ทางรถไฟอาเซียน เป็นจริงหรือแค่ฝัน


ไทยเป็นศูนย์กลางการรถไฟของอาเซียนเพราะที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ เปรียบเสมือนโซ่ข้อกลางที่จะเชื่อมทางรถไฟอาเซียนเข้าด้วยกัน

จากแนวความคิดที่จะเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันนั้น ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (Master Plan on ASEAN Connectivity: MPAC) เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนปี 2554-2558 โดยกำหนดให้มีการเชื่อมโยงใน 3 มิติ คือ การเชื่อมโยงทางกายภาพ การเชื่อมโยงองค์กร และการเชื่อมโยงประชาชน

ในการเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียน ผมมองว่า เราควรให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงทางกายภาพมากที่สุด เนื่องจากเป็นการเน้นความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โดยการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพโครงสร้างพื้นฐานเดิมให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น และการขยายเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุมทั่วถึงยิ่งขึ้น สำหรับยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงที่สำคัญ อาทิ การเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการเชื่อมโยงเครือข่ายด้านพลังงาน ซึ่งจะส่งเสริมให้การเชื่อมโยงองค์กรและประชาชนเข้าด้วยกันทำได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ด้านพลังงานในปัจจุบัน ขณะที่ความต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ปริมาณการผลิตไม่ได้ตอบสนองความต้องการได้ทันท่วงที ทำให้ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มที่จะพุงสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเกือบ 200 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แน่นอนที่จะส่งผลกระทบต่อการขนส่งอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องหาช่องทางการขนส่งที่ประหยัดพลังงานเพื่อเป็นการลดต้นทุน

การขนส่งทางรถไฟ จึงเป็นทางออกหนึ่ง เพราะสามารถขนส่งสินค้าหนักๆ ในปริมาณมาก และระยะทางไกลได้ สามารถกำหนดเวลาออกและถึงจุดหมายปลายทางที่แน่นอน อีกทั้งยังมีความปลอดภัยจากการเสียหายของสินค้า

นอกจากนี้ การขนส่งทางรถไฟสามารถใช้ขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ได้ จึงเหมาะกับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ และหากเปรียบเทียบต้นทุนการขนส่งต่อหน่วย จะพบว่าการขนส่งทางรถไฟมีต้นทุนต่อหน่วยต่ำกว่าการขนส่งทางถนนอย่างเห็นได้ชัด การขนส่งด้วยรถบรรทุกมีต้นทุนสูงถึง 2.19 บาท/ตัน-กิโลเมตร ในขณะที่การขนส่งทางรถไฟมีต้นทุน 1.38 บาท/ตัน-กิโลเมตร ดังนั้น เราควรหันมาใช้บริการขนส่งทางรถไฟให้มากขึ้น

สำหรับอาเซียนมีการเชื่อมโยงที่สำคัญคือ โครงการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟสายสิงคโปร์-คุนหมิง (Singapore Kunming Rail Link: SKRL) ซึ่งเป็นแนวคิดตามโครงการเส้นทางรถไฟสายเอเชียเอสแคป เพื่อเชื่อมทวีปเอเชียและยุโรปเข้าด้วยกัน เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2503 และเป็นทางรถไฟความเร็วสูง 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เชื่อมโยงเส้นทางรถไฟสายหลักของ 8 ประเทศ คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย กัมพูชา สปป.ลาว เวียดนาม พม่า และมณฑลยูนนานของจีน คาดว่าจะสร้างเสร็จในปี 2558

นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังต้องการให้เชื่อมโยงทางรถไฟกับอินโดนีเซีย โดยคิดจะสร้างอุโมงค์รถไฟใต้น้ำลอดช่องแคบมะละกาจากชายแดนมาเลเซียถึงเกาะขนาดเล็กของอินโดนีเซีย ระยะทาง 18.9 กิโลเมตร ก่อนจะสร้างสะพานเชื่อมกับเกาะสุมาตรา ดังนั้น การเชื่อมอาเซียนด้วยรถไฟจึงขาดแค่เพียงฟิลิปปินส์และบรูไนเท่านั้น

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า การจะเชื่อมโยงกันเป็นหนึ่งเดียวได้ ก็ต้องมีมาตรฐานร่วม แล้วอะไรคือมาตรฐานร่วมของรถไฟ อย่างแรกคือต้องใช้รถไฟระบบรางคู่เป็นอย่างน้อย ต่อมาคือขนาดของรางต้องใช้รางมาตรฐาน (standard gauge) ขนาดรางกว้าง 1.435 เมตร ที่ใช้สำหรับรถไฟความเร็วสูงที่ทำความเร็วได้ 200-250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

แต่ปัจจุบัน รถไฟของไทยส่วนใหญ่ยังเป็นระบบรางเดี่ยว หมายความว่า เวลารถไฟสวนกันก็ต้องรอให้อีกขบวนไปก่อน ต้องมีการสับราง ทำให้เสียเวลามาก และเกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง ที่สำคัญคือเรื่องความกว้างของราง จริงๆ แล้วไทยเคยใช้รางมาตรฐานมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 แต่ปัจจุบันใช้รางขนาด 1.000 เมตร หรือ metre gauge ทำความเร็วเฉลี่ยสำหรับการขนส่งผู้โดยสารได้ 47 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนความเร็วของการขนส่งสินค่าอยู่ที่ 35 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่การจะเปลี่ยนรางรถไฟทั้งระบบก็ต้องใช้งบประมาณสูงมาก

ขอยกตัวอย่าง กรณีขบวนรถไฟบรรทุกสินค้าของไทย ซึ่งลากรถแคร่บรรทุกคอนเทนเนอร์บรรจุยางพาราอัดแท่งรมควัน เพื่อนำไปส่งยังมาเลเซีย จำนวน 17 แคร่บรรทุกคอนเทนเนอร์รวม 34 ตู้ เกิดอุบัติเหตุเมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา มูลค่าความเสียหายประมาณ 400 ล้านบาท ถือเป็นบทเรียนราคาแพงของไทย สาเหตุนั้นเกิดจากระบบรางของไทยไม่ได้มาตรฐานและชำรุด มาเลเซียก็ดูเหมือนจะไม่พอใจกับเหตุการณ์นี้อย่างมาก ต้องการให้ไทยพัฒนาระบบรางให้ได้มาตรฐาน รวมทั้งมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายอย่างที่ไม่ควรเกิดเช่นนี้

ไทยถือเป็นศูนย์กลางการรถไฟของอาเซียนเพราะที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ แต่อย่าลืมว่าไทยเองก็เปรียบเสมือนโซ่ข้อกลางที่จะเชื่อมทางรถไฟอาเซียนทั้งระบบเข้าด้วยกัน จึงจำเป็นต้องเร่งลงทุนและพัฒนาทางรถไฟให้ได้โดยเร็ว เพราะในอนาคต โอกาสของการค้าจะไม่ได้อยู่แค่ภายในอาเซียน แต่เราสามารถขนส่งสินค้าทางรถไฟไปถึงยุโรปได้ด้วยทางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย (Trans-Siberian) ซึ่งเป็นสายที่ยาวที่สุดในโลก ผ่านจีนและรัสเซีย

ส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่ารถไฟอาเซียนไม่ได้เป็นเพียงแค่ฝัน การเชื่อมโยงด้วยโครงข่ายรถไฟภายในอาเซียนสามารถเป็นไปได้จริง เพียงแต่ไม่แน่ใจว่าต้องใช้เวลานานแค่ไหน ถ้าความฝันนี้เป็นจริง ประชากรอาเซียนจะเดินทางไปมาหาสู่กันได้สะดวกยิ่งขึ้น ขนส่งสินค้าระหว่างกันได้มากขึ้น และยังสามารถช่วยกระจายรายได้ได้เป็นอย่างดี การเชื่อมโยงอาเซียนทั้ง 3 มิติ ก็จะมีความสมบูรณ์และแน่นแฟ้นมากขึ้นในที่สุด


พันธ์รบ ราชพงศา
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
คอลัมน์ "รู้เขา รู้เรา รู้อาเซียน" กรุงเทพธุรกิจ ASEAN+
ปีที่ 1 ฉบับที่ 37 วันอังคารที่ 5 มิถุนายน 2555 หน้า 2

หมายเลขบันทึก: 490307เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 13:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 08:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

การถ่ายเทนวัตกรรมด้านเทคโนโลยียังเป็นสิ่งน่าคิด อย่าลืมว่านวัตกรรมที่มาจากความเจริญไหลทับถมสู่ชาติที่ด้อยความเจริญกว่า และแน่นอนว่าต้องไหลทับวัฒนธรรมนชาตินั้นๆด้วย

ถูกต้องครับ ฉะนั้น เราจึงต้องคิดที่จะสร้างความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมของเราควบคู่ไปด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท