ชนิดของคำตามแนวคิดใหม่ (๓)


คำวิเศษณ์ คำบอกกำหนด คำเกี่ยวกับจำนวน

คำวิเศษณ์

คำวิเศษณ์คือ คำซึ่งทำหน้าที่เป็นหน่วยขยายกริยา และเป็นส่วนหลักของกริยาวลี คำวิเศษณ์ซึ่งเป็นส่วนประกอบของวิเศษณ์วลีมักปรากฏหลังหน่วยกริยา หากเป็นกริยาอกรรมหรือกริยาคุณศัพท์ คำวิเศษณ์มักปรากฏหลังคำกริยาโดยตรง เช่น

        นกเขาบินสูง

        ลมพัดแรง

แต่หากเป็นกริยาอกรรม คำวิเศษณ์มักปรากฏหลังคำนามที่ทำหน้าที่เป็นกรรมของคำกริยานั้น เช่น

        แม่ทำกับข้าวเก่ง

        ต้องตอกตะปูแรง ๆหน่วย

คำวิเศษณ์แบ่งย่อยออกเป็น 4 ชนิด ได้แก่ คำวิเศษณ์สามัญ คำวิเศษณ์ขยายเฉพาะ คำวิเศษณ์แสดงคำถามและคำวิเศษณ์บอกเวลา

๑.  คำวิเศษณ์สามัญ  หมายถึง คำวิเศษณ์ที่ขยายคำกริยาโดยทั่วไป เช่น

        วันนี้รถติดจัง                                            เขามาตรงเวลาทีเดียว

        น้องนอนแล้ว                                           แม่บ้านทำกับข้าวเอง

        เพื่อนมาก่อน                                            ขอน้ำหน่อย

        ข่าวแฉะอีก                                               น้องสูงกว่าพี่แน่ ๆ

        แกงนี่เผ็ดเหมือนกัน                               เขาขยันที่สุด

        เขาหลับกระมัง                                        ฝนตกเรื่อย

        เพื่อนดีใจจริง ๆ                                       เด็ก ๆกังวลเกินไป

        เขายอมรับโดยดี                                       เพื่อน ๆเดินอย่างเร็ว

        ตำรวจจับผู้ต้องหาได้โดยละม่อม         เธอขับรถอย่างระมัดระวัง

๒.  คำวิเศษณ์ขยายเฉพาะ  หมายถึงคำวิเศษณ์ที่ใช้ขยายกริยาคำใดคำหนึ่งโดยเฉพาะ คำวิเศษณ์ประเภทนี้จะแสดงลักษณะเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งของกริยาอาการ เช่น

        แดงแจ๋                                                       เปียกซ่ก

        ขาวจั๊วะ                                                      อ้วนตะลุกปุ๊ก

        ดำปี๊                                                            กลมดิ๊ก

        เหลืองอ๋อย                                                แบนแต๊ดแต๋

        ซึมกระทือ                                                 เคี้ยวกระดูกกร้วม ๆ

        แหลมเปี๊ยบ                                               กัดฟันกรอด ๆ

        สูงปรี๊ด                                                       ดื่มน้ำอัก ๆ

        ยาวเฟื้อย                                                    เคี้ยวข้าวตุ้ย ๆ

        สั้นจุ๊ดจู๋                                                      คลานกระดึ๊บ ๆ

        คมกริบ                                                      รีบเผ่นแน่บ

        แพงหูฉี่                                                     ผอมกระหร่องก่อง

สำนวนบางสำนวนทำหน้าที่เช่นเดียวกับคำวิเศษณ์ จัดเป็นคำวิเศษณ์ด้วยกัน เช่น

        พูดน้ำไหลไฟดับ

        ทำงานหามรุ่งหามค่ำ

        สั่นเป็นเจ้าเข้า

        โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ

        นอนกินบ้านกินเมือง

        ๓.  คำวิเศษณ์แสดงคำถาม  หมายถึง คำวิเศษณ์ที่ใช้แสดงคำถามเกี่ยวกับการกระทำ ว่ากระทำไปเพราะเหตุผลอะไรหรือเพื่อวัตถุประสงค์อะไร กระทำลงไปเวลาใด กระทำไปลักษณะใด

คำวิเศษณ์แสดงคำถามว่ากระทำไปเพราะเหตุผลอะไรหรือเพื่อวัตถุประสงค์อะไร เช่น ทำไม เหตุใด เพราะอะไร เพราะสาเหตุใด ไย เพราะเหตุไฉน ในตัวอย่างต่อไปนี้

        ทำไมสัตว์ป่าหลายชนิดจึงสูญพันธุ์

        เหตุใดจึงไม่แจ้งกำหนดการล่วงหน้า

        เพราะอะไรจึงไม่ยอมเปิดเผยความจริง

        เพราะเหตุใดประเทศไทยจึงขาดดุลการค้าปีละหลายหมื่นล้าน

        เพราะสาเหตุใดจึงเกิดน้ำท่วมทุกปี

        ไยมาเอาป่านนี้

        เหตุไฉนจึงเกิดความเสียหายร้ายแรงถึงเพียงนี้

        เพราะเหตุไฉนจึงไม่ปฏิบัติตามขั้นตอน

คำวิเศษณ์แสดงคำถามว่ากระทำลงไปเวลาใด เมื่อไร ในตัวอย่างต่อไปนี้

        เครื่องบินจะลงเมื่อไร

คำวิเศษณ์แสดงคำถามว่ากระทำไปลักษณะใด ได้แก่ อย่างไร ไฉน ในตัวอย่างต่อไปนี้

        อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้อย่างไร

        ทำไฉนถึงจะลืมเขาได้

คำวิเศษณ์แสดงคำถามอาจปรากฏต้นประโยคหรือท้ายประโยคก็ได้ ไม่ทำให้ความหมายโดยรวมของประโยคเปลี่ยนแปลงไป เช่น

        ทำไมเปิดวิทยุ                                           ปิดวิทยุทำไม

        เมื่อไรเขาจะมาที่นี่                                  เขาจะมาที่นี่เมื่อไร

อย่างไรก็ตามประโยคบางประโยค เมื่อย้ายตำแหน่งคำวิเศษณ์แสดงคำถามที่ปรากฏอยู่ต้นประโยคไปไว้ท้ายประโยคหรือเปลี่ยนคำวิเศษณ์แสดงคำถามท้ายประโยคไว้ต้นประโยค อาจต้องเปลี่ยนคำบางคำไป เพิ่มคำบางคำเข้ามาหรือตัดคำบางคำออกไป เช่น

        เขาทำอย่างไรจึงปีนขึ้นไปต้นไม้นั้นได้              เขาปีนขึ้นไปบนต้นไม้นั้นได้อย่างไร

        เพราะเหตุใดเขาจึงตัดสินใจปิดกิจการลง           เขาตัดสินใจปิดกิจการลงเพราะเหตุใด

ประโยคบางประโยค คำวิเศษณ์แสดงคำถามปรากฏอยู่ในตำแหน่งต้นหรือท้ายประโยคเท่านั้น ไม่สามารถเปลี่ยนตำแหน่งได้ เช่น

        ทำไมไม่พูดคุยกันให้รู้เรื่อง                   *ไม่พูดคุยกันให้รู้เรื่องทำไม

        เหตุใดจึงมาช้า                                         *มาช้าเหตุใด

        ไฉนทำเช่นนี้                                           *ทำเช่นนี้ไฉน

แต่โดยปรกติเมื่อใช้คำวิเศษณ์แสดงคำถามต้นประโยค แสดงว่าผู้พูดต้องการเน้นคำถาม และคาดหวังอย่างมากว่าผู้ถูกถามจะต้องคำถามนั้น หรือคาดคั้นให้ผู้ถูกถามต้องการคำตอบนั้น เช่น

        ทำไมไม่มาทำงาน

        เพราะอะไรถึงตัดสินใจลงไปแบบนั้น

เมื่อใช้คำวิเศษณ์แสดงคำถามต้นประโยค มักมีคำเชื่อมเสริม จึง ถึง ปรากฏหลังคำวิเศษณ์แสดงคำถามเช่น

        เหตุใดจึงลาออกจากที่ทำงานเก่า

        ทำไมถึงไม่จอดรถข้างหอประชุม

๔.  คำวิเศษณ์บอกเวลา หมายถึง คำวิเศษณ์ที่ใช้เพื่อบ่งบอกเวลาที่เกิดเหตุการณ์หรือการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น กลางคืน กลางวัน ค่ำ ๆ เช้า ๆ พรุ่งนี้ มะรืนนี้ ตะกี้ ฯลฯ

เช่นเดียวกับคำวิเศษณ์แสดงคำถาม คำวิเศษณ์บอกเวลาอาจปรากฏท้ายประโยคหรือต้นประโยคก็ได้ โดยไม่ทำให้ความหมายของประโยคโดยรวมเปลี่ยนไป เมื่อปรากฏต้นประโยค มักแสดงว่า ผู้พูดต้องการเน้นเวลาที่เกิดเหตุการณ์หรือการกระทำนั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อย้ายคำวิเศษณ์บอกเวลาจากต้นประโยคไปไว้ท้ายประโยค อาจต้องเปลี่ยนคำบางคำ ลดหรือเพิ่มคำบางคำในประโยค ดังตัวอย่างประโยคต่อไปนี้

        กลางคืนบริษัทต่าง ๆไม่เปิดหรอก      บริษัทต่าง ๆไม่เปิดกลางคืนหรอก

        กลางวันถนนสายนี้รถแน่นมาก           ถนนสายนี้รถแน่นมากตอนกลางวัน

        ค่ำ ๆเราก็ติดต่อเขาได้                             เราติดต่อเขาได้ค่ำ ๆ

        เช้า ๆนักกีฬาซ้อมวิ่งกัน                        นักกีฬาจะซ้อมวิ่งกันเช้า ๆ

        พรุ่งนี้เขาจะไปเชียงใหม่                       เขาจะไปเชียงใหม่พรุ่งนี้

        มะรืนนี้โรงเรียนจะเปิดเทอมแล้ว       โรงเรียนจะเปิดเทอมแล้วมะรืนนี้

        ตะกี้ใครโทรศัพท์มา                               ใครโทรศัพท์มาตะกี้

คำบอกกำหนด

คำบอกกำหนด คือ คำขยายนามที่อยู่ตำแหน่งท้ายสุดในนามวลี แบ่งย่อยได้เป็น  2  ชนิด คือ คำบอกกำหนดชี้เฉพาะและคำบอกกำหนดไม่ชี้เฉพาะ

๑.  คำบอกกำหนดชี้เฉพาะ คือคำขยายนามเพื่อกำหนดชี้เฉพาะว่า คำนามนั้นอยู่ใกล้หรือไกล คำบอกกำหนดจะใช้เป็นคำในตำแหน่งท้ายสุดของนามวลีเสมอ คำบอกกำหนดมีจำนวน  8  คำ ได้แก่ นี่ นั่น โน่น นู่น และ นี้ นั้น โน้น นู้น

คำบอกกำหนด นี่ นั่น โน่น นู่น ใช้ตามหลังคำนามและติดกับคำนาม เช่น

            นวนิยายนี่ใครเป็นคนแต่ง

            เสื้อนั่นยังไม่ได้ซัก

            ลากเก้าอี้โน่นมาให้หน่อย

            รถนู่นจอดไว้เฉย ๆมาหลายเดือนแล้ว

ส่วนคำบอกกำหนด นี้ นั้น โน้น นู้น อาจใช้ตามหลังคำนามและติดกับคำนามอย่างคำบอกกำหนด นี่ นั่น โน่น นู่น หรือปรากฏหลังคำนามโดยมีคำลักษณนามมาคั่นก็ได้ เช่น

            ผมไม่ชอบรสนี้ มันปร่า ๆชอบกล

            บ้านนั้นอยู่กันหลายคน

            เกาะนู้นอยู่ไกลออกไปมาก

            โรงเรียนโน้นมีนักเรียนเพียงไม่กี่คน

            รถคันนี้ใช้มาหลายปีแล้ว

            บ้านหลังนั้นไม่มีคนอยู่

            โต๊ะตัวโน้นราคาแพง

            ต้นไม้ต้นนู้นมีอีกาเกาะอยู่

๒.  คำบอกกำหนดไม่ชี้เฉพาะ  คือ คำขยายนามที่ไม่ระบุระยะใกล้ไกลอย่างคำบอกกำหนดชี้เฉพาะและไม่ระบุแน่ชัดหรือเจาะจงลงไปว่าเป็นผู้ใด   ชิ้นใด ตัวใด   เป็นต้น  เช่น อื่น ใด อื่น ๆ นานา ต่าง ๆ ต่าง ๆนานา ไหน

คำบอกกำหนดไม่ชี้เฉพาะมีตำแหน่งเหมือนคำบอกกำหนดชี้เฉพาะ คือ สามารถปรากฏหลังคำนามและติดกับคำนาม หรือปรากฏหลังคำนามโดยมีลักษณนามมาคั่น

            รถอื่นเข้าอู่หมด

            นิทานเรื่องใดให้คติสอนใจ

            ของอื่น ๆมีคนจองแล้วทั้งนั้น

            ธัญพืชต่าง ๆล้วนแต่มีประโยชน์

            บ้านไหนถูกโจรขึ้น

ตัวอย่างคำนามบอกกำหนดไม่ชี้เฉพาะที่ปรากฏหลังคำนามโดยมีคำลักษณนามมาคั่น เช่น

            รถคันอื่นเข้าอู่หมด

            นิทานเรื่องใดให้คติสอนใจ

            ของชิ้นอื่น ๆมีคนจองแล้วทั้งนั้น

            ธัญพืชชนิดต่าง ๆล้วนแต่มีประโยชน์

            นิทานเรื่องนั้นน่าอ่าน

คำที่เกี่ยวกับจำนวน

คำที่เกี่ยวกับจำนวนจำแนกเป็น  ๔  ชนิด ได้แก่ คำบอกจำนวน คำบอกลำดับ คำหน้าจำนวน และคำหลังจำนวน

๑.  คำบอกจำนวน  คือ คำที่มีความหมายถึงจำนวนเป็นตัวเลข เช่น หนึ่ง สอง สาม ฯลฯ และคำว่า ทุก หลาย กี่ บาง ครึ่ง คำบอกจำนวนมักปรากฏหน้าคำลักษณนามหรือปรากฏหลังคำกริยาต้องเติมเต็ม เป็น เช่น

            เราจะซื้อหนังสือ  ๒  เล่ม

            เขามีลูก  ๓  คน

            แม่ครัวทำกับข้าว  ๕  อย่าง

            คนสวนปลูกต้นไม้  ๑๐  ต้น

            เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจกระเป๋าเดินทางทุกใบ

            ไก่ย่างครึ่งตัวคงไม่พอ

            คนหลายคนไม่ชอบกินผัก

            บางสถาบันเปิดหลักสูตรนานาชาติ

คำบอกจำนวนที่ปรากฏหลังคำว่า เป็น

            มีคนมาประชุมเป็นร้อย

            สงครามโลกทำให้ประชากรโลกล้มตายกันเป็นล้าน

๒.  คำบอกลำดับ  คือคำที่แสดงลำดับที่  ได้แก่ คำบอกจำนวนประเภทตัวเลขที่ปรากฏกับคำว่า ที่ เช่น ที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ฯลฯ และคำว่า หนึ่ง[1]  เดียว แรก สุดท้าย หน้า หลัง กลาง ที่โหล่ บ๊วย รั้งท้าย

คำบอกลำดับที่ต้นต้นด้วยคำว่า ที่ มักปรากฏอยู่หลังคำนามหรือปรากฏหลังคำกริยาที่ละคำนาม ตำแหน่ง รางวัล อันดับ ฯลฯ เช่น

            สุขศรีได้รับรางวัลที่หนึ่งในการประกวดเรียงความ

            เขาสอบได้ที่โหล่เสมอ

            ได้ที่สามย่อมดีกว่าที่  ๔  แน่

แต่โดยทั่วไปคำบอกลำดับมักใช้ตามหลังคำลักษณนาม เช่น

            ผู้จัดการจะนั่งรถคันที่สอง

            รถไฟเที่ยวสุดท้ายกำลังจะออกจากสถานี

            เธอซื้อเสื้อมาตัวหนึ่ง

            เขามีลูกคนเดียว

            หลายคนตัดสินใจซื้อคอนโดเป็นบ้านหลังแรกในชีวิต

            รถไฟเที่ยวสุดท้ายจะออกจากสถานีตอน  ๔  ทุ่ม

            ผมจะไปนั่งคันหน้าเอง คุณไปนั่งคันกลางก็แล้วกัน

            ไดร์ผมที่ซื้อมาตัวหลังเครื่องเงียบและประหยัดไฟดี

๓.  คำหน้าจำนวน  คือคำที่ปรากฏอยู่หน้าคำบอกจำนวน และมักมีคำลักษณนามตาม คำหน้าจำนวนจะขยายความหมายของคำบอกจำนวนอีกทีหนึ่ง คำหน้าจำนวนที่พบบ่อย เช่น อีก สัก ทั้ง เพียง ประมาณ เกือบ ราว เกือบ ๆ ราว ๆ กว่า ฯลฯ ในตัวอย่างต่อไปนี้

            เราจะซื้อเสื้ออีก  ๒  ตัว

            สมฤทัยมีลูกตั้ง  ๔  คน

            บริษัทนี้มีคนงานราว ๆ๕๐๐ คน

กรณีที่เป็นจำนวนมาก ๆและแสดงการประมาณ อาจใช้คำหน้าจำนวนตามด้วยคำบอกจำนวนโดยไม่มีลักษณนามตาม เช่น

            เขามีเงินตั้งล้าน

            มีคนมาร่วมประชุมราว ๆ๒๐๐

๔.  คำหลังจำนวน คือคำที่ปรากฏหลังคำบอกจำนวน อาจปรากฏอยู่หน้าหรือหลังคำลักษณนามก็ได้

คำหลังจำนวนที่ปรากฏอยู่หลังคำลักษณนามได้แก่คำว่า กว่า เช่น

            มีคนมาชุมนุมพันกว่าคน

            เสื้อตัวนี้ราคา  ๕๐๐  กว่าบาท

คำหลังจำนวนที่อยู่หลังคำลักษณนาม ได้แก่ คำว่า เศษ เศษ ๆ กว่า ๆ เท่านั้น ครึ่ง พอดี ถ้วน ฯลฯ เช่น

            เขาต้องการซื้อผ้า  ๓  หลาเศษ

            ต้องเดินไปอีก  ๑๐  กิโลกว่า ๆจึงจะถึง

            ไก่ตัวนี้หนัก  ๒  กิโลพอดี

            เราต้องจ่ายค่าน้ำประปา  ๙๐๐  บาท พอดี

 



[1] ออกเสียงว่า /นึง/

หมายเลขบันทึก: 488669เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 13:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท