CoPs


Community of Practices

CoPs รู้จัก CoPs หรือ Community of Practice(s) ครั้งแรกจากการเข้าเรียนวิชาความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นชั้นเรียนปริญญาโทของสาขาพัฒนาสังคม คณะสังคมศาสตร์ สอนโดยทีมคณาจารย์สาขาสังคมวิทยา-มนุษยวิทยาซึ่งตอนนั้นมีอาจารย์ชิเกฮารุ ทานาเบ้ เป็นแกนนำคณาจารย์ในการสอน

เล่าเรื่อง อ.ทานาเบ้สักนิด อาจารย์ทานาเบ้เป็นชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาศึกษาเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยนานมาแล้ว แบบว่าเข้าขั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญเลยทีเดียว โดยเฉพาะวัฒนธรรมพื้นบ้านในเขตภาคเหนือ อาจารย์เคยเขียนงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องของผีปู่ย่าและความเชื่อเกี่ยวกับผีเอาไว้เยอะพอสมควร

ความรับรู้เกี่ยวกับ CoPs ในช่วงแรกที่มองผ่านแว่นความรู้ทางสังคมวิทยา-มานุษยวิทยา เป็นเรื่องที่เข้าใจยากเอาการอยู่ แถมยังเอามาอธิบายในเชิงทฤษฎียากเอาการอยู่เช่นกัน แถมตอนนั้นก็ยังไม่มีคำภาษาไทยที่เอามาใช้เรียกเจ้าคำนี้อีก ก็เลยเรียกมันไปว่า "ชุมชนปฏิบัติ" ตัวอย่างรูปแบบของ CoPs ที่ค่อนข้างชัดเจนที่อาจารย์เอามาเล่าให้ฟังในชั้นเรียน ก็คือเรื่องของ สมาคมวิชาชีพที่มีการกำหนดมาตรฐานไว้ อย่างสภาวิศวกรรม แพทยสภาอะไรประมาณนี้ ถ้าจะให้ออกลูกปฏิบัติกันจริงๆ ก็คือ ร้านช่างที่มีการรับเด็กฝึกหัดงานนั่นเอง คือในการเข้าไปอยู่ในร้านเด็กหัดงานจะต้องเริ่มทำทุกอย่าง แล้วก็จะค่อยๆ ได้รับมอบหมายงานที่มีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อย เช่น จากเช็ดโต๊ะ ขยับไปล้างจาน ขยับไปจดเมนู ขยับขึ้นไปเป็นผู้ช่วยกุ๊กและกลายเป็นกุ๊กในที่สุด หรือถ้าใครบ้านิยายบู๊ลิ้มนิดหน่อย ก็คงพอนึกภาพการเป็นลูกศิษย์วัดเส้าหลินได้ ที่ต้องเริ่มจากไปตักน้ำจนแขนแข็ง ก่อนที่จะเริ่มหัดมวย

หลักๆ ของชุมชนปฏิบัติ หรือชุมชนนักปฏิบัติ หรือชุมชนปฏิบัติการ หรือ(คิดไม่ออกแล้ว)ก็คือ CoPs นี้ ก็คือเรื่องของการหล่อหลอม สร้างคนจากงานที่กลุ่มคนนั้นทำ พัฒนาคนนั้นขึ้นจนกลายเป็นนักปฏิบัติชั้นยอดของชุมชน ดังนั้น CoPs จึงเป็นเรื่องที่นำมาพูดกันมากใน KM นี้ เพราะมันก็คงอีหรอบเดียวกันที่ KM มันก็เป็นเรื่องของการเรียนรู้ในองค์กรนั่นเอง 

ประเด็นหลักๆ ของ CoPs ในทางสังคมวิทยา ก็คือ CoPs เป็นแนวคิดในการจัดการศึกษาที่ออกจะไม่เห็นด้วยกับการจัดการศึกษาแบบกระแสหลักปัจจุบันที่เน้นการรู้คิด (Cognitive Constructivism) แต่มองว่าความรู้ของคนเกิดจากประสบการณ์ในการการปฏิบัติงานหรือทำกิจกรรมร่วมกัน (participation framework) ซึ่งแนวความคิดในการจัดการศึกษาโดยอิงกับกระบวนการ(ปฏิบัติการทางสังคม)นี้เรียกว่า "การสร้างสรรค์นิยมแบบสังคมวัฒนธรรม" (Sociocultural Constructivism) ซึ่งพอทางกลุ่มสังคมวิทยาเข้ามามอง CoPs เช่นนี้ เขายังได้วิเคราะห์ให้เห็นว่า CoPs มีอยู่ใน 3 มิติ คือ
1. ความผูกพันกันแบบต่างร่วมเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Mutual Engagement)
2. กิจการร่วมทำ (Joint Enterprise)
3. คลังความรู้ (Shared Repertoire)
แล้วก็ยังมี บลา.. บลา... บลา... (ฮ่าฮ่าฮ่า) อีกเยอะในการอธิบายเชิงสังคมวิทยามานุษยวิทยา

เอาเป็นว่าหลักๆ แล้ว CoPs มันก็เหมือนกับการฝ่าด่านอรหันต์ อะเคเดมีแฟนตาเซีย หรือเดอะสตาร์ คือ จากคนเล็กๆ หนึ่งคนที่อยากมีความเชี่ยวชาญในอะไรซักอย่าง ก็ต้องค่อยๆ ฝึกฝนพัฒนาตัวเองขึ้นไปเรื่อยๆ จากหนึ่งไปเป็นสองสามสี่ จนไปยืนอยู่ในจุดที่เป็นต้นแบบอย่างที่อยากเป็น(หรือถูกบังคับมาให้เป็น) ในระหว่างเส้นทางนั้นมันก็เป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ความรู้เก่าความรู้ใหม่ที่ปะทะกัน อาจทำให้ต้นแบบดั้งเดิมเปลี่ยนรูปไป(ในทางวัฒนธรรม-ไม่ใช่กายภาพ) ก็ไม่ใช่อะไร...ก็เพราะมันไม่ยั่งยืนและก็ที่สำคัญคือเป็นการปรับเปลี่ยนพัฒนาไปตามครรลองของสังคมนั่นเอง

คำสำคัญ (Tags): #cops#ชุมชนปฏิบัติ
หมายเลขบันทึก: 49092เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2006 18:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 09:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เข้าใจว่าทุกวันนี้มีนักปฏิบัติเยอะมากในแต่ละชุมชนแต่ต่างคนต่างปฏิบัติ ทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดชุมชนนักปฏิบัติได้อย่างแท้จริง  โดยส่วนตัวก็ค่อนข้างเป็นนักปฏิบัติที่อยากสร้างชุมชน แต่ปฏิบัติไปปฏิบัติมา ถ้าไม่ติดตามก็จะกลายเป็นปฏิบัติไปคนเดียวเธอะ! เห็นด้วยกับแนวทางที่เริ่มจากความผูกพัน/การมีส่วนร่วม  มีกิจกรรมร่วมกัน แล้วจัดทำเป็นคลังความรู้ เรามาช่วยกันสร้าง CoP ในชุมชนของเรากันเต๊อะ

สังคมแห่งการเรียนรู้มักพ่ายแพ้ให้แก่วรยุทธ์หนึ่ง...

วรยุทธ์นั้นมีมาร่วมพันปี เรียกว่า

ช้าๆได้พร้าเล่มงาม...

(จนล้าหลังในที่สุด)

บางคนเรียกสุดยอดวรยุทธ์ของ DB ว่าเป็นการปล่อยวาง โดยอิงแอบไปว่าข้าพเจ้าวางกระบี่ในมือแล้ว แต่เอาไปไว้ที่ใจแทน...(ฮ่าฮ่า) บู๊ลิ้มบางส่วนก็รอเจ้ายุทธภาพคนใหม่มาล้างบางพวกกังฉิน-ก๊กเฉื่อย นัยว่ารอพึ่งผู้นำไร้นามที่จะทำให้หัวกระดกและหางกระดิก มีไม่น้อยก็นั่งพร่ำบ่นกันไปลำพังตามธรรมดาผู้สถิตย์ ณ หอคอยงาช้าง หวังให้สายลมเฉื่อยพัดความในออกไปกระซิบแด่ผู้กล้าในยุทธภพว่า...ลงมือเถิด ลงมือเถิด ...ทว่าบู๊ลิ้มยังงงงวยอยู่ว่าเราจะลงมือทำการอันใดกันดีนะพวกเรา ผงฝุ่นเข้าตามักต้องให้ผู้อื่นชี้แนะ วรยุทธ์จะแก่กล้าต้องกล้าประลองกับผู้อื่น ไม่ต่อยตีบอบช้ำไหนเลยจะได้เคล็ดวิชา ไม่เข้าถ้ำเสือและจะเจอะเสือได้อย่างไร ฮิฮิ บาดเจ็บล้มตึงกันลงสักคราวคงดี เพื่ออาจจะได้เรียนรู้ว่า...โลกไม่เที่ยง อย่าประมาท และอย่าวัดกันด้วยความสำเร็จเดิมๆ ความภูมิใจเก่าๆ เป็นแค่สิ่งที่เก็บเอาไว้พูดถึงได้แค่นั้น วันนี้อาจจะดีมากและติดหนึ่งใน 5 แต่วันหน้าหรือแค่วันนี้ ทุกนาทีที่เปลี่ยนแปรคือสนามแห่งปฏิบัติการ หนึ่งนาทีผ่านไป คนอื่นเดินได้ 10 ก้าว แล้วเราล่ะทำอะไรอยู่ สูดกลิ่นความสำเร็จเท่านั้นหรือ สำหรับข้าพเจ้าหนึ่งนาทีที่ผ่านมา ไม่ได้ทำอะไรเลย ได้แค่นั่งบันทึกไร้สาระลงในบล๊อกเช่นนี้แหละจ้า (ขออภัย CKO,Science สามารถลบข้อคิดเห็นนี้ได้ หากเห็นว่าไม่ระรื่นหู)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท