ลมหายใจกับ “สมาธิ...”


 

ให้ทุกท่านทุกคนนั่งให้สบาย จะนั่งพับเพียงก็ได้ ขัดสมาธิก็ได้ นั่งอยู่บนเก้าอี้ก็ได้ หายใจเข้าขอให้สบาย หายใจออกขอให้สบาย รู้ลมเข้าให้สบาย รู้ลมออกให้สบาย ให้ใจของเรามันเกิดความสุขความสงบ เกิดปิติอยู่กับลมเข้าลมออกให้สบาย

 


การทำใจสบายนี้ก็เป็นงานอย่างหนึ่ง คืองานรู้ลมหายใจ


การรู้ลมหายใจ ลมหายใจเข้าก็ให้เรารู้ ลมหายใจออกก็ให้เรารู้ ให้มีความสุขกับลมหายใจ อย่าให้ใจของเราอึดอัด เราทำอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้เดี๋ยวมันสงบเอง อย่าอยากให้มันสงบ เดี๋ยวมันสงบไปเอง ถ้าเราอยากให้มันสงบแล้วมันจะไม่สงบ เพราะสมาธิได้แก่ความเป็นหนึ่ง ไม่มีอะไรที่จะมาแทรกแซง ถ้าเรายังมีความโลภ ความต้องการอยู่ ใจของเราก็เป็นหนึ่งไม่ได้


เรามีหน้าที่หายใจเข้าหายใจออกอย่างเดียว รู้ลมเข้าออกอย่างเดียว เหมือนเขากำลังเลื่อยไม้ ชักใบเลื่อยไปชักใบเลื่อยมา


คนที่ทำสมาธิไม่ได้ไม่เป็น คือคนอยากให้มันสงบ เหมือนกับคนทำงาน ไม่ได้ทำงานเพื่อเสียสละ เพื่อละความเห็นแก่ตัว ใจมันอยู่กับเงินเดือน ใจมันไม่มีความสุขกับการทำงาน คนเราต้องการผลตอบแทนนะไม่ว่าทำอะไร เราจะมีความสุขได้ จะมีความดับทุกข์ได้ต้องเป็นคนที่เสียสละ เป็นคนที่ละความเห็นแก่ตัว


พระพุทธเจ้าท่านสอนเราให้เป็นผู้ทำสิ่งใด ๆ ทำไปเพื่อเสียสละ เป็นการสร้างความดี สร้างบารมี อย่าไปหวังผลตอบแทน เราไม่หวังผลตอบแทนเราก็ได้อยู่แล้ว ได้ทั้งการทั้งงาน ได้ทั้งคุณธรรม ฉันใดก็ฉันนั้น ผู้ที่ทำสมาธิ อย่าไปมุ่งหวังความสงบ เราทำไปปฏิบัติไปเดี๋ยวมันสงบเอง


บางคนชอบถามในใจ ถ้าไม่มุ่งหมายความสงบแล้วจะทำไปทำไม...?


ให้คำตอบว่า ทำไปเพื่อเสียสละ ละการเห็นแก่ตัว เพื่อละตัวละตน


คนเราเกิดมาเพราะมันโลภ มันโกรธ มันหลง มันต้องการ มันถึงต้องเกิดมา
เรามาทำสมาธิเพื่อเสียสละ เพื่อปล่อย เพื่อวาง เราทำอย่างนี้ จิตใจของเราถึงจะก้าวหน้า ถึงจะสงบได้ทุกครั้ง เพราะเราทำงานเพื่องาน ทำงานเพื่อเสียสละ มีความสุขกับการทำงาน

 

 


การทำงานกับสิ่งภายนอก การทำสมาธิก็จัดเป็นงานอย่างหนึ่ง การทำสมาธิก็มีหลายระดับ ระดับที่เราใช้ในชีวิตประจำวันของเรา ยืน เดิน นั่ง นอน อิริยาบถทั้ง ๔ เขาเรียกว่าสมาธิระดับหนึ่ง ที่เราจะได้แยกแยะว่าอันไหนดี อันไหนชั่ว อันไหนผิด อันไหนถูก มันเป็นสมาธิระดับหนึ่ง


สมาธิระดับกลาง เราเอาไปใช้กับการทำงาน มีความสุขกับการทำงาน เสียสละกับการทำงาน ให้ใจเราอยู่กับการทำงาน ทำงานเพื่อการทำงาน ทำงานเพื่อเสียสละ ไม่มุ่งหวังเงินเดือน ไม่มุ่งหวังสิ่งตอบแทน ไม่มุ่งหวังคำว่าขอบคุณ เดี๋ยวทุกอย่างก็จะดีมีประโยชน์ ได้ทั้งการทั้งงาน ได้ทั้งเงิน ได้ทั้งสตางค์ ได้ทั้งคุณธรรม มันดีกว่าเราปล่อยจิตใจของเราให้มันโลภ มันโกรธ มันหลง เผาตัวเองให้มันทุกข์เปล่า ๆ


สมาธิชั้นสูง หมายถึง เราตั้งใจทำสมาธิเพื่อเสียสละ เพื่อปล่อย เพื่อวาง เป็นสมาธิที่ละเอียด ปล่อยวางทุกอย่าง ปราศจากความโลภ ความโกรธ ความหลง ทั้งหลายทั้งปวง จิตใจเกิดปีติ เกิดสุข เกิดเอกัคตา จิตใจเป็นหนึ่ง จิตใจเข้าฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ได้ตามระดับ เป็นสมาธิขั้นละเอียด


เรามีของดีอยู่กับเรา ถ้าเราไม่เอามาใช้ประพฤติปฏิบัติ เอามาฝึกจนมันเก่ง จนมันชำนาญ เพื่อจะใช้การใช้งานให้ได้ดี ๆ เพื่อจะได้ช่วยเหลือตัวเอง ช่วยเหลือผู้อื่น


“คนเรานะ มีความอยากนะ” อยากเป็นคนดี เป็นคนเก่ง อยากมีคุณธรรม แต่ขาดการประพฤติปฏิบัติ ที่ถูกต้อง ความรู้ ความเห็น ความเข้าใจมันเป็นขั้นตอนหนึ่ง อย่างที่เราเข้าใจอะไรดี ๆ มันเป็นขั้นตอนหนึ่ง ขั้นตอนต่อไปเราต้องนำไปประพฤตินำไปปฏิบัติ มันถึงจะช่วยเหลือตัวเองได้ ช่วยเหลือผู้อื่นได้


ถ้าเรารู้มาก ถ้าเราไม่ปฏิบัติ มันก็เป็นเหมือนพระอาจารย์องค์หนึ่งชื่อว่า “พระโพธิละ” ในครั้งที่พระพุทธเจ้าท่านยังมีพระชนม์อยู่ พระอาจารย์องค์นี้ท่านเก่งมาก เป็นคนฉลาดมาก เทศน์ธรรมะ สอนธรรมะให้ลูกศิษย์ลูกหาได้บรรลุธรรมตั้งหลายร้อยองค์ แต่ตัวเองไม่ได้บรรลุอะไร เป็นบุคคลธรรมดา เพราะว่ารู้เฉย ๆ เข้าใจเฉย ๆ ไม่ได้นำมาประพฤติปฏิบัติ


พระพุทธเจ้าท่านเล็งเห็น มองเห็น ไม่ได้ละเจ้านี้ เป็นคนเปรียบเสมือนคนเลี้ยงโคนม เลี้ยงแล้วก็ไม่ได้ดื่มนมโค มีแต่บอกให้คนอื่นเขาดื่ม ว่ามันดีอย่างนี้ มีประโยชน์อย่างนี้


พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสกับพระโพธิละว่า “มาแล้วหรือพระภิกษุใบลานเปล่า” เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ทุกครั้ง พระพุทธเจ้าท่านก็ว่าอย่างนั้น


พระโพธิละมีความละอายแก่ใจ สอนเขาได้บรรลุธรรมหมด แต่ตัวเองไม่ได้บรรลุ ที่นี้อยากบรรลุธรรม ไปขอเรียนการประพฤติปฏิบัติกับลูกศิษย์ที่ตัวเองสอน ว่าทำอย่างไรถึงได้บรรลุธรรม ถามองค์ไหนรูปไหน เขาก็ไม่บอก เพราะทุกคนเข้าใจว่า พระโพธิละรู้แล้ว เก่งแล้ว แต่ขาดการประพฤติปฏิบัติเท่านั้น


จนไปถามสามเณรน้อย ๆ องค์สุดท้าย สามเณรองค์สุดท้ายก็พูดว่า จะรับเป็นผู้บอกผู้สอน แต่มีข้อแม้ว่าต้องลดมานะ ละทิฐิ ปฏิบัติตามคำสอนทุกอย่าง ตกลง พระโพธิละก็รับปากสามเณรว่าจะทำตามสามเณรบอกทุกสิ่งทุกอย่าง


สามเณรก็ลองใจเลยทีนี้ ว่าจะลดมานะ ละทิฐิได้จริงรึเปล่า จึงสั่งให้ครองจีวรให้เรียบร้อย ห่มจีวรเสร็จ ก็สั่งให้เดินลุยลงไปในน้ำ สั่งให้ขึ้น สั่งให้ลงอยู่นั่นแหละ จนสามเณรเป็นที่พอใจว่า ท่านหายพยศ ลดมานะ ละทิฐิแล้ว จึงได้บอกสอนว่า “มีจอมปลวกอยู่จอมปลวกหนึ่ง มีรูอยู่ ๖ รู มีเหี้ยตัวหนึ่งไปอาศัยอยู่ ถ้าเราจะจับเหี้ยให้ได้ เราต้องปิดรู ๕ รู เหลือไว้ รูหนึ่ง...”


ความหมายได้ความว่า เหตุปัจจัยที่จะเกิดวัฏฏะสงสารนั้นมันมาจาก ตาที่เห็นรูป หูที่ฟังเสียง จมูกที่ดมกลิ่น ลิ้นที่ลิ้มรส กายที่สัมผัส ใจเป็นผู้รับรู้ ให้เราสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วมาดูใจ ของเราอย่างเดียว

 

 

เพราะธรรมทั้งหลายปวง มีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นประธาน ตั้งจิตตั้งใจดี ๆ ตั้งเจตนาดี ๆ


คนเราถ้าไม่ตั้งใจมันทำไม่ได้ ถ้าเราไม่ตั้งใจ ไม่เจตนา ถึงแม้เราจะไปเหยียบสัตว์ตายหรือทำผิด อะไรต่าง ๆ ก็ชื่อว่าไม่เป็นบาป เช่น คนเป็นบ้า เป็นโรคจิต ไม่มีสติ ทำอะไรไปก็ไม่รู้ เขาเรียกว่า “ไม่เป็นบาป”


เราต้องรักษาศีลให้ได้ ให้มารักษาที่ใจ


อย่างสิ่ง ๕ อย่าง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายมันทำผิด แต่ใจเราไม่มีเจตนา ตามความเป็นจริงมันไม่บาป


ตา หู จมูก ร่างกาย จะสัมผัสสิ่งใด ถ้าใจเราไม่ยินดี มันก็ไม่บาป “ทุกอย่างมันอยู่ที่จิตที่ใจ...”


“อย่างเรารักษาศีลไม่ได้ถ้าเราไม่รักษาเจตนา” เพราะคนเรามันแก้ตัว เลี่ยงบาลี เลี่ยงกฎหมาย ถ้าการรักษาศีลของเรา เน้นมาที่เจตนามันก็ง่าย ถ้าเราลังเลสงสัยอย่างนี้แสดงว่ามันไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว ถ้าเราทำไป “ถึงจะผิดไม่ผิดแสดงว่าผิดศีลแล้ว” เพราะว่ามันไม่แน่ใจ...


ความไม่แน่ใจคือความลังเลสงสัยว่าจะผิดมั๊ย คือความไม่แน่ใจ


พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราทำ แสดงว่าเราไม่รู้แจ้งรู้จริง กิเลสของเราเข้ามาแทรก ใจมีความมารยาสาไถย “ใจบอกเราว่าอย่าไปยึดมั่นถือมั่น เราก็ปล่อยวางซี่ อย่าไปยึดมั่นถือมั่นเลย…!”


ความคิดอย่างนี้มันจะหลอกให้เราผิดศีลนะ ความคิดอย่างนี้จะหลอกเราให้ไม่ละอาย ไม่เกรงกลัวต่อบาปนะ


ความคิดอย่างนี้จะทำให้จิตใจของเราเป็นอลัชชี เป็นความคิดที่มาห้ามสวรรค์ มรรคผล นิพพานของเรา ความคิดนี้อยู่ในสังคมกำลังมีมาก พยายามปรับธรรมะเข้ามาหาตัวเองว่านี่คือทางสายกลาง เป็นความคิดที่ผิดศีล ถ้ามันยังมีความลังเลสงสัย ยังไม่แน่ใจ พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราทำ

 


พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ถ้าภิกษุรูปใดมีความคิดเห็นอย่างนี้และทำลงไป มีความผิดต้องอาบัติทุกกฎนะ

 


การทำความดีที่มุ่งมรรคผลนิพพาน พระพุทธเจ้าท่านให้เราเน้นที่ใจ ที่เจตนา...

 

 


ใจเรา เราคิดอะไร เราปรุงแต่งอะไร คิดที่ดีที่ชั่ว คนอื่นเขาไม่รู้ แต่ตัวเองรู้ ตัวเองเห็นหมดนะ ความลับมันมีแต่กับผู้อื่น แต่ตัวเองมันไม่มีความลับนะ


ธรรมะเปรียบเสมือนแต่ก่อนมันมืด แต่ธรรมะนี้เป็นของสว่าง ใจมันสว่าง ไม่มีอะไรที่จะมาบดบังมันละ


ธรรมะเปรียบเสมือนเอาของที่มันคว่ำหงายขึ้น มันปิดบังตัวเองไม่ได้


เมื่อพระโพธิละมาประพฤติปฏิบัติตามสามเณรบอกสอน ในไม่ช้าก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ขีณาสพในพระพุทธศาสนาอีกรูปหนึ่ง


แสดงให้เห็นว่า “คนทุกคนมีค่ามาก” ถ้าไม่ทำตัวเองให้มีคุณค่า มันก็เท่ากับเราไปบล็อกตัวเอง ไว้ทางความคิด ว่าตัวเองไม่เก่ง ไม่มีบารมี มีบุญน้อย มีวาสนาน้อย ว่าตัวเองนี้ไม่ได้บวชเป็นพระ ว่าตัวเองเป็นโยม อย่างนี้เรียกว่า “ความคิดของตัวเองมันบล็อกตัวเอง...”


ความคิดของเรามันทำลายศักยภาพ อานุภาพ เข้าใจผิด คิดผิด ผิดตั้งแต่ความคิดแล้ว ยังมาผิด ที่การประพฤติปฏิบัติอีก ธรรมะเป็นของบริสุทธิ์เป็นของกลาง ๆ เป็นของสาธารณะ ปฏิบัติได้ทุก ๆ คนนะ ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้หญิง ผู้ชาย สมณะ ชี พราหมณ์ หรือญาติโยม


ถ้าใครประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ชื่อว่าได้เป็นสุปฏิปันโน ใครปฏิบัติถูกต้อง ถูกตรงเป็นอุชุปฏิปันโน ใครไม่ตามกิเลสตนเองเป็นญายะปฏิปันโน ถ้าใครปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ คนนั้นก็เป็นพระที่จิตที่ใจ

 


ไม่ว่าหญิงว่าชายมันมีเสรีภาพพอ ๆ กัน ไม่มีใครได้เปรียบเสียบเปรียบกัน เพราะมันเป็นเรื่องของใจ ของการประพฤติปฏิบัติ


ครั้งพุทธกาล สามเณร ๗ ขวบ ก็ได้บรรลุธรรม เพราะปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า


เราอย่าไปเข้าใจว่าเป็นสมณะ ชี พราหมณ์ เป็นนักบวชถึงจะบรรลุธรรม เป็นความเข้าใจผิด


ที่เขาเรียกว่า พระสงฆ์องค์สามเณร ก็เป็นตามที่เขาแต่งตั้งเฉย ๆ ถ้าไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าสั่งสอน ก็เป็นพระอริยสงฆ์ไม่ได้ เป็นพระได้เพียงแต่ พระสมมุติ พระแต่งตั้งเท่านั้น


ญาติโยมอย่าได้พากันเข้าใจผิดนะ เข้าใจผิดว่าตัวเองทำไม่ได้ ปฏิบัติไม่ได้ ไปทอดธุระ ปล่อยใจไปตามเวรตามกรรม ไปฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ประพฤติผิดต่าง ๆ นานา เข้าใจผิดว่าตัวเองมันปฏิบัติไม่ได้


แม้คำว่าพระศาสนาก็มีความเข้าใจผิดกันเยอะ ศาสนาแปลว่า ไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นผู้ที่เสียสละ เป็นผู้ให้ เป็นผู้ไม่เห็นแก่ตัว ตั้งมั่นในความเมตตาอย่างไม่มีที่สุดไม่มีประมาณ


อย่างพระพุทธศาสนามันก็ชื่อ ๆ หนึ่ง อิสลามพระศาสนา คริสต์พระศาสนา ฮินดูพระศาสนา ก็เป็นชื่อ ๆ หนึ่ง เป็นชื่อของความดี เพื่อจะได้สะดวกในสมมุติ


“ศาสนาก็แปลว่าความดีนั่นแหละ” เพื่อให้คนไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง จุดมุ่งหมายเหมือนกันหมด


คนไม่เข้าใจพระศาสนา เลยเอาพระศาสนาไปตีกัน ไปแบ่งแยกกัน มันเลยกลายเป็นก๊ก กลายเป็นเหล่า กลายเป็นพักกลายเป็นพวกไป “มันผิดวัตถุประสงค์คำว่าศาสนาไป...”


คนรุ่นใหม่นี่แหละมีความเข้าใจผิดมาก จึงได้มีสงครามเกี่ยวกับพระศาสนาทั่วโลก แบ่งแยกนิกายต่าง ๆ ว่านิกายนั้นผิด นิกายนี้ถูก แม้แต่เราคิดว่า เราไม่ถือศาสนาอะไร “ถ้าเราทำความดีก็ถือว่าเราถือศาสนาแล้ว” เพราะศาสนาเป็นชื่อแห่งความดี ทุกศาสนาก็ว่าศาสนาของตัวเองดี ศาสนาอื่นสู้เราไม่ได้ คนเรามันชอบเอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น มันชอบคิดอย่างนี้นะคนเรา...


ความจริงแล้ว ทุกศาสนาดีหมด ที่ไม่ดีเพราะผู้ปฏิบัติตามมันไม่ดี มีประชาชนสับสนไปหมดว่า คนศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม ตายไปจะตกนรกที่เดียวกันหรือเปล่า...?

 


คนเรานะ ถ้ามันทุกข์ มันก็ทุกข์เหมือนกันหมด “สุข”ก็สุขเหมือนกันหมด ไม่มีอะไรแบ่งแยก เหมือนข้าว เหมือนขนมปัง ผลไม้ทุกสิ่งทุกอย่าง สิ่งที่เราได้รับคือ ความสุข ความดับทุกข์เหมือนกันทุกอย่าง ไม่ว่าตกนรกชนิดไหนก็ทุกข์เหมือนกันหมด ไม่ว่าขึ้นสวรรค์ชนิดไหนก็สุขเหมือนกัน ถ้าเราไม่มีกิเลส สิ้นอาสวะก็ไปนิพพานทั้งหมดทั้งสิ้น


เราประพฤติอริยมรรคมีองค์ ๘ ไม่ว่าเราจะเป็นนักบวช เป็นญาติโยม สามารถบรรลุธรรมทั้งหมดทั้งสิ้น


ทุก ๆ คนอยากช่วยเหลือตัวเองก็อยาก อยากช่วยเหลือผู้อื่นก็อยาก คนที่จะช่วยเหลือคนอื่นได้ ต้องลงมือประพฤติปฏิบัติ


การเรียนหนังสือมันเป็นของยาก การปฏิบัติมันยิ่งเป็นของยากนะ ถ้าเรารู้เฉย ๆ เราไม่เอามาประพฤติปฏิบัติ เขาเรียกว่า “ยังใช้ไม่ได้...!”


ศาสนาเป็นปรัชญา เป็นความรู้ เป็นปริยัติเฉย ๆ


การประพฤติปฏิบัติในด้านจิตใจนี้มันไม่เกี่ยวกับปริญญาตรี โท เอกนะ...


คนไม่รู้หนังสือกับคนรู้หนังสือมันก็บรรลุธรรมพอ ๆ กัน มันเป็นความรู้ที่เรามีทุก ๆ คน รู้ว่าร้อน รู้ว่าหนาว รู้ว่าสุข รู้ว่าทุกข์ รู้แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องไปรู้อะไรมากกว่านี้ เราไม่ต้องไปเรียนนักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก มหาเปรียญ “มันไม่ใช่เรียนธรรมะ มันเรียนหนังสือ”


สำหรับธรรมะที่จะใช้ประพฤติปฏิบัติ ให้เรารู้ดี รู้ชั่ว รู้ผิด รู้ถูก ให้เรากลับมาหาตัวเองอย่างนี้


อันไหนดีเราก็กระตือรือร้นทำนะ อันไหนไม่ดีเราก็ไม่ต้องไปคิด ไม่ต้องไปพูด ไม่ต้องไปทำมัน มันไม่แจ่ม ไม่แจ้ง มันยังสงสัย เราก็ไม่ไปทำ

 


ที่พูดง่าย ๆ อย่างนี้ แต่การกระทำเป็นสิ่งที่ทำลำบาก มันเป็นเรื่องใหญ่นะ เพราะคนเรามันติดสุข ติดสบายมา ต้องแก้ไขตนเองนะ ถ้าไม่แก้ไขตนเองแล้ว มีความรู้ ความเห็น ความเข้าใจ มันก็ไม่มีประโยชน์


คนเรามันท้อใจนะ เพราะตัวตนมันมาก...


ท้อใจเหมือนเราไปยืนมองอยู่ริมฝั่งมหาสมุทรแล้วก็คิดว่า เราคงข้ามไปฝั่งโน้นไม่ได้แน่ เราต้องจมน้ำตายแน่ ความคิดอย่างนั้นนะ มันเป็นความคิดที่บั่นทอนจิตใจของเรา เราไปประเมินผลไว้ก่อน


พระพุทธเจ้าท่านคิดอีกอย่างหนึ่งนะ อย่างที่เรืออับปางกลางมหาสมุทร ไม่ใช่ตัวท่านว่ายคนเดียว ท่านยังอุ้มแม่ว่ายน้ำด้วย ท่านไม่สนใจ จะถึงไม่ถึง ท่านก็มีหน้าที่ว่ายอย่างเดียว จนเดือดร้อนถึงเทวดา ต้องมาอุ้มท่านข้ามฝั่งมหาสมุทร


คนเรามีพลังทิพย์ พลังใจนะ...


เราต้องคิดเสมอ เรามีลมหายใจ มีโอกาส มีเวลา ต้องตั้งใจ ต้องเสียสละ ไม่ว่าเราจะทำอะไร ตั้งใจทำให้ดี ไม่ใช่สักแต่ว่าทำไป เพื่อรักษาสถานภาพเฉย ๆ ว่าเราได้ทำ


ความคิดขี้เกียจขี้คร้านมันเป็นตัวใหญ่ ทุกท่านทุกคนต้องผ่านทัพตัวนี้ ทัพใหญ่ทุกคนต้องผ่าน ไม่ว่านักเรียนนักศึกษา พระสงฆ์องค์เณร คนทำงาน ต้องผ่านทัพใหญ่ ทัพขี้เกียจ ทัพเห็นแก่ตัว ทัพติดสุขติดสบายนี้แหละ


ที่เรามองเห็นภาพรวมของสังคม ประเทศชาติ มันไปติดทัพใหญ่ คือ “ทัพขี้เกียจ” เราตีทัพมันไม่แตก ประชาชนคนส่วนใหญ่ ๙๙ เปอร์เซ็นต์ ถึงเป็นคนยากจน มีหนี้มีสินกัน มันมีทุกข์มาก เพราะความขี้เกียจนี่เอง มันจึงได้พากันตกในอบายมุข อบายภูมิต่าง ๆ ฐานะครอบครัวของเราจึงไม่มีความสุข ไม่มีความอบอุ่น กินเหล้า เมายา พากันเสพยา จำหน่ายยา เป็นปัญหาของสังคมตัวใหญ่ ตัวหลัก คือความขี้เกียจขี้คร้านนี่แหละ


เราไปอยู่ไหนก็ตามไป ไม่ว่าในป่า ในเขา ในถ้ำ...อย่างเรามาบวช ความขี้เกียจขี้คร้านก็ตามมา ถือศีลก็ตามมา กลับบ้านกลับที่ทำงาน มันก็ตามไป

 

Large_tonklar035501


พระพุทธเจ้าท่านให้เราฝืน ให้เราอด เราทน เราอย่าไปท้อแท้ท้อถอยว่าเราปฏิบัติไม่ได้ ทำไม่ได้


ลูกคนรวยส่วนใหญ่ก็ติดในความสุขสบาย ลูกคนจนก็ติดในความสุขความสบาย เพราะรับพันธุ์จากพ่อแม่ พ่อแม่ไม่ขยันมันถึงจน...


คนเรามันต้องคิดเป็นนะ ต้องรู้จักคิด ในอนาคตถ้าไม่ปรับปรุง ต้องทุกข์แน่นอน ต้องจนแน่นอน มีปัญหาครอบครัวแน่นอน


พระพุทธเจ้าท่านถึงให้เราเห็นทุกข์ที่จะเกิดกับเราในอนาคต ให้เห็นเหตุที่ให้เกิดทุกข์ ถ้าเรารอถึงวันนั้นมันสายไปแล้ว มันแก้ไขไม่ได้


มรรค คือ ข้อวัตรปฏิบัติ เป็นบรรทัดฐาน เป็นความดี...

 


พระพุทธเจ้าก่อนที่ท่านจะตรัสรู้ นางสุชาดานำข้าวมาถวาย เมื่อพระองค์เสวยภัตตาหารแล้ว ได้เอาถาดทองคำมาวางที่แม่น้ำเนรัญชราแล้วอธิษฐานว่า “ถ้าข้าพเจ้าจะบรรลุธรรม ขอให้ถาดทองคำไหลทวนน้ำ ทวนกระแส”


จากนั้น พระพุทธเจ้าท่านก็นั่งสมาธิขัดบัลลังก์ แล้วอธิษฐานจิตว่า “แม้หนังเอ็นกระดูกเท่านั้น จักเหลืออยู่ เนื้อและเลือดในร่างกายนี้จะเหือดแห้งไปก็ไปตามที หากไม่ได้บรรลุธรรมจะไม่ลุกไป...”

การปฏิบัติธรรมต้องทวนกระแสอย่างนี้นะ นั่งสมาธิไปนะ พญามารยกทัพมาสนั่นหวั่นไหว เพื่อไม่ให้พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม บรรลุธรรม


เราทุกท่านทุกคนเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า ต้องทวนกระแส ทวนความขี้เกียจขี้คร้าน ปรับปรุงใจ ของเรา ปรับปรุงการกระทำของเรา คำพูดของเรา ตั้งไว้อย่างแน่วแน่น มีความเป็นหนึ่ง ไม่ใช่เราจะทำอย่างนี้เพียงวันเดียว ต้องทำทุกวันจนกว่าเราจะบรรลุเป้าหมาย มีความตั้งใจมั่นชอบ มรรคมีองค์ ๘ ตัวสำคัญ คือ “ความตั้งใจมั่นชอบ...”


ส่วนใหญ่เราทำอะไรไม่มั่นคง ฐานะไม่มั่นคง จิตใจไม่มั่นคง ใครจะมาเคารพเชื่อถือเรา เพราะเราไม่มีความตั้งใจมั่นชอบ


ความคิดของเราต้องเปลี่ยนแปลงใหม่ เพราะความคิดเก่า ๆ มันเป็นความคิดที่เห็นแก่ตัว พาเราเวียนว่ายตายเกิด เป็นความคิดที่ขาดสติ ขาดปัญญา มันมีความคิดที่ตั้งอยู่ในความประมาท ตั้งอยู่ในความเพลิน เป็นเด็กก็เพลิดเพลินในการกินการนอน การเที่ยว การเล่น มันบดบังในการเรียน การศึกษา การทำงาน ปัญหาต่าง ๆ มันถึงประดังประดาเข้ามา เดือดร้อนถึงพ่อแม่วงศ์ตระกูล เพราะความไม่ตั้งใจของเรา


ให้ทุกท่านทุกคนตั้งใจอธิษฐานจิตว่า... ต่อไปนี้ข้าพเจ้าจะตั้งใจใหม่ ตั้งใจให้ดีอย่างนี้ตลอดไป ตลอดกาลยิ่ง ๆ ขึ้นไป จะไม่เป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน จะไม่เป็นคนเอาเวลาเรียน เวลาทำงานไปเพลิดเพลิน เหมือนที่แล้ว ๆ มา ที่ผิดไปแล้วถือว่าเป็นครู ที่รู้ถือเป็นอาจารย์ ต้องตั้งใจมั่นนะ เคยติดอะไรต่าง ๆ จะพยายามละ จะพยายามเลิก ถ้ามัวอาลัยอาวรณ์อย่างนี้ไม่ได้แน่ ไม่ดีแน่ อันไหนไม่ดีให้หยุดตั้งแต่วันนี้ เดี๋ยวนี้


จะเป็นบุคคลใหม่ คนใหม่ คนเก่าให้มันตายไปกับกาลเวลา ข้าพเจ้าจะไม่อาลัยอาวรณ์คิดถึงมัน มันทำให้ข้าพเจ้าเวียนว่ายตายเกิดมาถือว่าพอแล้ว


ข้าพเจ้าจะมาสร้างประโยชน์ตน และสร้างประโยชน์ผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความไม่ประมาท เหนื่อยก็ช่างมัน ผอมก็ช่างมัน ให้ข้าพเจ้าได้ทำดี พูดดี คิดดี ลาก่อนนะอันไหนไม่ดีก็จะทิ้งมันวันนี้แหละ เมื่ออินทรีย์บารมีของข้าพเจ้ายังไม่แก่กล้า ก็จะพยายามประพฤติปฏิบัติยิ่ง ๆ ขึ้นไป จะถือเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระรัตนตรัยเป็นแบบอย่างในการประพฤติ ปฏิบัติ


ทำความดีมันไม่ตาย ที่ตายส่วนใหญ่เพราะมันคิดมาก เพราะวิตกกังวล เพราะกลัวความดี


ในสงกรานต์ปี ๒๕๕๕ ที่จะมาถึง ข้าพเจ้าขอขมาต่อพระรัตนตรัย คุณพ่อคุณแม่ ครูบาอาจารย์ บรรพบุรุษ ที่ได้ผิดพลาดล่วงเกิน เป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา ขอให้พระรัตนตรัย พ่อแม่ บรรพบุรุษ จงอโหสิกรรม


ตั้งแต่สงกรานต์ปีนี้ จะน้อมเอานำมาชำระล้างสิ่งที่ไม่สะอาด สิ่งปฏิกูล ออกจากกาย ออกจากวาจา ออกจากใจ มารับเอาน้ำคือความสงบ ความเย็น คือพระนิพพาน คือคุณธรรมของพระอริยเจ้า นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปด้วยเทอญ...

 

Large_tt472

 

พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ที่องค์พ่อแม่ครูอาจารย์เมตตาให้นำมาบรรยาย
เช้าวันพุธที่ ๑๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๕

 

 

หมายเลขบันทึก: 487744เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 15:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 10:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท