วิชญธรรม
ผศ. ดร. สิริวิชญ์ เตชะเจษฎารังษี

ธรรมะปฏิบัติถูกน็อคยกหนึ่ง


“สุขก็ไม่เอา ทุกข์ก็ไม่เอา เอากลางๆนี่แหละ ไม่สุขไม่ทุกข์” หลวงปู่สอน

เมื่อ เสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปปฏิบัติธรรมที่วัดเกิ้ง (ในที่สุดก็หาทางไปจนได้) ก่อนไปผมได้ชักชวนคุณแม่ผมไปด้วย ปรากฏว่าคุณแม่ผมบอกยังไม่พร้อม ยังมีความกลัวกับกองทัพยุงในวัดที่ท่านได้รับมือมาเมื่อคราวที่ผมพาแม่ไปวัดเกิ้งในครั้งแรก คราวที่ผมไปก็ได้พบกับพระอาจารย์เจ้าอาวาส และได้ขออนุญาตท่านเข้ามาฝึกปฏิบัติธรรมไว้ล่วงหน้าแล้ว

เสาร์ ที่ 16 มิ.ย. 55 พอสอนเสร็จช่วงใกล้เที่ยง ผมนั่งตัดสินใจอยู่นาน เพราะถ้าผมไปวัดก็จำเป็นต้องให้คุณแม่อยู่คนเดียว ผมกลับไปชวนคุณแม่อีกรอบ ปรากฏว่าท่านก็ยังไม่เปลี่ยนใจอยู่ดี ด้วยเหตุผลต่างๆนานาที่น่าฟัง (เดี๋ยวผมทำให้ท่านเห็นบ่อยๆ สักวันท่านก็อาจจะเปลี่ยนใจภายหลังได้ ไม่แน่นะครับ) คุณแม่ยืนยันว่าท่านอยู่ได้ไม่ต้องเป็นห่วง ผมจึงตัดสินใจเก็บของเดินทางไปนอนวัด โดยตั้งใจว่าจันทร์เช้าถึงขับรถกลับเข้ามาทำงาน พอไปถึงวัด (งานนี้ผมต้องฉายเดี่ยว โดยปกติผมจะมีพี่เลี้ยงไปด้วย คือพี่ผมเองครับ) ได้กราบพระอาจารย์เพื่อขออนุญาตเข้าพัก ทุกอย่างพระอาจารย์และหลวงพี่ในวัดก็จัดเตรียมไว้อย่างเป็นระบบ หลวงพี่ไปจัดกุฏิให้ จัดหาอุปกรณ์ ไฟฉาย เทียน น้ำ พร้อม เสื่อ หมอน มุ้ง รวมไปถึงผ้าห่ม อำนวยความสะดวกอย่างนี้ ทำให้ผมคิดสงสัยว่าผมมา โฮมสเตย์ หรืออย่างไร?

ผมรอสอบถามข้อวัตร ข้อกำหนด ต่างๆ เพื่อว่าเราจะได้ระวังไม่ทำอะไรผิด พระอาจารย์กรุณาบอกข้อซักถามแล้วยังพาผมไปดูรังต่อเสือ เพื่อให้ผมระวังไม่เดินเข้าใกล้ เพราะถ้าโดนต่อยจะลำบาก เสร็จแล้วท่านก็ให้เราแยกย้ายไปภาวนา อยู่ที่นี่ท่านเน้นการปฏิบัติที่ต้องพิจารณาด้วยตนเอง ตอนนั้นฝนเริ่มตก (ที่วัดมีร่มบริการให้อีกครับ) ผมเดินตั้งสติกลับไปที่พักท่ามกลางฝน ที่รบกวนผมตลอดทางคือ แมลงหรือยุงยักษ์ ก็ไม่ทราบบินรอบหน้า รอบคอ ไปๆมาๆ อาศัยใต้ร่มกลับที่พักไปพร้อมกับผมนี่แหละ

พอถึงที่พักผมก็จัดของ ทำความสะอาดกุฏิ เตรียมไว้ก่อนที่จะมืด เพราะที่พักไม่มีไฟฟ้า บริเวณรอบๆมีต้นไม้ให้ร่มเงาร่มเย็น มีบึงเล็กๆข้างกุฏิ บริเวณด้านข้างกุฎิ พระอาจารย์ทำทางเดินจงกรมพื้นกระเบื้องไว้ให้แต่ด้วยฝนตกจึงออกไปใช้ไม่ได้ แม้กระนั้นในกุฏิเองก็มีทางเดินจงกรมยาวพอประมาณ พร้อมมีห้องน้ำสร้างเตรียมไว้ให้เรียบร้อย ถึงอยู่ปฏิบัติได้ทั้งวันโดยไม่ต้องออกไปไหนเลยก็ได้

ผมเริ่มเดินจงกรมอยู่ภายในกุฏิ นอกเหนือจากความวุ่นวายในใจที่มี ยังมีเจ้ายุง ผมขอเรียกว่าฝูงเล็กๆ ฝูงหนึ่ง (หลวงพี่บอกว่า วันนี้ถือว่ายังมียุงไม่มาก) คอยบินกัดคอ แขน ไหล่ ข้อเท้า ใบหู ตอนปฏิบัติขณะอยู่ที่วัดกับหลวงปู่ที่อุบล ผมก็ยอมให้เขากัดไปเพื่อฝึกจิตดูใจไป แต่มาที่นี้ เจอของจริงเข้า อ้างว่าเป็น “นักปฏิบัติ” อย่างผม ถึงกับต้องยอมแท้ไม่เป็นท่าเลย บทสวดพิจารณาสังขาร อาการ32 ก็เอาผมไว้ไม่อยู่ ทำให้ผมรู้เลยว่า ครูบาอาจารย์นักปฏิบัติที่แท้จริง ไม่ใช่เรื่องทำได้ง่ายๆ เลย

เรื่องนี้ทำให้ผมนึกไปถึงคำสอนหลวงพ่อชาที่ว่า นักปฏิบัติจริงๆแล้วต้องผ่านทุกข์มาก่อน เห็นความไม่เที่ยงของทุกข์ และสุข ทั้งคู่มีเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป คำถามผมก็คือแล้วอยู่ดีๆ เราจะมาทรมานตัวเองทำไมมมม?.... อยู่บ้านเล่น net ทำบันทึก G2K ดูทีวี สบายใจไม่ดีกว่าหรือ???? ผมก็ได้คำตอบจากคำสอนหลวงพ่อชาว่า

”… กามะสุขัลลิกานุโยโค ที่พระพุทธเจ้าตรัส คือความสุขความสบาย’… ท่านไม่ให้หลง….อัตตกิลมถานุโยโค คือความไม่สบายเป็นทุกข์ขัดข้อง ทำไปแล้วเปล่าประโยชน์... สิ่งทั้งสองพวกท่านรู้อยู่ทุกวันแต่ว่าท่านจะรู้ชื่อมันหรือไม่รู้.... แต่ว่าอาการอย่างนี้มันจะอยู่กับท่านทุกคนนั่นแหละ ไม่ว่าท่านจะรู้มันหรือไม่ มันเป็นธรรมะ.... ติดความสุขมันก็รู้จัก ความทุกข์ไม่ชอบมันก็รู้จัก... อันนี่เป็นกามะสุขัลลิกานุโยโค อันนี่เป็นอัตตกิลมถานุโยโค มันจะไม่บอกชื่อมันอย่างนั้น ....สุขมันก็เป็นสุข ทุกข์มันก็เป็นทุกข์อยู่อย่างนั้น” “สองอย่างนี้มันมีโทษเท่ากัน มันมีราคาเท่ากันมันผิดเท่าๆกัน พูดง่ายๆ แต่เรามองไม่เห็น ไปเห็นแต่ว่าอันที่เราไม่ชอบใจนั่นแหละไม่ดี....สุขที่เราชอบมันบังอยู่.....ถ้าไม่มีเนกขัมมะ ไม่ยอมเสียสละ ไม่เห็นธรรมะ จิตใจเราก็ต้องเป็นอย่างนี้” [1]

 โดยส่วนตัวผมกำลังหาวิธีฝึกสติ ฝึกจิตใจไว้รับมือกับสถานการณ์แย่ๆ ให้ไวทันความคิด ไม่ประมาท ทุกข์ในใจที่เราแบกจะจัดการกับมันอย่างไร สำหรับผมยามที่มีสุขเกิดและก็กำลังหมดไป ตอนนี้ทุกข์เกิดแล้วจะจัดการอย่างไร????

ผมต้องขอยอมรับนับถือกับนักปฏิบัติธรรมะที่แท้จริง จริงๆ

“สุขก็ไม่เอา ทุกข์ก็ไม่เอา เอากลางๆนี่แหละ ไม่สุขไม่ทุกข์” หลวงปู่สอน “การปฏิบัตินี้ต้องผืนใจ” หลวงพ่อชากล่าว

ผมเจอแค่ยุงฝูงหนึ่งกัดก็ถอยหลังไม่เป็นท่าเลย ดีนะที่มีพ่อนาคที่รอบวช เอาโลชั่นทากันยุงมาให้ไม่เช่นนั้น ข้าพเจ้าต้องอำลาวงการเป็นแน่ นี้เป็นเรื่องราวของนักปฏิบัติธรรมมือใหม่ต้องเผชิญ คราวนี้ผมขออนุญาตทาโลชั่นทากันยุงไปก่อนนะครับ เอาไว้ทำใจได้ มีพลังเข้มแข็งจะ ฝึกปฏิบัติอย่างแม่ชีที่วัดที่ปฏิบัติจนสามารถละไม่ใช้ยาทากันยุงได้ กายก็สักว่ากาย ขออนุโมทนาครับ

 

 เอวัง วิหาริมาตาปิง อะโหรัตตะมะตันทิตัง, ตัง เว ภัทเทกะรัตโตติ สันโต อาจิกขะเต

มุนี มุนีผู้สงบย่อมกล่าวเรียกผู้มีความเพียรอยู่เช่นนั้น, ไม่เกียจคร้านทั้งกลางคืนกลางวันว่า, ผู้เป็นอยู่แม้เพียงราตรีเดียวก็น่าชม

ไปวัดคราวหน้าแล้วเจอกัน.....แน่ ต้องไม่ยอมแพ้ง่ายนะเรา

----------------------------------------------------------------------------------- [1] พระธรรมเทศนาเรื่อง เสียสละเพื่อธรรม หลวงพ่อชา

เนกขัมมะ = การออกจากกาม การออกบวช ความปลอดโปร่งจากสิ่งล่อเร้าเย้ายวน

หมายเลขบันทึก: 492841เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2012 16:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 ตุลาคม 2013 15:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณค่ะอาจารย์ข้อคิดดีๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท