You are what you eat


กินเพิ่มพลังย่อย&เผาผลาญ

ในฐานะผู้จัดการอาหารตั้งแต่เข้าปากจนขับถ่ายจึงมีส่วนกำหนดสุขภาพของเราไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
You are what you eat จึงอาจไม่จบแค่การเลือกอาหารที่จะกินเข้าไป ทว่าเราคงต้องหันกลับมามองสุขภาพของสองระบบใหญ่กันด้วย

ระบบย่อยอาหารดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
คนที่ท้องไส้ไม่ค่อยดีเพราะระบบย่อยอาหารแปรปรวนบ่อยๆ นั้นมีอยู่จำนวนไม่น้อย เพราะนับวันอาหารการกินที่เป็นศัตรูกับสุขภาพจะล่อตาล่อใจมากขึ้นเรื่อยๆ หากรู้ไม่ทันเสียแล้ว ก็พลาดท่าตกเป็นเหยื่อติดรสชาติ เหมือนชักศึกเข้ารุกรานระบบย่อยอาหารของเราได้ง่ายๆ อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง อธิบายถึงระบบย่อยอาหารที่ส่งผลต่อสุขภาพไว้ว่า การทำงานของร่างกายแบ่งออกเป็นระบบต่างๆ ที่สำคัญ 4 ระบบ ซึ่งทำงานร่วมกันและประสานกัน และเมื่อมองดูร่างกายในลักษณะขององค์รวม จะเห็นว่าระบบย่อยอาหารเป็นระบบที่สำคัญที่สุด เพราะเกี่ยวข้องกับอาหารที่เรากินเข้าไป ซึ่งเป็นตัวสร้างเลือดเนื้อให้แก่เรา ให้ความเจริญเติบโต และให้ชีวิต ที่สำคัญระบบภูมิต้านทาน (Immunity) ก็เป็นหนึ่งในระบบที่ต้องพึ่งระบบย่อยอาหารด้วย

ระบบการย่อยอาหารแบ่งออกเป็นสองขั้นตอน ขั้นตอนแรกคือการย่อย (Digestion) ซึ่งเริ่มย่อยก่อนในปาก แล้วต่อด้วยกระเพาะอาหารและลำไส้ จะย่อยอาหารต่างๆ ให้เป็นส่วนละเอียดที่สุด เราเรียกว่า ขบวนการแตกตัว (Break Down Process) เมื่อหมดจากขบวนการแตกตัว ก็ถึงขบวนการดูดซึม (Apsorption) คือการนำเอาสารอาหาร (Nutrients) ออกไปเลี้ยงทุกส่วนของร่างกาย

ถ้าขบวนการแตกตัวทำไม่ได้อย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารประเภทโปรตีน ก็จะกลายเป็น Incomplete Protein Breakdown Products (IPBP) ซึ่งก็คือพิษหรือ Toxin นั่นเอง

อาหารซึ่งจะเป็นประโยชน์ก็กลับกลายเป็นพิษได้ และเมื่อดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด และเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ร่างกายก็จะเต็มไปด้วยพิษ เมื่อสะสมนานๆ เข้า พิษนั้นก็ทำให้ป่วยหนักด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ทำให้เราเสียชีวิตได้ “You Are What You Eat” จึงพิสูจน์ได้จากความเจ็บป่วยนี่เอง

ทั้งหมดนี้คงสะท้อนให้เราเห็นถึงความสำคัญของระบบย่อยอาหารที่มีต่อภูมิชีวิตและสุขภาพโดยรวมได้เป็นอย่างดี
น้องณัฐ ณัฐชยา ธนูเทพ อายุ 16 ปี เล่าให้ฟังถึงพฤติกรรมการกินผิดๆ ที่ก่อปัญหาระบบย่อยอาหาร
“เดิมกินอาหารไม่บันยะบันยัง และชอบกินอาหารมันๆ เช่น กุยช่ายทอด ไก่ทอด มักจะกินมากจนอิ่มเต็มที่ จนรู้สึกเลี่ยนไปทั้งวัน เหมือนอยากอาเจียน
“ชอบกินอาหารรสจัด กินก๋วยเตี๋ยวต้องเติมน้ำปลารวมๆ แล้วเกือบครึ่งทัพพี เติมน้ำส้มสายชู และพริกมากเป็นพิเศษ วันไหนกินแบบนี้ จะรู้สึกแสบท้อง ปั่นป่วนในท้อง โดยเฉพาะตอนกลางคืน และพอตื่นขึ้นมาก็ท้องเสียเลย แต่ตามปกติไม่ชอบกินผักและผลไม้ก็จะท้องผูก ปัญหาสุขภาพที่ตามมา คือ อ้วน ตัวบวม และมีสิวขึ้นเห่อที่ใบหน้าอยู่เสมอ”
สำหรับปัญหาของน้องณัฐ นายแพทย์สุวินัย บุษราคัมวงษ์ แพทย์สาขาอายุรกรรม โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท 1 อธิบายว่า
“พฤติกรรมการกิน ส่งผลโดยตรงต่อระบบย่อย การกินอาหารรสจัดไม่ดีต่อเนื้อเยื่อของกระเพาะอาหาร การกินอาหารปริมาณมากๆ หรือการกินอาหารไขมันสูงเป็นปริมาณมาก ทำให้ขบวนการการดูดซึมนำไปใช้ไม่ดีเท่าที่ควร ร่างกายจึงเก็บไว้เป็นพลังงานส่วนเกิน ด้วยการแปรรูปเป็นไขมันสะสมตามอวัยวะต่างๆ
เพื่อหนีจากปัญหาสุขภาพที่เริ่มรุมเร้า น้องณัฐจึงต้องปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่

คุณหมอสุวินัยสรุปถึงเคล็ดลับการกินที่เสริมพลังระบบย่อยอาหารว่าให้ฟังว่า
• กินอาหารให้ตรงเวลา เพราะระบบนี้ส่งผ่านอาหารไปเหมือนสายพานลำเลียง จากปาก ผ่านมายังหลอดอาหาร ลงสู่กระเพาะอาหาร ซึ่งมีน้ำย่อย การกินอาหารไม่ตรงเวลามีผลให้น้ำย่อยที่ออกมาแล้วไม่มีอาหารให้ย่อย ต้องย่อยกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารตามมาได้

• เคี้ยวอาหารให้ละเอียด การย่อยเริ่มตั้งแต่ในปาก การเคี้ยวอาหารให้ละเอียดช่วยให้กระเพาะอาหารไม่ต้องทำงานหนักมากนัก เพราะถ้ากระเพาะต้องย่อยมาก การหลั่งกรดในกระเพาะ และการบีบตัวของกระเพาะจะมากขึ้นด้วย

• กินอาหารที่มีใยอาหาร อาหารที่มีใยอาหารช่วยกระตุ้นการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ให้ทำงานดียิ่งขึ้น ใยอาหารแบ่งเป็นสองประเภท ซึ่งมีประโยชน์ต่อระบบย่อยอาหารต่างกันไปใยอาหารที่ไม่ละลายน้ำทำหน้าที่เหมือนไม้กวาดที่ช่วยทำความสะอาดอวัยวะตลอดระบบย่อยอาหาร อาหารที่มีใยอาหารที่ไม่ละลายน้ำ เช่น บรอกโคลี กะหล่ำปลี เซเลอรี ผักใบเขียวต่างๆ ใยอาหารที่ละลายน้ำได้สามารถช่วยให้ร่างกายดูดซึมไขมันได้ช้าลง ทั้งยังลดทอนการดูดซึมไขมัน ร่างกายจึงได้รับแคลอรีจากไขมันน้อยลงด้วย นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ดักจับสารพิษ แล้วทำให้ขับถ่ายออกมา ทั้งยังช่วยกระตุ้นให้ลำไส้เคลื่อนไหว อาหารที่มีใยอาหารที่ละลายน้ำ เช่น แอ๊ปเปิ้ล แอพริคอต กล้วย แครอท กีวี มันเทศ

• เพิ่มจุลินทรีย์ตัวดี แม้ในร่างกายมีจุลินทรีย์ตัวดีอยู่ ซึ่งทำหน้าที่ช่วยย่อยอาหาร แต่สำหรับบางคนอาจประสบปัญหาขาดจุลินทรีย์ตัวดี ทำให้ระบบย่อยอาหารไม่ปกติ ซึ่งสังเกตได้ว่า มักมีอาการท้องผูก ขับถ่ายไม่ค่อยออก
ทางออกคือกินอาหารที่มีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์เป็นประจำ เช่น โยเกิร์ต เพื่อเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ตัวดีในลำไส้ให้มากขึ้น ช่วยแก้ไขให้ระบบย่อยอาหารดีขึ้น ส่งผลให้การดูดซึมสารอาหารดีขึ้น ร่างกายได้รับสารอาหารเต็มที่
• ดื่มน้ำให้เพียงพอ น้ำเป็นสารหล่อลื่น และเป็นตัวกลางสำหรับปฏิกิริยาต่างๆ ทั่ว

ร่างกาย ในระบบย่อยอาหาร น้ำทำหน้าที่ช่วยย่อยอาหารด้วย ช่วยให้การย่อยอาหารทำงานได้สะดวก จะเห็นว่าถ้าดื่มน้ำน้อย มักมีอาการท้องผูก ระบบย่อยอาหารทำงานยาก เนื่องจากร่างกายสูญเสียน้ำตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องได้รับการชดเชยอย่างเพียงพอสม่ำเสมอหลังจากอาหารถูกย่อยเสร็จสรรพแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของระบบเผาผลาญอาหารที่จะรับช่วงต่อไป เราไปดูแลระบบเผาผลาญอาหารกันค่ะ

(นิตยสารชีวจิตฉบับที่ 315)

คำสำคัญ (Tags): #การกิน
หมายเลขบันทึก: 493868เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2012 13:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 สิงหาคม 2012 00:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

น่าสนใจมากค่ะ จะลองเอาไปใช้ดูนะคะ :D

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท