การเป็นคนมีความสุขสำคัญมากกว่าการเป็นคนเก่ง


คนดี มีสุข เก่ง

ในสังคมไทยเราทุกวันนี้ คนเป็นจำนวนมากมักจะไม่มีความสุขกับการเรียนหรือการทำงานของตน  ทำให้ไม่อยากเรียนหรือไม่อยากทำงาน วันไหนที่ไม่ต้องทำงานหรือไม่ต้องเรียนก็มักจะดีใจ  แต่ในความเป็นจริง เราคงต้องยอมรับว่าคนส่วนใหญ่มีหน้าที่เรียนหรือทำงานประมาณ 8 ชั่วโมงต่อวันซึ่งก็คือประมาณ 1 ใน 3 ของชีวิตคนเรา  ถ้าเราไม่สามารถมีความสุขในการเรียนหรือการทำงาน นั้นหมายความว่า เวลา 1 ใน 3 ของชีวิตคนเราเป็นเวลาที่ไม่มีความสุข ซึ่งก็คงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีประสบการณ์การเป็นครูของคน 2 วัยที่แตกต่างกันคือวัยเด็ก 1-4 ขวบและวัยรุ่นในมหาวิทยาลัย จึงทำให้เข้าใจกระบวนการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น และมีโอกาสในอ่านหนังสือแปลของคอร์สเกี่ยวกับความสุขซึ่งเป็นคอร์สที่มีคนเรียนมากที่สุดในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด  และเห็นภาพที่ผู้เขียนเล่าว่า ผู้เขียนอุตส่าห์อดทนฝึกซ้อมกีฬาและเลือกกินแต่อาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพเพื่อได้เป็นแชมป์นั้น แต่เมื่อผู้เขียนได้เป็นแชมป์ กลับไม่ได้รู้สึกมีความสุขอย่างที่คาดหวังไว้ ผู้เขียนกลับรู้สึกว่างเปล่า เหมือนไม่มีอะไรจะไขว่คว้าอีก ถ้าเราลองนึกถึงประสบการณ์เราที่ผ่านมาหลายอย่าง เราจะพบว่า บ่อยครั้งที่เราคิดว่า ถ้าเราทำอย่างนี้สำเร็จ ทำอย่างนั้นสำเร็จ แล้วเราจะมีความสุข แต่พอเราทำสำเร็จจริงๆ ความสุขก็ไม่ได้อยู่กับเรานาน แล้วอะไรที่จะทำให้เรามีความสุขอย่างแท้จริง

ในวัยต่างๆ ของชีวิตคนเรา เรามักจะพบว่าวัยเด็กเป็นวัยที่มีความสุขมากที่สุด  เด็กมีความใฝ่รู้ อยากรู้อยากเห็น เล่นนั้น เล่นนี้ มองทุกอย่างเป็นการเล่น ไม่ได้คิดถึงพรุ่งนี้ ไม่ได้คิดถึงอดีต อยู่แต่กับสิ่งที่ตัวเองเล่นในขณะปัจจุบัน แต่จริงๆ การเล่นของเด็กนั้นแหละเป็นการเรียนรู้  ถ้าเราเรียนหรือทำงานเหมือนกับที่เด็กเล่น ก็คงจะทำให้เรามีความสุขขึ้นไหม  อยู่กับปัจจุบัน ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด รู้สึกพอใจ รู้สึกสนุกและมีความสุขกับสิ่งที่ที่ทำ เห็นคุณค่าในสิ่งที่ตนเองทำ  บางทีก็สงสัยว่าอะไรทำให้เด็กคนหนึ่งยังคงความอยากรู้อยากเห็นเมื่อเค้าโตขึ้น และอะไรทำให้เด็กอีกคนหนึ่งเลิกที่จะสนใจอยากรู้สิ่งที่ไม่ได้ทำให้เค้าเพลิดเพลิน  หลายคนมองว่า การกินอาหารที่ดี การได้ไปเที่ยวสังสรรค์ การกินเหล้า เป็นความสุข แต่จริงๆ นั้นเป็นความสุขไหม เป็นความเพลิดเพลินความพอใจที่เราจะต้องแลกมาด้วยเงินใช่ไหม แล้วเราก็ต้องเครียดหรือรู้สึกกดดันที่จะหาเงินเพื่อให้เราได้รับความพอใจซึ่งเราหาไม่ได้ในขณะเราเรียนหรือทำงาน

ในมุมมองจากคนที่เป็นพ่อแม่ อยากเลี้ยงลูกให้ลูกเป็นคนดีและมีความสุข ถ้าคนเราเป็นคนที่มีความสุขและรู้สึกสนุกชอบในสิ่งที่ตนเองทำ เขาก็จะเก่งในสิ่งนั้นโดยอัตโนมัติ อยากให้เค้ามีความสุข ส่วนความเก่งอาจเป็นผลพลอยได้ ไม่ได้ตั้งใจว่าเค้าจะต้องเก่ง เค้าจะต้องรู้เยอะๆ บางทีรู้สึกสงสารเด็กที่พ่อแม่พาไปเรียนอะไรเยอะแยะโดยที่ไม่ได้ถามหรือสังเกตว่าลูกชอบไหม กระบวนการเรียนรู้ที่สนุกและความรู้สึกอยากรู้สำคัญมากกว่าปริมาณเนื้อหาเยอะๆที่รู้ อีกอย่างที่ควรเน้นคือสังเกตพฤติกรรมของลูกว่าอะไรที่เค้าไม่ควรทำ แล้วหาโอกาสสอนเค้า และพยายามไม่ทำในสิ่งที่เราเองไม่อยากให้เค้าทำ  เด็กมีพฤติกรรมเลียนแบบ เด็กเชื่อในสิ่งที่เราทำ ไม่ได้เชื่อในสิ่งที่เราบอก  พฤติกรรมที่ไม่อยากให้เด็กทำคือพฤติกรรมที่ทำให้ตนเองหรือคนอื่นเดือดร้อนทั้งกาย วาจา และใจ

ในมุมมองของคนที่เป็นครู ก็อยากให้ลูกศิษย์เรียนรู้จากการทำจริงเยอะๆ  เพราะเมื่อเราทำจริง เราก็จะรู้จริง เมื่อเรารู้อะไรจริง เราก็รู้สึกพอใจ รู้สึกมีความสุขที่เราได้รู้ ทำได้  ถ้าเราคิดอย่างนี้แต่ละวันที่เราเรียนรู้ โดยที่เราไม่ต้องไปเน้นมากว่าเราต้องได้เกรดเท่าไหร่  เราก็อาจจะเรียนรู้อย่างมีความสุขได้ เราอยู่ในสังคมที่มีเพื่อน เพื่อนบางคนอาจไม่รู้เท่าเรา ก็อยากให้แบ่งปันความรู้ อธิบายให้เค้าเข้าใจ ไม่ใช่ให้การบ้านให้เค้าไปลอก ถ้าทำอย่างนั้น เราไม่ได้รักเพื่อนจริง เราแค่อยากตามใจเพื่อนและไม่อยากเสียเวลาอธิบาย จริงๆ ถ้าเราอธิบายให้เพื่อนเข้าใจได้ แสดงว่าเรารู้จริง  ควรจะขอบคุณเพื่อนที่ให้โอกาสให้เราเก่งขึ้นและเรียนรู้อย่างมีความสุขและเป็นประโยชน์กับคนอื่นด้วย

สรุปแล้ว ความสุขที่แท้จริงไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอะไรและไม่ได้อยู่ในอนาคต หาได้จากเวลาปัจจุบัน เมื่อเรารู้สึกรู้ตัวในสิ่งที่เราทำ เข้าใจและพอใจในสิ่งที่เราทำหรือเป็นอยู่ เมื่อเราไม่ได้รู้สึกขาดอะไร 

เราควรจะพยายามรู้จักตนเองให้มาก ตนเองชอบอะไร ถนัดอะไร การศึกษาที่สมบูรณ์ควรจะนำไปสู่การเรียนรู้ที่รู้จักตนเองมากขึ้นและช่วยพัฒนาตนเองให้มีความสุขมากยิ่งขึ้น

 

 journey is more important than the destination

 

หมายเลขบันทึก: 489226เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 21:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 03:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

คิดเหมือนกันเลยค่ะ และพิสูจน์แล้วว่าเลี้ยงลูกแบบนี้เขาเรียนรู้ได้อย่างมีความสุขจริงๆค่ะ ไม่ต้องแข่งกับใครแต่แบ่งปันได้อย่างมีความสุข ชีวิตเลือกได้เอง ลองได้เอง วิญญาณเสรีของเขายังคงอยู่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท