กระบวนการสร้างครูที่เพลินกับการพัฒนา (๘๐) : "ชื่นใจ...ได้เรียนรู้" (ภาคครูเพลิน) (๓)


 

หลังจากที่ได้ชมนิทรรศการที่สะท้อนให้เห็นชีวิตที่เรียนรู้ของครูและเด็กกันไปเต็มอิ่มแล้ว ทุกคนก็กลับมาเขียนข้อความลงในกระดาษรูปหัวใจ เพื่อสะท้อนว่า

 

จากที่ได้เรียนรู้จากเรียนรู้เรื่องราวของเพื่อนๆ ฉันได้รู้ว่า...

 

 

  • ในครั้งนี้ประทับใจมากค่ะ ยังอ่านของครูไม่ครบทุกคน เรื่องเล่าของเพื่อนครูทำให้เราได้เรียนรู้หลายอย่างมากเลยค่ะ ทั้งเรื่องของการสอน การจัดการเรียนรู้ในห้องเรียน การพัฒนาตนเอง(ของครู) เมื่ออ่านแล้วเราได้แรงบันดาลใจในการทำงานค่ะ ขอบคุณเพื่อนครูทุกคนเลยค่ะ

 

  • สะดุดใจกับประโยคที่ว่า “มั่นใจและศรัทธาในตัวเด็กจริงๆ ว่าเขาทำได้” เพิ่งมาทดลองงาน ได้รู้จักโรงเรียนมากขึ้น ศรัทธาในอุดมการณ์ของโรงเรียนและครูในโรงเรียน ชอบมากๆ อยากทำโรงเรียนแบบนี้มานานมากแล้ว ไม่เคยมีโอกาส แต่ก็ไม่เคยหยุดศรัทธากับสิ่งที่รักหมดหัวใจ

 

  • จากการเรียนรู้เรื่องราวของคนอื่นที่ทำงานแบบเรา ทำให้รู้ว่าเรามีหลายเรื่องหลายอย่างที่พัฒนาต่อไปได้อีกในทุกวัน ในการทำงานกับนักเรียนเพื่อนๆ สอนให้เรารู้จักความสม่ำเสมอ ชัดเจน เป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็กๆ เดินตาม รู้จักทำเรื่องที่เขาไม่ชอบให้สนุก และกอดเขาให้มากขึ้น

 

ขอบคุณวิชาอื่นๆ ที่สอนให้ฉันรู้ว่าครูที่ดีควร “ให้โอกาสและรอคอยพวกเขามากขึ้น”  “ครูต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้”  “อย่าเลยผ่านธรรมชาติของผู้เรียน” “ครูต้องพร้อมเปลี่ยน ไม่ใช่แค่คิด”

 

  • กระบวนการสำคัญกว่าเนื้อหา

 

  • สิ่งที่ได้เรียนรู้...

 

เปิดโลกกว้างทางการศึกษา จากที่เคยเห็นครูเป็นผู้สอนอย่างเดียว กลับกลายเป็นครูได้เรียนรู้พร้อมไปกับเด็กที่ตนเองสอน

 

เปิดโลกกว้างทางความคิด การได้ฟัง ได้มีโอกาสอ่านเรื่องเล่าของครูแต่ละท่านทำให้รู้สึกได้ว่า สิ่งที่ครูทุ่มเทให้เด็กๆ กับแผนการสอนแต่ละครั้งมากกว่าคำว่า “คุ้มค่า”

 

 

“สอนน้อย  เรียนมาก”

 

จากนั้นก็มาถึงการล้อมวงพูดคุยกันว่า เราชื่นชมเพื่อนๆ ในหน่วยวิชาเดียวกันกับเราว่าเขาสอนน้อยแต่ทำให้เด็กได้เรียนมากอย่างไร และประทับใจข้อคิดดีๆ อะไรจากครูต่างหน่วยวิชาบ้าง

 

ดิฉันอยู่กลุ่มครูภูมิปัญญาภาษาไทย ครูอ้อ – วนิดา เริ่มจากการให้สมาชิกเล่าความประทับใจจากเรื่องเล่าของเพื่อนในประเด็นสอนน้อย เรียนมาก แล้วใครที่อยากขยายความก็จะเล่าต่อๆ กันไป โดยมี ครูแอน- สุธนา และดิฉัน  ทำหน้าที่สกัดความรู้แล้วบันทึกเป็นผังมโนทัศน์

 

 

ธรรมชาติของการเรียนรู้แบบ “สอนน้อย  เรียนมาก” ที่ค้นพบร่วมกัน

 

เป็นการเรียนรู้ที่สะท้อนคุณค่าของตัวเองและเกิดความภูมิใจ ซึ่งตั้งอยู่บนความดี ความจริง และการหยั่งลงไปถึงจิตใจ สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนอยากเรียนรู้ั เป็นเจ้าของการเรียนรู้ และเป็นผู้ขับเคลื่อนการเรียนรู้ด้วยตนเอง

 

 

กระบวนการเรียนรู้ที่ประสบความสำเร็จ

 

  • เริ่มต้นที่การสร้างความรู้ ความคิดจากตัวผู้เรียนโดยเชื่อมโยงจากประสบการณ์เดิม
  • นำ Met Before ของผู้เรียนมาร่วมออกแบบกระบวนการเรียนรู้
  • ตีความของความรู้ให้เข้าถึงคุณค่าของสิ่งที่เรียน 
  • สร้างบันไดการเีรียนรู้ให้เหมาะสม
  • สร้างเส้นทางการเรียนรู้ให้กับนักเรียนอย่างเป็นลำดับขั้น
  • การออกแบบการเรียนรู้ที่มีความหมาย มีความสุข และมีความมัน
  • พิถีพิถันในการ Input
  • ผู้เรียนได้ซึมซับแม่ทางทางภาษาที่ดีงาม (บทครู)
  • สร้างการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้ลองผิดลองถูกด้วยตนเอง
  • สร้างความรู้จากการเปรียบเทียบเชื่อมโยงจากรูปธรรมสู่นามธรรม
  • เน้นกระบวนการคิด
  • เปิดโอกาสให้ผู้เรียนสร้างความรู้เอง  ด้วยการใช้คำถามที่กระตุ้นความคิดเและก่อให้เกิดการเรียนรู้
  • มีสื่อที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้
  • สร้างเงื่อนไขให้ทุกคนได้เรียนรู้ร่วมกัน
  • มีวิธีที่จะพาให้นักเรียนรุ้จักตัวตนของตนเอง จนกระทั่งนำไปสู่การเห็นคุณค่าของผู้อื่น

 

 เคล็ดลับความสำเร็จ

 

  • หาวิธีที่ดีกว่าอยู่เสมอ
  • กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง
  • การสร้างบรรยากาศที่โอบอุ้มการเรียนรู้
  • อารมณ์ขันในการเรียนรู้ช่วยสร้างภาวะตื่นตัวได้ดี
  • เป็นผู้ฟังที่ดี
  • นำบุคลิกภาพและตัวตนของครูเข้ามาร่วมสร้างกระบวนการเรียนรู้ด้วย
  • ทำให้ความงาม การเรียนรู้ การใช้ชีวิต และการได้รู้จักตัวเองเป็นเรื่องเดียวกัน

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 488418เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 18:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 ตุลาคม 2012 16:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

 

 "ชื่นใจ...ได้เรียนรู้" .....  ขอบคุณมากคะ.....ดีใจมากที่ได้อ่านประโยคนี้คะ

- ขอบคุณมาก... ที่นำความสุขมาให้ นะคะ

 

ขอบคุณคุณสมศรีด้วยค่ะ ที่ส่งความสุขกลับมาให้คนเขียนบันทึกด้วย :)

อ่าน "ชื่นใจฯ" ภาคครูเพลิน จบ ทำให้นึกถึงบทความที่เคยอ่าน ... จาก "คู่มือพ่อแม่ 2"

"...มีพ่อแม่บางคน เปิดสมุดพกดูผลการเรียนลูกทีไรอ่อนใจทุกที จนในที่สุดทำใจยอมรับว่าลูกเราเป็นเด็กหัวขี้เลื่อย...

หารู้ไม่ว่า เด็กปกติทุกคนมีความฉลาดไม่มากน้อยไปกว่ากันเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับพ่อแม่ ครูอาจารย์จะค้นพบศักยภาพที่อยู่ในตัวลูกหรือไม่ แล้วก็เป็นที่น่าเสียดายว่าในห้องเรียนของโรงเรียนต่าง ๆ เราจะค้นพบเด็กเก่งหรือเด็กหัวดีอยู่เพียงน้อยนิด ไม่เกิน 10 % นอกนั้นเป็นเด็กที่เราเรียกว่าหัวปานกลาง จนถึงอ่อนด้อย ...

... เด็กทุกคนมีศักยภาพในการเรียนรู้ เพียงแต่ว่าแต่ละคนมีสไตล์การเรียนรู้ที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับว่าคนคนนั้นถนัดใช้สมอง ซีกไหนมากกว่ากัน ... "

- ก็ให้เกิดความรู้สึกว่าเด็กๆ โชคดีที่มีครูแบบเพลินฯ -

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท