กลหมากรุกไทย ภาค ๑


กลหมากรุก

เป็นรูปแบบของหมากรุกทั้งสองฝ่าย ที่ปรมาจารย์หรือผู้ชำนาญได้ค้นคว้า หรือมีประสบการณ์ว่า ถ้าหมากทั้งสองฝ่ายตั้งอยู่ในรูปที่กำหนด ฝ่ายใดเดินก่อนจะเป็นฝ่ายชนะ และชนะในกี่ทีเรียกว่าเป็นกลหมากรุก และยังมีกุญแจกลเพื่อบอกวิธีการเดินทั้งการไล่ และการหนีที่ดีที่สุดไว้ด้วย มักจะเป็นหมากรุกที่เล่นไปกินไปจนเหลือหมากน้อยตัว เรียกว่า หมากรุกปลายกระดาน ตรงกับภาษาอังกฤษว่า end play เมื่อสนใจกลหมากรุกใดก็จะตั้งตัวหมากรุกให้ตรงตามกล แล้วพยายามไล่ให้จนตามกำหนด ฝ่ายหนีก็ต้องหนีให้ได้นานตามกำหนด

กลหมากรุก ที่ผู้ชำนาญได้ค้นคว้าไว้นั้น หลายกลจะมีชื่อกำกับไว้ด้วย ชื่อของกลอาจชี้ให้เข้าใจถึง รูปแบบของการตั้งหมาก หรือเป็นคำอธิบายลักษณะการเดิน เช่น จรเข้ข้ามฟาก ปลาดุกยักเงี่ยง พระรามเข้าโกษฐ์ เป็นต้น

หนังสือกลหมากรุกซึ่งมีคุณค่า และถูกอ้างอิงบ่อยที่สุดเล่มหนึ่งคือ ตำรากลหมากรุก ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ เจ้าพระยาอภัยราชา มหายุติธรรมธรให้พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2465 พิมพ์ที่โรงพิมพ์ไท ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์คำนำ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พระพุทธศักราช 2465 ซึ่งในบทความนี้ก็ได้อัญเชิญทั้งคำนำ และตำนานหมากรุกไทยไว้ทั้งหมด และเป็นอักขระ สะกด การันต์ตามของเดิมด้วย

การนับ

เมื่อเล่นหมากรุกไปจนทั้งสองฝ่ายต่างเหลือตัวน้อยได้เปรียบเสียเปรียบกันไม่มาก และทั้งสองฝ่ายต้องไม่มีเบี้ยคว่ำ หากจะให้เล่นต่อไปโดยไม่มีกำหนดก็จะเป็นการเสียเวลา จึงกำหนดให้มี การนับ โดยฝ่ายที่เป็นรองจะขอให้มีการนับ และจะเริ่มนับเมื่อมีการร้องขอ ในกรณีนี้จะนับตั้งแต่ 2 เมื่อถูกขอให้นับไปจนถึง 64 เท่ากับจำนวนตาในกระดานหมากรุก เรียกการนับแบบนี้ว่า นับตาม ศักดิ์กระดาน ถ้านับไปถึง 64 แล้วฝ่ายไล่ยังไม่สามารถไล่ให้จนได้ ถือเป็นเสมอกัน

ถ้าฝ่ายเสียเปรียบเหลือ เพียงขุนตัวเดียว ฝ่ายได้เปรียบมีตัวมากกว่าและไม่มีเบี้ยคว่ำ กติกากำหนดให้มีการนับ วิธีนับ ต้องนับตัวหมากรุกทั้งหมดที่มีอยู่ในกระดาน รวมขุนทั้งสองฝ่าย เมื่อฝ่ายหนีเดินครั้งแรกก็ ให้นับต่อจากจำนวนตัวหมากรุกที่มีอยู่ในกระดานขณะนั้น และนับต่อไปจนถึงกำหนดสูงสุดตามศักดิ์ของตัวหมากรุกที่ฝ่ายไล่มีอยู่เรียกว่า ศักดิ์หมาก โดยใช้เกณฑ์ดังนี้ มีหลักจำง่ายๆว่า เรือ 26 โคน 44 ม้า เม็ดหรือเบี้ยหงาย 64 มีรายละเอียดคือ

เรือคู่นับ 8  เรือเดี่ยวนับ 16  โคนคู่นับ 22  โคนเดี่ยวนับ 44  ม้าคู่นับ 32  ม้าเดี่ยวนับ 64   เบี้ยหงายไม่ว่ากี่ตัว 64

(โคน 2 ม้า 2 เบี้ยหงาย 2 นับ 22   ม้า 2 เบี้ยหงาย 3 นับ 32   เรือ 2 เบี้ยหงาย 2 นับ 8 ถือการนับหมากที่มีศักดิ์สูงที่สุด)

ตัวอย่าง ฝ่ายขาวเป็นฝ่ายเดินก่อน รูปที่ 2 ยังไม่เริ่มนับเพราะฝ่ายดำยังมีเบี้ยคว่ำอยู่ สมมติฝ่ายขาวเดินเรือกินเบี้ยคว่ำ จะมีหมากเหลือรวม 5 ตัว ตามรูปที่ 2 ฝ่ายดำเมื่อเดินหนีครั้งแรกจะเริ่มนับ 6 เมื่อนับไปถึงทีที่ 8 ถ้าฝ่ายขาวรุกจนได้ ถือว่าฝ่ายดำแพ้ ถ้าฝ่ายดำสามารถเดินนับ 9 ได้ ถือว่าเสมอกัน โดยไม่ต้องเดินต่อ ตามตัวอย่างนี้ ถ้าฝ่ายขาวยังไม่กินเบี้ยคว่ำในตอนแรก ก็สามารถไล่ให้จนได้โดยไม่ต้องนับ

 

 

อ้างอิง:http://www.oknation.net/blog/seri1324/2009/05/14/entry-2

คำสำคัญ (Tags): #กลหมากรุกไทย
หมายเลขบันทึก: 494272เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2012 10:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กรกฎาคม 2012 10:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท