หยุดตนเอง หยุดเวียนว่ายตายเกิด...


 

ทุก ๆ ท่านทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ ล้วนมาจากความเข้าใจผิด ล้วนมาจากความหลง คิดว่าร่างกายเป็นของเรา คิดว่าจิตใจเป็นของเรา แล้วก็ทำตามความอยาก ความเข้าใจผิด ความเห็นผิด ทำให้เรามีปัญหา ทำให้เราต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏคือ “วัฏฏะสงสาร” หาที่จบที่สิ้นไม่มี เพราะทำไปตามความคิด ทำไปตามความหลง คิดว่าดี คิดว่าสบาย ก็ทำไปเรื่อย ปฏิบัติไปเรื่อย...

 

Large_tt353


พระพุทธเจ้าท่านได้บำเพ็ญพุทธบารมี ได้ตรัสรู้ธรรม รู้จัก รู้แจ้ง มาหยุดตัวเองนะ มาตรัสรู้ธรรม มาตัดกรรม ตัดเวร มาคืนทุกสิ่งทุกอย่างให้สู่ธรรมชาติ ดินให้มันคืนสู่ดิน น้ำคืนสู่ฟ้า ลมก็คืนสู่ลม ไฟก็คืนสู่ไฟ อากาศธาตุก็คืนสู่อากาศธาตุ ไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าร่างกายจิตใจเป็นของเรา


คนเราที่มีทุกยากลำบากก็เพราะมันคิดว่ากายเป็นของเรา ใจเป็นของเรา มันมีความคิดเห็นผิด มันถึงมีเรื่อง มีปัญหา มันถึงต้องมีภาระ มีหน้าที่ มีความอยาก มีความต้องการเป็นใหญ่ เป็นประธาน มีความอยาก “รักสุข เกลียดทุกข์” เกิดมาตั้งแต่อยู่ในท้องจนหมดลมหายใจก็จะเป็นแต่ผู้เอา สิ่งไหนข้าพเจ้าชอบข้าพเจ้าก็จะเอา ข้าพเจ้าไม่ชอบข้าพเจ้าก็ไม่เอา


ทุกสิ่งทุกอย่างหาได้เป็นอย่างที่เราคิดไม่ เราไม่อยากแก่เราก็ได้ความแก่ เราไม่อยากเจ็บไข้ได้ป่วย เราก็เป็นโรคต่าง ๆ สารพัดโรค เป็นโรคทั้งทางกาย เป็นโรคทั้งทางใจ เราไม่อยากตาย ไม่อยากพลัดพราก ทุกคนก็ต้องตาย ทุกคนก็ต้องพลัดพราก เพราะร่างกายของคนของมนุษย์ เขามีอายุไขส่วนใหญ่ไม่เกิน ๑๐๐ ปี ถ้าจะมีบุคคลที่อายุยืนบ้างเกิน ๑๐๐ ปี ก็เพียงเล็กน้อย


หลงว่าร่างกายของเราแข็งแรง สวยงาม มันก็ไม่แข็งแรง มันต้องให้ข้าว ให้อาหาร คอยนอน คอยพักผ่อน ออกกำลังกาย มันถึงพออยู่ได้


คิดว่าร่างกายของเราสวยงาม มันก็ไม่สวยงาม ต้องมีภาระ ต้องอาบน้ำ แปรงฟัน ซักฟอก ทำความสะอาดด้วยสบู่ ตกแต่งด้วยเครื่องสำอางต่าง ๆ นานา เป็นการเสริมแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ เพราะร่างกายของเราเป็นสิ่งที่น่าเกลียด เป็นของปฏิกูล มีสิ่งปฏิกูลที่ไหลเข้าไหลออกอยู่ตลอดเวลา พวกเราก็พยายามปกปิดอำพรางตัวเอง อำพรางคนอื่น

 

Large_tt254


ถ้าเรามอง เราพิจารณา เราจะเห็นสภาพความเป็นจริงที่ร่างกายของเรามีแต่ของไม่งาม มีแต่ของปฏิกูล ไม่จีรังยั่งยืน มันมีปัญหามาก มันมีภาระมาก


พ่อแม่ต้องวางแผนตั้งแต่น้อย ๆ เพื่อจะให้ลูกดำรงชีวิตอยู่ด้วยความผาสุก ให้เรียนหนังสือตั้งแต่ ๒ ขวบ ๓ ขวบ เพื่อจะเป็นคนเก่ง เป็นคนที่มีความสามารถ เพื่อจะได้มีความสุข


ชีวิตของเราที่เกิดมาเพราะอวิชชา เพราะความหลง พระพุทธเจ้าท่านถึงเมตตาสอนเราให้เป็น ผู้ที่เสียสละ ที่เราเกิดมาในโลกนี้ เราต้องเป็นผู้เสียสละ เป็นผู้ไม่เห็นแก่ตัว เป็นผู้ให้ เพราะเราเป็นผู้เอา เป็นผู้รับตั้งแต่อยู่ในท้อง เป็นผู้รับจนเคยชิน เป็นเด็กก็รับจากพ่อจากแม่ เป็นหนุ่มเป็นสาวก็รับจากพ่อ จากแม่ รับจากคนอื่น โตแล้วก็ยังจะเป็นผู้รับตลอด


ถ้าเราไม่เป็นผู้ที่เสียสละ ความเกียจคร้านของเราจะมีมาก ความโกรธ ความไม่พอใจของเราก็จะมีมากเราจะเป็นคนมีทิฐิมานะ เป็นคนเจ้าอารมณ์ อารมณ์รุนแรง


คนที่เป็นผู้เอา เป็นผู้รับนั้น จะรักษาศีล ๕ ก็ไม่ได้ จะรักษาศีล ๘ ก็ไม่ได้ จะรักษาศีล ๑๐ ก็ไม่ได้ จะรักษาศีล ๒๒๗ ก็ไม่ได้เพราะเป็นคนไม่เสียสละ เป็นคนเห็นแก่ตัว

 

 


เราจะเข้าถึงคุณธรรม เข้าถึงความดับทุกข์ที่แท้จริง ต้องเป็นผู้ที่เสียสละ


ครั้งพุทธกาล มีภรรยาสามีคู่หนึ่งที่ยากจน ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาแสดงธรรมในเมืองนั้น สามีภรรยาคู่นี้ก็อยากที่จะไปฟังธรรม แต่คนสองคนมีผ้าที่จะห่มออกไปข้างนอกเพียงแค่ผืนเดียว จึงตกลงกันว่าให้ภรรยาห่มผ้าผืนนี้ออกไปฟังธรรมตอนกลางวัน เมื่อกลับมาก็จะเปลี่ยนผ้าให้สามีออกไปฟังธรรมในตอนกลางคืน


เย็นวันหนึ่งเมื่อภรรยากลับมาจากการฟังธรรมของพระพุทธเจ้าในเวลากลางวันแล้ว ก็เปลี่ยนผ้า ให้สามีห่มออกไปฟังธรรม เมื่อไปถึงและได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้วก็เกิดความปีติและความศรัทธา ต่ออานิสงส์แห่งทานเป็นอย่างมาก ในปฐมยามจึงคิดในใจว่าอยากจะถวายทาน แต่ทั้งเนื้อทั้งตัวก็มีเพียง ผ้าห่มผืนนี้ผืนเดียว อยากจะถวายผ้าห่มผืนนี้แด่พระพุทธเจ้า แต่ก็คิดไปอีกว่าถ้าให้ไปก็กลัวว่าตัวเองและภรรยาจะลำบาก ไม่มีผ้าห่มออกมาฟังธรรมอีก จึงนิ่งเสีย


ครั้นเวลาย่างเข้าถึงมัชฌิมยาม บุรุษเข็ญใจผู้นี้ก็เกิดความคิดในใจขึ้นมาว่าอยากจะถวายผ้าห่มผืนนี้ แก่พระพุทธเจ้าอีก แต่ก็ยังตัดใจไม่ได้ เสียสละไม่ได้ ก็จึงนิ่งเสียเป็นครั้งที่สอง


จนเวลาล่วงเข้าสู่ปัจฉิมยาม เขาก็ได้ตัดสินใจอย่างแน่วแน่และเด็ดขาดที่จะถวายผ้าห่มผืนนี้ แด่พระพุทธเจ้า จึงได้น้อมผ้าห่มผืนนี้เข้าไปถวาย พร้อมกับร้องขึ้นมาว่า “เราชนะแล้ว ๆ ๆ”


เมื่อพระราชาได้ยินก็เกิดความสงสัย เพราะปกติคำว่าชนะแล้ว ๆ ๆ จะเป็นคำที่พระมหากษัตริย์ร้องขึ้นเมื่อชนะศึกสงคราม จึงให้ทหารเข้าไปสอบถามจึงได้คำตอบกลับมาว่า บุรุษเข็ญใจผู้นั้นได้ชนะข้าศึกภายในจิตใจ สามารถกระทำสิ่งที่ทำได้ยาก คือสามารถเอาชนะจิตใจของตนเองด้วยการถวายสิ่งที่มีค่า เพียงอย่างเดียวในชีวิตแก่พระพุทธเจ้า


เมื่อพระราชาทราบดังนั้นก็เกิดความนิยมชมชอบบุรุษผู้นั้น เพราะในสังคมสมัยนั้น ยุคนั้น เขานิยม คนดี นิยมผู้ที่เสียสละ แม้แต่เทวดาก็สาธุการกันสนั่นหวั่นไหว พระราชาเลยมอบทรัพย์สมบัติที่มีค่า ให้อย่างละ ๔ อาทิ ผ้าเนื้อดี ๔ ช้าง ๔ ม้า ๔ บริวาร ๔ แต่เมื่อบุรุษผู้นั้นได้รับ ก็ได้น้อมนำไปถวายแก่พระพุทธเจ้า เมื่อพระราชาเห็นดังนั้นก็มอบทรัพย์สมบัติเพิ่มขึ้นให้อีก เขาก็น้อมนำไปถวายแก่พระพุทธเจ้าอีก จนกระทั่งพระราชามอบทรัพย์สมบัติให้เขาถึงอย่างละ ๓๒ เขาก็คิดว่าถ้าเราถวายพระพุทธเจ้าทั้งหมด พระราชาก็จะมอบเพิ่มให้เราอีก จึงได้ถวายผ้าแด่พระพุทธเจ้า ๓๐ ผืน และเก็บไว้ให้ภรรยาและตนเอง คนละ ๑ ผืน


ต่อมาพระภิกษุทั้งหลายต่างก็ชื่นชมสิ่งที่บุรุษคนนั้นได้กระทำ ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่อง พระองค์ก็ทรงตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า ถ้าหากบุรุษเข็ญใจผู้นั้น สามารถตัดใจน้อมนำผ้าผืนนั้นมาถวายตั้งแต่ในมัชฌิมยาม เขาจะได้ทรัพย์สมบัติถึงอย่างละ ๘ และถ้าหากเขาตัดสินใจได้ตั้งแต่เบื้องต้นคือในปฐมยาม เขาก็จะได้ทรัพย์สมบัติมากกว่านั้นอีกเป็นทวีคูณ

Large_tt478

 


ทุก ๆ คนมันยึดมั่นถือมั่นในตัวในตน มันไม่อยากสละตัวสละตน ถึงแม้ยากลำบากก็ไม่อยากสละตัวสละตน การเสียสละทำความดีนั้นได้ทั้งคุณธรรม ได้ทั้งโภคทรัพย์


ความเห็นแก่ตัวของเรามันทำให้เราขี้เกียจ ขี้คร้าน ไม่ขยัน เป็นคนไม่เสียสละ ชีวิตของเราถึงอยากจน ถึงไม่มีคุณธรรม


ชีวิตของเราที่มีความสุข เพราะจิตใจมีความเห็นที่ถูกต้องนะ...


อย่างเราทำงานทั้งวัน เสียสละทั้งวัน มีความสุขกับการทำงาน มีความพอใจกับความเสียสละ จิตใจของเราจะมีความสุข จิตใจของเราจะไม่มีความทุกข์ แต่ถ้าเราเห็นผิดคิดว่าเรานอนไม่พอ เราเหนื่อยยากลำบาก ต้องต่อสู้ดิ้นรน ไม่มีความสุขเลย ไม่ได้พักผ่อน ไม่ได้หลับนอน ผอมก็ผอม ดำก็ดำ ชีวิตของเราทำไมทุกข์ยากลำบาก ทำไมมันถึงจนอย่างนี้ ไม่ได้อยู่ดีกินดี ไม่ได้นั่งกินนอนกิน ไม่มีพ่อมีแม่รวย ๆ มีบ้านหลังใหญ่หลังโตเป็นปราสาทวิมาน ไม่มียานพาหนะไว้อวดคนอื่น ข้าทาสบริวารก็ไม่มี ความคิดเห็นอย่างนี้เป็นความเห็นผิด มันทำให้มีทุกข์ทั้งทางกายทั้งทางใจ

 

คนเรามีความทุกข์เพราะความคิด...


เรานั่งสมาธิทั้งคืน ถ้าไม่ปรุงแต่งอะไรใจมันก็มีแต่ความสุข มีแต่ความเย็น เราจะเจ็บจะป่วยทางกาย ถ้าใจของเราไม่คิดว่าเจ็บป่วย อันนี้เป็นธรรมะ ความทุกข์ก็ไม่มี


เราจะฝืนธรรมชาติไม่ได้ มันต้องมีสงครามทางจิตใจ เราเป็นทุกข์เพราะความคิดของจิตเราเองแท้ ๆ


ความเห็นที่ถูกต้องเป็นสิ่งที่สำคัญ จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราแก้ปัญหาที่ยึดจิตใจ

 

 Large_tt585


ให้เราสร้างบารมี ถ้าเรามีความคิดผิด เข้าใจผิดในชั่วขณะจิตหนึ่งทำให้ชีวิตของเราเสียหาย ผิดพลาด


เรามีลมหายใจ เรามีชีวิต ถือว่าเราประเสริฐมากที่สุด จะได้มีโอกาสสร้างความดี สร้างบารมี เพื่อตัดภพตัดชาติ เพื่อละกรรมละเวร หยุดการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ


ในชีวิตประจำวันของเรา เราอยู่กับครอบครัว อยู่กับพ่อ กับแม่ กับลูก กับหลาน พระพุทธเจ้า ท่านให้เราคิดเสมอว่า เราให้อะไรแก่บุคคลที่อยู่รอบข้างเราบ้าง เพราะคนที่อยู่รอบข้างเราเขาก็มีทุกข์ ทั้งทางกายทั้งทางจิตใจ “เราให้อะไรเขาบ้าง...?”

 

เราจะเป็นคนทิฐิมานะมาก เจ้าอารมณ์อีกต่อไปไม่ได้แล้ว...


พระพุทธเจ้าให้เราเป็นผู้ให้ ให้ทั้งความคิด ให้ทั้งการกระทำของเราเป็นตัวอย่าง ทำที่ดี ๆ พูดที่ดี ๆ ให้คำพูดที่ดี ๆ ให้เกิดกำลังใจ เกิดความรักความสามัคคี ให้เกื้อกูลครอบครัวของเรา อย่าไปเน้นแต่เรื่องเงิน เรื่องวัตถุอย่างเดียว เพราะเรื่องเงินเรื่องวัตถุ ถือว่าเป็นเรื่องรอง เรื่องความดี เรื่องคุณธรรม ถือว่าเป็นเรื่องหลัก เป็นเรื่องใหญ่


เมื่อครอบครัวเราดีมีความสุข มีความอบอุ่นแล้ว ค่อยขยายไปสู่เพื่อนบ้านที่เขาอยู่ใกล้ ๆ เรา ที่อยู่ในบ้าน ในสังคม


เราอย่าไปเอาความสุขคนเดียว เราต้องแบ่งปันความสุข ต้องแชร์ความสุขให้คนอื่น มีอะไรก็ดูแลกัน มีอะไรก็ช่วยเหลือกัน แบ่งปันกัน ให้กัน เพราะทุกคนเกิดมาในโลกนี้ ล้วนแต่เป็นญาติ เป็นพี่ เป็นน้องกัน ความเห็นแก่ตัวมันแบ่งเขา แบ่งเรา แบ่งชนชั้น แบ่งวรรณะ เราช่วยเหลือเขาทางกายไม่ได้ ก็ให้ช่วยเหลือ ในเรื่องคำพูด ความคิด สติ ปัญญา เป็นตัวอย่างในทางที่ดี

 

Large_tt443


คนเรามันเห็นแก่ตัวนะ ถ้าจะเสียสละอะไรมันเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก มันกลัวเสียเปรียบ กลัวคนอื่น เอาเปรียบ จะรักษาศีลก็กลัวความสุขจะหาย จะให้ทำสมาธิ นั่งสมาธิยิ่งกลัวใหญ่ กลัวจะหมดความโลภ ความโกรธ ความหลง ความคิดอย่างนั้นถือว่าเป็นความคิดของเปรต ของอสุรกายที่อยู่ในจิตใจของเรา


ทำความดีเราอย่าไปกลัว เราอย่าไปลังเลสงสัย ต้องอาจหาญร่าเริง มีความสง่างามในการทำความดี อย่าไปลูบ ๆ คลำ ๆ เหมือนบุรุษเข็ญใจที่จะให้ทานปล่อยโอกาสจนวาระสุดท้ายถึงจะเสียสละ


เรามองไปทุกทิศทุกทางที่เรานั่งอยู่ ยืนอยู่ ส่วนใหญ่ก็ไม่มีใครทำ ไม่มีใครเสียสละ เราก็หมดกำลังใจเหมือนกันนะ


ถ้าเราคิดอย่างนี้ เราต้องคิดให้เห็นพระพุทธเจ้าชัดเจน เห็นพระอริยเจ้าชัดเจนว่าท่านทำอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ เรามาเอาตัวอย่างบางคนที่เขายังไม่เข้าใจ ยังไม่ปฏิบัติธรรม เราเอาเป็นตัวอย่างไม่ได้


ชีวิตที่เดินทางในสังสารวัฏนี้ ทุก ๆ คนต้องประพฤติปฏิบัติเอง ไม่มีใครประพฤติปฏิบัติให้เราได้ ช่วยเหลือเราได้ ให้เราทำไปปฏิบัติไป


ศีล สมาธิ ปัญญา ต้องให้ไปด้วยกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อย่างเรามาอยู่วัดอย่างนี้ เรามาประพฤติปฏิบัติธรรม กายกับใจของเราต้องอยู่ด้วยกัน ไม่ว่าเราเดิน เรานั่ง เรานอน เราต้องมีความสุข มีความพอใจ เดิน นั่ง นอน หรือว่าเราทำงานอย่างนี้เป็นต้น


ปล่อยให้ชีวิตของเรามันสงบ มันเย็น เพราะธรรมะเป็นของสงบ เป็นของเย็น ความอยาก ความปรุงแต่งมาเผาให้เราร้อน เดี๋ยวก็อย่างโน้นไม่ชอบอย่างนี้ก็ไม่ชอบ อยากให้เร็ว อยากให้ช้า มันเผาเราทำให้สติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ เรามีความสุขอยู่แล้ว มีความดับทุกข์อยู่แล้วแต่จิตใจมันมาเผาเรา


ปฏิบัติธรรมมันก็คิดว่าเราปฏิบัติไม่ได้ อย่างเช่น กลัวว่ามันจะไม่บรรลุธรรม มันก็คิดของมันไป ความคิดอย่างนี้มันเผาตัวเองนะ เป็นการตกนรกทั้งเป็น ยังไม่ตายก็ตกนรก มันเผาทั้งเป็น ต้องให้มันเย็น มันสมบูรณ์ อย่าให้มีตัวตนมาก จนถึงที่ไม่มีตัวไม่มีตน เขาเปรียบว่าเราเดินอยู่ นั่งอยู่ นอนอยู่ ก็เหมือน เอาหอกมาทิ่มแทงตลอด ถ้าเราไม่รู้จักใจของตนเอง


ใจมันอยากได้บรรลุธรรม อยากได้พระนิพพาน มันไม่รู้จักพระนิพพาน พระนิพพานอยู่กับตัวเอง ก็ไม่รู้ มันวิ่งใหญ่เลย วิ่งจนเป็นโรคประสาทหมด


เรามีโอกาสมีเวลามาอยู่วัดบำเพ็ญตัวเองให้เป็นบุญ เป็นกุศล ให้รู้จักหยุด ความคิดให้รู้จักหยุด ความอยากให้รู้จักหยุด ถ้าไม่อยากหยุดก็วิ่งเหมือนองค์อุลีมาร องค์คุลีมารไปฆ่าเขาตัดเอานิ้วมาร้อยเป็นพวงมาลัย ๙๙๙ นิ้ว เหลืออีกนิ้วหนึ่งจะครบพัน ทางการเมืองเขาจะสั่งประหารต้องจับตาย ผู้ที่ประเสริฐตายแทนเราได้คือ “แม่” ก็กลัวว่าลูกจะถูกฆ่า ถูกประหาร แม่ก็เลยออกไปตามหาลูก ไปบอกลูก ไปห้ามลูก ไปปกป้องลูก


พระพุทธเจ้าท่านก็เล็งเห็นด้วยพระญาณ องค์คุลีมารนี้ในอนาคตจะบรรลุธรรมเป็นพระขีณาสพ ถ้าปล่อยให้เขาฆ่าแม่แล้วตัดเอานิ้ว เขาจะทำมาตุฆาต ไม่ได้มรรค ไม่ได้ผล


การที่ในชาตินี้องค์คุลีมารต้องมาทำบาป ทำกรรม ฆ่าคนมากมายก็เพราะกรรมเก่าขององค์คุลีมารตั้งแต่เสวยชาติเป็นเต่ายักษ์ที่มีคุณธรรม ช่วยเหลือคนที่เรืออัปปางกลางทะเล ช่วยเอาคนที่อยู่กลางทะเลมาถึงฝั่งทั้งหมด แต่แล้วคนพวกนั้นก็จับเต่ายักษ์นั้นฆ่ากินเป็นอาหาร นี่เป็นวิบากกรรมเป็นกงกรรม กงเกวียน ให้องค์คุลีมารต้องกลับมาฆ่าพวกนั้นอีก


ทีนี้พระพุทธเจ้าก็มาโปรดองค์คุลีมาร พระพุทธเจ้าต้องแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ให้องค์คุลีมารไล่ตาม ไล่อย่างไรก็ไม่ทัน พระพุทธเจ้าไม่ได้วิ่ง มีแต่องค์คุลีมารวิ่ง อันนี้เป็นนิมิตที่พระพุทธเจ้าท่านสร้างขึ้น


เมื่อองค์คุลีมารวิ่งไม่ทัน องค์คุลีมารจึงร้องเรียกออกไปว่า “หยุดก่อนสมณะ หยุดก่อนสมณะ” พระพุทธเจ้าได้ยินท่านก็ทรงตรัสตอบว่า “เราหยุดแล้ว แต่ท่านยังไม่หยุด”


องค์คุลีมารเกิดความสงสัยในคำพูดนั้น จึงถามพระพุทธเจ้าที่ว่าท่านหยุดแล้วท่านหยุดอย่างไร...? พระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสตอบว่า เราหยุดจากการทำบาปทั้งปวง หยุดจากการฆ่า หยุดจากการเบียดเบียน จากนั้นท่านก็ได้แสดงธรรมให้องค์คุลีมารหยุดทำบาปทั้งปวง สุดท้ายองค์คุลีมารก็ได้บรรลุธรรม

 

 


การทำบาปทำกรรมถึงจะมากมาย แต่ถ้าเราหยุด ใจของเราหยุดทำบาปทำกรรม ไม่มีเจตนาทำบาปทำกรรม ทุกท่านก็ได้บรรลุธรรมเหมือนกันหมด แต่กรรมของทุกคนก็ต้องหลงเหลือในที่ทำไม่ดีไว้ องค์คุลีมารไปบิณฑบาต เขาก็ปาก้อนหินก้อนดิน หัวแตกตั้งหลายครั้ง นี้เป็นเศษกรรม

Large_tt574

 


เรามาอยู่วัด มาปฏิบัติ มาหยุดตัวเองให้มันสงบ ให้มันเย็น


คนเรามันอยู่กับตัวเองไม่ค่อยเป็น มันอยู่แต่กับสิ่งภายนอก


พระพุทธเจ้าท่านสอนให้อยู่กับลมหายใจเข้าหายใจออก ให้อยู่กับการหยุด การปล่อย การวาง การเสียสละ เอาอานาปานสติเป็นเครื่องอยู่ทุกอิริยาบถได้นั่นแหละดี มันจะได้ฝึกอยู่กับตัวเอง เราจะได้มีสมาธิระดับหนึ่ง


อย่างเราเจริญปัญญา ปัญญาก็เหมือนเขาทานอาหาร คน ๆ หนึ่งทานอาหารไม่กี่นาทีก็อิ่ม คนทานช้าไม่น่าเกิน ๑ ชั่วโมง ก็ต้องทานอิ่ม เมื่อเราทานอิ่มท้อง ทีนี้ร่างกายของเราก็บรรจุได้แค่เต็มท้อง บรรจุมากกว่านั้นก็ต้องตาย มันก็ต้องปล่อยให้ร่างกายทำงาน ธาตุขันธ์ทำงานตั้งหลายชั่วโมงกว่าจะเขาจะย่อย


จิตใจเราก็เหมือนกัน เราคิดอะไรพอรู้เรื่อง พอเข้าใจ ก็ปล่อยให้สมองเรามันสงบ มันเย็น ไม่ใช่คิดตลอดเวลา ถ้าคิดตลอดเวลาสมองเราก็เมื่อยล้า เป็นโรคเครียดเป็นโรคประสาทได้


เราเจริญปัญญามากเกินมันไม่สมดุลกับสมาธิของเรา ออกซิเจนในสมองมันก็ไม่เพียงพอ เพราะว่าเราคิดมากเกิน มันผลิตไม่ทันนะ


น้ำบ่อหนึ่ง มันไหลออกมาชั่วโมงหนึ่งก็ ๑๐๐ ลูกบาศก์เมตร เราไปเอาเครื่องใหญ่สูบมัน ๒๐๐ ลูกบาศก์เมตร มันไหลมาไม่ทัน มันไม่สมดุลกัน


สมาธิกับปัญญาเราไม่สมดุลกันมันเลยมีปัญหา สติสัมปชัญญะมันไม่สมบูรณ์ ความสงบ ไม่เพียงพอ ใจของเราสัมผัสพระนิพพานไม่ได้ เพราะความอยากมันมีมาก เรามันคิดมากเกิน วันหนึ่งเราทานอาหาร ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง แต่ใจของเรานี้แหละถ้าทำอะไรแจ่มแจ้งและปฏิบัติตาม วันนึง ๑ ครั้งก็ได้ ไม่ต้องคิดมากเกิน

 

Large_tt453


ตั้งเจตนาไว้ดี ๆ ว่าเราจะเป็นผู้ที่เสียสละ เอาศีลเป็นที่ตั้ง เอาธรรมเป็นที่ตั้ง เราจะเป็นคนไม่เห็นแก่ตัว


บำเพ็ญอินทรีย์บารมีของเราไปเรื่อย ๆ ให้มันแก่ให้มันกล้า ทำไปเรื่อย ๆ ปฏิบัติไปเรื่อย ๆ เห็นภัย เห็นโทษในวัฏฏะสงสาร ความผิดเล็กน้อยก็ไม่คิด ตัดความอาลัยอาวรณ์จากกิเลสมันเสีย บาปกรรม เวรกรรมมันจะได้หมด


ความคิดที่มันเป็นกิเลส ที่มันเป็นความคิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ อย่างคนธรรมดาฆ่ามนุษย์ ฆ่าช้างถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ แต่ถ้าเป็นพระอริยเจ้า ฆ่าหมดตัวนึง ฆ่ายุงตัวนึงท่านถือว่าเป็นเรื่องใหญ่


เราอย่าไปคิดว่าเราคิดอะไรคนอื่นเขาไม่รู้ไม่เห็น จริงอยู่คนอื่นเขาไม่รู้ แต่ตัวเรามันรู้มันเห็น


การประพฤติปฏิบัติธรรมเขาไม่ได้มุ่งสิ่งภายนอก เขาเน้นพระนิพพาน เน้นมาที่จิตที่ใจ

 


ตนเองต้องกราบไว้ตนเองได้ เคารพตนเองได้ ถ้าเราคิดว่าให้คนอื่นเคารพนับถือ แล้วยอมรับเรา ยอมการประพฤติปฏิบัติของเรา นั้นเป็นความคิดที่เห็นผิด เป็นบาป เป็นกรรม เป็นอกุศล


พระพุทธเจ้าท่านให้เราเน้นมาที่ใจของเราเพื่อการเดินทางออกจากวัฏฏะสงสาร


ทุกท่านทุกคนที่เกิดมาเป็นมนุษย์เป็นผู้ประเสริฐ มีลมหายใจ พระพุทธเจ้าท่านให้คิดว่า เราเป็นคนโชคดี มีโอกาสสร้างมรรคผลนิพพานให้ตนเอง มันดีมาก ประเสริฐมาก


หวังว่าทุกท่านทุกคนจะได้นำพระธรรมคำสั่งสอนที่ประเสริฐสุด ที่พระองค์มีความเมตตาไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณไปประพฤติปฏิบัติเพื่อความสิ้นไปแห่งวัฏฏะสงสารด้วยกันทุกท่านทุกคนเทอญ...

 Large_tt570

 

 

พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ที่องค์พ่อแม่ครูอาจารย์เมตตาให้นำมาบรรยาย
เช้าวันจันทร์ที่ ๙ เดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๕

หมายเลขบันทึก: 487738เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 15:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 20:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท