย-ยุโรป เช่น คำว่า ‘เทว’ ในภาษาบาลีและสันสกฤต เขาออกเสียง เดวะ และเขียนด้วยอักษรโรมันว่า ‘deva’ (รากศัพท์เดียวกับ divine ในภาษาอังกฤษ)

มีคำถามอีกใช่ไหม ว่า ทำไมเราถอดมาเป็น ‘ท’ ไม่ใช้ ‘ด’... เฮ่อ อันนี้เป็นปัญหาต้องตอบยาวครับ ขอยกไว้ก่อนก็แล้วกัน เอาเป็นว่าตัว ท ภาษาบาลีสันสกฤต (ออกเสียง ด) ในภาษาไทยใช้ ท และตรงกับ d ในภาษายุโรป

 

ภาษาไทย

ทาน

เป็นคำนาม แปลว่าของที่ให้ มาจากรากศัพท์กริยาในภาษาสันสกฤตว่า “ทา” (ผมขอยกเฉพาะสันสกฤตภาษาเดียว ยกบาลีไปด้วยประเดี๋ยวจะสับสน) เช่น ททามิ แปลว่า ฉันให้ อททัม แปลว่า ฉันให้แล้ว (กริยากลุ่มนี้เมื่อนำมาใช้บางทีก็ซ้ำเสียงหน้าหนึ่งพยางค์) ทา เติมเสียงท้าย น เป็น ทาน แปลว่า การให้ หรือ สิ่งที่ถูกให้ นั่นก็คือ ทาน ของขวัญ ของกำนัล หรือของที่จะต้องมอบให้ตามธรรมเนียม เช่น สินสอดทองหมั้น อย่างนี้ก็เรียกว่า ทาน

ทัตตะ

อีกคำหนึ่งที่มาจาก กริยา ทา นี้ก็คือ ทัตตะ (ทตฺต) ใช้กริยา ทา เติมเสียงท้าย กต (ผ่านกระบวนการบางอย่าง) ได้เป็น ทัตตะ แปลว่า สิ่งที่ได้รับ (ถูกให้) มักจะใช้ประกอบกับคำอื่น เช่น เทวทัตตะ (ของขวัญจากเทวดา) พรหมทัตตะ (ของขวัญจากพระพรหม) ภูริทัตตะ (ของขวัญมากมาย, หรือของขวัญจากพระเจ้า) ในพจนานุกรมสันสกฤตบอกว่า มักเป็นชื่อของคนวรรณะที่สาม คือวรรณะพ่อค้า (ไวศยะ) ส่วนตำราการละครของสันสกฤตบอกว่า พ่อค้าควรจะใช้ชื่อที่มีคำว่า ทัตตะ ในภาษาไทย เมื่อนำมาใช้ จะใช่การันต์ที่ ต ตัวสุดท้าย หรือตัดทิ้งไปเลย เช่น พระเทวทัต ท้าวพรหมทัต (ฉายาของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ก็มาจากคำนี้)

รากศัพท์ตัวนี้ บางตำราว่าก็ว่ามาจาก โท บางตำว่าก็ว่า ทา ต่างฝ่ายก็มีเหตุผล แต่เมื่อประกอบรูปเติมวิภัติปัจจัยต่างๆ แล้ว ก็ได้สิ่งที่เราเห็นนี่แหละ

 

ภาษาอังกฤษ

Data

ทีนี้ คำว่า data อังกฤษรับจากละติน แปลว่า (สิ่งที่)ให้ หรือ ของที่ถูกให้ (ในการคำนวณทางคณิตศาสตร์ สิ่งที่โจทย์กำหนด (given) บางทีก็เรียกว่า data ซึ่งมีความหมายเหมือนกัน) การอธิบายลักษณะไวยากรณ์ของ data นั้น บอกว่า เป็น past participle neuter ของกริยา dare  หากจะเทียบกับภาษาสันสกฤต ก็คงจะตรงกับคำว่า ทัตตะ  ฉะนั้น ใครไม่อยากใช้คำว่า data จะใช้ว่า ทาน หรือ ทัตตะ ก็ไม่ผิดความหมายนะครับ

คำว่า data นี้เป็นรูปพหูพจน์ ส่วน datum เป็นรูปเอกพจน์ ซึ่งก็ถือว่าเป็นคำเดียวกัน (จากที่มาเดียวกัน) เพียงแต่เปลี่ยนพจน์ตามไวยากรณ์เท่านั้น 

ในภาษาอังกฤษยังมีศัพท์จากรากเดียวกัน คือ donation, donate, donor และ pardon ทั้งหมดมาจากรากศัพท์ภาษาละตินว่า donare แปลว่า ให้ และภาษาละตินก็สืบทอดมาจากรากศัพท์เดียวกันในภาษาโปรโต-อินเดีย-ยุโรป ว่า “ทา” หรือ “dā”


Donation

ตำราว่า ศัพท์เดิมที่นำมาใช้ในภาษาอังกฤษคือ donation (การบริจาคทาน) โดยยืม มาจากภาษาฝรั่งเศสโบราณ [donacion] เมื่อราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 15 แต่ฝรั่งเศสก็ได้มาจากละตินอีกที พอเข้ามาใช้ในภาษาอังกฤษ ก็ย้อนศัพท์จากนามเป็นกริยา ได้คำว่า donate ขึ้นมา แปลว่า บริจาค

 

Donor

ส่วนคำว่า donor ที่แปลว่า ผู้บริจาคทาน ได้มาจากภาษาฝรั่งเศสโบราณอีกเหมือนกัน (doneur) และฝรั่งเศสก็ได้มาจากละติน คงจะยืมมาพร้อมๆ กับคำว่า donation นั่นแหละ แต่เมื่อราว 1910 นี้เอง ที่คำนี้ใช้หมายถึง ผู้บริจาคเลือด หรือผู้บริจาคอวัยวะ   

 

Pardon

อีกคำหนึ่งในภาษาอังกฤษ pardon (ขอโทษ) คำนี้เก่ากว่า คือเข้ามาในภาษาอังกฤษราวปลายคริสต์ศตวรรษที่ 13 มาจากภาษาฝรั่งเศสโบราณ [pardonner] อีกแล้ว...  คำนี้ได้จากภาษาละติน perdonare โดยการเติมเสียงหน้า par เข้ากับกริยา donare อาจเทียบกับภาษาสันสกฤต ประทา แต่ความหมายในภาษาสันสกฤต แปลว่า ให้, มอบให้, ยอม, กู้คืน

 

สรุป

เข้าใจว่ากริยา ทา ในภาษาสันสกฤต ที่นำมาใช้ในภาษาไทย และ dare ในภาษาละติน ซึ่งแผลงรูปมาใช้ในภาษาอังกฤษนั้นคงจะยังมีอีกหลายคำ  แต่ยังนึกไม่ออกครับ ไว้นึกออกจะมาบอกเล่าเพิ่มเติมในภายหลัง...

 

ป.ล. โปรดสังเกตว่าการที่คำศัพท์ภาษาไทยไปสอดคล้องกับภาษาอังกฤษได้นั้น ก็เพราะภาษาไทยเรารับคำศัพท์สันสกฤต และภาษาอังกฤษรับคำศัพท์ละติน ทั้งละตินและสันสกฤตเป็นภาษาพี่น้องกัน  ภาษาไทยเป็นคนละตระกูลภาษากับสันสกฤต ส่วนอังกฤษนั้นก็เป็นภาษาลูกผสม ไม่ถึงกับเป็นภาษาลูกของละตินเสียทีเดียว การถ่ายทอดคำศัพท์นั้นเกิดขึ้นได้เพราะการติดต่อสื่อสาร การรับขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมชาติภาษานั้นๆ มา ซึ่งปรากฏได้ทั่วไปในหลายภาษา ไม่จำเป็นต้องอยู่ในตระกูลภาษาเดียวกัน แต่การถ่ายทอดในตระกูลมักจะเป็นเรื่องของโครงสร้างประโยค และแนวคิดหลักของภาษา ดังนั้น แม้ไทยเรารับศัพท์ภาษาสันสกฤตมาใช้ แต่ก็ยังคงเป็นภาษาคำโดด ไม่มีการเปลี่ยนเสียงเพื่อเปลี่ยนหน้าที่อคำอย่างในภาษาสันสกฤตแต่อย่างใด.

 

คำสำคัญ (Tags): #data#ทาน#ทัตตะ
หมายเลขบันทึก: 494805เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2012 19:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กรกฎาคม 2012 18:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

อ่านแล้วน่าสนุกครับ เหมือนเรียนรู้ด้านภาษาเป็นการเรียนประวัติศาสตร์ไปในตัวครับ

อาจารย์มาเร็วจัง เพิ่งแก้เสร็จตะกี้เอง..

เรื่องประวัติคำนี่สนุกดีเหมือนกันครับ แต่ต้องแกะรอยกันนิดหนึ่งครับ

การให้ข้อมูล = การให้ทาน

ขอบคุณมากค่ะ

เห็นด้วยต้องแกะรอยก่อนข้อมูลจึงแน่นมาติดตามผลงานอ.ธวัชชัย นะคะฟื้นความรู้เดิมสักหน่อย อิ อิ

สวัสดีค่ะคุณครู

บทเรียนนี้ได้เรียนรู้เยอะ... เนื้อหายาวด้วย อ่านแล้วตาลาย

แต่ก็ได้รู้ในเรื่องใกล้ตัวที่ไม่เคยสนใจมาก่อนค่ะ 

ในภาษาจีนที่เรียน (อย่างกะพร่องกะแพร่ง) ต้องเรียนตัวอ่าน ก็ใช้ d แทนคำที่อ่านว่า "เตอ" (ต เต่าเช่นกัน) ค่ะ 

สวัสดีครับ คุณ Blank ...ปริม pirimarj...

ให้ข้อมูล เป็นทานจริงๆ ครับ

ให้กันไป ให้กันมา...

 

สวัสดีครับ คุณครู Blank หมูจ๋า

ขอบคุณนะครับ ที่ติดตามมาโดยตลอด

แต่เรื่องนี้เอาไปสอนเด็กอนุบาลไม่ได้แน่เลย ;)

 

สวัสดีครับ คุณ Blank หยั่งราก ฝากใบ

(อันที่จริงบทความนี้ก็มีที่ผิด แต่มีกัลยาณมิตรช่วยบอกแล้ว)

โอ๋ย ไม่เยอะครับ ประมาณสองหน้ากระดาษเอง

เป็นเรื่องใกล้ตัว แต่ก็ไม่ค่อยจะได้ประโยชน์อะไรจริงๆ จังๆ

แปลว่าเรียนจีนเหนียวแน่นนะครับ อย่าลืมมาเล่ากันฟังบ้าง รอๆๆ

 

แวะมาอ่านคำตอบเลยตอบไว้อีกหน่อยค่ะ

ความจริง ส่วนตัวคิดว่าบันทึกของคุณครูทุกบันทึก (และบันทึกทุกบันทึกของใครก็ตามที) ก็ล้วนแต่มีประโยชน์ มากน้อยตามแต่ผู้อ่าน ที่รับสาระไป

และน่าจะได้ประโยชน์ที่สุดกับตัวผู้บันทึกเอง เพราะได้เรียบเรียงความคิดและจัดการระบบการสื่อสารของตน เพราะจะมีการให้ข้อคิดเห็น เป็นการสะท้อนกลับว่าผู้อ่านเข้าใจสาระที่เขียนอย่างไร ผู้บันทึกจึงได้รับรู้ข้อด้อยที่ควรปรับปรุงของตัวเองทุกครั้งค่ะ

มันสุดยอดมาก ขอมาเรื่อยๆนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท