Creative Economy พลังสร้างสรรค์ที่เชื่อมร้อยกว้างไกลกว่าเส้นพรมแดนประเทศไทย


“ประชาคมอาเซียน” จึงไม่ควรรวมตัวกันแบบสมบูรณ์เต็มร้อย หากยังต้องเหลือที่ว่างให้กับอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่รุ่มรวยของแต่ละชนชาติ เพื่อที่จะสามารถแลกเปลี่ยนสร้างสรรค์กันได้อย่างเต็มที่ ไม่ซ้ำรอยอาณาจักรโรมันที่กว้างใหญ่ในเชิงพื้นที่ หากคับแคบในคุณภาพของอัตลักษณ์ประจำท้องถิ่น

โดย เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์

นักจัดรายการวิทยุ "รู้ใช้เข้าใจเงิน" FM96.5

 

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือ ผลผลิตพิเศษสุดของศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะเมื่ออุปสรรคในการเดินทางและสื่อสารความคิดข้ามกรอบพรมแดนได้ทลาย หายไป  ผู้คนหลากหลายเชื้อชาติภาษามีโอกาสแลกเปลี่ยนหยิบยืมวัฒนธรรมภูมิปัญญากัน อย่างเข้มข้น การส่งออกและนำเข้าสินค้าสร้างสรรค์ (Creative Product) ก็ทำกันได้ครื้นเครงยิ่ง ผู้บริโภคในทุกประเทศจึงได้รับการเสี้ยมสอนให้เลิกอุดหนุนสินค้าอุตสาหกรรม ที่ตอบสนองเพียงประโยชน์ใช้สอยเท่านั้น หากทุกอณูแห่งการใช้ชีวิตจะต้องมีสุนทรียะเป็นองค์ประกอบสำคัญ

ประเทศไทยไม่อาจจมปลักกับการพัฒนา Creative Thailand ไว้ที่พรมแดนประเทศไทยได้อีกต่อไป หากยังต้องเปิดหัวใจรับรู้ความคึกคักเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจสร้างสรรค์จาก ทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะประเทศในอาเซียนที่จะเป็นคู่แข่งโดยตรงของเรา หากทว่าในอีกมุมหนึ่งก็จะสามารถหาประโยชน์ร่วมกันได้ (Win-Win) ซึ่งความฝันนี้กำลังจะกลายเป็นจริงในปี 2015 เมื่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) มีผลบังคับใช้โดยสมบูรณ์

1. ความสร้างสรรค์ = เทคโนโลยี + ความเบิกบานรุ่มรวย

สิงคโปร์ นับเป็นประเทศที่ก้าวล้ำที่สุดในประชาคมอาเซียน ทั้งในเชิงเศรษฐกิจฐานความรู้และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง หากทว่าสิงคโปร์กลับไม่ใช่คู่แข่งที่แท้จริงของประเทศไทย เพราะทั้งคู่มีจุดแข็งและจุดอ่อนที่แตกต่างกัน ซึ่งน่าจะสามารถพัฒนาจนกลายเป็นคู่หูเชิงผลประโยชน์กันได้ (Profit Partnership)

ไทยจะมองเห็นโอกาสในการแสวงหาประโยชน์ร่วมกับสิงคโปร์ได้ ก็ต้องกล้าที่จะโยนทฤษฎีการพัฒนาประเทศแบบเดิมทิ้งไป โดยเฉพาะความเชื่อที่ว่า “เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นปัจจัยสำคัญสูงสุดที่จะชี้ขาดชัยชนะในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ” เพราะถึงที่สุดแล้วโลกใบนี้ก็ยังต้องการสินค้าที่มีอารมณ์ความรู้สึก ความสนุกตื่นเต้นเร้าใจ และการบริการที่เข้าอกเข้าใจในความเป็นมนุษย์

พลังทางเทคโนโลยีและความรู้เชิงเหตุผลของสิงคโปร์ จึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสูงสุดเมื่อหลอมรวมเข้ากับพลังแห่งความเป็นมนุษยที่ รุ่มรวยเบิกบานของคนไทย นี่จึงเป็นโอกาสของ Creative Thailand ที่จะมีการแลกเปลี่ยนทั้งการลงทุน ความรู้ วัฒนธรรม และแรงงาน เพื่อการสร้างสรรค์สินค้าบริการที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศแบบแรง งานราคาถูกได้สำเร็จ

สิ่งที่คนไทยวิตกกังวลกันมากก็คือ การเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือสูงจากประเทศไทยไปยังสิงคโปร์ เนื่องจากค่าจ้างที่สูงกว่า ซึ่งอาจทำให้แรงงานฝีมือสูงที่มีน้อยอยู่แล้วขาดแคลนได้ วิธีการแก้ไขที่ชาญฉลาดย่อมไม่ใช่การกีดกันขัดขวาง หากทว่าควรเน้นไปที่การร่วมลงทุนและแสวงหาโมเดลธุรกิจที่เติมเต็มระหว่างกัน ซึ่งนอกจากทำให้ไม่สูญเสียแรงงานฝีมือไปแล้ว ยังช่วยเพิ่มพูนผลกำไรให้ประเทศชาติอีกด้วย

2. ศูนย์กลางการค้าที่สร้างสรรค์ที่สุดในโลก (Creative Mall)

ในศตวรรษที่ 21 ต้นทุนการคมนาคมขนส่งไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนย้ายสินค้าและผู้คนอีก ต่อไปแล้ว หากทว่า พฤติกรรมการบริโภคยังคงถูกจำกัดด้วยกาลเวลาและสถานที่ มนุษย์ต้องพึ่งพาห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และตลาดนัด ในการเป็นตัวกลางเชื่อมโยงสินค้าที่หลากหลายจากปลายสุดขอบโลกมาให้ผู้บริโภค ที่มีเวลาจำกัดได้เลือกซื้อหาอย่างสำเริงสำราญใจ

ประเทศไทยจึงไม่ควรหมกมุ่นเพียงการผลิตสินค้าสร้างสรรค์ (Creative Product) หากทว่าสามารถทำหน้าที่เป็น Creative Mall เพื่อเชื่อมโยงสินค้าสร้างสรรค์จากทั่วทุกมุมโลกมาจัดแสดงแข่งขัน พัฒนาบรรยากาศและสถานที่ให้นุ่มละมุนเพื่อเชื้อเชิญลูกค้าจากทั่วทุกมุมโลก มาเยี่ยมชม

“อุตสาหกรรมท่องเที่ยว” ไม่เป็นที่สงสัยว่าเป็นความถนัดเฉพาะของประเทศไทย หากทว่าการจะต่อยอดเพื่อดึงดูดเงินทองจากกระเป๋าของนักท่องเที่ยวยังทำได้ จำกัดนัก การพัฒนา Creative Mall เพื่อขายสินค้าสร้างสรรค์จากทั่วทุกมุมโลก จึงเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่ง ที่อาศัยความได้เปรียบจากการเดินทางมาเที่ยวของชาวต่างชาติอย่างล้นหลามให้ เป็นประโยชน์ที่สุด

ความกังวลว่าสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2015จะไหลล้นทะลักมาท่วมท้นประเทศไทย และทำให้เศรษฐกิจอุตสาหกรรมต้องพังทลายหมดสิ้น จึงเป็นวิธีคิดที่ติดในกรอบของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แบบดั้งเดิม ซึ่งดูถูกบทบาทของ “พ่อค้า (Trader)” ว่าเป็นปลิงดูดเลือดที่ไม่ได้ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศแต่ประการ ใด หากทว่า สิ่งที่ลืมมองไปก็คือ มนุษย์มีเวลาและข้อมูลที่จำกัดในการเลือกซื้อสินค้า ดังนั้น การเป็นตัวกลางที่ฉลาดสร้างสรรค์ในการนำเข้าสินค้าจากทั่วทุกมุมโลก (Import) เพื่อให้นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกได้เลือกสรรอย่างละลานตา ย่อมเป็นเสมือนการส่งออกสินค้า (Export) โดยไม่ต้องเสียเวลาในการเจาะตลาดต่างประเทศซึ่งมีเจ้าถิ่นเดิมครอบครองและ คอยกีดกัน

จุดเริ่มต้นในการสร้าง Creative Mall จึงไม่จำเป็นต้องเมียงมองไปที่การนำเข้าสินค้าชั้นดีจากชาติตะวันตกมาวางขาย ให้นักท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว หากยังสามารถเสาะแสวงหา “สินค้าแปลกตา” จากเพื่อนบ้านในอาเซียน ซึ่งยังไม่เป็นที่รับรู้ในตลาดโลก ที่ยังไม่มีการตลาดประชาสัมพันธ์และการออกแบบที่เลิศหรู เข้ามาวางขายและสร้างความตื่นเต้นให้กับวงการค้าปลีกไทยที่ต้องการยกระดับไป สู่ความเป็นสากล

3. อาเซียนสร้างสรรค์ (CREATIVE ASEAN)

ความยิ่งใหญ่ของชาวโรมัน ย่อมเกิดขึ้นมาท่ามกลางการเรียนรู้ต่อยอดจากอารยธรรมของเพื่อนบ้าน ในทำนองเดียวกัน ความเสื่อมของอารยธรรมโรมันก็เกิดขึ้นจากการขยายอาณาจักรไปครอบครองดินแดน ของเพื่อนบ้าน จึงทำให้ดินแดนที่รุ่มรวยไปด้วยความหลากหลายต้องเหลือแต่เพียงความเป็นหนึ่ง เดียวแบบโรมัน ความสร้างสรรค์ที่เคยมีล้นเหลือจึงเริ่มเสื่อมถอย ส่งผลกระทบไปถึงเศรษฐกิจการค้า แล้วกลายเป็นความล่มจมทางการทหารและการเมืองในท้ายที่สุด

“ประชาคมอาเซียน” จึงไม่ควรรวมตัวกันแบบสมบูรณ์เต็มร้อย หากยังต้องเหลือที่ว่างให้กับอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่รุ่มรวยของแต่ละชนชาติ เพื่อที่จะสามารถแลกเปลี่ยนสร้างสรรค์กันได้อย่างเต็มที่ ไม่ซ้ำรอยอาณาจักรโรมันที่กว้างใหญ่ในเชิงพื้นที่ หากคับแคบในคุณภาพของอัตลักษณ์ประจำท้องถิ่น

ที่สำคัญยิ่งกว่า คือ กลยุทธ์การเรียนรู้ตัวเอง ด้วยการศึกษาผู้อื่น เนื่องจากประเทศไทยมีพรมแดนที่ติดกับพม่า เขมร ลาว และมาเลเซีย จึงทำให้มีลักษณะประจำชาติบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน  ดังนั้น การวิเคราะห์เพื่อนบ้านอย่างลึกซึ้ง ก็ย่อมทำให้เข้าใจทั้งความเหมือนและความต่าง สามารถแยกแยะ “ความเป็นไทย” ออกมาจากเพื่อนบ้านได้ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ที่มีความโดดเด่นริเริ่มไม่ซ้ำใคร (Thai Originality)

ประเทศไทยเป็นเมืองท่าที่แสวงหาประโยชน์จากการสัญจรไปมาของผู้คนมาช้านาน แล้ว คนไทยจึงมีลักษณะยิ้มแย้มแจ่มใสสามารถปรับตัวประสานประโยชน์ร่วมกับชนชาติ หลากหลายที่แวะเวียนเข้ามาได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ นี่คือ จุดแข็งและอัตลักษณ์ที่โดดเด่นซึ่งควรจะนำมาต่อยอดให้สอดคล้องกับภูมิศาสตร์ ทางเศรษฐกิจโลกที่สลับซับซ้อนแห่งศตวรรษที่ 21

หมายเลขบันทึก: 494322เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2012 15:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กรกฎาคม 2012 15:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

"รู้ใช้เข้าใจเงิน" ....เป็ยข้อความ ที่มีความหมายมากๆ เลยนะคะ

ขอบคุณ  สำหรับบทความดีดีนี้นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท