2 อธิการบดีมองมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐทะลุปรุโปร่ง


          ดังที่ได้บันทึกไว้แล้ว    ว่าผมไปร่วมอภิปรายเรื่องมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ  กับ 2 อธิการบดีแห่งมหาวิทยาลัยยักษ์ใหญ่

          คำถามหรือหัวข้อการอภิปรายคือ  การออกนอกระบบราชการ  ไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ นั้น   มันเป็นวิกฤตหรือโอกาส

          หัวข้อการอภิปรายแบบนี้   คุณประโยชน์ไม่ได้อยู่ที่คำตอบว่าเป็นวิกฤตหรือโอกาส   แต่อยู่ที่เหตุผลหรือคำอธิบาย  วิธีคิด ข้อมูลประกอบมากกว่า   และการอภิปรายในลักษณะ "ติดดิน"  คือ มีประเด็นเชิงปฏิบัติน่าฟังกว่ามาก

          คำอภิปรายของ 2 อธิการบดี  คือ  ศ.ดร.คุณหญิงสุชาดา   กีระนันทน์ แห่งจุฬาฯ   กับ  ศ.ดร.สุรพล   นิติไกรพจน์  จึงน่าฟังกว่าคำอภิปรายของผมมาก   เพราะผมไม่มีประสบการณ์ตรง   พูดได้แค่ระดับหลักการ

          ที่จริงก็เป็นที่ชัดเจน   ว่าการออกจากระบบราชการ   ไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐนั้น   ก็เพื่อสร้างโอกาสในการทำงานสร้างสรรค์หลากหลายให้แก่สังคม   ผ่านความเป็นอิสระ (แต่มีความรับผิดชอบ) ใน 3 ด้าน  คือ
                    1. ด้านการเงิน
                    2. ด้านการบริหารคน
                    3. ด้านการบริหารวิชาการ

          แต่ถึงจะออกไปมีอิสระ   มหาวิทยาลัยเหล่านี้ก็ยังต้องการการสนับสนุนด้านการเงินจากภาครัฐ   สำหรับทำงานวิชาการยากๆ ให้แก่สังคม

          ภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ก็คือ
                    (1) แม้ยังอยู่ในระบบราชการ   แต่มหาวิทยาลัยก็ถูกรัฐบาลและกลไกต่างๆ ล่อให้ออกไปอยู่นอกระบบราชการกระแสหลักตั้งเกือบครึ่งตัวแล้ว
                    (2) ส่วนที่ถูกล่อออกไปอยู่นอกระบบราชการนั้น  รัฐบาลได้ใช้วิธีดูแลแบบไม่จริงใจ   ทำให้มหาวิทยาลัยมองว่าถ้าออกไปอยู่นอกระบบราชการจะต้องเผชิญวิกฤตจากความไม่จริงใจของรัฐและกลไกอื่นๆ ของราชการ

          ผมชอบคำอภิปรายของหญิงเหล็ก คุณหญิงสุชาดา มากที่สุด   ว่าออกหรือไม่ออกจากระบบราชการก็วิกฤตอยู่แล้ว   มหาวิทยาลัยของรัฐจะต้องปรับตัวรวมพลังกันเต็มที่  เพื่อรับมือกับแรงบีบคั้นรอบด้าน   เพื่อทำหน้าที่แก่บ้านเมืองให้ดีที่สุด

วิจารณ์   พานิช
7  ก.ย.  49

จากขวา ศ.ดร.คุณหญิงสุชาดา กีระนันท์, ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ(ผู้ดำเนินรายการ), และ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์

 

 

อธิการบดี เสวนานอกรอบกับ เลขาธิการ สกอ.


 

 

หมายเลขบันทึก: 49106เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2006 20:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท