วัฒนธรรมองค์กร กศน. : ครู กศน.จักต้องลุยพื้นที่(การศึกษาชุมชน)ใกล้ชิดติดชุมชนและชาวบ้าน “ คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน”


ครู กศน.กับการศึกษาชุมชน

 

         ในการทำงานจัดกระบวนการเรียนรู้ในชุมชนของครู กศน.ทุกคน ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ก็คือ การรู้ถึงปัญหาของชุมชนเป็นอย่างดี การเข้าใจสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน รวมถึงความสนิทสนมคุ้นเคยผู้นำชุมชนและชาวบ้านเป็นอย่างดี จึงจะบูรณาการการเรียนรู้และการพัฒนาในการแก้ไขปัญหาของชุมชนได้เป็นอย่างมีประสิทธิภาพ 

          หลักการดังข้างต้นว่าอย่างนั้น แต่ในทางปฏิบัติครู กศน.ของเราบางคนก็ยังไม่ได้ปฏิบัติการเข้าถึงชุมชนได้อย่างเต็มที่หรือมีความรู้ความเข้าใจในชุมชนได้อย่างไม่ลึกซึ้งนัก รวมทั้งไม่มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีและคุ้นเคยกับผู้นำชุมชนและกลุ่มชาวบ้านมากนักเช่นกัน...ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะขาดความเข้าใจหรือตระหนักถึงความสำคัญของการเข้าถึงและเข้าใจชุมชน หรืออาจเพราะชอบทำงานตามการสั่งงานจากบนลงล่างเป็นเรื่องๆไป หรืออาจเป็นเพราะไม่มีเวลาและไม่สะดวกกับการเข้าพื้นที่ ฯลฯ  จึงเป็นเหตุให้ไม่รู้จักและเข้าใจชุมชนดีพอ

          การ...ลุยพื้นที่เพื่อให้เข้าถึงชุมชนและเข้าใจชุมชนหมู่บ้าน(การศึกษาชุมชนและการวิจัยชุมชน)อย่างจริงจัง จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้มีการสำรวจและเก็บรวบรวมฐานข้อมูลในชุมชนที่เพียงพอและเป็นจริง เพื่อนำมาใช้ในการวางแผนและบูรณาการการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนมาใช้ในการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

          การลงพื้นที่ชุมชนหมู่บ้านเพื่อพบปะพูดคุยกับผู้นำชุมชนและชาวบ้านบ่อยๆ หรือเรียกว่า “การฝังตัว”ที่ดีนั้น ก็คงต้องรู้ตัวเองว่าเข้าไปในชุมชนเพื่ออะไร? เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลชุมชนหรือเพื่อทำความรู้จักคุ้นเคยกับคนในชุมชน(การทำงานร่วมกับชุมชน) ซึ่งก็มีเทคนิคการทำงานหลายประการ ตั้งแต่การทำแผนที่เดินดิน การสัมภาษณ์ การจดบันทึกและการบันทึกภาพ การถอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและชุมชน ฯลฯ นอกจากนี้อาจต้องใช้การประชาคมหรือที่เรียกว่า เวทีชาวบ้าน ซึ่งครู กศน.ของเราต้องเป็น วิทยากรกระบวนการเพื่อดึงการมีส่วนร่วมในการนำเสนอข้อคิดข้อเสนอแนะและวิธีการแก้ไขปัญหาพัฒนาชุมชนจากความคิดเห็นของชาวบ้านในชุมชน

          บทบาทหน้าที่ของครู กศน.ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ในชุมชนที่ดีนั้น จำเป็นอย่างยิ่งต้องอาศัยฐานข้อมูลชุมชนและความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชุมชนที่ลึกซึ้งและชัดเจน รวมถึงความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนเป็นสิ่งสำคัญ...สิ่งที่ผมกล่าวถึงเหล่านี้น่าจะเป็นวัฒนธรรมองค์กร กศน.ที่คน กศน.ที่อยู่ติดใกล้ชิดชาวบ้านและทำงานร่วมกับชุมชน และทำให้มีฐานข้อมูลชุมชนที่ดีซึ่งจะนำมาใช้ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ในชุมชนที่ส่งผลดีต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้านและทำให้ชุมชนเข้มแข็ง

 

          ผมมีเอกสาร สำหรับการศึกษาเรื่องนี้ครับ

- เอกสาร "การจัดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม"

-เอกสาร "โครงการ กศน.หมู่บ้านเพื่อการจัดการศึกษาในชุมชน"

 

หมายเลขบันทึก: 493220เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2012 08:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กรกฎาคม 2012 08:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท