โรงเรียนนอกกะลา : โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา


สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ Society and Health lnstitute

      ทุ่งนาเขียวขจียามเช้าแลดูชุ่มฉ่ำสดชื่นหลังจากได้ชโลมอาบน้ำฝนที่เทลงมาอย่างหนักเมื่อคืนที่ผ่านมา วันนี้พวกเราพร้อมใจกันออกเดินทางจากที่พักตั้งแต่เช้ามืด เพื่อจะไปให้ถึงโรงเรียนนอกกะลาก่อนเด็กๆจะเข้าแถวเคารพธงชาติตามคำแนะนำของครูวิเชียร ไชยบัง      ครูใหญ่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาที่ฝ่าสายฝนมาพบปะพูดคุยอย่างเป็นกันเอง เมื่อคืนที่ผ่านมาพร้อมกับครูต๋อย ครูรุ่นบุกเบิกของโรงเรียนที่ยอมสละสิทธิการเข้ารับบรรจุเป็นข้าราชการครู ตามความต้องการของครอบครัวถึง 2 ครั้ง ด้วยเหตุผลสั้นๆเพียงว่า “อยู่ที่ไหนก็เป็นครูได้”  และ ครูชาญ ที่เรียนจบวิทยาศาสตร์บัณฑิต มีความใฝ่ฝันอยากเป็นครูเช่นกัน แต่สอนหนังสือไม่เป็น พูดไม่รู้เรื่อง เด็กๆ ไม่อยากฟัง แต่ในวันนี้ครูชาญจะเป็นคนพาพวกเราเดินชมโรงเรียน 

 
   เราไปถึงโรงเรียนก่อนเวลาเคารพธงชาติ ทำให้เราสามารถชื่นชมทัศนียภาพรอบๆ โรงเรียนได้โดยไม่ต้องรีบเร่ง สิ่งที่เห็นจากหน้าโรงเรียนเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่น้อยหลากหลายชนิด ยืนตระหง่านรับละอองฝนที่ยังหลงเหลือจากยามค่ำคืนพอประปราย มองไม่เห็นอาคารเรียนหรือแม้กระทั่งเสาธง ชวนให้ค้นหายิ่งนักว่าซุกซ่อนอยู่อยู่แห่งหนใดกันหนอ... เมื่อเดินเข้าไปใกล้อีกนิดก็ได้เห็นภาพวิถีชีวิตของเด็กนักเรียนที่นี่ เป็นภาพพ่อ แม่ ผู้ปกครองทั้งอ่อนวัยและสูงวัยเดินจูงมือเด็กๆในชุดนักเรียนที่ไม่คุ้นตา..... พวกเราเร่งฝีเท้าเพื่อให้ทันหญิงชราผมสีดอกเลาและเด็กชายร่างเล็กที่กึ่ง เดินกึ่งกระโดดส่งเสียงเรียก “ พี่ต้นไม้...  พี่ดอกไม้... พี่ไส้เดือน... พี่ผีเสื้อ...” ตามรอยเท้าที่เรียงรายบนทางเดินอย่างสนุกสนานราวกับเจ้ากบซุกซนกระโดดเล่น อยู่บนคันนาตลอดเส้นทางที่รถของเราแล่นผ่านมา               
                   
   “ สวัสดีค่ะคุณยาย มาส่งหลานหรือค่ะ ”
   “ จ้า...วันนี้ตาเจ้าจ้อยไม่อยู่ ยายก็เลยมาส่งเอง ”
   “บ้านยายอยู่ไกลมั้ยค่ะ”
   “ ไม่ไกลหรอก อยู่เลยโรงเรียนไปหน่อยเดียวเอง ยายยังขี่จักรยานพาเจ้าจ้อยมาโรงเรียนได้เลย ”
   ระยะทางสั้น ๆ จากหน้าโรงเรียนจนถึงบริเวณจุดเซ็นชื่อ บรรยากาศค่อนข้างเงียบสงบร่มรื่นด้วยต้นไม้ตลอดเส้นทาง แต่พอเข้าใกล้อาคารเรียน เสียงเพลงคลื่นสมองต่ำเบา ๆ สบาย ๆ ก็เริ่มร่องรอยเข้ามากระทบโสตประสาทชัดขึ้น....ชัดขึ้น...แล้วเราก็ได้เห็น ต้นตอของเสียงซึ่งมาจากเครื่องเล่นวิทยุเครื่่องเล็ก ๆ ตั้งอยู่บริเวณโต๊ะเซ็นชื่อสำหรับผู้ปกครองและนักเรียนที่ต้องมาเซ็นต์ชื่อ ร่วมกัน  

    “ยายไปละนะ ต้องรีบเอาผ้าไปส่งที่ตลาด ”  ฉันยกมือไหว้ลาคุณยาย แล้วก็นึกถึงสิ่งที่คุณยายและจ้อยบอกกล่าวเรื่องราวของชุดนักเรียนที่จ้อย ใส่มาในวันนี้ กางเกงนักเรียนของจ้อยหน้าตาเหมือนของเด็กนักเรียนทั่ว ๆ ไป  แต่เสื้อนักเรียนของจ้อยทำจากผ้าทอหลากสีลายคล้ายผ้าขาวม้าตาเล็ก ๆ  เป็นผ้าทอพื้นเมืองของชาวอีสาน ที่ยายของจ้อยสืบสานภูมิปัญญานี้มาหลายชั่วอายุคน

     “เสื้อนักเรียนของจ้อยตัวนี้ยายทอเองกับมือเลยนะ   คนเดี๋ยวนี้เขาไม่ค่อยทอมือกันแล้ว เขานิยมซื้อสำเร็จรูปมันง่ายดี” ยายของจ้อยบอกฉันด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม สายตาส่องประกายอ่อนโยน เต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก ความห่วงใย ขณะมองไปยังจ้อยที่กำลังพูดจ๋อย ๆ
     “ผมเคยพาคุณครูกับเพื่อน ๆ ไปเที่ยวบ้าน ไปดูยายทอผ้าด้วยครับ แต่เดี๋ยวอาทิตย์หน้ายายต้องมาเรียนทำนากับผมด้วยล่ะ”  
     การเรียนรู้ของโรงเรียนนอกกะลาช่างน่าสนใจยิ่งนัก  ผู้ปกครองเรียนรู้ร่วมกับนักเรียน เลือกสิ่งที่ตัวเองถนัดมาสอนเด็ก ๆ  สอนลูก  สอนเพื่อนของลูก  เชื่อมโยงวิถีชีวิต และ ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการเรียนรู้  ดอกผลที่ได้มากกว่าชิ้นงานธรรมดา แต่เป็นมิติความสัมพันธ์  เชื่อมโยงหากันและกันอย่างเหนียวแน่น........
 
สิ่งที่ได้จากการหงายกะลา.....คุณครูใจดี เด็กมีความสุข
      พอใกล้ถึงเวลาเคารพธงชาติ  ปรากฏการณ์ประหลาดที่เกิดขึ้นเงียบ ๆ คือ เด็ก ๆ ทยอยกันเดินจากส่วนต่างของโรงเรียนมุ่งหน้าไปที่เสาธงคล้ายดั่งมีแม่เหล็ก ดูดเด็กซุกซ่อนอยู่ในนั้น  ไร้เสียงออด หรือเสียงระฆังกังวาน ไม่มีการใช้เครื่องขยายเสียง   คุณครูและเด็ก ๆใช้เวลาร้องเพลงชาติ สวดมนต์อย่างสั้น ๆ  ไม่มีการแจ้งข่าวหรือการอบรมบ่มนิสัยที่เราเคยได้ยินสม่ำเสมอหน้า เสาธง......ครูชาญพาพวกเราเดินชมการจัดการเรียนการสอนด้วยท่าทาง และน้ำเสียงที่น่าฟังราวกับวิทยากรมืออาชีพ ไร้ร่องรอยจากคำปรามาสของเด็ก ๆ โดยสิ้นเชิง .... สิ่งที่พูดคือสิ่งที่ทำ  สิ่งที่ทำคือคือสิ่งที่รักและภาคภูมิใจ มันเปรียบเสมือนคลื่นที่พวกเรารู้สึกและสัมผัสได้  สมดังที่ครูวิเชียรบอกพวกเราเมื่อคืนฝนตกว่า
     “ถ้าเราสามารถปลดปล่อยศักยภาพของครูได้ ครูทั่วประเทศก็สามารถทำได้เช่นกัน”
     “ การคัดเลือกครูของเราใช้เกณฑ์ข้อเดียวคือเลือกคนที่มีใจอยากเป็นครู  กระบวนการคัดเลือกไม่ใช่เรื่องสำคัญ สิ่งที่สำคัญคือกระบวนการพัฒนาให้เป็นครูคุณภาพ  ”
     ความหมายของครูคุณภาพของโรงเรียนนอกกะลาแตกต่างจากครูคุณภาพของสมศ. ที่นี่ครูคุณภาพมองอยู่   2 ประเด็นคือ การเป็นครูที่ดี  หมายถึงครูที่ไม่ปล่อยให้เด็กล้มเหลว  และครูที่เก่งหมายถึงครูที่ถามเด็กเก่ง ทำให้เด็กคิดและหาคำตอบได้  เรื่องเดียวกันแต่สามารถสอนได้หลายวิธี  โดยอาศัยเครื่องมือ 3 ชิ้นคือ คำถาม  mind mapping  และ  blackboard sharing  
     พวกเราเดินตามครูชาญเพื่อแอบดูเด็กๆ   และ ชมห้องเรียนของเด็กประถมศึกษาที่อยู่รวมกันในอาคารหน้าเสาธง     ห้องเรียนเป็นรูป 6 เหลี่ยม ถูกออกแบบอย่างตั้งใจเพื่อป้องกันปัญหาเด็กหลังห้อง     ภายในห้องเรียนเต็มไปด้วยผลงานของเด็กๆทั้งแปะ  ทั้งห้อย  ทั้งร้อย  ทั้งวางอยู่ตามมุมต่างๆในห้องเรียน
     “ เป้าหมายของการศึกษาไม่ใช่แค่วิชาการอย่างเดียว  แต่รวมไปถึงร่างกาย อารมณ์ และจิตวิญญาณ  สู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ ”  
     ความจริงเป้าหมายการศึกษาของโรงเรียนนี้ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่  แต่สิ่งที่ต่างคือ ที่นี่มีกิจกรรมที่ทำให้เห็นและจับต้องได้ว่าเข้าไปแตะถึงการพัฒนาจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งและเข้าใจยาก.... การออกแบบการเรียนรู้อิงตามหลักสูตรแกนกลางของกระทรวงศึกษาธิการ   ครอบคลุมทั้ง 8 สาระการเรียนรู้แต่หลอมรวมเหลือเพียง 4 วิชา ได้แก่ อังกฤษ ไทย คณิตศาสตร์  และวิชาบูรณาการ   โดยในแต่ละวันจะแบ่งกิจกรรมของนักเรียนเป็น  4 ช่วง คือ ช่วงแรกกิจกรรมปฏิสัมพันธ์ระหว่างครู ผู้ปกครองและเด็กก่อนเคารพธงชาติ  ช่วงที่สองกิจกรรมจิตศึกษา เตรียมความพร้อมของสมองก่อนเรียน พัฒนา  SQ  โดยครูจะใช้เสียงเบาๆ  เปิดเพลงคลื่นสมองต่ำ เบาๆ สบายๆ ทำกิจกรรมกำกับสติให้อยู่กับตัวเองเช่น น้องอนุบาลส่งพี่แก้วน้ำที่ใส่น้ำเต็มแก้วให้เพื่อนแล้วไหว้และกล่าวขอบคุณ  ช่วงที่สามกิจกรรมพัฒนาด้านสติปัญญา ไม่มีหนังสือ ไม่มีแบบเรียน   วิชาภาษาไทยเรียนรู้ผ่านวรรณกรรมที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละช่วงวัย  ภาษาอังกฤษเน้นการเรียนรู้เพื่อสื่อสารกับชาวต่างชาติได้    คณิตศาสตร์เรียนรู้เพื่อความเข้าใจไม่รีบไปที่ตัวเลขหรือคำตอบแต่เน้นการ เขียนแผนภาพ วางแผนแก้ปัญหา    ช่วงที่สี่เป็นกิจกรรมบูรณาการโดยโครงงาน เรียนรู้ผ่านการทำจริง  ครูจะเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ กระตุ้นด้วยคำถามหาสิ่งที่เด็กๆอยากเรียนรู้ แล้วจึงให้เด็กวางแผน  ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ  มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลงานของแต่ละคน  และมีการประเมินนักเรียนตามสภาพจริงจากภาระงาน ชิ้นงาน พฤติกรรม  ให้นักเรียนเขียน mind mapping  เพื่อความเข้าใจ  ไม่มีการสอบ  ครูชาญย้ำว่าสิ่งสำคัญในการพัฒนาผู้เรียนไม่เน้นความรู้ แต่เน้นการคิดและกระบวนการแสวงหาความรู้
      ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของการเรียนแต่ละควอเตอร์เป็นช่วงเวลาที่เด็ก ๆ ทุกคนรอคอย พวกเขาจะได้สร้างสรรค์สิ่งที่ได้เรียนรู้เป็นละคร  อำนวยการผลิตเองหมด ตั้งแต่เขียนบท เลือกนักแสดง และจัดแสดงให้เพื่อน ๆ ได้ชมกันอย่างสนุกสนาน
ฉันอยากกอดทุกคนในโลก
      หลังเสร็จการเยี่ยมชมกิจกรรมของพี่ประถมเราลงไปทางด้านหลังของอาคารเพื่อไป เรียนรู้กิจกรรมของน้องอนุบาล  ครูชาญพาเราเดินไปตามเส้นทางที่ระเกะระกะไปด้วยขอนไม้ใหญ่น้อย บางช่วงมีก้อนหิน บางช่วงเป็นแอ่งน้ำที่มีสะพานไม้กระดานแผ่นเดียวให้ข้ามผ่าน
      “ ทุกสิ่งที่นี่ถูกออกแบบมาไว้เพื่อการเรียนรู้ ทางเดินที่พวกเราเดินนี้ตั้งใจทำให้ไม่เรียบเพื่อฝึกสติในขณะก้าวเดิน ”    สิ้นเสียงครูชาญทำให้พวกเราต้องเดินกันอย่างระมัดระวังราวเข็มสั้นบน หน้าปัดนาฬิกา  แต่ก็อดถามครูชาญไม่ได้ว่า
     “ เคยมีอุบัติเหตุหกล้มกันบ้างมั้ยค่ะ ”
     “ เด็ก ๆ ไม่เคยมี  มีแต่ผู้ใหญ่ที่มาเที่ยวชมโรงเรียนสะดุดล้มบ้าง ”  ตรงนี้ยืนยันได้จากเด็กที่ใช้เส้นทางเดินนี้หลังจากที่พวกเราผ่านไปแล้ว พวกเขาวิ่งเป็นเข็มวินาทีเลยทีเดียว
     อาคารของน้องอนุบาลมีลานโล่งอยู่ด้านหน้า เด็ก ๆ จะนั่งเข้าแถวทำกิจกรรมก่อนเข้าห้องเรียน คือการเข้าไปกราบคุณครูใจดีที่นั่งอยู่กับพื้นทีละคนแล้วคุณครูก็โอบกอด นักเรียนทุกคนเช่นกัน  เอ..แล้วน้องอนุบาลอยากกอดคนอื่นบ้างไหมหนอ??? .....บริเวณห้องโถงและห้องเรียนของน้องอนุบาลจะคล้ายของพี่ประถมคือมีผลงาน ของน้อง ๆ ติดอยู่มากมาย มีบางภาพที่ความสามารถพื้น ๆอย่างพวกเราพอจะมองออกว่าน้องต้องการสื่ออะไร แต่ก็มีหลายภาพที่อาจจะเป็นภาพ abstract ที่เราไม่สามารถเข้าถึงจินตนาการของพวกเขาได้  สิ่งที่เราพบเห็นเหมือนกันทุกภาพคือเครื่องหมายถูกของคุณครูและลายมือครู ที่เขียนว่า “ดี” “ ดีมาก” “เก่งมากค่ะ”
 
   
     บรรยากาศห้องเรียนของน้องอนุบาลเงียบสงบ  น้องๆ นั่งล้อมวงทำกิจกรรมฝึกสติ ไม่มีเสียงพูดคุยดังๆ ได้ยินแต่เสียงครูใจดีพูดกับนักเรียนแบบเบาๆ พวกเราได้มีโอกาสแอบดูและทำตาม กิจกรรมที่ดูเหมือนง่ายสำหรับเด็กแต่ยากมากสำหรับพวกเรา โดยการใช้นิ้วมือทั้งสองข้างทำสัญลักษณ์เป็นรูปต่างๆ สลับซ้ายขวา หลังทำกิจกรรมนี้เสร็จตามด้วยกิจกรรมกอดที่เราตั้งชื่อกันเองเพราะไม่มี โอกาสได้พูดคุยกับคุณครูเนื่องจากโรงเรียนอนุญาตให้เราดูกิจกรรมได้ห่าง ๆ...กิจกรรมง่าย ๆ แต่ความหมายลึกซึ้งเริ่มด้วยการให้เด็กเลือกเพื่อนที่จะกอด เข้าไปสวัสดี  กอดเพื่อน แล้วเดินจูงมือไปสวัสดีและกอดคุณครู ทำอย่างนี้สลับกันไปจนครบ  ทำทุกวันสม่ำเสมอ  ค่อย ๆ ซึมซับ ความอ่อนโยน  ความรัก  ความผูกพัน   บ่มเพาะความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ให้งอกงามในจิตใจดวงน้อยๆของเด็กนักเรียน ที่โรงเรียนนอกกะลาแห่งนี้ตลอดไป.........
 
ทพญ.สุขจิตตรา วนาภิรักษ์
 
 
 
 
อ่านเพิ่มเติม : http://www.shi.or.th/content/10077/1/
 
 
 
 
หมายเลขบันทึก: 487869เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2012 21:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 18:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
 
ภาพนี้น่ารักมากครับ ;)...

พัฒนา SQ โดยครูจะใช้เสียงเบาๆ เปิดเพลงคลื่นสมองต่ำ เบาๆ สบายๆ ทำกิจกรรมกำกับสติให้อยู่กับตัวเองเช่น น้องอนุบาลส่งพี่แก้วน้ำที่ใส่น้ำเต็มแก้วให้เพื่อนแล้วไหว้และกล่าวขอบคุณ
... กิจกรรมน่าสนใจมากค่ะ ต้องประคองน้ำที่เต็มแก้ว เมื่อมอบให้แล้วยังไหว้ขอบคุณ ตรงนี้มีนัยยะอย่างไรค่ะ

"กิจกรรมง่าย ๆ แต่ความหมายลึกซึ้ง"

  • ลึกซึ้งจริง ๆ ค่ะ 

กิจกรรมจิตศึกษา..

- เพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ส่งเสริมการพัฒนาความฉลาดในด้านจิตวิญญาณ ความฉลาดด้านอารมณ์ ให้เห็นคุณค่าของสรรพสิ่ง การน้อมนำสิ่งที่ดีงามเข้าไปสู่จิตใต้สำนึก 
- การเตรียมความพร้อมของนักเรียน ให้อยู่ในภาวะคลื่นสมองต่ำ และมีความพร้อมในการเรียน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท