หนึ่งคณะหนึ่งชุมชน: (สมุนไพรแบบเกษตรอินทรีย์) ว่าด้วยการเปิดตัวโครงการสู่การขับเคลื่อนกลุ่มเป้าหมายใหม่และเป้าหมายเก่า


จากคำบอกเล่าดังกล่าว เชื่อมโยงให้เห็นว่าชุมชนใหม่ที่เข้ามาร่วมนั้นมีทุนทางสังคม (Social Capital) เหมือนชุมชนเดิมอย่างชัดเจน นั่นคือ “ป่าชุมชน” เพียงแต่ขาดกระบวนการเรียนรู้เรื่อง “สมุนไพร” อย่างเป็นระบบ ทั้งจากมิติของผู้คนในชุมชนเอง อันหมายถึงชาวบ้านทั่วไปและปราชญ์ชาวบ้าน (หมอยา) หรือแม้แต่การเรียนรู้ร่วมกับภาคีอื่นๆ ที่อยู่นอกชุมชน

วันที่ 19 มิถุนายน 2555  ผมและทีมงานเดินทางลงพื้นที่  เพื่อร่วมสังเกตการณ์และเรียนรู้ร่วมกับคณะทำงานโครงการ “การส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพรแบบเกษตรอินทรีย์ในชุมชน”  ณ สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช (พื้นที่ปฏิบัติการนาดูน)

โครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในกิจกรรมตามนโยบาย “การบริการวิชาการแก่สังคม” ที่ต่อยอดมาจาก “1 คณะ 1 ชุมชน”  ซึ่งเคยได้ดำเนินการเมื่อปีงบประมาณ 2554  ต่อเมื่อโครงการดังกล่าวได้รับการพิจารณาตัดสินจากคณะกรรมการ ให้เป็นโครงการต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2555  ด้วยงบประมาณ จำนวน 80,000 บาท

 

 

 

 

บอกเล่าเรื่องเก่า
ตอกย้ำความเข้าใจในเรื่องใหม่ >>

 

สำหรับการขับเคลื่อนในครั้งนี้ สถาบันวิจัยวลัยรุกเวช มอบหมายให้ บุคลากร คือ ดร.สมบัติ อัปมระกา เป็นผู้รับผิดชอบหลักร่วมกับทีมงานอีกหลายท่าน ซึ่งในวันดังกล่าว ทีมงานในองค์กรหลายต่อหลายคนต่างพาเหรดมาร่วมเป็นเจ้าภาพขับเคลื่อนกันอย่างหนาตา

 

ภายหลังพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเสร็จสิ้นลง  ผู้แทนชุมชน (อบต.พระธาตุ) ได้ทำการพบปะและบอกเล่าถึงภาพรวมการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา  รวมถึงสะท้อนผลลัพธ์ที่ยึดโยงมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้รู้ว่า “กิจกรรมที่จัดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ชุมชนยังคงไม่ได้ละทิ้ง ตรงกันข้ามกลับมีแนวโน้มที่จะเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ”

 

ถัดจากนั้น ผู้รับผิดชอบหลัก (ดร.สมบัติ อัปมระกา)  ได้นำเสนอภาพรวมเกี่ยวกับโครงการที่จะมีขึ้นในปีนี้  เพื่อย้ำให้เกิดความเข้าใจร่วมกันอย่างแน่นหนัก  พร้อมๆ กับการสะท้อนภาพการขับเคลื่อนในปีที่แล้วในประเด็นหลักๆ คือ “ปลูกเอง ใช้เอง แบ่งปันกันเอง และแปรรูปเอง” อาทิ  ฟ้าทะลายโจร  มะระขี้นก อัญชัน เพชรสังหาร ไพล (ว่านไฟ)

 

 

โดยส่วนตัวผมชื่นชอบการนำเสนอในช่วงนี้ค่อนข้างมาก  เพราะทำให้เห็น “บริบท” ของชุมชน เชื่อมโยงไปยังกิจกรรมของปีที่แล้ว  เพื่อผูกโยงมายังกิจกรรมใหม่ที่กำลังจะมีขึ้น  ช่วยให้กลุ่มเป้าหมายเดิม (อบต.พระธาตุ) ได้ทบทวนตัวเองไปพร้อมๆ กัน ขณะที่เครือข่ายใหม่ (บ้านเหล่าจั่น อบต.หนองคู)  ก็ได้เห็นภาพรวมอันเป็นที่มาที่ไป เห็นภาพ “เชิงระบบ”  และ “โครงสร้าง” ของกิจกรรมอย่างเป็นรูปธรรม  นอกจากนั้นยังช่วยให้เห็นภาพว่าด้วย “วิสัยทัศน์” ของมหาวิทยาลัยฯ ไปอย่างเบ็ดเสร็จ  ยิ่งผู้นำเสนอใช้  “ภาษาถิ่น”  มาผสมผสานกับการสื่อสาร  ยิ่งช่วยให้เกิดบรรยากาศที่เป็นกันเอง ลดความเลื่อมล้ำระหว่าง “ชาวบ้านกับนักวิชาการ” ลงได้อย่างเห็นได้ชัด

 

และที่สำคัญ  การนำเสนอเช่นนั้น  ช่วยให้มองเห็นความสำเร็จเล็กๆ จากปีที่แล้วที่ถักทอขึ้นอย่างเงียบๆ นั่นก็คือ “สุขภาวะในชุมชน”  ที่สื่อถึงคุณค่าในมิติต่างๆ เช่น ภูมิปัญญา  การอยู่ร่วมกัน  การพึ่งพาและบริหารจัดการทรัพยากรท้องถิ่น การแปรรูปวัตถุดิบในท้องถิ่นสู่การสร้างรายได้  การพัฒนานักวิจัยชาวบ้านผ่านการเรียนรู้ร่วมกับมหาวิทยาลัยฯ โดยมีห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยฯ เป็นห้องแล็บในการเรียนรู้และฝึกทักษะเกี่ยวกับการแปรรูปสมุนไพร

 

 

 

 

การมาของกลุ่มเป้าหมายใหม่
และการขับเคลื่อนของกลุ่มเป้าหมายเก่า
>>>

 

การดำเนินงานในปีนี้มีกลุ่มเป้าหมายใหม่เข้ามาร่วมเรียนรู้ นั่นก็คือ ชุมชนบ้านเหล่าจั่น ต.หนองคู อ.นาดูน จ.มหาสารคาม ซึ่งเป็นชุมชนที่อยู่ห่างจากสถาบันวิจัยวลัยรุกขเวชฯ  ในระยะไม่เกิน 7 กิโลเมตร

 

ชาวบ้านเล่าให้ผมฟังว่า  “...เคยได้เข้าร่วมกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยฯ จัดขึ้นในอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย  จึงเกิดความสนใจในเรื่องสมุนไพร  จากนั้นก็ทำการติดต่อเป็นเครือข่ายเรื่อยมา  กระทั่งถูกชวนเข้าร่วมโครงการนี้  จึงไม่ลังเลที่จะเข้ามาเรียนรู้  เพราะสนใจเป็นทุนอยู่แล้ว  ยิ่งมีชุมชนต้นแบบอย่าง อบต.พระธาตุ เป็นแม่แบบ ยิ่งมั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จต่อการเรียนรู้...”

 

 

นอกจากนั้นชาวบ้านยังสะท้อนถึงเรื่องราวต่างๆ ให้ฟังว่า “...ชาวบ้านหนองจั่น มีแกนนำชุมชนที่ตั้งมาเพื่อดูแลป่าชุมชน (โคกม่วง) ซึ่งเฉพาะที่รับผิดชอบโดยตรงมีขนาด 75 ไร่ ที่ผ่านมาเน้นเรื่องการอนุรักษ์เรื่องต้นไม้และการเฝ้าระวังเรื่องการบุกรุกป่า  แต่ยังไม่มีกระบวนการเรียนรู้ในเรื่องสมุนไพรในป่าชุมชน  จนปัจจุบันสมุนไพรต่างๆ เริ่มสูญพันธุ์ไปเรื่อยๆ...”

 


จากคำบอกเล่าดังกล่าว  เชื่อมโยงให้เห็นว่าชุมชนใหม่ที่เข้ามาร่วมนั้นมีทุนทางสังคม (Social Capital) เหมือนชุมชนเดิมอย่างชัดเจน นั่นคือ “ป่าชุมชน”  เพียงแต่ขาดกระบวนการเรียนรู้เรื่อง “สมุนไพร”  อย่างเป็นระบบ  ทั้งจากมิติของผู้คนในชุมชนเอง อันหมายถึงชาวบ้านทั่วไปและปราชญ์ชาวบ้าน (หมอยา) หรือแม้แต่การเรียนรู้ร่วมกับภาคีอื่นๆ ที่อยู่นอกชุมชน

 

แต่ถึงกระนั้น  ทางผู้รับผิดชอบหลักได้แสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการขับเคลื่อนโครงการที่เน้นหัวใจหลักสำหรับกลุ่มเป้าหมายใหม่ (บ้านหนองจั่น) คือการ “ปลูกเอง ใช้เอง และแบ่งปันกันใช้ในชุมชน”  เป็นอันดับแรก  โดยมหาวิทยาลัยจะสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ ท่อนสมุนไพร และแบ่งปันความรู้ (knowledge sharing) ร่วมกัน

  • ขณะที่กลุ่มเป้าหมายเดิม (อบต.พระธาตุ) จะต่อยอดด้วยการเพิ่มจำนวนวัตถุดิบในท้องถิ่นให้มากขึ้น  แปรรูปสมุนไพรแบบเกษตรอินทรีย์ให้ได้มาตรฐาน  มีตลาดรองรับวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ที่มั่นคง  โดยกระบวนการทั้งปวง จะเป็นการบูรณาการไปพร้อมๆ กับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ตลอดจนมุ่งพัฒนาสมรรถนะของการบริหารจัดการองค์กรให้เข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ  เพื่อเป็นชุมชนต้นแบบให้ชุมชน หรือองค์กรอื่นๆ มาเรียนรู้  และทำหน้าที่เป็น “ชุมชนพี่เลี้ยง” คอยหนุนเสริมให้ชุมชนอื่นๆ ให้ตื่นตัว และเห็นความสำคัญของการใช้สุมนไพรแบบเกษตรอินทรีย์ เพื่อมิให้มีสารพิษตกค้างในร่างกาย รวมถึงตกค้างในผืนดิน

 

 

 

นอกจากนี้แล้ว ยังสะท้อนเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในอีกเรื่อง ซึ่งเป็นกลไกในการกระตุ้นให้ชาวบ้านตื่นตัวที่จะปลูกสมุนไพรแบบเกษตรอินทรีย์  ด้วยการจัดสรรพื้นที่ในมหาวิทยาลัยร่วม 30 ไร่เป็นพื้นที่ให้ชาวบ้านทั้งสองชุมชนมาจับจองชั่วคราวเพื่อปลูกพืชสมุนไพรแบบเกษตรอินทรีย์ร่วมกัน  โดยไม่จัดเก็บค่าเช่า  หรือค่าดำเนินการใดๆ  และเมื่อบรรยายเสร็จสิ้นแล้ว  ทีมงานทั้งหมดก็พาชาวบ้านนั่งรถรางไปเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ รวมถึงพื้นที่อันเป็นแปลงสมุนไพรที่จัดเตรียมไว้ สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับชาวบ้านเป็นยิ่งนัก

 

 

บทส่งท้ายในฐานะของผู้สังเกตการณ์>>>

ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าโครงการดังกล่าวเป็นกิจกรรมต่อเนื่อง (1 คณะ 1 ชุมชน)  และในปีนี้ (2555)  มีชุมชนเข้ามาเรียนรู้เพิ่มเติมคือ ชุมชนบ้านหนองจั่น (อบต.หนองคู) ที่ต้องเริ่มต้นจากการ “ปลูกเอง ใช้เอง แบ่งปันกันเองในชุมชน”  ส่วนชุมชนเดิมคือ อบต.พระธาตุนั้น  นอกจากการดำเนินงานในกรอบกติกาหลักแล้ว อาทิ การผลิตและแปรรูปสุมนไพรแบบเกษตรอินทรีย์ที่ได้มาตรฐาน  เพื่อสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นและชุมชน  หากแต่ปีนี้ชุมชน อบต.พระธาตุ  ยังต้องยกระดับตัวเองสู่การเป็น ”ชุมชนพี่เลี้ยง”  ด้วยเช่นกัน
ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการจัดการความรู้ในชุมชนอย่างต่อเนื่องไม่รู้จบ (Infinity KM)  รวมถึงเกิดกระบวนการแบ่งปันความรู้ (knowledge sharing)  และสิ่งต่างๆ อย่างเป็นมิตรร่วมกัน

 

 

แต่สำหรับผมแล้ว  ผมยังให้ความสำคัญต่อกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในเรื่องของการ “ปลูกเอง ใช้เอง แบ่งปันกันเอง”  เป็นหัวใจหลัก  ส่วนการแปรรูปเพื่อสร้างรายได้นั้น  ผมมองว่ามีความสำคัญก็จริง แต่ยังต้องค่อยเป็นค่อยไป 

  • ส่วนจะทะลุถึงขั้นปักธงเป็นศูนย์กลางของวัตถุดิบสมุนไพรแบบอินทรีย์ในแถบอีสานเหมือนที่ต้องการได้หรือไม่นั้น  ยังคงต้องใช้พลังหลากรูปแบบหนุนเสริมร่วมกันอีกยกใหญ่ 

 

 

 

แต่ที่ผมมองว่าสำคัญไม่แพ้เรื่องที่กล่าวอ้างข้างต้นก็คือ

  • การดูแลและปกป้องเรื่องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในชุมชน   รวมถึงการฟื้นฟูป่าชุมชนเพื่อก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพเหมือนในอดีต
  • สำรวจพืชพันธุ์สมุนไพรในป่าชุมชนนั้นๆ ให้เป็นรูปธรรมมากกว่าที่ผ่านมา เพื่อเรียนรู้ที่จะดูแลกระบวนการแพร่และขยายพันธุ์ของสมุนไพรในพื้นที่ป่า รวมถึงการเพิ่มพื้นที่ปลูกในครัวเรือนและโรงเรียน  หรือวัดให้มากขึ้น  เพื่อจะได้สะดวกต่อการดูแล เก็บเกี่ยว และเรียนรู้

 

 

และท้ายที่สุด  ในอนาคต หากสามารถพัฒนาสู่การเป็นโรงพยาบาลชุมชนที่บำบัดรักษาอาการป่วยด้วยสมุนไพรแบบเกษตรอินทรีย์ได้จริง  ยิ่งถือเป็นสิ่งที่ต้องยกย่องและเชิดชูเป็นที่สุด

เรื่องเหล่านี้ยังเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา หรือลงแรงกันอีกมากโขเลยทีเดียว

แต่ที่แน่ๆ ในบางท้องถิ่น ก็ดำเนินการในเรื่องเช่นนี้สำเร็จแล้วเช่นกัน

 

วันที่ 19 มิถุนายน 2555  
ณ สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช (นาดูน)

 

หมายเลขบันทึก: 492045เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ตุลาคม 2012 09:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • สมุนไพรบางอย่างเคยได้เห็น แต่มา ณ ปัจจุบันไม่ค่อยไ้ด้เห็น ทำให้รู้ว่าสมุนไพรมีประโยชน์มาก ๆ เหมือนกับเมื่อก่อนเราไม่ค่อยได้เห็นประโยชน์ของมันเลย เหมือนกับเราไม่รู้ค่าของมันคะ บางชนิดแม่เคยนำมาปลูกไว้ที่บ้าน สุดท้ายไม่ได้ดูแลก็ตายไป
  • ชื่นชมกับโครงการดี ๆ ค่ะ

จะรอติดตามความก้าวหน้าค่ะ

สวัสดีครับ พี่ ชลัญธร

ขอบคุณที่แวะมาให้และติดตามเรื่องราวนะครับ
เขียนเรื่องอาจไม่ต่อเนื่องนัก เพราะเวลาแต่ละวันหายไปกับชุมชน
กลับมาก็ค่อนข้างเหนื่อย-

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ อ.บุษยมาศ

โครงการดังกล่าว เชื่อมโยงเรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและภูมิปัญญาท้องถิ่นได้อย่างน่าสนใจครับ  มุ่งไปสู่การสร้างความตระหนัก-ความรู้ ทั้งในมิติของการใช้และการจำหน่าย ผสมผสานกับการอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมไปในตัว

และที่สำคัญ การที่ชาวบ้านได้มีโอกาสเข้ามาแปรรูปสมุนไพรกับมหาวิทยาลัยนั้น เสมือนการสร้างนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ชาวบ้านดีๆ ด้วยเช่นกัน

ขอบคุณครับ

  • สมุนไพรใกล้ตัวมีประโยชน์หลายอย่าง   แต่เราคนสมัยใหม่ไม่ค่อยได้ใส่ใจนำมาใช้เพราะส่วนใหญ่ถ้าป่วยเล็ก ๆ น้อยๆก็จะหันไปพึ่งยาทันที
  • พอเราได้ลงพื้นที่ในชุมชนและได้เรียนรู้    เราก็ถึงบางอ้อ   เราเองก็สามารถนำมาปลูกในพื้นที่เล็ก ๆ ภายในบริเวณบ้านของเราก็ได้ประโยชน์แก่ตัวเอง  และเพื่อนบ้านเช่นกัน  

 

ครับคุณแดนไท

Blank

สมุนไพรเป็นภูมิปัญญาที่ไม่ตกรุ่น  
มีไว้ในบ้าน ก็เป็นเครื่องมือหนึ่งของการ "แบ่งปัน" ต่อเพื่อนบ้านไปในตัว

ขอบคุณที่แวะมาให้กำลังใจ นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท