กระบวนการสร้างครูที่เพลินกับการพัฒนา (๘๔) : ตกผลึกบันทึกปึกใหญ่



การเปิดชั้นเรียนเป็นบันไดขั้นแรกของการก้าวสู่ความเป็นผู้ที่มีชำนาญในการจัดกระบวนการเรียนรู้  ความรู้ปฏิบัติมากมายที่เพื่อนครูช่วยกันคิดช่วยกันทำ เรียงตัวกันอยู่ในแบบบันทึกก่อนสอน บันทึกขณะสอน และแบบสะท้อนหลังสอน

 

คุณครูตั๊ก – รัตดารา มกรมณี คุณครูเจ้าของหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย ชั้น ๓  ใช้เวลาหลายวันค่อยๆ ตกผลึกความรู้จากการปฏิบัติที่เกิดขึ้นระหว่างการเปิดชั้นเรียน เพื่อทบทวนว่าตนเองได้เรียนรู้อะไร

 

การเขียนแผน Open Approach

  • คำนึงถึงความรู้เดิมของผู้เรียนเป็นสำคัญ  มีการแจกแจงความรู้ เพื่อหาความรู้เดิมของผู้เรียน (Met Before)  และสิ่งที่ต้องการให้ผู้เรียนสร้างขึ้นใหม่ โดยเน้นการประเมินสมรรถนะของผู้เรียน ในการแก้ปัญหาที่ไม่เคยรู้จักและความสามารถในการกระทำสิ่งใหม่ๆ โดยใช้ความรู้และทักษะวิธีที่เคยได้เรียนรู้มาในการแก้ปัญหา จากโจทย์สถานการณ์ที่ครูสร้างขึ้น

 

การสร้างโจทย์สถานการณ์

  • ต้องคำนึงถึงแรงส่งของแรงบันดาลใจไปสู่สิ่งที่ต้องการให้ผู้เรียนสร้างขึ้นใหม่ 
  • การวางเนื้อหาที่ต้องการให้เด็กได้เรียนรู้ เริ่มต้นจากการเปิดโจทย์สถานการณ์ที่เหมาะสม  เพื่อคิดหาวิธีการพานักเรียนไปสู่เป้าหมายที่ครูวางไว้ได้ด้วยตัวนักเรียนเอง
  • ครูมีหน้าที่หากิจกรรมมาต่อยอดฐานความรู้สะสมเดิมที่ผู้เรียนมีอยู่ในตัวผู้เรียน เพื่อนำการเรียนรู้ไปสู่เรื่องใหม่ที่ต่อยอดจากความรู้เดิม โดยการใช้โจทย์สถานการณ์  และการสร้างเงื่อนไขให้ผู้เรียนได้ใช้ประสบการณ์ในการแก้ปัญหาเพื่อให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้ได้ด้วยตนเอง  
  • ผู้เรียนจะได้ทดลองเอาชนะความไม่รู้ ด้วยการค่อยๆ สร้างความรู้ขึ้นจากการแก้ไขโจทย์สถานการณ์

 

ความเข้าใจในวิธีอ่านและประเมินผู้เรียนในขณะเรียนรู้

  • ครูผู้สอนต้องประเมินการเรียนรู้ตลอดเวลา ด้วยใจที่เป็นอิสระจากแผนการสอน แล้วมุ่งความสนใจมาที่เด็ก จิตใจจดจ่ออยู่กับสภาวะการเรียนรู้ของเด็ก ทำให้ครูจะต้องรับรู้สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนอยู่ตลอดเวลา มีสติ พูดให้น้อย รับฟังอย่างลึกซึ้ง คำนึงถึงทุกรายละเอียดทุกขั้นตอน 
  • ครูผู้สอนต้องเปิดโอกาสให้เด็กเป็นเจ้าของในการเรียนรู้ คิดค้นหาวิธีการเรียนรู้ด้วยตนเอง ครูต้องเป็นอิสระจากแผนแล้วหันมาสนใจที่การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนเป็นสำคัญ  ครูต้องพร้อมที่จะตอบสนองความต้องการของห้องเรียนที่แท้จริง พยายามจับประเด็นการเรียนรู้ของเด็กให้ได้มากที่สุด โดยครูเองต้องมีสติ สมาธิจดจ่ออยู่กับห้องเรียนตลอดเวลา เมื่อเกิดปัญหาหรือข้อผิดพลาดขึ้นครูมีหน้าที่นำพาให้เด็กคิดค้นถึงสาเหตุของปัญหา และหาวิธีแก้ปัญหาด้วยตนเอง

 

ประสบการณ์ความรู้ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง

 

การเปิดชั้นเรียนทำให้เข้าใจหลักการเขียนแผนฯ การจัดกระบวนการเรียนรู้ และการจัดการชั้นเรียน  ตลอดจน มีความเข้าใจในวิธีอ่านและประเมินผู้เรียนในขณะเรียนรู้ ในแนวทาง  Open Approach ได้ดีมากขึ้น เนื่องจากได้รับประสบการณ์ตรงจากการที่เราได้ลงมือกระทำด้วยตนเอง   ทั้งยังต้องฝึกฝนตัวเองให้เป็นครูยุคใหม่ที่พูดน้อย ฟังให้มาก เพื่อให้เด็กเรียนรู้ได้มากที่สุด

 

ที่สำคัญคือการฝึกฝนจิตใจให้พร้อมรับข้อคิดเห็นและพร้อมปรับปรุง เพื่อพัฒนาศักยภาพรอบด้าน  แต่ยังคงมีความสับสนในเรื่องของการสร้างโจทย์สถานการณ์อยู่บ้าง  ว่าเราควรใช้โจทย์สถานการณ์แบบใดจึงจะเป็นโจทย์สถานการณ์แบบ Open Approach ที่ไม่ได้เป็นแค่ Active Learning และการจับประเด็นการเรียนรู้ที่ละเอียดอ่อน (Meaningful) ที่ครูปาดแนะนำไว้คืออะไร และครูจะมีวิธีในการปฏิบัติอย่างไร

 

ผลที่เกิดขึ้นจากการเปิดชั้นเรียน

 

สิ่งที่ได้เรียนรู้และเห็นผลที่สุดคือ ตัวผู้เรียนมีวิถีการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไปจากเดิม คือ ผู้เรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้มากขึ้น มีส่วนร่วมนำเสนอข้อค้นพบ วิธีในการแก้ปัญหา และ ร่วมแสดงความคิดเห็นจากมุมมองของตนเองอย่างทั่วถึง ผู้เรียนที่ไม่ค่อยกล้าเสนอความคิดก็เริ่มกล้าพูดมากขึ้น มั่นใจมากขึ้น มีการร้อยเรียงกระบวนการเรียนรู้ความรู้อย่างเป็นลำดับขั้น โจทย์สถานการณ์สามารถสร้างความท้าทายทำให้นักเรียนอยากเรียนรู้ และสามารถสร้างชิ้นงานที่มีคุณภาพออกมาได้มากขึ้น รับฟังกันมากขึ้น เมื่อมีคนพูดเพื่อนที่เหลือก็พยายามฟังเพื่อจะได้ติดตามกันว่าห้องเรียนกำลังดำเนินไปถึงไหน

 

ตัวครูเองก็เห็นแนวทางที่จะสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ดีขึ้น และเห็นสภาพจริงของเด็ก  เห็นวิธีส่งเสริม ซ่อมเสริมนักเรียนชัดเจนขึ้น และเมื่อเกิดข้อสงสัย  ผู้เรียนสามารถวิเคราะห์ถึงสาเหตุและหาวิธีแก้ไขได้ด้วยตนเอง  ทั้งเด็กและครูได้เรียนรู้ไปด้วยกัน และเกิดการเรียนรู้ที่ชัดเจนขึ้นด้วย

 

ในส่วนของครูผู้สอน  แม้ว่าการจัดการเรียนการสอนแบบ Open Approach จะเป็นงานที่ยาก ท้าทาย เหน็ดเหนื่อย ใช้ทั้งแรงกาย แรงใจ และแรงสมองเป็นอย่างมาก กว่าจะได้มาซึ่งแผนการสอนในแต่ละครั้ง  แต่เมื่อได้มาแล้ว จากแผนการสอนที่ละเอียดความแม่นยำ มีลำดับขั้นตอน  ช่วยให้ผู้สอนเองสอนได้ง่ายขึ้น เป็นลำดับชัดเจนมากขึ้น พูดอธิบายน้อยลงแต่การเรียนรู้ได้รับผลอย่างเต็มที่ เห็นภาพห้องเรียนตั้งแต่ยังไม่ได้เดินเข้าห้อง 

 

การร่วมกันคิดของกลุ่มเพื่อนครูด้วยกันเองเป็นส่วนสำคัญในการสร้างแผนที่มีคุณภาพ และการทำงานร่วมกัน ยังช่วยเปิดความคิด ขยายมุมมองในการทำงาน อีกทั้งยังช่วยสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกันอีกด้วย 

 

การประเมินผลหลังการสอนในแต่ละครั้ง เป็นส่วนสำคัญในการให้ผู้สอนได้รับรู้จุดดี จุดด้อยของตนเอง แนวทางการปรับแก้  เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข พัฒนาการสอนของตนเอง เป็นฝึกฝนภาวะภายในในการยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ลด ละ วาง ตัวตนมากขึ้น อันจะส่งผลให้เราได้พัฒนาตัวตนไปอีกขั้นหนึ่งของการเป็นครูที่ดีมีคุณภาพ ทำให้เราได้รับความรู้ เพื่อนำไปปรับปรุงพัฒนาตนเองในทุกด้าน และส่งผลต่อการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้เอง ซึ่งเป็นการพัฒนาศักยภาพในการเรียนรู้อย่างแท้จริง

 

 

 

Ÿ 

หมายเลขบันทึก: 489895เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 21:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กรกฎาคม 2012 18:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เห็นด้วยค่ะครูใหม่ว่ารูปแบบนี้เหนื่อยหนักแต่ท้าทาย ใครว่าเป็นครูสบายนะคะ :)

ผมประเมินว่า ครูตั๊กเข้าขั้น master teacher แล้วครับ ทำอย่างนี้ต่อเนื่องไปอีกสัก ๓ ปี ผมเชื่อว่าครูตั๊กจะได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นอีกมากมาย
ผมขอเสนอให้ รร. เพลินพัฒนาเตรียมเขียนหนังสือ "การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ : เพลินพัฒนาโมเดล ทั้งนักเรียนและครูพัฒนาทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง"
วิจารณ์

เรียน อาจารย์วิจารณ์ ที่เคารพ

หนูขอน้อมรับคำเสนอของอาจารย์ด้วยความยินดีค่ะ

ด้วยความเคารพ ครูใหม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท