KM ในสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา


KM ในสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา

        วันที่ 4 ต.ค.48  รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) ศรีวิการ์  เมฆธวัชชัยกุล  และคณะมาคุยกับ สคส. เพื่อขอความร่วมมือในการนำ KM ไปใช้ในโครงการพัฒนาอาชีพแบบบูรณาการเพื่อแก้ปัญหาความยากจน   ซึ่งได้รับงบประมาณมาจาก ศตจ.

        โครงการใหญ่ด้านอาชีวศึกษานี้มีสถาบันการศึกษาถึง 404 แห่งทั่วประเทศ   มีอาจารย์ประมาณ 30,000 คน

        ได้ตกลงกันว่าจะมีการฝึกอบรมให้อาจารย์ของ สอศ.   มีทักษะในการเป็น "คุณอำนวย" ของการจัดการความรู้ที่มีชาวบ้านเป็น "คุณกิจ" แลกเปลี่ยนเรียนรู้กิจกรรมด้านอาชีพใน 4 cluster คือ   อาหาร,  ผ้า - แฟชั่น,  ท่องเที่ยว,  และยางพารา

         เนื่องจากองค์กรนี้มีขนาดใหญ่มาก   สคส. จึงเสนอให้ สอศ. ฝึกวิทยากร KM ขึ้นภายใน สอศ. สำหรับไปทำหน้าที่จัด workshop สร้าง    "คุณอำนวย" ของตนเองได้

         เราตกลงกันว่า สอศ. จะจัด workshop นำ Best Practice มา ลปรร. กัน   โดยใช้เทคนิค storytelling และ dialogue และสกัด "ขุมความรู้" และสังเคราะห์เป็น "แก่นความรู้" เพื่อฝึกวิทยากร KM   โดยคุณธวัช  หมัดเต๊ะ เป็นวิทยากรและผู้ประสานงานของ สคส.   และ ดร. สุริยะ เป็นผู้จัดการรับผิดชอบการจัด workshop ดังกล่าว   แล้วหลังจากนั้น สอศ. จะไปจัด workshop ฝึกอบรม "คุณอำนวย" โดยวิทยากรของ สอศ. เอง   และ สคส. จะไปช่วยหนุน

          ผมได้แจ้งให้ผู้ใหญ่ของ สอศ. 6 - 7 คนที่มาร่วมประชุมว่า   ในการจัด workshop ครั้งแรกมีเงื่อนไขว่าผู้บริหารระดับสูง   โดยเฉพาะท่านรองฯ ศรีวิการ์  และ ดร. อกนิษฐ์  คลังแสง  ผอ. สำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษาต้องเข้าร่วมตลอด 2 วัน   และเข้าร่วมแบบแสดงความเอาจริงเอาจัง   ไม่ใช่ไปร่วมแบบพูดโทรศัพท์ตลอด   จะให้ดีควรปิดโทรศัพท์มือถือเพื่อให้มีสมาธิในการสังเกตให้เห็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในกระบวนการของ workshop

         ประเด็นสำคัญคือผู้บริหารระดับสูงต้องส่งสัญญาณด้วยพฤติกรรม   ว่าตนให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้   และต้องสัมผัสเหตุการณ์ใน workshop เพื่อให้ตนเองได้เข้าใจ KM จากการสัมผัสตรงด้วยตัวเอง   เพื่อจะได้สามารถทำหน้าที่ "คุณเอื้อ" ส่งเสริมทีม KM และกิจกรรม KM ได้ทั้งโดยกายกรรม  วจีกรรม  และมโนกรรม   คือต้องเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของขบวนการ KM ในองค์กร

         ผมได้เรียนคณะผู้บริหารกลุ่มนี้ว่า   วิธีการ KM ที่ สคส. จะถ่ายทอดให้จะเป็นเพียง 20% ของ "ภาพรวม" ของ KM ทั้งหมด   เพราะว่าจริง ๆ แล้วนี่คือการเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร   เป็น Change Management มีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนกระบวนทัศน์และพฤติกรรมของคนในองค์กร   จากการสอน/ฝึกอบรม (Teaching & Training) ไปสู่การเรียนรู้ (Learning)   ดังนั้นผู้บริหารจะต้องทำ Change Management ภายในองค์กร   คู่ขนานไปกับการประยุกต์ใช้เทคนิค KM ควบคู่ไปด้วย

         ผมได้ย้ำว่า   กิจกรรม KM จะซึมซับเข้าสู่องค์กรได้   ผู้บริหารต้องเอาใจใส่ด้านการจัดการระบบ KM อย่างจริงจัง   และนี่คือจุดอ่อนที่ทำให้ KM ในหน่วยราชการต่าง ๆ มีน้อยมากที่เป็น KM ที่เข้มแข็ง   เพราะผู้บริหารปล่อยปละละเลย   ไม่ทุ่มเทบริหารระบบ KM

         ผมขอเรียนผู้บริหาร สอศ. ว่า สคส. จะให้บริการนี้แบบคิดค่าบริการ (ในอัตรามิตรภาพ) ไม่ใช่บริการฟรี   เพราะเรากำลังจะต้องทำงานแบบหารายได้

   
           ผู้เข้าร่วมประชุม ๑                ผู้เข้าร่วมประชุม ๒ 

 

วิจารณ์  พานิช
  5 ก.ย.48

หมายเลขบันทึก: 4938เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2005 08:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 22:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
เด็กแผนกการโรงแรมวิทยาลัยอาชีวศึกษาแพร่

ทำไม!!วิทยาลัยถึงไม่ให้เด็กแผนกการโรงแรมออกฝึกงานต่างจังหวัดละคะ....

เด็กที่เขาก็อยากจะไปเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หาประสบการณ์ชีวิตบ้างสิคะไม่ใช่ว่ามาปิดกั้นกันแบบนี้

**ที่หนูมาโพสข้อความนี้ก็เพราะว่าหนูอยากจะขอความกรุณา/ความเห็นใจจากวิทยาลัยและคณะกรรมการอาชีวศึกษาค่ะ***ช่วยพิจารณาด้วยนะคะ(หนูจะออกฝึกงานเทอมหน้าแล้ว)

เด็กแผนกการโรงแรมวิทยาลัยอาชีวศึกษาแพร่

หนูขอความกรุณาเถอะนะคะ!!!!!

ที่พวกหนูทำไปหรือเรียกร้องขอความเห็นใจด้วยวิธีนี้ก็เพราะว่าหนูคงไม่มีทางไหนแล้วล่ะค่ะ...พวกหนูก็แค่เด็กนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่ไม่มีโอกาสอะไรมากมายกว่าใครๆ ขอความกรุณาและเห็นใจหน่อยนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท