วันนี้ไปนั่งฟังนศ.ป.โท เอก นำเสนอผลงาน ที่รีสอร์ทแห่งหนึ่ง ช่วงท้ายได้กล่าวให้โอวาทกับนศ. หลังจากให้แนวคิดทั่วไปแล้ว เห็นว่ามันห้วนไป ก็เลยแถมพกด้วยเรื่องสัพเพ เช่น การใช้สีฉากหลังช่วยในการนำเสนอ
การนำเสนอที่ดีมีหลายมิติ และหลายแนวทาง สำหรับผมไม่เคยเรียนมาจากไหน ได้แต่สังเกตเอาจากประสบการณ์ ผนวกการคิดต่อยอดด้วยตัวเอง วันนี้จะลองเอาประสบการณ์นำเสนอของผมมาประจานให้ทราบทั่วกัน
ผมมีคติในการนำบรรยายเสนอต่อที่ประชุมดังนี้คือ ...สื่อสบายตา เนื้อหาพูน ข้อมูลดี วจีกระชับ
วันนี้ตอนที่ 1 เรามาว่ากันเรื่อง “สื่อสบายตา”
นี่มันเป็นเรื่องของศาสตร์และศิลป์ที่คนส่วนใหญ่มักมองข้าม สบายตาในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า “สวย” นะครับ
ผมเห็นบางท่านทำสื่อแบบว่าเล่นลายกนกอ่อนช้อยตามมุมขอบ มีลายน้ำเป็นฉากหลัง ..จนมันดูเปรอะไปหมด ต้องอย่าลืมว่าเรากำลังจะนำเสนอทาง “วิชาการ” นะ ไม่ได้เสนอทาง “ศิลปะประณีต” (fine art)
ตอนผมทำงานอยู่องค์การนซ.แห่งสรอ. ศูนย์วิจัยของผมมีข้อกำหนดออกมาเลยว่า การนำเสนอต่อสาธารณะนั้น (สมัยโน้นยังใช้แผ่นใสอยู่เลย) ฉากหลังต้องเป็น Amber (อำพัน..เหลืองหม่น) ส่วนตัวอักษรต้องเป็น Navy blue เท่านั้น (เหมือนที่ผมกำลังใช้อยู่นี่แหละ) เขาอ้างว่าได้วิจัยมาแล้วว่ามันเป็น การผสานสีที่ดีที่สุด
วันนี้เรามี power point ที่ครองตลาดการทำ presentation ผมจึงได้ทดลองเอาฉากหลังกับตัวอักษรมาผสานกับแบบหลากหลายมาก ผมสรุปว่า..ที่ดีที่สุดคือ เหมือนที่ นซ. ว่ามานั่นแหละ
การจับคู่แบบอื่นๆ มันสู้ไม่ได้จริงๆ แสดงว่าเขาทำวิจัยกันมาหมดแล้วจริงๆ ที่พอสู้ได้คือ ฉากหลังฟ้าหม่น ตัวอักษรดำ หรือ ม่วงแก่
ที่ว่าดีที่สุดคือมันดูแล้ว สบายตา ผ่อนคลาย ไม่เครียด
คำว่าไม่เครียดนี้มีสองนัยยะ คือ เครียดกาย และ เครียดใจ
เครียดกายคือ ตาที่มองมันเกร็งมาก (มันไม่ผ่อนคลาย) ทฤษฎีที่คิดเอาเองของผมคือ เนื้อที่จอส่วนใหญ่คือหลักฉาก (น่าประมาณ 70%) ที่เหลือส่วนน้อย (ประมาณ 30%) คือเนื้อที่ตัวอักษร ....ดังนั้นรูม่านตาจะเปิดตามความเข้มของสีฉากหลังส่วนใหญ่ ....เช่นถ้าฉากหลังสีขาว รูม่านตาจะเปิดน้อย (เพราะสีมันขาววาว ทำให้สะท้อนแสงเข้าตามาก) แต่ถ้าตัวอักษรสีเข้มมาก เช่นสีดำ ก็จะสะท้อนแสงน้อย ดังนั้นรูม่านตาต้องเปิดกว้างมากเพื่อให้มองเห็นตัวอักษร ...ซึ่งทำให้มันเกิดความขัดแย้งกันระหว่างฉากหลังและตัวอักษร ดังนั้นสายตาก็จะงง ก็จะปรับรูม่านตาให้อยู่ตรงกลางๆ ทำให้ิเกิดการเบลอและการความเครียดกล้ามเนื้อตาตามมา
จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมนักวิชาการจำนวนมากสายตาสั้นจากการอ่านหนังสือมาก ผมเดาว่ามันเป็นเพราะฉากกระดาษมันสีขาว ส่วนตัวอักษรมันสีดำนั่นเอง มันทำให้กล้ามเนื้อตาเครียดมาก
ถ้าลดความจ้าของฉากหลังลง และลดความเข้มของตัวอักษรลงพร้อมกัน เรื่อยๆ มันจะเจอจุดที่ดีที่สุด ที่เกิดการกัดกัน (contrast) ที่ลงตัว ..ก็จะมาอยู่ที่ฉากหลังเหลืองหม่น ตัวอักษรน้ำเงินเข้มหม่นนี่แหละ (navy blue)
สีเหลืองหม่นเป็นสีท้องทุ่งนา ทุ่งข้าวสาลี ซึ่งเป็นวิถีชีวิตมนุษย์ทั่วโลกอยู่แล้วด้วย ดังนั้นการมีฉากหลังเป็นสีเหลืองหม่นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดก็ไม่น่าใช่เรื่องแปลกอันใด เพราะนอกจากสบายกายแล้ว ยังทำให้เรา “สบายใจ” อีกด้วย เพราะการได้เห็นสีเหลืองหม่นอยู่เบื้องหลัง ทำให้รู้สึกเหมือนว่ากำลังเหม่อมองท้องทุ่งนาที่กำลังออกรวงเหลืองระวีที่เป็นแหล่งอาหารหล่อเลี้ยงชีวีเรา ..พอมองแล้วก็รู้สึกอบอุ่นใจ ก็ไม่เครียดทั้งกายและใจ
สีเหลืองอ่อนนี้เป็นสีกลางๆ ที่รูม่านตาเปิดกลางๆ ไม่ปิดมากเท่าสีขาว ส่วนอักษรสีน้ำเงินก็ต้องการการเปิดของรูม่านตาที่ไม่มากเท่าสีดำ ดังนั้นการประนีประนอมของรูม่านตาระหว่างฉากหลังและฉากหน้าก็ไม่มากนัก ความเครียดกายก็น้อยลง
ส่วนการมองเห็นตัวอักษรก็ดี เพราะมีการขัดกัน (contrast) ที่ใช้ได้ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป
...คนถางทาง (๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๕)
ปล. บทความนี้อาจลานตา เพราะมันมีทั้ง ขาว เหลืองหม่น และ น้ำเงินหม่น ..พยายามขจัดขาวออก แต่ยังทำไม่เป็น