539.ประธานาธิบดีศรีลังกาเยือนไทย


กระชับความสัมพัรธ์

การเยือนประเทศไทยของประธานาธิบดีศรีลังกา

 

ประธานาธิบดีสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา มหินทะ ราชปักษา (H.E. Mr. Mahinda Rajapaksa)  เยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 29 พค. 2555 ถึง 2 มิย. 2555 นับเป็นการเยือนไทยครั้งแรกตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีศรีลังกา

จึงขอนำลำดับเหตุการณ์โดยย่อที่นำมาจากข่าวทั้งในสื่อไทยและศรีลังกา มาเล่าสู่กันฟังเพื่อเป็นการจัดการความรู้ ดังนี้

วันที่ 30 พค. 2555

( ขอบคุณข้อมูลจากกรมเอเชียใต้ฯ   http://sameaf.mfa.go.th/th/news/detail.php?ID=3244&SECTION=HOT_NEWS  )

กำหนดการสำคัญเกิดขึ้นในวันที่ 30 พค. โดยตั้งแต่เช้า เวลา 11:30 น. นายมหินทะ ได้เดินทางไปตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้การต้อนรับ และหารือข้อราชการร่วมกัน 

                นายกรัฐมนตรีของไทยกล่าวต้อนรับประธานาธิบดีศรี ลังกา ในการเยือนประเทศไทยในวาระโอกาสที่สำคัญเพื่อร่วมงานวิสาขบูชาโลก ระหว่างวันที่ 31 พ.ค.- 2 มิ.ย. 2555 ซึ่งศรีลังกานับเป็นมิตรประเทศที่ใกล้ชิดกับไทยมายาวนาน โดยในโอกาสนี้ ประธานาธิบดีศรีลังกาได้แสดงความขอบคุณประเทศไทยเป็นมิตรที่ดีและส่งเสริม ซึ่งกันและกันในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในเวทีสหประชาชาติและในกรอบสิทธิมนุษยชน Human Rights  ทั้งนี้ ประธานาธิบดีศรีลังกา ได้กล่าวถึงสถานการณ์ในศรีลังกาที่ได้กลับสู่ภาวะปกติและกำลังอยู่ในระหว่างการ ฟื้นฟูประเทศในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การก่อสร้างไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง ระบบสาธารณูปโภค โรงพยาบาลและโรงเรียน ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวชื่มชมพัฒนาการที่รุดหน้าของศรีลังกา และใช้โอกาสนี้กล่าวถึงศักยภาพของภาคเอกชนไทยในการเข้าไปลงทุนด้านการก่อ สร้างและโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งรัฐบาลศรีลังกาแสดงความพร้อมที่จะให้การสนับสนุนนักธุรกิจไทย

ระหว่างการสนทนา นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้ไทยและศรีลังกาขยายความสัมพันธ์และความร่วมมือเพิ่ม เติมระหว่างกันใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

1. การขยายปริมาณการค้าการลงทุนและความเชื่อมโยงระหว่างกันมากขึ้น

2. การส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรมระหว่างกัน ในลักษณะ Combined Destination  

3. เสริมสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศให้เข้มแข็งมากขึ้น โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้มีการนำไปหารือในรายละเอียดต่อไปในคณะกรรมาธิการ ร่วมฯไทย-ศรีลังกา โดยมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นตัวแทนของทั้งสองประเทศ

                นอกจากนี้ ประธานาธิบดีศรีลังกายังเสนอให้มีการพัฒนาความสัมพันธ์ในด้านอื่นๆ ที่มี ศักยภาพเพิ่มเติม อาทิ อุตสาหกรรมจิวเวอรี่ ความร่วมมือด้านความมั่นคง การเรียนรู้และแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเทคโนโลยี รวมถึง การส่งเสริมบทบาทสตรีและเยาวชน โดยประธานาธิบดีศรีลังกายังได้กล่าวชื่นชมที่ปัจจุบันประชาชนระหว่างสอง ประเทศมีความใกล้ชิดมากขึ้นและยินดีที่สายการบิน Air Asia เปิดเส้นทางการบินระหว่างสองประเทศเพิ่มด้วย

                ภายหลังการหารือ นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีศรีลังกา ร่วมกันเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการต่าง ประเทศแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกาและกระทรวงการต่างประเทศ แห่งราชอาณาจักรไทยว่าด้วยการหารือทางการเมืองทวิภาคี และ การแลกเปลี่ยนสัตยาบันสารของสนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐ สังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ณ ห้องสีงาช้างด้านนอก จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่ ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐศรีลังกาและคณะ

                โดยในช่วงเย็น นายมหินทะ ราชปักษา ประธานาธิบดีสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา มีกำหนดการเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ วังสระปทุม ทั้งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำแก่ประธานาธิบดีศรีลังกาและคณะด้วย

 

ในวันที่ 31 พค. 2555

วันที่สองของการเยือนไทย ประธานาธิบดีศรีลังกาเดินทางไป มจร. วังน้อย ร่วมพิธีเปิดงานวิสาขบูชานานาชาติครั้งที่ 9 วันสำคัญสากลของโลก ประจำปี 2555 เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลอง “พุทธชยันตี : 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า” เรื่อง “พระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเพื่อประโยชน์สุขของมวลมนุษยชาติ” โดยมีนานาชาติเข้าร่วมงาน 85 ประเทศมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 5000 รูป/คน โดยในจำนวนนี้เป็นพระสงฆ์ประมาณ 1500 รูป เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร ทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา ในการนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จฯแทนพระองค์ เป็นองค์ประธานเปิดงานวิสาขบูชานานาชาติ

หลังจากพิธีเปิดเสร็จสิ้น ได้มีการอภิปรายต่อ โดยมีพระภาวนาวิเทศ (อลัน อดัมส์ เขมธัมโม) Wat Forest Hermitage England    และศาสตราจารย์ เพอริส ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของศรีลังกาอภิปราย ศจ.เพอรีส ได้กล่าวถึงความปรองดอง เป็นเครื่องมือที่สอดคล้องกับวิถีปัจจุบันในเรื่องการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งในความเป็นจริงไม่มีใครเลวหรือดีไปหมด แต่จะผสมผสานกันพระพุทธศาสนาสอนให้คนมองในส่วนดีของมนุษย์ และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ขจัดความเกลียดชังที่มี เรื่องราวในอดีตอาจไม่ได้เป็นหนทางของอนาคตเสมอไป อย่านำอดีตมาตัดสินคน โดยมีตัวอย่างของ องคุลิมาล ที่เข่นฆ่าผู้คนมากมาย ก็ยังสามารถบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ได้

(ขอบคุณภาพจาก มจร.)

ประเทศศรีลังกามีปัญหาหนักอยู่ 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งที่ผู้นำศรีลังกาเลือกที่จะแก้ปัญหาก่อนมาเป็นอันดับแรก คือ การให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนก่อนเรื่องอื่นๆ นั่นเป็นเพราะคนที่มีคุณภาพจึงจะสามารถไปแก้ปัญหาอื่นๆ ได้ ซึ่งหนทางในการพัฒนาคนให้ได้ผลดีที่สุดนั้น ศาสนาพุทธคือเครื่องมือที่ดีที่สุด

ในช่วงบ่ายประธานาธิบดีศรีลังกาและคณะได้ไปเยี่ยมชมพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

 

วันที่ 2 มิย. 2555

กำหนดการสำคัญในวันที่ 2 มิย. 2555 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการเยือน คือการประชุมสัมมนาทางวิชาการ เนื่องในโอกาสเฉลิม ฉลอง “พุทธชยันตี : 2600 ปี และวันวิสาขบูชานานาชาติครั้งที่ 9 ณ หอประชุมใหญ่องค์การสหประชาชาติ วันที่ 2 มิ.ย. 2555 โดยมีนายมหินทะ ราชปักษา ประธานาธิบดีแห่งศรีลังกา ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย ดร.กวางโจคิม (Gwang-Jo Kim) ผู้อำนวยการองค์การยูเนสโก กรุงเทพฯ ร่วมกล่าวสุนทรพจน์ด้วย

นายบันคีมุน (Ban Ki-Moon) เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ส่งสารแสดงความดีใจในวันสำคัญของชาวพุทธ มีใจความว่า “ในนามองค์การสหประชาชาติ ขอขอบคุณรัฐบาลไทยและมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่จัดให้มีการประชุมสัมมนาเรื่อง “พระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเพื่อประโยชน์สุขของมวลมนุษยชาติ” ทางองค์การสหประชาชาติยินดีให้การสนับสนุนส่งเสริมพระพุทธศาสนา โดยการนำหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาเพื่อจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ภัยธรรมชาติ ภัยก่อการร้าย รวมทั้งนำคำสอนสู่การพัฒนา ฟื้นฟู ปรับปรุงสู่ประชาคมโลกต่อไป”

 

ดร.กวางโจคิม ผู้อำนวยการองค์การยูเนสโกกรุงเทพฯ  กล่าวว่า “วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญที่สุดของชาวพุทธ มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริม สนับสนุนในด้านสันติภาพของโลก องค์การยูเนสโกได้ศึกษาและส่งเสริมให้มีการนำหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาไปสู่การปฏิบัติ คำสอนของพระพุทธศาสนามีพื้นฐานการสร้างสันติภาพ สันติภาพจะเกิดขึ้นได้เพราะหลักคำสอนในเรื่องเมตตาและความกรุณา โดยองค์การยูเนสโกส่งเสริมให้สร้างเศรษฐกิจสีเขียว สังคมสีเขียว ส่งเสริมสันติภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

นายกรัฐมนตรีของไทย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรกล่าวว่า “เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนในการสนับสนุนการประชุม ที่จะก่อให้เกิดการส่งเสริมสันติภาพ สันติสุขแห่งโลก โดยการนำหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาไปสู่การปฏิบัติ พระพุทธศาสนามีบทบาทสำคัญก่อให้เกิดความสันติสุขแก่มนุษยชาติ แก่ชาวโลกนับล้านๆ คน ประชาชนชาวไทยและรัฐบาลได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเกี่ยวกับวันวิสาขบูชา และปีนี้เป็นวาระครบ 2600 ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า รัฐบาลยินดีให้การสนับสนุนการจัดงานครั้งนี้ ซึ่งเป็นการนำเสนอแนวทางการสร้างสันติภาพแห่งจิตใจและของ มนุษยชาติด้วย”

ส่วนประธานาธิบดีศรีลังกา มหินทะ กล่าวสุนทรพจน์ว่า พุทธธรรมนั้นช่วยแก้ปัญหามนุษยชาติได้ทุกอย่าง เพราะพุทธธรรมเป็นธรรมของมนุษยชาติ เช่น มีหลักขันติธรรม หลักการให้อภัย หลักการไม่เบียดเบียนกัน หรืออหิงสธรรม หลักการอ่อนน้อมถ่อมตน เช่น อาชวะ มัททวะ เป็นต้น

ชาวศรีลังกานั้นภูมิใจกับการได้นับถือพระพุทธศาสนา เพราะทำให้เข้าใจสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นว่าทุกอย่างเกิดจากการกระทำ หรือกรรม พร้อมกับอ้างบาลีว่า กัมมุนา วัตตี โลโก เป็นต้น

ท่านประธานาธิบดี กล่าวว่า “ข้าพเจ้ายินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่มีโอกาสได้มาร่วมประชุมในครั้งนี้ การประชุมครั้งนี้เป็นปรากฏการณ์สำคัญที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึก นั้นคือ 2600 ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ประเทศศรีลังกา ผู้นำประเทศศรีลังกาทุกคน ถือว่าการทำนุบำรุง ปกป้อง คุ้มครองพระพุทธศาสนา ถือเป็นภาระหน้าที่สำคัญยิ่ง และผู้นำศรีลังกาได้ยึดถือปฏิบัติมาอย่างยาวนาน ประเทศไทยกับประเทศศรีลังกามีความสัมพันธ์กันมานาน แลกเปลี่ยนพระสงฆ์สาวกต่อกัน พระพุทธศาสนาสอนเรื่องความสงบ ความไม่เบียดเบียนกัน ความเมตตา กรุณา ในส่วนตัวได้นำหลักพระพุทธศาสนามาบริหารประเทศ หลักมนุษยธรรมมาปฏิบัติ

ปัจจุบันพระพุทธศาสนาผ่านมา 2600 ปี หากผู้นำประเทศได้นำหลักคำสอนไปปฏิบัติจะก่อให้เกิดความสงบ สันติ เพราะพระพุทธศาสนาสอนสิทธิมนุษยชนมานับพันปี โดยสอนเรื่องความเสมอภาค ไม่มีเรื่องชนชั้น พระพุทธศาสนาสอนว่า มนุษย์สามารถเสมอกันได้เพราะการกระทำ และความเมตตาเป็นสิ่งสากล ความเมตตาช่วยขัดเกลาความขัดแย้งในโลก”

ตอนเที่ยงของวันที่ 2 มิย.2555 ประธานาธิบดีศรีลังกาได้เข้าร่วมการสัมมนาทางธุรกิจระหว่างนักธุรกิจไทยและศรีลังกาจัดโดยสภาธุรกิจไทย-ศรีลังกา  ซึ่งปรากฏว่ามีนักธุรกิจไทยและศรีลังกามาร่วมงานเกือบ 200 คน โดยมีประธานาธิบดีศรีลังกาเป็นแขกเกียรติยศกล่าวสุนทรพจน์ นอกจากนั้นออท.ฯ กรุงโคลัมโบ ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติศรีลังกา ผู้ว่าการการท่องเที่ยวศรีลังกาและผู้อำนวยการส่งเสริมการลงทุนศรีลังกาได้ร่วมกันกล่าวสนุทรพจน์เชิญชวนนักธุรกิจไทยให้ไปลงทุนในศรีลังกา การสัมมนาครั้งนี้นับเป็นโอกาสดีให้นักธุรกิจของทั้งสองประเทศได้พบปะและจับคู่กันทางธุรกิจเพื่อนำไปสู่การชยายตัวทางการค้าและธุรกิจระหว่างประเทศทั้งสอง

ในช่วงบ่ายประธานาธิบดีศรีลังกาได้ไปเยือนวัดไตรมิตรและพระพรหมเอราวัณเพื่อสักการบูชา จากนั้นในตอนเย็นประธานาธิบดีศรีลังกาและคณะเดินทางออกจากประเทศไทยเป็นอันเสร็จสิ้นการเยือนประเทศไทย

การเยือนประเทศไทยของประธานาธิบดีศรีลังกาในครั้งนี้ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและศรีลังกาใกล้ชิดกันมากขึ้นและเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีอยู่แล้วนั้นให้เพิ่มมากขึ้นในอนาคตอันใกล้

 ..................

*ขอบคุณข้อมูลแและภาพจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งของไทยและศรีลังกา รวมทั้งสื่อทั้งไทยและศรีลังกา

หมายเลขบันทึก: 490065เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 22:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 19:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

บ้านพี่เมืองน้องของไทยเรานะคะ

สวัสดีค่ะท่านเอกฯ

เมื่อวานไปโรงเรียนก็ยังให้ระลึกถึง ดีใจที่ท่านเอกฯ ได้กลับมาเมืองสยาม ณ ยามนี้

สุขสันต์วันสิ่งแวดล้อมโลก มีช่วงเวลาดีๆ ทุกวี่วันตลอดการมาเยือนสยามเมืองยิ้มค่ะ

Blank

ใช่ครับ บ้านพี่เมืองน้อง ในแง่ของพุทธศาสนา ทั้งสองประเทศต่างรับพุทธศาสนามาจากอินเดียและเป็นเถรวาทเหมือนกัน ในปัจจุบัน ประชากรส่วนใหญ่เป็นพุทธและมีความมั่นคงทางศาสนามากที่สุด

ขอบคุณที่แวะมาทักทายกันครับ

Blank

ขอบคุณครับ ที่แวะมาทักทายกัน(และคิดถึงกัน)การกลับมาเมืองไทยก็นับว่าประสบความสำเร็จด้วยดีทุกประการ การเยือนระหว่างผู้นำประเทศเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ประเทศใกล้ชิดกัน เมื่อผู้นำหารือและเห็นด้วยในหลักการแล้ว จากนั้นผู้เีกี่ยวข้องในด้านต่างๆ ก็ไปหาทางปฏิบัติกันให้สอดคล้องกับที่ผู้นำได้หารือและเห็นด้วย ผลประโยชน์ก็จะตกอยู่กับประชาชนของทั้งสองประเทศ นี่ละครับงานการต่างประเทศ

ขอบคุณทุกดอกไม้กำลังใจครับ

ประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศที่มีการต้อนรับขับสู้แขกชาวต่างประเทศดีที่สุดในโลก เป้นวัฒนธรรมของคนไทยเราที่จะต้องต้อนรับอย่างดียิ่งโดยเฉพาะแขกเกียรติยศในระดับสูง เช่นผู้นำประเทศ ซึ่งจะมีลักษณะการเยือนที่แตกต่างกันไป เช่นการเยือนของประธานาธิบดีศรีลังกานี้ ถือเป็นการเยือนลักษณะ Working Visit ซึ่งจะต่างจากการเยือนแบบ Official Visit นอกจากนั้นยังมีการเยือนแบบ State Visit อีกด้วย รายละเอียดของการเยือนต่างๆ นี้ คิดว่าหาได้ไม่ยา่กจาก Google จึงไม่ขอกล่าวในที่นี้

ถามว่าเยือนแล้วได้อะไร ก็ได้ "ใจ" ของมิตรประเทศ ซึ่งสำคัญมากในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ถ้าความสัมพันธ์ดีแล้ว การจะสร้างผลประโยชน์ร่วมกันก็ง่ายขึ้น

ขอบคุณทุกดอกไม้กำลังใจครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท