กระบวนการคิด * เอาใจเขามาใส่ใจเรา *


คิดแบบ "OUTSIDE IN" ไม่ใช่ "INSIDE OUT"

เปลี่ยนมุมมอง

              เรื่องที่จะพูดถึงนี้ เป็นเรื่องของการสวมรองเท้าคู่ใหม่  โดยอาศัยเรื่องราวแนวการเรียนการสอนแบบที่ไม่ค่อยได้พบเห็นในเมืองไทย คือ การช่วยให้เด็กรู้จัก "คิด" แทนที่จะให้ "จำ"  เพียงอย่างเดียว

              ครูให้นักเรียนเขียนจดหมายถึงแม่ สมมุติสถานการณ์ว่าถ้านักเรียนจะขอย้ายไปอยู่กับแฟน เราจะให้เหตุผลกับแม่อย่างไร แม่จึงจะยอมรับ ให้เรียบเรียงเป็นจดหมายส่งในวันรุ่งขึ้น

               พอวันรุ่งขึ้น ครูจะสร้างสถานการณ์ใหม่ สมมุติให้เด็กนักเรียนเป็นแม่ คราวนี้ให้เขียนจดหมายถึงลูกที่ขอย้ายไปอยู่กับแฟน เราจะให้เหตุผลคัดค้านลูกอย่างไร
 
               นี่คือ การสอนแบบไม่ต้องสอน สอนให้นักเรียนรู้จักคิดเอง และสอนให้รู้จักคิดต่างมุม ไม่ต้องมาสอนให้นักเรียนท่องจำว่าวัยนี้เป็นวัยเรียน อย่าริรักในวัยเรียนนะ แต่ใช้วิธีให้นักเรียนรู้จักคิดต่างมุม  

               เริ่มจากการคิดจากมุมของตัวเรา และไม่ใช่คิดด้วย "ความรู้สึก"  แต่คิดแบบมีเหตุผล  พอคิดจากมุมมองของตัวนักเรียนเสร็จ ก็เปลี่ยนองศาใหม่ เปลี่ยนมุมใหม่  ลองคิดจากมุมของคนที่เป็นแม่ดูบ้าง

               ทุกคนคงยอมรับว่าคงยากที่แม่คนไหนจะเห็นด้วยกับลูกที่เรียนแค่ระดับ "ไฮสกูล"   จะย้ายไปอยู่กับแฟน   เมื่อแม่ทุกคนคิดเหมือนกันก็แสดงว่าแม่ต้องมีเหตุผลของแม่  จดหมายที่ให้นักเรียนเขียนจึงเริ่มต้นด้วย "จุดยืน" ที่เหมือนกัน  คือ "ไม่เห็นด้วย"  อะไรคือเหตุผลของคนที่เป็นแม่

               ไม่บอก แต่ให้คิดเอง  ลองคิดแบบเข้าใจคนเป็นแม่ และเรียบเรียงเหตุผลออกมา   เชื่อว่าเมื่อนักเรียนถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องคิดแบบ "แม่"  เขาจะเข้าใจ "แม่" มากขึ้น เข้าใจมุมมอง เข้าใจเหตุผลของคนที่เป็น "แม่"  อาจไม่ครบร้อย แต่เข้าใจมากขึ้นอย่างแน่นอน

                การสอนให้ "คิดต่างมุม" จะทำให้เขาเข้าใจคนอื่นดียิ่งขึ้น   และติดแน่นทนนานกว่าการสอนแบบท่องจำ  เพราะท่องจำนั้นอาจพูดได้ แต่ไม่เข้าใจ   ส่วนการคิดต่างมุมนั้นท่องไม่ได้แต่จดจำนาน  

                การที่ครูให้นักเรียนฝึกเขียนจดหมายแทนการพูด เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะการเขียนคือ การใช้สมองประมวลเรื่องราว และเรียบเรียงความคิด   วิธีนี้น่าจะใช้ได้กับคนที่มีอาการสับสนทางจิต  คิดไม่ออกว่าจะเลือกทางไหนดี   ถ้าได้ลองเขียน แยกแยะเหตุผลเป็นข้อๆ   ข้อดีมีอะไรบ้าง ข้อเสียมีอะไรบ้าง

                การเขียน มีข้อดี เช่น เป็นการยืดเวลาให้กับตัวเราเอง ใขขณะที่ยังคิดอะไรไม่ออก  และ  การเขียนคือการเรียบเรียงความคิดให้เป็นระบบได้ดีที่สุด   พอบังคับตัวเองว่าต้องเขียน   ความคิดที่กระเจิดกระเจิงจะเริ่มเข้าแถวอย่างเป็นระบบ  การเขียนเหมือนการเป่านกหวีดจัดระเบียบ "เหตุผล"  จาก "สมอง" สู่ "แขน" ไป "มือ"   พอเรียงร้อยเป็นตัวอักษร มันผ่านกระบวนการกลั่นกรองมากมาย    จากนั้นก็ตัดสินใจไม่ยากว่าควรเลือกหนทางใดดีกว่ากัน

                การรู้จักเปลี่ยนมุมความคิดนั้น เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับชีวิต   เพราะการเข้าใจคนอื่นจะทำให้เรามีมุมมองที่หลากหลายขึ้น   ไม่ตัดสินอะไรจากมุมมองของเราเพียงด้านเดียว 
 
               บางครั้ง คนเราต้องหันมาคิดแบบ "OUTSIDE IN" บ้าง ไม่ใช่  "INSIDE OUT" อย่างเดียวก็คือการเปลี่ยนมุมคิด  มองจากข้างนอกมาหาตัวเรา   ไม่ใช่คิดแบบมองจากตัวเราไปข้างนอก

               อุปมาดั่ง การเปลี่ยนไปใส่รองเท้าของคนอื่นบ้าง   คือเปลี่ยนจุดยืนจากที่เรายืนอยู่ จากรองเท้าที่เราสวมใส่  ไปสู่รองเท้าคู่ใหม่ คู่ที่คนอื่นสวมอยู่  มองจากมุมนั้นมาสู่ตัวเรา จะทำให้เราเข้าใจว่าคนอื่นคิดอย่างไรกับเรา กำหนด จังหวะก้าวได้ง่ายขึ้น

 

คำสำคัญ (Tags): #แนวคิดดีๆ
หมายเลขบันทึก: 49167เขียนเมื่อ 9 กันยายน 2006 13:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 เมษายน 2012 02:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ชอบกิจกรรมที่สอนแบบไม่ต้องสอนของอาจารย์มากค่ะ....อ่านบทความของคุณสุปราณีแล้วนำไปมองตนเองในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่ายังเป็นInside out มากกว่าOutside in มันจึงได้กดดันและจิตตกเสียมาก....แต่พอลองขยับและเปลี่ยนรองเท้าใหม่ให้ไซส์ใหญ่พอดีกับเท้าตัวเอง...รู้สึกสบายแตกต่างกันจริงๆ....ขอบคุณมากค่ะสำหรับมุมมองที่ดีๆเช่นนี้
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท