เรื่อยๆมาเรียงๆกับเหล่าต้นไม้ ดอกไม้(๑)


เมื่อผืนดินหลังน้ำท่วมใหญ่พร้อมที่จะให้พืชพรรณนานาชนิดงอกงามได้ พระพิรุณโปรยปรายลงมาแบบบรรจงบ้าง โครมครามบ้าง เหล่าพืชที่เทวดามอบให้ นั่นคือวัชพืชนานาชนิดที่แม้ทราบว่าเป็นสมุนไพรแต่ก็ด้อยปัญญา ส่วนใหญ่ไม่รู้จักชื่อและใช้ไม่เป็น ราวกับไก่ได้พลอย พืชพวกนี้ช่างสะพรั่งเขียวชอุ่มยามได้ฝนแค่สองสามครั้ง

ผู้เขียนนอกจากจะพยายามปลูกพืชผักกินได้บางชนิดซึ่งก็ได้ผลผลิตโดนใจ บริโภคกันไม่ทันก็แจกๆไปเยอะเช่นพวกบวบเหลี่ยม มะเขือจานสีขาว ผักบุ้ง กะเพรา โหระพา

พืชผักบางชนิดที่กินได้และคงเป็นผลจากที่ผู้เขียนเองตั้งใจโยนๆเมล็ดเช่นพริก มะเขือเทศ มะละกอไปรอบบ้านแบบแอบหวังว่าแม่พระธรณีและเทวดาจะเมตตา ตอนนี้จึงมีต้นพริกหลายชนิดออกเม็ดกันเต็มต้นดีกว่าเมื่อเคยตั้งใจปลูกเสียอีก โดยเฉพาะมะละกอพันธุ์ฮอลแลนด์หรือปลักไม้ลายขึ้นเองเป็นสิบต้น มีที่ซื้อมาปลูกต้นเดียวซึ่งซื้อมาตอนโตพอควรจึงออกลูกโชว์แล้ว ออกลูกก็แปลกข้างหนึ่งลูกป้อม อีกข้างลูกยาวเรียว

 

 

สรุปคือตอนนี้มีต้นมะละกอขึ้นชิดใบเกยกันจนไม่แน่ใจว่าจะออกลูกให้ได้กินผลหรือไม่ แต่ผู้เขียนก็เอาเคล็ดไปพูดกับเหล่าต้นมะละกอว่าจะยังไม่ตัดหรือถอนทิ้ง หากต้นไหนมีลูกก็จะเก็บไว้ บำรุงเลี้ยงดูกันต่อไป หากต้นไหนไม่มีผลผลิตก็ต้องพิจารณาเอาออกเสียบ้าง พูดไปแล้วก็รู้สึกว่าตัวเองออกจะโหดอยู่ค่ะ

ไปตลาดต้นไม้สองสามครั้งแต่ละครั้งก็ได้ต้นไม้กลับมาทุกที โดยเฉพาะไม้ดอกหอม ได้ซื้อ ราชาวดี และ พุทธชาด มาทดแทนต้นที่น้ำท่วมตายไป ชอบกลิ่นหอมรวยรินของเธอจริงๆค่ะ ได้ไปเห็นดอกสร้อยฟ้าสีแดงก่ำๆ เลยซื้อมาปลูกลงดินที่สูงหน่อย ไม่ทราบว่าจะสูงพอพ้นระดับน้ำปีนี้ไหม

คนขายบอกว่าเป็นสร้อยฟ้าตัวใหม่ ไปค้นจากกูเกิ้ลอ่านจากหลายแหล่งเช่นพวกชอบทำสวนปลูกต้นไม้ รวมทั้งที่เขาโฆษณาขายต้นไม้ เลยได้ทราบว่าสร้อยฟ้าตัวใหม่นี้เขาเรียกชื่อไพเราะว่า เลดี้มาร์กาเร็ต เป็นสร้อยฟ้าลูกผสม(Hybrid) มาจากต่างประเทศ

เลดี้มาร์กาเร็ต นี้เป็นดอกสร้อยฟ้าที่มีสีพบยากในกลุ่ม Passiflora หรือ Passion Flowerด้วยกันซึ่ง พวก Passiflora แม้ว่าจะมีมากมายหลายร้อยชนิดก็มักมีดอกที่ออกโทนสีฟ้าและสีไปทางม่วง ที่จะแดงก่ำแบบนี้เขาว่าไม่ธรรมดาค่ะ ฝรั่งเรียกแดงแบบนี้หลายชื่อค่ะ เช่น crimson, deep blood red และ raspberry red

ค้นข้อมูลครั้งนี้ผู้เขียนเลยได้ทราบว่า อดีตที่เคยมีสร้อยฟ้าแสนสวยสีฟ้าอมม่วงดอกใหญ่ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางราวสี่นิ้ว เรียกว่าเด่นด้วยขนาดและเส้นรัศมีหยักศกที่แผ่ออกเป็นแผงหนา ที่ซื้อมาจากเส้นทางขึ้นเขาใหญ่นั้นเรียกว่า Passiflora “Blue- Eyed- Susan

แม่สาวซูซานตาสีฟ้านี้เธอออกดอกดกมากมายให้ตื่นตาจริงๆ ดอกเธอหอมกรุ่นเย้ายวนตอนเย็นๆค่ำๆและเช้ามืดที่ความร้อนจากดวงอาทิตย์ยังไม่มาเยือน เป็นสาวลูกผสมเหมือนกันค่ะ เธอหายไปกับน้ำท่วมครั้งก่อนหน้ามหาอุทกภัย จะหาต้นใหม่มาปลูกก็ยังไม่ได้

บนBlue- Eyed- Susan – ล่าง Lady Margaret

ส่วนสร้อยฟ้าดอกแดงเลดี้มาร์กาเร็ต Passiflora “Lady Margaret” ที่ได้มาใหม่ ข้อมูลบอกว่าไม่มีกลิ่นหอม แต่โดดเด่นในด้านมีน้ำหวาน (Nectar) ดึงดูดเหล่าผีเสื้อและผึ้งภมร 

สาวสร้อยฟ้าชาวต่างประเทศในยุคโลกาภิวัตน์ซึ่งเผ่าพันธุ์ผสมข้ามกันไปมาจนน่าพิศวงทั้งสีฟ้าอมม่วงและสีแดง ก็เหมือนฝรั่งทั่วไปที่ชอบแสงแดดค่ะ และดินที่ระบายน้ำได้ดี ไม่ชอบที่ชื้นแฉะน้ำขัง ทั้งสองสาวจะมีรูปร่างลักษณะคล้ายๆกัน ทั้งใบและดอก ให้สังเกตใบนั้นรีๆแล้วเว้าลึกเข้าไปเป็นสามแฉก 

สร้อยฟ้าสีแดงนั้นดูเผินๆจะคล้ายกับ ดอกศรีมาลา แต่สังเกตความแตกต่างไม่ยากค่ะ เพราะศรีมาลานั้นเธอแดงเจิดจ้า บาดตากว่านัก ใบก็เป็นใบมนๆธรรมดาไม่มีการเว้าลึกเข้าไปเป็นสามแฉก ขนตาเธอดำหนา ไม่ดกเท่า และสั้นกว่ามาก

 

ศรีมาลา 

 

 

ดอกสร้อยฟ้า และ ดอกกระทกรก

เกรงว่าสร้อยฟ้าพันธุ์เก่าดั้งเดิมที่คนไทยปลูกกันมานานก่อนไม้พันธุ์ใหม่นี้จะเข้ามาจะน้อยใจ เลยขอนำมาโชว์ตัวอีก ที่จริงเธอก็เป็นสาวต่างประเทศเช่นกันแต่มาอยู่กับคนไทยนานจนเป็นชาวไทยไปแล้ว แถมด้วยสาวสายพันธุ์พื้นเมือง เลยชื่อแสนจะบ้านๆมาก เธอคือ กระทกรก ดอกสีขาวแซมม่วง ลักษณะดอกคล้ายกันมาก ความงามก็ไม่ด้อยกว่ากัน แถมพบขึ้นเองตามธรรมชาติ ตอนเป็นเด็กวิ่งเล่นที่บ้านนอกยังได้เก็บลูกสีส้มกลมๆที่ถูกประคบประหงมห่อหุ้มด้วยรกสีเขียวเป็นปุยบางๆ ได้ลิ้มรสเมล็ดเปรี้ยวๆหวานกรุบกรับ แสนอร่อยและชุ่มคอสำหรับเด็กบ้านนอกอย่างผู้เขียนค่ะ

อยากชวนไปชมดอกสร้อยฟ้าแบบต่างๆกว่าสี่สิบชนิดที่ลิ้งค์นี้

http://plantlust.com/plants/passiflora-blue-eyed-susan/

ตอนหน้ายังมีดอกไม้ที่ทำความแปลกใจให้ผู้เขียนอีกสองสามชนิดมาเล่าขาน ขอบคุณที่มาชมดอกไม้งามด้วยกันค่ะ และขอเชิญมาอีกนะคะ

หมายเลขบันทึก: 494409เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2012 11:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 สิงหาคม 2012 09:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)

ÄÄÄ....ชอบ..ชื่อ..กระทกรก..เจ้าค่ะ..ขึ้นทั่วไปที่รกๆ..อิอิ...(คุณนุช..สบายดีไหมคะ..แล้ว..ปีนี้..เป็นไงบ้าง..แม่น้ำ..ป่าสัก..ได้อ่านว่า..มีตลิ่งพังอีกแล้ว...).".อยู่อย่างไม่ประมาท..ชีวิตนี้สั้นนัก"...คิดถึงเจ้าค่ะ..ยายธี

สวัสดีค่ะพี่นุช

ดอกกระทกรกฟังชื่อไม่ค่อยเพราะแต่เจ้าตัวงามแบบน่ารักๆ นะคะ สีเขียวชอุ่มงามไปทั่วเลยค่ะ ชื่นใจ

พี่นุชสบายดีนะคะ :)

คุณนุชค่ะ ..ตามมาชม และก็จะติดตามตอนต่อไปค่ะ ..สีสัน สวยงามไปหมด แต่ละดอก และก็ช่างเปรียเทีียบ และ เปรียบเปรย..วันก่อนพาเด็กๆไปเดินในเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ยามเช้าำำ กำลังแดดอ่อนๆ น้ำค้างยังเกาะทั้งใบและดอกของเจ้ากระทกรก.. เลยชี้ ชวน ชม..ชิม.. แล้วถาม ก็ไม่มีใครสักคนตอบได้ รู้จักว่าต้นอะไร ในจำนวน นักศึกษา 30 คน...ทำเอาคนรุ่นครู..ใจหายแว๊บ อืมม์... เด็กๆรุ่นใหม่ไม่ค่อยจะรู้จักต้นไม้ ทั้งนี้ต้นนี้ขึ้นได้ง่าย ผลก็หวาน ดอกก็สวย สรรพคุณมากมาย บังเิอิญวันนั้ันที่เจอ มีทุกระยะ จึงได้โอกาสรู้จักกันถ้วนทั่ว ขอบคุณภาพแจ่มๆของคุณนุชนะค่ะ ทำให้นึกถึงอีกภาพหนึ่งที่ ขาดๆ วิ่นๆ กระท่อนกระแท่น แต่พยายามจะประติดประต่อให้ สำหรับนักศึกษาที่ยังไม่เคยรู้จักพืชท้องถิ่นค่ะ สักวันคงดีขึ้นเมื่อได้รับการชี้แนะ :-)) .อืมม์ วันนี้เห็นหัวเรื่องแล้วก็อยากจะชวนร้องเพลง.."เรื่อยๆมาเรียงๆ นกบินเฉียงไปทั้งหมู่ ..ตัวเดียวมาไร้คู่ .....(ที่เหลือต่อเองน๊า..) คงรู้จักนะค่ะ เพลงนี้...คุณนุช :-))

...

งามประหลาด บาดใจ ใคร่ครวญหา
แอบศรัทธา คนถ่าย ไว้ตรงนี้
ด้วยหัวจิต หัวใจ ความไยดี
ดอกไม้นี้ มอบแด่ มิตรแท้จริง

ไม้ประหลาด บาดใจ ใครคนหนึ่ง
ความคิดถึง อุ่นไอ ดั่งไฟผิง
แสวงหา มิตรแท้ ที่แน่จริง
ความอุ่นอิง มอบไว้ ในใจเรา

...

สวยมากค่ะอาจารย์  จะหามาปลูกยากไหมคะเนี่ย

อ้อเคยพบดอกสีฟ้า  ที่รีสอร์ทแถวทุ่งกระเจียว  เทพสถิต  ชัยภูมิ  นั่นน่ะที่รู้จักดอกสร้อยฟ้าครั้งแรก

 

ดอกสร้อยฟ้า....จากชัยภูมิค่ะ

ชอบต้นไม้ใบหญ้าครับ.... ...ที่บ้านปลูกมะละกอไว้ 2 ต้น ด้วยพื้นที่น้อยนิดหน้าบ้านทาวน์เฮ้าส์ ตอนนี้กำลังโตวันโตคืน ไว้อกลูกจะเอามาอวดบ้างครับ

  • จริงด้วยครับ
  • ที่บ้านผมปลูกพริกแบบหว่านไว้
  • ไม่ได้ใจปลูกงามกว่าที่แยกมาปลูก
  • เพิ่งเห็นดอกศรีมาลา
  • สีสดมากๆ
  • พี่นุชสบายดีไหมครับ

ชอบศรีมาลา ตราตรึงไว้ ในใจฉัน

ครั้งแต่ครั้ง กระโน้น ไกลโพ้นหนา

สบตาเจ้า คร้้งแรก เพ้อนิทรา

คิดถึงจริง คิดถึงจ้า มาส่งใจ

...

พี่นุช สุดสวาทบาดใจ ขอบคุณนะคะ

จำได้ว่า ไปเจอศรีมาลา ที่สวนสายน้ำ

แล้วจับภาพมา พี่นุชมาบอกใบ้ ปริศนา

ก็เลยไม่ค้างคาใจ คิดถึงอยากไปนั่งริมน้ำอีกจังค่ะ :)

  • สวัสดีค่ะพี่นุช
  • แวะมาเยี่ยมชมดอกไม้งาม แบบเรื่อยๆมาเรียงๆสวยถูกใจ
  • มีกระทกรกป่าแถวบ้านสวนสีไม่เข้มสดใสอย่างนี้ 
  • ขอบคุณค่ะ:)

 

  • สวย  สวย  สวย
  • ได้ความรู้ใหม่ว่ากระทกรก เป็นไม้มาจากนอก กลายเป็นไม้ไร้ค่าในสายตาคนทั่วไป  แต่เด็กบ้านนอกอย่างดิฉันชอบนัก  เพราะผลของเขาหอม อร่อย เจอเป็นเก็บเข้าปากค่ะ
  • อ.นุชสบายดีนะคะ  ดิฉันไปญี่ปุ่นมาอีกรอบแล้วค่ะ คราวนี้ไปซะยาว 10 วัน ปีหน้าจะไปอีก คราวนี้จะไปนอนดูฟูจีให้ชื่นใจ

* สุขสดชื่นกับพรรณไม้ใกล้ตัวเราคะ..

* เก็บภาพชุดเจ้าสาวประดับเพชร จากห้องเสื้อที่บ้านมาฝาก..หลงเหลือมาจากน้ำท่วมสวยเมื่อปีก่อนค่ะ..

ขอบคุณทุกท่านที่มาเยี่ยมชมและมามอบดอกไม้ให้กัน ชื่นใจจังค่ะ มอบดอกไม้ให้กันไปมา ^___^ 

ต้องขออภัยกันเรื่อยไปจนกว่าจะมีสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ดีกว่านี้ค่ะ กว่าจะขึ้นรูป ลงเรื่องก็ต้องลุ้นฟ้าฝน บางทีเรื่องก็เขียนรอไว้นานกว่าจะนำโพสต์ได้ แต่ไม่ย่อท้อค่ะ

  • คุณSila Phu-Chaya งานมากมายต้องเดินทางต่างจังหวัดบ่อยๆ ยังมีเวลามาชมดอกไม้ ขอบคุณค่ะ
  • คุณยายธี ขอบคุณที่ถามไถ่เรื่องน้ำ ไม่ต้องห่วงค่ะ พร้อมรับ ที่ผ่านมาก็ยังอยู่อย่างมีความสุขได้ ครั้งต่อไปจะยิ่งรู้สึกดีขึ้นนะคะ
  • ค่ะคุณ...ปริม pirimarj...ช่วงฝนลงต้นกะทกรกงามดี พี่ชอบทั้งดอกและลูก ก็เลยไม่ดึงทิ้งเอาไว้ดูเพลินๆค่ะ พี่สบายดีค่ะ คุณปริมก็คงเช่นกัน เห็นนกทีไรคิดถึงคุณปริม โดยเฉพาะเมื่อไม่กี่วันได้เห็นนกกระจาบปากเหลืองเชียวกำลังทำรังที่ต้นหญ้าที่เอามายังเขียวอยู่ คุณปริมเก็บภาพได้ตรึงใจมาก จนพี่ดีใจที่ได้เห็นด้วยตัวเองแม้จะเห็นแบบนั่งรถผ่านท้องนาค่ะ

ชอบสีมาลาค่ะ สีแดงสดใส ดูแปลกตาดีค่ะ ไม่ค่อยได้เจอนะคะ

  • อาจารย์ kwancha ได้พบข้อสังเกตตรงกันค่ะว่าเด็กรุ่นหลังนี่ไม่ค่อยรู้จักต้นไม้หรือพืชที่อยู่รอบตัว วันก่อนไปช่วยงานโรงทานท่านแม่ชีศันสนีย์เราทำดอกไม้พื้นบ้านทอด เด็กมาถามว่าดอกอะไรบ้างไม่รู้จัก ไม่รู้จักแม้กระทั่งดอกแค โอ ฟังแล้วใจหายว่าบ้านเมืองเราสอนคนรุ่นหลัๆกันอย่างไร ไม่รู้จักสมบัติของตนเองไม่รู้จักความรู้ที่มีรากอยู่ในถิ่นตน แต่รู้อย่างอื่นทั้งโลก ...เรื่อยๆมาเรียงๆ ที่นี่กลับเป็นการเดินชมต้นไม้ ดอกไม้ที่มองเห็นค่ะ ^____^
  • 555 งามประหลาดแท้ค่ะอาจารย์Wasawat Deemarn ขอบคุณสำหรับคำกลอน อ่านแล้วออกจะน่าเห็นใจผู้แต่ง
  • อยากหาไว้ปลูกบ้างไม่ยากค่ะคุณหมอทพญ.ธิรัมภา ต้นนี้ไปซื้อจากตลาดต้นไม้วันพุธที่จตุจักรค่ะ ต้นละ ๑๐๐ บาท มีดอกบานให้ชมทุกวันเลยล่ะค่ะ ดอกสร้อยฟ้าพันธุ์ดั้งเดิมที่ปลูกกันก็เลี้ยงง่ายค่ะ ที่บ้านเคยปลูกเลื้อยบนระเบียงนอกชาน ออกดอกหอมฟุ้งเลยค่ะ
  • ดีใจค่ะคุณพ.แจ่มจำรัสที่ได้เพื่อนชอบต้นไม้ใบหญ้าเช่นกัน อย่าลืมอวดผลผลิตมะละกอนะคะ นี่กำลังลุ้นว่าลุกเล็กๆที่เห็นมากมายนั้นจะร่วงเสียหรือเปล่า ปลูกแบบฝากเทวดาค่ะ
  • คิดถึงกันจังค่ะอาจารย์ขจิต ฝอยทอง พอลงพืชผักทีไรนึกถึง 555 อยากชวนมาช่วยปลูก
  • คิดถึงค่ะ คิดถึงมาก คิดถึงกันเสมอ น้องBoo จ๋าเปลี่ยนชื่อซะพี่งงงวย ด้วยไม่ได้ติดตามเยี่ยมเยียนทุกท่านเสียนานเลยตกข่าวแน่ๆ วันนี้พี่น้อยต้มไข่พะโล้ นึกถึงน้อง คราที่น้องบอกว่าอร่อยเหลือจนต้องซดน้ำเกลี้ยงชาม^___^
  • ยินดีมากที่น้องหนูรีมาเยี่ยมพี่เสมอ แหม เห็นน้องหนูรีทีไรนอกจากจะนึกถึงต้นไม้ ดอกไม้แสนงาม ก็ยังทำให้หิวด้วย
  • สบายดีค่ะคุณnui พูดถึงญี่ปุ่นยังวางแผนอยู่ว่าจะไปอีกเมื่อไหร่ค่ะ นี่คงเป็นข้อยืนยันว่าใครไปญี่ปุ่นแล้วมักติดใจ ไปได้อีกไม่รู้เบื่อ ได้ไปอ่านบันทึกคุณหมอวิจารณ์ท่านไปญี่ปุ่นเมื่อเร็วๆนี้เช่นกัน ว้าว คิดถึงๆ แต่สงสัยปีนี้จะได้ไปเยี่ยมคุณยายธีที่แฮมบวร์ก
  • สวยซึ้ง แสนโรแมนติกมากค่ะพี่ใหญ่นาง นงนาท สนธิสุวรรณ หยาดฝนให้ทั้งความชุ่มชื่นและความงามแสนพิเศษจริงๆค่ะ

ศรีมาลาแจงเจิดจ้าจับใจจริงๆค่ะคุณBright Lily ต้นในภาพก็ไปกับสายน้ำหลายปีแล้วค่ะ

ไม่ค่อยเห็นปลูกกันแพร่หลายเท่าไรนะคะ

ผู้เขียนก็เอาเคล็ดไปพูดกับเหล่าต้นมะละกอว่าจะยังไม่ตัดหรือถอนทิ้ง หากต้นไหนมีลูกก็จะเก็บไว้ บำรุงเลี้ยงดูกันต่อไป หากต้นไหนไม่มีผลผลิตก็ต้องพิจารณาเอาออกเสียบ้าง พูดไปแล้วก็รู้สึกว่าตัวเองออกจะโหดอยู่ค่ะ

ลองจินตนาการว่าได้ยินเสียงพี่นุชคุยกับมะละกอจริง ๆ 
นั่งขำกลิ้งคนเดียวเลยค่ะ

ก็ขำตัวเองเช่นกันค่ะน้องหมอเล็กภูสุภา และน้องแป๊ดคุณแจ๋ว ออกโหดๆ ฮาๆ แค่ท่าทาง

เผลอๆ น้ำอาจมาพากันไปหมดไม่เหลืออะไรเลยก็ได้ เริ่มใกล้เวลาน้ำเหนือมาแล้วล่ะค่ะ ลุ้นแค่ให้พอได้ลิ้มรสมะละกอรุ่นแรก แล้วจะรายงานผลนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท