ชีวิตที่พอเพียง :๑๕๙๘. เดินทางรอบโลก ๑๑. ที่โตเกียว


 

          ที่สนามบินนาริตะ สามีของคุณอ้อชื่นคุณตัน (จบสถาปัตย์ จุฬา หลังคุณแบน - อ. ธีรพล หนึ่งรุ่น) ซึ่งทำทัวร์ของบริษัท ทูบายโฟร์ กับคุณมนต์ชัย ซึ่งทำหน้าที่ไกด์ของคณะ มารับ   พาขึ้นรถบัสขนาดกลาง ๒๐ ที่นั่งเข้าเมือง ใช้เวลา ๗๐ นาที   แล้วเลยไปย่านคนแก่ชื่อย่านซูกาโม่ ใช้เวลาอีก ๓๐ นาที   เราไปถึง ๑๖ น. ใช้เวลา ๑ ชั่วโมงเดินเที่ยวชมสภาพถนนคนเดิน ที่มีร้ายขายสินค้าที่คนแก่ชอบมาซื้อ   คนมาเดินเยอะมาก กว่าครึ่งเป็นคนแก่   บางคนนั่งรถเข็นมีคนช่วยเข็น   บางคนนั่งรถเข็นไฟฟ้าและมีคนขี่จักรยานเยอะมาก   จักรยานกับคนเดินอยู่ด้วยกันได้อย่างดี  มีร้านค้าสารพัด  มีร้านเสื้อผ้ารวมทั้งกางเกงในสีแดงด้วย   ย่านนี้เว็บไซต์บอกว่าเป็นเสมือนย่านฮาราจุกุของคนแก่    ย่านนั้นมีวัดโคเก็นจิ คนนิยมไปสรงน้ำพระเจ้าแม่กวนอิม แต่ละคนเมื่อสรงเสร็จก็เช็ดตัวให้ด้วย   คิวเข้าสรงน้ำและเช็ดตัวเจ้าแม่กวนอิมยาวมาก

 

          ที่หัวถนนมีวัดพระชิโซ่ พระสวมหมวกซึ่งถือกันว่าคอยคุ้มครองเด็กเล็กๆ   

 

          ที่วัดโคเก็นจิบริเวณกว้างขวาง  คนแก่ๆ นิยมมานั่งเล่นและคุยกัน   มีร้านขายของในทำนองสิ่งศักดิ์สิทธิ์   และด้านหลังมีคนมาออกร้านขายผัก   และมีห้องน้ำสะอาดไว้ให้บริการอ่านในเว็บบอกว่าที่นี่ศักดิ์สิทธิ์ทางรักษาโรค   ไม่ทราบเพราะเหตุนี้หรือไม่คนแก่จึงนิยมมาที่บริเวณนี้

 

          จากนั้นเราเข้าโรงแรม Prince Hotel Sunshine City พบ อ. ประภาภัทร นิยมและ ดร. อนุชาติ พวงสำลีที่บินมาสมทบวันนี้   เพื่ออยู่เที่ยวญี่ปุ่นต่อในวันที่ ๒๘ พ.ค. - ๑ มิ.ย. ๕๕   ตามที่ผมโดนชวนมาเที่ยวแบบ slow life

 

          คณะเอาของเข้าโรงแรมแล้วลงมารวมตัวกันเพื่อออกไปเดินชมถนนคนเดิน   และร้านขายของที่น่าเดินดูของ ชื่อ Tokyu Hands   ก่อนจะไปกินอาหารเย็น   เพราะเวลามีจำกัด ร้าน Tokyu Hands ปิดเวลา ๒๐.๓๐ น.   เราต้องไปชมก่อนไปกินอาหาร    โรงแรม Prince Hotel Sunshine City นี้อยู่ในย่านที่เรียกว่าIkebukuro   ซึ่งเป็นย่านคึกคักมาก ร้านขายของมาก   ผมดูของไม่เป็น ใช้วิธีติดตามท่านอธิการบดีรัชตะ ที่คุณตันชวนไปดูของที่ทำขึ้นด้วยไอเดียแปลกๆ   หาซื้อที่อื่นไม่ได้  

 

          ในการสนทนาในกลุ่ม มีคนพูดว่าคนญี่ปุ่นไม่ non-religious    ผมจึงเสนอความเห็นที่ไม่ทราบว่าผมเองเป็นคนไม่ religious    แต่ผมคิดว่าตนเองspiritual    คือผมคิดว่า สองคำนี้ต่างกัน

 

          อาหารเย็นวันนี้กินสุกี้ญี่ปุ่น ที่เรียกว่า ชาบุชาบุ   โดยมีคุณมนต์ชัยอธิบายวิธีกิน เขามีถ้วยเล็กๆ ให้คนละ ๓ ใบ สำหรับตอกไข่ดิบใส่และตีให้ไข่ขาวกับไข่แดงเข้ากัน ๑ ใบ   และใส่น้ำจิ้มอีก ๒ ใบ เพราะน้ำจิ้มมี ๒ ชนิด   เอาเนื้อหมูสดที่หั่นบางจ๋อยลงไปแกว่งในน้ำซุปร้อนพอสุก   เอามาจิ้มไข่และน้ำจิ้มก่อนกิน   นอกจากเนื้อหมูเขายังมีผักหลากชนิดให้เดินไปตักได้ไม่อั้น   เนื้อหมดสั่งเพิ่ม ไข่หมดสั่งเพิ่ม   จัดเป็นอาหารมื้ออร่อย ทำให้ผมกินมากเกินไป    ผมเคยกินแบบนี้ครั้งหนึ่งนานมากแล้ว คงจะกว่า ๓๐ ปี    

 

          เช้าวันที่ ๒๘ พ.ค. ๕๕ สว่างตั้งแต่ตีสี่   ออกไปวิ่งตีห้า  พบคนนอนในสวนสาธารณะกว่าสิบคน   และพบหนุ่มคนหนึ่งในชุดทำงานนั่งตัวงอ หลับอยู่ริมถนน   เดาว่าเมา    อากาศเย็นๆ คงราวๆ ๒๐ องศา   และถนนและบริเวณว่างคน   พบแมว ๓ ตัว

 

          หลังจบการดูงานระบบการดูแลผู้สูงอายุ คณะไปกินอาหารมื้อสุดท้ายด้วยกันที่ร้านข้าวปั้นใส่จานวางสายพานให้หยิบกินตามใจชอบ  เป็นวัฒนธรรมญี่ปุ่นดั้งเดิมที่ยังคงอยู่   ผมไม่ได้กินมานานมากเช่นกัน จึงถือว่าเป็นไฮไล้ท์ ในการกินอาหาร   แต่คุณแบนผู้มีประสบการณ์บอกว่าร้านนี้ไม่อร่อย   ข้าวปั้นไม่นุ่มนวล       

 

          ไฮไล้ท์ ของการเที่ยวกับสถาปนิกเริ่มตอนบ่าย   ผมติดตามคณะซึ่งมี ๖ คน คือคุ้ง (ยิ่งยง ปุณโณปถัมภ์) ในฐานะที่เด็กที่สุด ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะ   ค้นคว้าหาสถานที่เที่ยว ที่พัก และการเดินทาง, หนุ่ย (บริพัตร มีวัฒนะ) หนุ่มพอๆ กัน เป็นผู้ช่วย, อ. อ๋อย (ประภาภัทร นิยม), อ. แบน (ธีรพล นิยม), อ. อ้อ (อนุชาติ พวงสำลี) และผม    ผมได้รับคำสั่งจากหัวหน้าตัวจริงว่าอย่ายกกระเป๋าหนัก ให้ทำตัวเป็นคนแก่   ผมก็ทำตามบ้างไม่ทำตามบ้าง   แต่ที่ทำตามอย่างชอบใจมาก คือไม่เข้าร่วมคลำทางเลย ไม่ว่าจะเป็นทางรถไฟหรือรถยนต์ 

 

          เมื่อพบกันวันแรก ๒๑ พ.ค. ๕๕ ที่ฮุสตัน คุณคุ้ง ก็มอบเอกสารคู่มือนำเที่ยวที่ค้นมาจากอินเทอร์เน็ต ทำเป็นเล่มขนาด A4 พับครึ่ง พิมพ์สี่สี   เริ่มโปรแกรมเที่ยววันที่ ๒๘ พ.ค. ๕๕   เป็นเอกสารที่ให้ความสะดวกในการเที่ยวและบันทึกอย่างมาก   ขอขอบคุณคุณคุ้งและคุณหนุ่ยผู้จัดทำไว้ ณ ที่นี้

 

          เราคลำทางนั่งรถไฟจากสถานี Ikebukuro ไปสถานี Roppongiเพื่อดูผลงานTokyo Midtown ซึ่งเป็นโครงการฟื้นฟูบูรณะย่านเมืองเก่า    เพื่อสร้าง public space สมัยใหม่   ที่เมื่อผมได้เห็นก็ตื่นตาตื่นใจยิ่ง    อ. แบนเล่าว่า การเจรจากับเจ้าของที่รายย่อยยากมาก   ใช้เวลาถึง ๒๐ ปี จึงสำเร็จ   ในประเทศไทยไม่เคยมีโครงการเปลี่ยนพื้นที่เมืองเก่า ให้เป็นพื้นที่สาธารณะแบบทันสมัยและสร้างความร่มรื่นในเมืองด้วยการออกแบบสถาปัตยกรรม แบบนี้

 

          โครงการแบบนี้ที่สิงคโปร์มี คือที่ Marina Bayและที่มาเลเซียก็มี   แต่ไทยไม่มี   อ. แบนพยายามเสนอสำนักงานทรัพย์สินฯ แต่ก็ไม่เป็นที่เข้าใจ

 

          คุณแบนหาอาคารชื่อ 21_21 Design Sightที่มีการออกแบบทันสมัยสุดๆ ตามที่ทราบไม่พบ   ต้องโทรศัพท์ไปถามสถาปนิกทางเมืองไทยที่เคนร่วมทำงานชิ้นนี้ด้วยจึงไปหาพบ   เป็นอาคารที่ออกแบบโดยคนที่ไม่ได้เรียนสถาปัตย์   และแรงบันดาลใจในการออกแบบอาคารนี้มาจากการพับกระดาษ ออริกามิ   เราเข้าไปชมนิทรรศการ The Art of Living in Tohokuมีหนังแสดงศิลปกรรมพื้นบ้านน่าสนใจยิ่ง 

 

          เราขึ้นรถไฟไปเดินดูย่าน Shinjukuและกินโซบะที่ร้านแถวนั้น   แล้วรีบขึ้นรถไฟกลับโรงแรมมาขนกระเป๋าขึ้นรถแท็กซี่ ๒ คัน ไปนอนออนเซน Homeikan Daimachi Bekkan, 12-9 Hongo, 5-Chome, Bunkyo-ku, Tokyo  ซึ่งอยู่ใกล้มหาวิทยาลัยโตเกียว

 

          เจ้าของโฮมสเตย์รอบคอบมาก   บอกเราว่าหากจะกินอาหารเช้าพร้อมกันทั้งคณะ ๖ คนต้องกินเวลา ๘ น. หลังจากคนอื่นกินเสร็จแล้ว    เพราะห้องอาหารแคบ จุคนเกิน ๖ คนไม่ได้    เราตกลงกินตอน ๘ น.

 

          ความสนุกและตื่นเต้นคือได้นอนห้องนอนแบบญี่ปุ่นดั้งเดิมคือห้องปูเสื่อ นอนกับพื้น   ห้องส้วมรวม ห้องอาบน้ำรวม   ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นห้องแช่น้ำร้อน   ผมได้โอกาสแช่ตอนเช้าวันที่ ๒๙

 

          เช้าวันที่ ๒๙ พ.ค. ๕๕ วันอังคาร ผมแปลงสภาพเป็นนักท่องเที่ยวลูกทัวร์คุณคุ้ง (ที่จริงคือคุณแบน) เต็มตัว   ผมตื่น ๔.๔๕ น. แล้วออกไปวิ่งในซอยหน้าโฮมสเตย์  ซ้ายที ขวาที   ชื่นชมและถ่ายรูปความเป็นอยู่ของบ้านในซอย ที่สะอาดและปลูกต้นไม้ดอกไม้ให้ความงาม   ตอนไปทางขวา ไปเจอมหาวิทยาลัยโตเกียว    ซึ่งประตูปิด เข้าใจว่าเปิด ๗ น.   บริเวณหน้าประตูมีหนุ่มๆ ๕ - ๖ คนมาวิ่งออกกำลังกาย 

 

          กลับมาที่โฮมสเตย์ ห้องอาบน้ำแบบครอบครัว (คือ ล็อกประตูได้) ว่าง    ผมจึงได้โอกาสแช่ในอ่างน้ำอุ่นออนเซ็น เป็นครั้งแรกในชีวิต   สบายเนื้อสบายตัวขึ้นทันตา

 

          ก่อน ๘ โมงเล็กน้อย เจ้าหน้าที่มาตามไปกิน อาหารเช้า    อ. แบนเตือนน้องๆ สมาชิกว่าคนญี่ปุ่นเขาตรงต่อเวลา    อาหารแบบญี่ปุ่นแท้   ผมกินเสร็จเร็วก็ออกไปถ่ายรูปสวนของโรงแรม

 

          ก่อน ๙ โมงเราเช็คเอ้าท์ และฝากกระเป๋าไว้กับโฮมสเตย์   แล้วออกไปเดินชมบริเวณมหาวิทยาลัยโตเกียว    ระหว่างทางเห็นคนใช้รถจักรยานมากมาย   ผู้หญิงบางคนบรรทุกลูกคนโตไว้ข้างหลัง ลูกคนเล็กไว้ข้างหน้า    ขี่จักรยานอย่างชำนาญ   เราชื่นชมความสะอาดและเป็นระเบียบของบ้านเมืองของเขา    โดยที่บริเวณใกล้มหาวิทยาลัยเป็นบริเวณที่อยู่อาศัย 

 

          สิ่งที่เราชื่นชมที่มหาวิทยาลัยโตเกียวคือ (๑) ระบบห้ามรถยนต์และจักรยานยนต์เข้า    เข้าได้แต่รถจักรยานและรถส่งของ    ทำให้ภายในบริเวณสงบเงียบ  (๒) การปลูกและรักษาต้นไม้ใหญ่อายุคงจะกว่าร้อยปี   ปลูกอย่างมีแกนสายตา และสิ่งสำคัญที่อยู่สุดสายตา   (๓) สระน้ำที่ซ่อนอยู่ในป่า ให้ความสงบเย็น   (๔) อาคารFukutake Hallที่สร้างใหม่ ออกแบบเป็นสถาปัตยกรรมยุคใหม่ เป็นอาคารใหญ่แต่ออกแบบให้ยัดลงไปในดิน ทำให้ไม่บังความสง่างามของอาคารสมัยเก่า  

 

          จากนั้นเรานั่งแท็กซี่ไปยังตลาดเก่าที่ฟื้นฟูขึ้นใหม่ ชื่อ Yanaka Ginzaมีร้านขายของหลากหลาย   ผมได้ชาเขียวอย่างดีมาเป็นของฝาก   เรากินข้าวกับปลาดิบร้านเล็กๆ มีที่นั่งเพียงสิบกว่าคน ที่คนแน่นและคิวยาว    คุณแบนเป็นผู้ค้นพบ   แล้วรีบขึ้นแท็กซี่ไปเอากระเป๋าที่โรงแรม   เพื่อไปรับรถเช่าที่ร้านให้เช่ารถ เพื่อขับไปฮาโกเน่   โดยคุณแบนเป็นโชเฟอร์ คุณหนุ่ยและคุณคุ้งเป็นเนวิเกเตอร์ด้วยเครื่อง GPS และเครื่อง iPad ตรวจสอบกัน    ไม่ถึงสองชั่วโมงก็ถึงโรงแรมที่พักในฮาโกเน่ ชื่อ Takumi – no- yado Yoshimatsu

 

วิจารณ์ พานิช

๒๙ พ.ค. ๕๕

โฮมสเตย์ ไดมาจิ เบ็คคัน

 

 ที่วัดโคเก็นจิ คนมาเข้าคิวอาบน้ำเช็ดตัวให้เจ้าแม่กวนอิม

เดาว่าเพื่อขอพรให้สุขภาพดี


 

ย่านซูกาโม่ ฮาราจุกุของคนแก่


 

 

 

 ลู่วิ่งเช้าวันที่ ๒๘ พ.ค. ๕๕


 

 กินอาหารร้านซูชิ


 

 Public space ของย่าน Roppongi


 

 Public sapce อีกแบบหนึ่งของย่าน Roppongi


 

 ศิลปะการออกแบบอาคารที่ย่าน Roppongi


 

 อาคาร 21_21 Design Sight

 


 

 ถนนแกนหลักของมหาวิทยาลัยโตเกียว ภายในบริเวณห้ามรถเข้า เข้าได้เฉพาะรถจักรยานและรถส่งของ


 

 

 ต้นไม้โบราณใน ม. โตเกียว


 

สระน้ำกลาง ม. โตเกียว สงบและร่มรื่น


 

 

 อาคาร Fukutake Hall สร้างใหม่เพื่อรูปแบบการเรียนรู้ที่ทันสมัย ไม่ข่มสถาปัตยกรรมแบบเก่าที่อยู่ตรงกันข้ามฝั่งถนน แต่ไม่อยู่ในภาพ

 


 

 

หมายเลขบันทึก: 494315เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2012 15:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กรกฎาคม 2012 15:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ประเทศและคนญี่ปุ่น...เขาอนุรักษ์ ต้นไม้...ต้นใหญ่ๆๆ ไว้ได้ดีมากๆๆเลยนะคะ ต้นนำ้...ลำธาร...ความสะอาด ถนน ที่สาธารณะได้ดีมากๆๆนะคะ

 

ขอบคุณ บทความของท่านอจ.มากเลยนะคะ










พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท