วิชาการสายรับใช้สังคมไทย : ๕๑. การผลิตผลงานวิจัยเพื่อรับใช้สังคมและตำแหน่งทางวิชาการ


 

         สกอ. โดยโครงการ HERP – NRU จัดการประชุมสุดยอดมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ครั้งที่ ๑ ในวันที่ ๒๙ - ๓๐ เมษายน ๒๕๕๕ ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์    โดยในตอนบ่ายวันที่ ๒๙ ผมไปร่วมอภิปรายเรื่อง การผลิตผลงานวิจัยเพื่อรับใช้สังคมและตำแหน่งทางวิชาการร่วมกับผู้อภิปรายอีก ๔ ท่าน คือ ศ. ดร. ปิยะวัติ บุญ-หลง, รศ. ดร. เปรื่อง กิจรัตน์ภร, ดร. สว่าง ภู่พัฒนวิบูลย์, รศ. ดร. นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์  และมี ศ. ดร. เกตุ กรุดพันธ์ เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย

         ดร. เกตุ กำหนดโจทย์ให้อภิปราย ๓ ข้อ คือ

๑. ข้อสังเกตเกี่ยวกับงานวิจัยเพื่อรับใช้สังคมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่ผ่านมาแล้ว และที่ควรจะเกิดขึ้น   พร้อมแนวคิดในการวัด/วิเคราะห์คุณภาพของงานวิจัยทางด้านนี้  (ที่อาจแตกต่างไปจากงานวิจัยมุ่งเน้นการตีพิมพ์)

๒.“งานวิจัย” และ “งานบริการวิชาการ” มีความต่าง และความเชื่อมโยงกันอย่างไร

๓.“งานวิจัยเพื่อรับใช้สังคมและการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ” ตามพันธกิจของกลุ่ม ๔ กลุ่ม อุดมศึกษา ควรเป็นอย่างไร

 

          ผมสรุปย่อสาระจากการอภิปราย ว่างานวิจัยสายรับใช้สังคมมีการทำมานานแล้ว แต่ไม่มีการแยกสายออกมาชัดเจน  งานวิจัยประเภทนี้เป็นการวิจัยใช้ความรู้ หรือ translational research หรือ implementation research   และต้องทำในทุกประเภทของมหาวิทยาลัย

          มีงานวิจัยที่มีการทำอยู่มาก ที่เป็นการรับจ้างทำวิจัย    ส่งผลงานให้ผู้จ้าง รับเงินแล้วจบ   ไม่มีผลงอกเงยทางวิชาการ   มหาวิทยาลัยควรมีการจัดการให้งานวิจัยประเภทนี้มีการจัดการต่อยอดเป็นผลงานวิชาการด้วย

          คณาจารย์จำนวนหนึ่งที่มาร่วมโฟกัส กรุป ๔ ภูมิภาค ของคณะทำงานศึกษาลักษณะของผลงานวิชาการรับใช้สังคม ที่แต่งตั้งโดย กพอ. ระบุปัญหาหลัก ๒ ประการ คือ (๑) ไม่มีประสบการณ์ที่จะเริ่มจากโจทย์ในพื้นที่   และไม่มีที่ปรึกษาหรือ mentor   (๒) ทำแล้วไม่ได้อะไร ไม่มีการยอมรับเป็นผลงานวิชาการ 

          เมื่อคณะทำงานไปศึกษาข้อบังคับว่าด้วยผลงานวิชาการ สำหรับขอตำแหน่งทางวิชาการ พบว่ามีการยอมรับอยู่แล้ว เรียกว่า “ผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น”    แต่ไม่มีการขยายความหรือส่งเสริม

          คณะทำงานนิยามผลงานวิชาการสายรับใช้สังคม ว่าต้องมี ๒ ส่วน คือ (๑) มีการใช้ความรู้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดีขึ้น   และ (๒) เห็นผลเป็นที่ประจักษณ์แก่สาธารณะ

          การนำผลการวิจัยรับใช้สังคมมาเป็นหลักฐานขอตำแหน่งวิชาการต้องเอกสารหลักฐานที่สะท้อนงานตั้งแต่ต้นจนจบ   มีการตรวจสอบโดยบุคคลที่สาม และมีการรับรองจากสถาบันต้นสังกัด หรือจากแหล่งทุนว่ามีการทำจริง   มีการเสนอแนะว่า ต้องทำให้ผลงานปรากฎแก่สาธารณะ เช่นอยู่ในฐานข้อมูลบนเว็บ   เพราะงานแบบนี้อาจมีการดำเนินการในหลายที่พร้อมๆ กัน

          การนำผลงานมาพิจารณา เน้นพิจารณาบทบาทของผู้นั้น ว่ามีบทบาทอย่างไรต่อผลงาน   ไม่ใช่แบ่งผลงานเป็นเปอร์เซ็นต์   โดยผลงานต้องสะท้อนความก้าวหน้าทางวิชาการของผู้นั้น   พิจารณาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งผมชี้ว่าต้องเลือกผู้ทรงคุณวุฒิที่มีฐานวิชาการกว้าง   ไม่ใช่ผู้ทรงคุณวุฒิแนวลึก   เพราะงานวิจัยรับใช้สังคมมีธรรมชาติเป็นพหุสาขา

          ตามหลักการ 21st Century Learning ซึ่งเน้นเรียนแบบ PBL   สามารถออกแบบการทำงาน ด้านเรียนรู้ วิจัย และบริการวิชาการ ให้เป็นงานชิ้นเดียวกันได้    มหาวิทยาลัยควรพัฒนาขีดความสามารถในการบูรณาการภารกิจทั้งสาม   ซึ่งจะมีผลพลอยได้เป็นรายได้เข้าสถาบันด้วย 

          ผมพยายามชี้แนวทางที่แต่ละมหาวิทยาลัยจะพัฒนาขีดความสามารถในการทำงานวิจัยสายรับใช้สังคม โดย

๑. ให้การพัฒนาอาจารย์ใหม่ ของมหาวิทยาลัยที่เน้นการวิจัยแบบนี้เป็นหลัก บรรจุการฝึกทักษะของการวิจัยแบบนี้ด้วย

๒. มีระบบการจัดการเพื่อส่งเสริมการวิจัยรับใช้สังคม

-  การจัดการงานบริการวิชาการ หรืองานพัฒนา เพื่อให้ต่อยอดเป็นงานวิจัยสายรับใช้สังคมได้

-   การจัดการความสัมพันธ์กับพื้นที่ / ชุมชน / สถานประกอบการ    รวมทั้งจัดการความสัมพันธ์กับภาคีในการทำงานวิจัยรับใช้สังคม เช่น ความสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัยอื่น

-  การจัดการโจทย์พัฒนา ให้เป็นโจทย์วิจัย

-  การจัดการผลงานพัฒนา ให้ต่อยอดเป็นผลงานวิจัยสายรับใช้สังคม

-   การจัดการวารสารแบบใหม่ ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยรับใช้สังคม

 

๓. ระบบการจัดการเพื่อสร้างการยอมรับงานวิชาการหลากหลายด้าน  ได้แก่ด้านการจัดการเรียนรู้ให้แก่นักศึกษา  ด้านการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคน   ด้านการพัฒนานโยบายสาธารณะ เป็นต้น

 

          ไม่มีใครตอบโจทย์ข้อ ๓ ของ ดร. เกตุโดยตรง    ผมจึงนำมาตอบในที่นี้ว่า ผลงานวิจัยเพื่อรับใช้สังคม ของอาจารย์สังกัดมหาวิทยาลัยต่างกลุ่มกันใน ๔ กลุ่ม   น่าจะแตกต่างกันได้ในด้านความเข้มข้นของคุณภาพ และผลกระทบต่อสังคม/ชุมชน/ผู้ได้รับประโยชน์    โดยมีเกณฑ์ขั้นต่ำกำหนดไว้กว้างๆ    มหาวิทยาลัยที่ต้องการยกระดับคุณภาพของตน ก็กำหนดเกณฑ์เอาเอง    ผมไม่รับรองว่าความคิดเห็นของผมนี้ เป็นสิ่งถูกต้อง

          มีคนถามว่า หากไปทำงานวิจัยรับใช้ชุมชนที่ ๑ ได้ผลดี   ต่อมาชุมชนที่ ๒ ขอให้ไปดำเนินการอีก   จะถือเป็นผลงานเดียวหรือ ๒ ผลงาน   ผมชี้ให้ที่ประชุมเห็นว่า ถ้าผมเป็นผู้ทำงานนั้น ผมจะหาทางทำเพิ่มให้เป็น ๓ - ๔ ชุมชน   แล้ววิเคราะห์สังเคราะห์รวมเป็นรายงานผลการวิจัยชิ้นเดียวที่มีคุณภาพสูงมาก   เราควรเน้นให้น้ำหนักคุณภาพของผลงาน มากกว่าจำนวนผลงาน

          ผู้ถามท่านนี้ ใช้คำว่า “ไปช่วย” ชุมชน   ผมมีความเห็นว่า การทำงานวิชาการรับใช้สังคมไม่ควรใช้ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์หรือช่วยเหลือ   แต่ควรใช้ท่าทีของความร่วมมือ และความสัมพันธ์แบบเท่าเทียมกัน และเคารพซึ่งกันและกัน   นักวิชาการต้องเข้าไปร่วมทำงาน และร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ไม่ใช่เข้าไปถ่ายทอดความรู้แก่ชาวบ้าน   โดยต้องตระหนักว่า มีหลายเรื่องที่ชาวบ้านรู้ดีกว่าเรา    และเราควรเรียนรู้สิ่งเหล่านั้นจากชาวบ้าน

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๙ เม.ย. ๕๕

 

 

หมายเลขบันทึก: 490105เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 10:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 15:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นด้วยในหลายๆ ประเด็นค่ะอาจารย์ โดยเฉพาะนิยามของคำว่า ผลงานวิชาการสายรับใช้สังคม ที่มีลักษณะที่สำคัญสองอย่างคือ มีการใช้ความรู้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดีขึ้น และเห็นผลเป็นที่ประจักษณ์แก่สาธารณะ 

หากเพิ่มเป็นว่า มีการใช้ความรู้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ดีขึ้น และเห็นผลเป็นที่ประจักษณ์แก่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง ก็จะชัดเจนมากขึ้นค่ะ

ขอบคุณค่ะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท