สารสนเทศกับการบริหารการเปลี่ยนแปลง


สารสนเทศกับการบริหารการเปลี่ยนแปลง

         การบริหารองค์การ ต้องมีทรัพยากรที่สำคัญต่างๆ ได้แก่ ทรัพยากรด้านสารสนเทศและเทคโนโลยีสารสนเทศ ทรัพยากรด้านงบประมาณ และทรัพยากรมนุษย์ มนุษย์ควรสามารบริหารตน เป็นตัวอย่างของผู้บริหารในการปรับเปลี่ยนความรู้ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การนำสารสนเทศมาใช้ในการจัดระบบการบริหารงานต่างๆ ในองค์การ มีบุคลิกภาพในการนำการเปลี่ยนแปลง ปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณของผู้บริหาร  มีคุณธรรม จริยธรรม เพื่อให้บุคลากรในองค์การเกิดความเลื่อมใสศรัทธา ยอมรับนับถือ และรู้สึกไว้วางใจแล้ว ผู้บริหารควรคิดและบริหารงานด้วยความซื่อสัตย์ ยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ มีมนุษยสัมพันธ์ในการสื่อสาร มีทัศนคติที่ดี มีเหตุผล สร้างขวัญกำลังใจ พยายามจูงใจบุคลากรในองค์การให้ร่วมดำเนินงานด้วยความสมัครใจ และมีทัศนคติที่ดีต่อการทำงานในองค์การ หรือต่อความจำเป็นที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงในองค์การ

      ผู้บริหารควรสามารถบริหารคน ให้ความเข้าใจ สนใจ เอาใจใส่บุคลากรเป็นรายบุคคล กระตุ้นให้บุคลากรในองค์การมีความกระตือรือร้นในการคิดริเริ่มสิ่งใหม่ๆ ที่ดีและมีประโยชน์ต่อองค์การ คำนึงถึงความเป็นปัจจเจกบุคคล หรือความแตกต่างเป็นรายบุคคล กระจายอำนาจโดยการเปิดโอกาสให้บุคลากรได้มีส่วนร่วมในรูปแบบต่างๆ เช่น การแสดงความคิดเห็น การแต่งตั้งบุคลากรให้เป็นกรรมการในคณะทำงานและกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งให้สิทธิ์ในการพิจารณาตัดสินใจตามความเหมาะสม ส่งเสริมการใช้ศักยภาพความสามารถพิเศษส่วนบุคคล รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณเพื่อส่งเสริมให้บุคลากรได้รับการอบรมพัฒนา เรียนรู้การจัดทำสารสนเทศให้เป็นระบบและต่อเนื่อง เป็นต้น

     การบริหารจัดการเชิงรุก ผู้บริหารควรเป็นผู้นำมีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ รู้ทันข้อมูลการเปลี่ยนแปลงความก้าวหน้าของข่าวสารใหม่ๆ โดยเฉพาะด้านการบริหาร ด้านวิชาการ ควรนำทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศไปใช้ในการพัฒนาและบริหารงานต่างๆ ผู้บริหารควรเรียนรู้ให้เท่าทันโดยสามารถทำนายการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้อย่างแม่นยำ นอกจากนี้ผู้บริหารที่มีความชัดเจนในวิสัยทัศน์ จะสามารถทำให้บุคลากรผูกพันต่อวิสัยทัศน์ ชี้ให้สมาชิกเข้าใจนโยบาย วิสัยทัศน์ เป้าหมาย และวัตถุประสงค์ขององค์การ ผู้บริหารควรให้ความสำคัญและอธิบายวิธีการที่จะบรรลุวิสัยทัศน์ ทำให้วิสัยทัศน์มีความชัดเจน และให้ความสนใจในการปฏิบัติภารกิจต่างๆ เพื่อให้วิสัยทัศน์ดังกล่าวมีความเป็นไปได้ ซึ่งผู้บริหารอาจจะต้องใช้กลยุทธ์ต่างๆ ในการบริหารจัดการ โดยกลยุทธ์ที่นำมาใช้นั้นต้องมีความชัดเจน ต่อเนื่อง สอดคล้องกับค่านิยมร่วมของบุคลากรในองค์การ ควรให้ความมั่นใจและเปิดโอกาสให้บุคลากรในองค์การมีส่วนร่วมในการคิดวางแผนและค้นหาวิธีปฏิบัติ เพื่อให้บรรลุตามวิสัยทัศน์ ดังนั้น ความชัดเจนในการทำงานของผู้บริหาร จะช่วยให้การทำงานของบุคลากรในองค์การเป็นไปอย่างมีความหมาย เกิดแรงจูงใจ บุคลากรให้ความเคารพในสิทธิของกันและกัน ทำให้ทุกคนเกิดความรู้สึกของการมีส่วนร่วมในนโยบายเดียวกันและมีเป้าหมายร่วมกัน
       บทบาทและพฤติกรรมที่ผู้บริหารแสดงออกอย่างมั่นใจ คิด และมองเหตุการณ์ต่างๆ ในแง่บวก จะทำให้บุคลากรในองค์การเกิดความเลื่อมใสศรัทธาต่อวิสัยทัศน์ โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับภาวะวิกฤต ผู้บริหารไม่ควรแสดงกิริยาอาการที่บ่งบอกถึงความผิดหวัง หรือใช้คำพูดที่บั่นทอนขวัญและกำลังใจของบุคลากร ในทางกลับกัน ผู้บริหารควรนำเทคโนโลยีสารสนเทศไปใช้ในการพัฒนาและบริหารงานต่างๆ สามารถแก้วิกฤตให้เป็นโอกาส ให้กำลังใจ ให้โอกาส เป็นที่ปรึกษา และช่วยเหลือตามความเหมาะสม พยายามจูงใจและแนะแนวทางในการแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น ส่งเสริมให้ใช้ความพยายามให้มากขึ้น ช่วยบริหารความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้น และเมื่อประสบกับความสำเร็จแล้ว ผู้บริหารต้องไม่ลืมที่จะกล่าวแสดงความชื่นชมและยินดีในความสำเร็จของบุคลากร เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการพัฒนางานให้กับองค์การต่อไป บริหารจัดการองค์การให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งบุคลากรทุกคนจะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

อ้างอิง : นางสุดาวดี จตุรงควาณิช

คำสำคัญ (Tags): #it
หมายเลขบันทึก: 492051เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท