วิถีแห่งความเคยชิน: อุปสรรคการพัฒนาการสอนภาษาไทย


การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นไม่ได้หากเรายังคงเคยชินกับสิ่งเดิมๆ

วิถีแห่งความเคยชิน: อุปสรรคการพัฒนาการสอนภาษาไทย

 

                                                                                                                        เฉลิมลาภ ทองอาจ

โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม

คณะครุศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

          ประสบการณ์เดิมอาจช่วยเสริมการเรียนรู้ครั้งใหม่ก็จริง แต่ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตดังกล่าว     ก็อาจกลายมาเป็นอุปสรรคที่ยับยั้งมิให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ก็เป็นได้  หากลองสังเกตบุคคลที่ใกล้ชิด เราก็จะพบว่าเขาผู้นั้นมักจะแก้ปัญหาใดๆ ก็ตาม โดยอาศัยประสบการณ์เดิม หรือยึดแนวทางที่ได้เคยสังเกตผู้อื่นกระทำต่อปัญหาในลักษณะเดียวกันกับตน ซึ่งทำให้ในที่สุดแล้ว บุคคลจะแก้ปัญหาเดิมด้วยวิธีการหรืออุปกรณ์อย่างเดิม โดยมิได้พยายามที่จะหาวิธีการใหม่ เพื่อเข้ามาดำเนินการกับปัญหาเดิมดังกล่าว ที่เป็นเช่นนี้ อาจเป็นเพราะบุคคลผู้นั้นตกอยู่ภายใต้วิถีแห่งความเคยชิน อันก่อให้เกิดอุปสรรคซึ่งทำให้เขามิสามารถที่จะมองปัญหาเดิมด้วยมุมมองใหม่ได้

 

 

          การตกอยู่ภายใต้วิถีแห่งความเคยชิน ในทางจิตวิทยาการเรียนรู้เรียกภาวะเช่นนี้ว่า  การเกิด  “ภาวะการสร้างข้อจำกัดในเชิงหน้าที่” (functional fixedness) อันเป็นภาวะที่บุคคลไปจำกัดขอบเขตหน้าที่ของสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่า สามารถที่จะทำหน้าที่หนึ่งหน้าที่ใดได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วสิ่งนั้นอาจทำหน้าที่ใหม่เป็นอย่างอื่นได้ ตัวอย่างเช่น  ขวดพลาสติกมิได้มีหน้าที่เพียงใส่น้ำหรือเครื่องดื่มเท่านั้น  เพราะจะเห็นได้ว่า  มีนักประดิษฐ์นำขวดพลาสติกดังกล่าวมาต่อกันเป็นทุ่นหรือแพเพื่อใช้ในช่วงอุทกภัย หรืออีกตัวอย่าง  เช่น  กระดาษชำระ ซึ่งโดยทั่วไปก็มักใช้เพื่อการทำความสะอาดเพื่อสร้างสุขอนามัย  แต่ภายหลังก็ได้มีการประยุกต์มาเป็นวัสดุสำหรับเพาะปลูกพืชทำให้มิต้องอาศัยดิน เป็นต้น       

 

 

          จากตัวอย่างที่แสดงไว้ แนวคิดสำคัญที่ตามมาก็คือ  “ทุกสรรพสิ่งเกิดขึ้นโดยมิได้มีเพียงหน้าที่เดียว” และใช่ว่า  “สิ่งนั้นจะต้องทำหน้าที่เดิมเช่นนั้น” เสมอไป สำหรับตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนของการเกิดภาวะการจำกัดฯ  เช่นนี้ในการสอนภาษาไทย เช่น การที่ครูคิดทึกทักไปว่าวรรณคดีทุกเรื่องมีหน้าที่ให้     คำสอนหรือข้อคิดในเชิงคุณธรรมและจริยธรรม ส่งผลให้ครูภาษาไทยสอนวรรณคดีทุกเรื่องเพื่อจะให้ผู้เรียนหาข้อคิดหรือคำสอนต่างๆ  ทั้งที่ในความจริงแล้ววัตถุประสงค์ในการสร้างวรรณคดีบางเรื่อง ก็อาจเป็นไปเพื่อความบันเทิงหรือเพื่อตอบสนองต่ออารมณ์ของกวีโดยแท้  เหตุนี้  วรรณคดีบางเรื่องจึงมิได้มุ่งให้คำสอนหรือเพื่อให้เป็นแบบอย่างในทางจริยธรรมแต่อย่างใด การที่ครูจงใจยัดเยียดข้อคิดหรือคุณธรรมจริยธรรมบางอย่างด้วยการเชื่อมโยงเอง อาจทำให้สูญเสียอรรถรสในการเสพวรรณคดี  หรืออีกตัวอย่าง เช่น  การสอนเรื่องการผันเสียงวรรณยุกต์ของพยางค์ต่างๆ ครูภาษาไทยก็ไปจำกัดการผันไว้แต่เฉพาะพยางค์บางพยางค์ และสอนให้ผู้เรียนสังเกตหรือผันเสียงวรรณยุกต์ในพยางค์เท่านั้น  โดยมิได้คำนึงว่า การผันวรรณยุกต์นั้นสามารถนำไปใช้ในการทำสิ่งอื่นๆ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแต่งคำประพันธ์ประเภทกลอนสุภาพและโคลงสี่สุภาพ เป็นต้น  วิธีแห่งความเคยชินดังที่กล่าวมานี้  จึงเกิดจาการที่ครูผู้สอนมีมุมมองต่อสิ่งที่ตนเองสอนเพียงมิติเดียว ส่งผลให้ผู้เรียนไม่สามารถประยุกต์ความรู้ที่เรียนไปใช้แก้ปัญหาสิ่งใหม่ได้ จากตัวอย่างเรื่องการผันวรรณยุกต์ดังที่เสนอไว้ ผู้เรียนที่แม้จะเรียนเรื่องหลักการผันวรรณยุกต์ไปแล้ว  ก็อาจจะยังไม่สามารถแต่งคำประพันธ์ประเภทกลอนสุภาพโดยใช้เสียงวรรณยุกต์ที่เหมาะสมได้ เป็นต้น 

 

 

           ที่จริงแล้ว การสร้างข้อจำกัดต่างๆ ดังที่กล่าวมา เกิดขึ้นในแทบจะทุกกิจกรรมการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ การที่ครูภาษาไทยบอกกับผู้เรียนที่ท่องอาขยานไม่ได้ว่า  “ต้องตั้งใจหรือต้องพยายามมากกว่านี้” ถือว่าเป็นคำตอบ “สำเร็จรูป” ที่เกิดจากการสร้างข้อจำกัดในเชิงหน้าที่  ทั้งที่จริงแล้ว  ครูภาษาไทยควรจะศึกษาเพื่อค้นหาสาเหตุของการที่ผู้เรียนผู้นั้นท่องอาขยานไม่ได้ว่าเป็นเพราะเหตุใด เพราะปัญหาของผู้เรียนแต่ละคนย่อมมีรายละเอียดที่ต่างกัน  ครูไม่สามารถที่จะใช้คำตอบเดียวกัน หรือบอกวิธีการแก้ปัญหาแบบเดียวกันให้แก่ผู้เรียนทุกคนได้  เพราะใช่ว่าทุกคนจะนำไปใช้แล้วได้รับผลเช่นเดียวกัน  แต่ด้วยวิธีแห่งความเคยชินหรือความคุ้นเคยกับคำตอบที่ตนเองเคยมีประสบการณ์ ทำให้ครูใช้วิธีเดียวกันกับที่ตนเองเคยรับรู้มา ซึ่งก็แน่นอนว่า มิใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ตอนสนองต่อความต้องการของผู้เรียนเป็นรายบุคคลเป็นแน่ 

 

 

            การลดภาวะการสร้างข้อจำกัดต่อสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะในการสอนภาษาไทย ครูภาษาไทยจำเป็นจะต้องฝึกฝนให้ผู้เรียนเป็นผู้มีมุมมองที่หลากหลายและสร้างสรรค์ คือ รู้จักพิจารณาว่าสิ่งต่างๆ ย่อมที่หน้าที่หรือนำไปใช้ในสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย  ซึ่งนี่ก็เป็นหลักการสำคัญของการ “ประยุกต์” ความรู้นั่นเอง  ในการสอนคำเป็นคำตาย จึงไม่ควรสอนเฉพาะแต่ว่าพยางค์ใดเป็นคำเป็นหรือพยางค์ใดเป็นคำตาย แต่จะต้องพิจารณาด้วยการขยายขอบเขตต่อไปว่า คำเป็นคำตายนำไปสู่การผันวรรณยุกต์และ    การแต่งคำประพันธ์ได้อย่างไร  หรือในการสอนเขียน ก็ควรให้ผู้เรียนพิจารณาด้วยว่า กิจกรรมการเขียนมิใช่เน้นที่การใช้ถ้อยคำหรือสำนวนภาษาที่สละสลวยไพเราะแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการฝึกเรียบเรียงความคิดของผู้เรียนให้เป็นระบบและลับเหลี่ยมให้แหลมคมขึ้นอีกด้วย    

 

 

          วิถีแห่งความเคยชินหรือการไปจำกัดว่า ทุกสิ่งมีเพียงหน้าที่เดียว ทำให้เกิดโลกทัศน์ที่คับแคบ ที่จริงแล้ว ครูภาษาไทยอาจฝึกฝนที่จะเอาชนะอุปสรรคดังกล่าว ด้วยการเริ่มจากการคิดว่า ครูมิได้มีหน้าที่เพียงสอนหรือบอกแต่ความรู้ แต่ครูควรคำนึงถึงหน้าที่อื่น ๆ เช่น การเป็นผู้คอยดูแล กระตุ้น และสนับสนุนให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเองหรือสร้างความหมายจากประสบการณ์ที่ได้รับ  รวมทั้งคิดต่อไปด้วยว่า การสอนภาษาไทย มิใช่การสอนเพื่อสร้างความเข้าใจแต่เฉพาะภาษา แต่หน้าที่อื่นๆ ของการสอนภาษาไทย คือการพัฒนาทักษะการสื่อสารและทักษะทางปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ทักษะการคิดของผู้เรียน  ดังนี้  การส่งเสริมให้ผู้เรียนมองให้กว้างและสร้างความกระจ่างในวิธีการต่างๆ ที่หลากหลาย จะทำให้ผู้เรียนยุคใหม่ไม่ “จนมุม” และกลับมาเป็นผู้ที่ใช้ประโยชน์จากทางเลือกต่างๆ เหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ  

 

 

          เท่าที่ได้แสดงมานี้  บางทีก็อาจสรุปได้กระมังว่า  ข้อจำกัดอย่างเดียวของการเป็นครูก็คือ การจำกัดความคิดของตนให้คับแคบลงเรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัว

 

________________________________________

 

หมายเลขบันทึก: 488975เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2012 23:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 08:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การพัฒนา การเรียนการสอน เป็นเรื่องดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท