โลกธรรม…


 

สภาวะสิ่งแวดล้อมทั้งหลายทั้งปวง เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตใจของเราแปรผันเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า หิวกระหาย เจ็บไข้ ไม่สบาย ดินฟ้าอากาศที่แปรปรวน...

Large_tt701

 


สิ่งเหล่านี้มันทำให้จิตใจของเราแปรปรวนไปกับสิ่งต่าง ๆ อย่างเราตั้งใจไว้ดี ๆ พอถึงเวลาจริง ๆ เช่นว่า ตี ๓ ตอนเช้าเป็นเวลาทำวัตรเช้า นั่งสมาธิ สวดมนต์ ถ้าใจเราไม่หนักแน่น ไม่เข้มแข็งพอ ไม่เห็นคุณเห็นประโยชน์ ทุกคนก็ยากที่จะตื่นได้ ลุกได้ มันเป็นเพราะเราใจอ่อน ติดสุข ติดสบาย ถูกโลกธรรมครอบงำ


โลกธรรม มันเป็นสิ่งที่มีขึ้นเพื่อให้เราได้สร้างความดี เพื่อเป็นบารมีของเรานะ เป็นสิ่งที่เราทุกท่าน ทุกคนต้องผ่าน


พระพุทธเจ้าก่อนที่ท่านจะได้ตรัสรู้ธรรม มีนายโสตถิยะได้นำหญ้าคามาถวายทั้งหมด ๘ กำ พระพุทธเจ้าท่านก็เอามาปูเป็นอาสนะสำหรับนั่งสมาธิ เพื่อที่จะตรัสรู้ธรรม


พระพุทธเจ้าท่านก็นั่งขัดสมาธิเพชรแล้วอธิษฐานจิตว่า “แม้หนังเอ็นกระดูกเท่านั้นจักเหลืออยู่ เนื้อและเลือดจะเหือดแห้งไปก็ตามที่จะไม่ลุกออกจากที่จนกว่าจะบรรลุธรรม”


หญ้าคา ๘ กำนี้เป็นบุคลาธิษฐาน ธรรมาธิษฐาน ถ้าเราจะเอามาคิด หญ้าคา ๘ กำก็ได้โลกธรรมทั้ง ๘ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ มีสรรเสริญ มีนินทา มีสุข มีทุกข์ โลกธรรมทั้ง ๘ ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมทุกคนทุกท่านต้องละ ต้องปล่อย ต้องวาง ถ้าไม่ทำอย่างนั้นละไม่ได้


มันเหนื่อย มันไม่อยากลุก ตี ๓ มันเหนื่อย มันไม่อยากลุก เราทำความดี มันเหนื่อย มันไม่อยากทำ มันติดสุข ติดสบาย เพราะว่าตัวตนมันมีนะ มันเลยมีปัญหา


ทุกท่านทุกคนจะทำความดีนี้ จิตใจต้องเข้มแข็งนะ จิตใจต้องเด็ดเดี่ยว กล้าได้ กล้าเสีย อย่าให้ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ความอาลัยอาวรณ์ในความสุข ความสะดวกสบายมันมาเป็นปัญหาแก่เรา

 

เราทำความดี ทำความเพียร เพื่อสร้างบารมี เพื่อชนะจิต ชนะใจของตนเอง


สิ่งที่ฝึกได้ยาก ละได้ยาก คือละตัวละตนนี่แหละ คือฝึกตนนี่แหละ เป็นสิ่งที่ฝึกได้ยาก


อย่างพระอานนท์ เป็นผู้ที่รับใช้อุปัฏฐากพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมะของพระพุทธเจ้ามากกว่าพระภิกษุรูปอื่น องค์อื่น เสด็จตามพระพุทธเจ้าไปทุกหนทุกแห่ง

 


พระพุทธเจ้าท่านเป็นคนดีที่สุดในโลก เป็นคนที่เสียสละที่สุดในโลก สอนให้เขาเป็นคนดี เขาก็ไม่พอใจ


ครั้งหนึ่งพระอานนท์ตามเสด็จพระพุทธเจ้าไปบิณฑบาตที่เมืองเมืองหนึ่ง คนบ้านนั้นเมืองนั้น เขาไม่มีศรัทธา ไม่ได้ถวายอาหารบิณฑบาตแล้วเขาก็ยังด่ายังไล่ เรื่องไม่มีเขาก็หาเรื่อง พระอานนท์ ก็ทนไม่ได้ กราบทูลพระพุทธเจ้าให้พระพุทธเจ้าไปจากที่นี้ เขาไม่เคารพเลื่อมใสก็ให้ไปจากที่นี้


พระพุทธเจ้าท่านไม่มีกิเลสแล้ว “ใครว่าอะไร ท่านก็ไม่มีอะไร เพราะท่านไม่มีกิเลส” พระอานนท์ ทนไม่ไหวเพราะยังมีโลกธรรม มีงานหนักต้องเอาโลกธรรมออกจากจิตจากใจ


พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสว่า “จะหนีไปไหนเพราะปัญหาต่าง ๆ มันอยู่ที่ใจของเรา...” เราหนี ไปเมืองอื่นก็ต้องเอาใจของเราไปด้วย เพราะเป็นโลกธรรมที่ติดเราไป เพราะเรามีตัวมีตน หลงในตัวในตน แก้สิ่งภายนอกมันแก้ไม่ได้


นักประพฤติปฏิบัติธรรมเราสร้างความดี เราต้องตัดโลกธรรม เราต้องข้ามโลกธรรม...


พระพุทธเจ้าท่านนั่งสมาธิก่อนที่จะตรัสรู้ พญามารก็มาเป็นกองทัพ มาตั้งหลายรูปแบบ พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่สนใจ ไม่หวั่นไหว เพราะปัญหาต่าง ๆ มันอยู่ที่ใจของเรา ในวาระสุดท้าย พระพุทธเจ้าท่านก็ได้ตรัสรู้ธรรมชนะมาร
การที่ละโลกธรรมได้ มันมีความสุขมาก...


พระพุทธเจ้าท่านเสวยวิมุติสุขในท่านั่ง ๗ วัน ในท่ายืน ๗ วัน ท่าเดิน ๗ วัน ไม่มีวันไหน ที่จะไม่มีความสุข เพราะละโลกธรรมได้

 


ศัตรูภายนอกมันสำคัญ แต่ไม่สำคัญเท่าศัตรูภายในใจของเรา คือความหลง...

Large_tt716

 


เราทุกท่านทุกคนที่ปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรมเพื่อที่จะเสียสละข้าวของ เงินทอง ลาภ ยศ สรรเสริญ สิ่งเหล่านี้ที่กล่าวมาได้แก่โลกธรรมนั่นเอง


ผู้ปฏิบัติธรรมมันไปไม่ได้เพราะติดโลกธรรม...


การเดินทางเราต้องเดินด้วยเท้า ๒ เท้า เท้า ๑ จะไปพระนิพพาน ท้าว ๑ ก็ติดสุขติดสบาย มันไปไม่ได้...!


พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสกับพระภิกษุว่า “ไม่มีอะไรจะอันตรายมากกว่าโลกธรรมทั้งหลายทั้งปวง” มันมาในทั้งแง่ที่ดี มาทั้งในแง่ที่ไม่ดี เราทำดีมันจะคอยติดดีนะ


ถ้าทำดีท่านไม่ให้ติดดีนะ…


ยกตัวอย่าง พระแม่น้านางของพระพุทธเจ้า คือ พระนางมหาประชาบดีโคตมี ได้ตั้งใจถวายผ้าจีวร ที่ท่านได้ตัดเย็บย้อมอย่างประณีตที่สุดด้วยมือของตนเองอย่างดีที่สุดแด่พระพุทธเจ้า


ครั้นเมื่อน้อมเข้าไปถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านไม่รับ เพราะว่าพระแม่น้านางยังติดในดีอยู่ ที่นี้เมื่อพระพุทธเจ้าไม่รับองค์ต่อไปก็ไม่กล้ารับ ขนาดพระพุทธเจ้าไม่รับใครเขาจะกล้ารับ สุดท้ายก็ได้ไปถวายพระใหม่องค์สุดท้าย พระองค์นั้นก็ได้แก่พระศรีอริยเมตไตรที่จะมาตรัสรู้ในอนาคต


ทำดีก็ไม่ให้ติดดีนะ ทำดีเพื่อเสียสละ ละตัว ละตน เพราะยังเป็นโลกธรรมอยู่


เราเป็นนักปฏิบัติธรรม ไม่ว่าพระ ไม่ว่าโยม ถ้าเรายังต้องการคำว่าขอบคุณ ขอบใจนี้ยังไปไม่ได้ เพราะเรายังติดในโลกธรรมอยู่ อย่างพระของเราถ้านั่งสมาธิ เดินจงกรม หรือทำความดีทุกอย่าง เพื่ออยากให้เขาเลื่อมใส ถ้าคิดอย่างนี้ต้องอาบัติทุกกฎ เพราะใจเรายังไม่แน่วแน่ต่อพระนิพพาน ยังไม่ตรง ยังติดในโลกธรรม

 


ท่านให้เราทำความดีตามธรรมวินัย เพื่อฝึกตนเอง ไม่ขี้เกียจ มักง่าย อ่อนแอ ทำอะไร ตามความเคยชิน ไปบิณฑบาตก็เดินเหมือนชาวบ้าน อาการกิริยาก็เหมือนชาวบ้าน ยังไม่ได้ฝึก ไม่ได้ควบคุม อย่างเรานั่งสมาธิตัวตรงก็เพื่อฝึกตนเอง ไม่ใช่ให้พระภิกษุด้วยกันเลื่อมใส โยมเลื่อมใส


เรานั่งในที่ประชาคม ในศาลา ก็นั่งตัวตรง กลับกุฏิเราก็นั่งตัวตรง นั่งเพื่อละโลกธรรม ใจเรา อยากนั่งตัวงอ อยากนั่งหลับ ก็ต้องฝึก ต้องฝืน ต้องทำความดี เพื่อละตัวละตน


นักประพฤติปฏิบัติ ถ้าไม่ละโลกธรรมจิตใจมันไม่สงบ เพราะคนเราเดินไปขาเดียวไม่ได้ ต้องก้าวไปทั้ง ๒ ขา


เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าท่านยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ ท่านได้เสวยชาติเป็นชาวนา วันหนึ่งลูกชายของท่าน ถูกงูกัดตาย ท่านรู้แล้ว เห็นแล้ว ท่านก็นิ่งเฉย ไม่ได้เศร้าโศรกอะไร ชาวบ้านแถว ๆ นั้นก็เกิดความสงสัยว่าทำไมท่านจึงไม่เศร้าโศรกเสียใจเหมือนกับคนอื่น ๆ เขา ดังนั้นจึงนำข่าวไปแจ้งให้กับคนที่บ้านได้รู้ แต่คนที่บ้านไม่ว่าจะเป็นแม่ เป็นภรรยา เป็นน้องสาว หรือเป็นคนรับใช้ก็ไม่ได้เสียใจร้องไห้คร่ำครวญ คนแถวนั้นที่ได้พบเห็นก็ต่างว่ากันว่าครอบครัวนี้ใจดำ ลูกตายทั้งคน สามีตายทั้งคน พี่ชายทั้งคน เจ้านายตายทั้งคน ไม่เห็นมีใครเศร้าโศรกเสียใจอะไรเลย


ต่อมาก็ได้ไปถามกับพระพุทธเจ้าที่ครั้งนั้นเสวยชาติเป็นพระโพธิสัตว์ว่า ทำไมลูกชายตายทั้งคน ถึงไม่เสียใจ พระองค์ก็ได้ทรงตอบว่า “จะเสียใจทำไม เมื่อเขาตายไปก็เปรียบเสมือนงูลอกคราบ เมื่อมันลอกคราบแล้วมันก็ไม่ใยดีต่อคราบเก่าของมัน”


จากนั้นคนทั้งหลายก็ไปถามกับแม่ว่าทำไมไม่เสียใจทั้ง ๆ ที่ลูกชายตายไปทั้งคน แม่ก็ตอบว่า “จะเสียใจไปทำไม เมื่อเขามาเราก็ไม่ได้เชิญเขามา เมื่อเขาจะไปเราก็ไม่ได้อนุญาต”


พอฟังแม่พูดจบก็ไปถามน้องสาว น้องสาวก็ตอบว่า “ต่อให้เราร้องไห้จนน้ำตาเป็นสายเลือดพี่ชายของเราก็ฟื้นกลับคืนมาไม่ได้”


ต่อจากนั้นก็ไปถามภรรยาอีก ภรรยาก็ตอบว่า “จะเสียใจไปทำไม เหมือนคนเราอยากได้ดวงอาทิตย์ดวงจันทร์มา อยากได้แค่ไหนก็เป็นไปไม่ได้ เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้”


สุดท้ายก็ไปถามหญิงรับใช้ หญิงรับใช้ก็ตอบว่า “ร่างกายที่แตกดับก็เหมือนหม้อน้ำที่มันแตก เมื่อแตกไปแล้วก็ยากที่จะนำมาต่อกลับให้ดีดังเดิมได้...”


เพราะความแน่วแน่ของพระโพธิสัตว์ แม้แต่เกิดเรื่องใหญ่ ๆ ที่เราทุกคนกระทบกระเทือนใจ ลูกตายก็ทำใจได้ เพราะว่าถ้าเราจะไปเป็นทุกข์เป็นร้อน มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร เมื่อถึงคราวปล่อย ก็ควรปล่อยวางในสิ่งที่ควรปล่อยวาง

Large_158

 


เมื่อสิ่งของเรามีใช้ เราต้องดูแลรักษาอย่างทะนุถนอม...


พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุกคนดูแลรักษาสิ่งของอย่างทะนุถนอม อย่างเราใช้บริขารต่าง ๆ อย่างเรา ใช้จีวรก็ต้องดูแลรักษาอย่างดี ถ้าใครปราศจากไตรจีวรยังต้องอาบัติ เพราะการไม่ดูแลสิ่งของ ไม่ดูแลจีวรเขาจะตัดสินกันตอนเช้า ตามวินัยเวลาเราจะไปไหนเราก็ต้องนำติดตัวไปด้วย ที่จริงเขาให้รักษาตลอด อย่างผ้าเราใช้สอย ให้รักษาให้ดี ไม่ให้มีกลิ่นเหม็น


ตัวอย่างการทะนุถนอมก็เช่น เวลาตากก็คอยเลื่อนผ้า ไม่ให้ผ้าเป็นรอย เวลามันแห้งก็รีบเก็บ ไม่ใช่เอาผ้าตากแดดทั้งวัน ไม่ได้! ถ้าตากทั้งวันเดี๋ยวผ้ามันจะแห้งจะกรอบ ผ้ามันจะเสีย เวลาเราไปบิณฑบาตกลับมา ก็ให้เอาผ้าผึ่งแดด ตากนิดเดียวก็ให้รีบเก็บ


ถ้าไม่รักษาอย่างนี้ไม่ได้ ชื่อว่าเราดูแลผ้าไม่ดี ผ้าผืนหนึ่ง ดูแลรักษาให้มันได้ใช้หลาย ๆ ปี ถ้ามันขาดนิดหน่อยก็ให้ชุนเพื่อไม่ให้ขาดไปกว่านั้น ถ้ามากหน่อยก็ให้ปะ การปล่อยวางไม่ใช่ให้ทิ้งขว้าง อย่างนั้นเขาเรียกว่า “ปล่อยปะละเลย” เมื่อมันเสียแล้ว มันใช้ไม่ได้แล้ว มันแตกแล้ว ไม่ต้องไปคิดมันอีก


ถ้าเราเอาการปล่อยวางมาใช้ไม่ถูกขั้นตอนไม่ได้ ถ้วยโถโอชามเสียหายหมด บ้างก็ไม่กวาดกุฏิเสนาสนะ ปล่อยให้สกปรก ครัวทำอาหารก็สกปรกหมด ปล่อยวาง ที่อยู่ที่นอนก็ไม่เก็บ ปล่อยวางอย่างนี้ไม่ได้ ไม่ถูกนะ...


ผู้ที่เขาสิ้นอาสวะเหมือนพระพุทธเจ้า ท่านมักน้อยสันโดษนะ ใช้ของน้อยที่สุด และรักษาดีที่สุด จำเป็นจริง ๆ ถึงใช้

 Large_out066

 


ครูบาอาจารย์ที่เป็นพระอริยเจ้าทุกคนท่านทำอย่างนั้น ท่านปฏิบัติอย่างนั้น ท่านไม่หลงวัตถุ อย่างหลวงปู่มั่นเป็นต้น ท่านสอนพระสอนเณรเนี๊ยบ ไม่ให้หลงไม่ให้เห่อ ที่อยู่ที่นอนจัดเรียบร้อย เหมือนจะไม่นอน เหมือนจัดไว้สำหรับโชว์ ผ้าเช็ดเท้าก็สะอาด พึ่งตากแดดอะไรก็เรียบร้อยไปหมด ผู้ที่หมดกิเลส สิ้นอาสวะ ท่านเป็นคนละเอียดนะ


อย่างท่านเจ้าคุณพุทธทาสท่านเป็นคนประหยัด เขาส่งของพัสดุไปให้ ท่านก็ไม่ให้มักง่ายโดยการ ตัดเชือก ท่านให้ใช้มือแก้เอา แล้วท่านก็พับกล่องส่งพัสดุไปให้คนที่ท่านแจกหนังสือ ของฟุ่มเฟือย อย่างกระดาษทิชชู่ ก็ไม่ให้ใช้ ฉันข้าวเม็ดเดียวก็ไม่ให้พระฉันเหลือ ลองดูสิ ผู้ที่ไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง เขาทำกันอย่างนั้น...


การปล่อยการวางต้องให้มันถูกต้อง...


เมื่อสิ่งไหนมันแก้ไขไม่ได้เราก็ไม่คิดอีก เราไปคิดอีกก็ทุกข์เปล่า ๆ เหมือนเราเห็นดวงเดือนดวงดาว อยากได้มันก็ทุกข์ เพราะคิดเท่าไหร่มันก็ไม่ได้ เราเป็นคนจน อยากจะคิดให้มันรวยมันก็ไม่รวย จะไปคิด มันทำไม คิดแล้วก็เป็นทุกข์เปล่า ๆ น้ำมันไหลลงไปสู่ในที่ต่ำ เราไปร้องไห้เสียใจพิลัยรำพันว่าทำไม น้ำไม่ไหลขึ้นไปบนภูเขา เราก็เป็นทุกข์เปล่า ๆ


ความเกียจคร้าน ความอ่อนแอ ที่มันมีอยู่กับเราเฉพาะหน้านี้ เป็นเรื่องที่เราต้องละ ต้องฝืน ต้องทน ถ้าเราไม่อด ไม่ทน ไม่ฝืน อีกหลายปีข้างหน้าเราต้องมีทุกข์แน่นอน เพราะมันกำลังเริ่มเพาะพันธุ์ในจิตในใจของเรา


ทุกท่าน ทุกคน ต้องฝืนความขี้เกียจขี้คร้าน...


พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า “ธรรมเหล่าใดเป็นไปด้วยความขี้เกียจขี้คร้าน มักง่าย ธรรมเหล่านั้นไม่ใช่พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า”


ความขี้เกียจขี้คร้านมันเป็นหนทางแห่งความเสื่อม ความเลื่อมเป็นหนทางแห่งความยากลำบาก ยากจน มีหนี้มีสิน สารพัดทุกข์

Large_dsc03854

 


ทุกท่านทุกคนต้องขยันไว้ก่อนนะ...


ยิ่งเราเป็นเด็ก เป็นนักเรียน เป็นนักศึกษาต้องขยันมาก ๆ ถ้าเราไม่ขยันมาก ๆ ขยันจริง ๆ มันแก้ไขตนเองไม่ได้ เพราะว่าตัวขี้เกียจขี้คร้านนี้เป็นตัวสำคัญ เป็นตัวที่เราจะต้องแก้ไข ถ้าเราไม่แก้ไขตอนนี้ เราจะไปแก้ไขตอนไหน เพราะภาระหน้าที่ของเรา ปัญหาต่าง ๆ มันจะประดังเข้ามานะ


วันสอบมันก็ใกล้เข้ามา อะไรมันก็รัดตัวเข้ามาหมด ที่นี้แหละ จิตใจของเราก็ร้อนรน ทำอะไรไม่ถูก จับปากกา กำปากกา ปากกาก็เปียกหมด เพราะความประมาทของเราแท้ ๆ เราเองทำตัวเองแท้ ๆ บดบังเวลา เอาเวลาไปนอนมากเกินไป ไปคุยโทรศัพท์มากเกินไป ฟังเพลงมากเกินไป เที่ยวสรวลเสเฮฮามากเกินไป “การสอบของเราแทนที่จะได้ ท๊อปเทน (Top 10) มันก็ได้บ๊วย...!”


คนเราต้องแข่งกับตัวเองนะ แข่งกับเวลา...


เราพยายามบังคับตนเอง เด็ก ๆ ก็บังคับตนเองทำความดี อย่าให้พ่อแม่ว่า พ่อแม่บ่น พ่อแม่จะได้ มีความสุขในการทำงาน ได้เงินให้เราเรียนหนังสือ


ลูกฝรั่งเขา ๒ ขวบ ๓ ขวบ เขาก็แยกห้องนอน สอนลูกเขาเก็บที่อยู่ที่นอน ดูแลห้องน้ำ ห้องสุขาตั้งแต่น้อย ๆ แล้วนะ ไม่เหมือนคนไทยเรา คนไทยนอนกับพ่อกับแม่จนโต


ฝรั่งเขาสอนให้ลูก เขาดูแลความสะอาดตั้งแต่น้อย ๆ นะ เขาเน้นเรื่องระเบียบ เรื่องวินัยตั้งแต่น้อย ๆ ขยะนิดเดียวก็ให้เก็บ พ่อแม่ก็ทำให้ดู อายุ ๘ ขวบ ๙ ขวบ ๑๐ ขวบ เขาก็ทำอาหารเป็น ทำกับข้าว พื้น ๆ เป็น ผู้ชายผู้หญิงก็เป็นเหมือนกันหมด ถึงแม้เขาทำอาหารไม่อร่อยเหมือนคนไทย แต่ทุกคนก็ทำเป็น
ความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเขาก้าวไปไกลกว่าเรานะ


เราอยากรวยเหมือนเขา ก้าวไกลเหมือนเขา แต่เราไปเน้นแต่เรื่องเรียนหนังสือ ก็เลยทิ้งการประพฤติปฏิบัติ


การประพฤติปฏิบัตินี้มันเป็นพื้นฐานนะ ตั้งแต่เก็บที่อยู่ที่นอน ทำความสะอาด ซักเสื้อผ้า พื้นฐานแบบนี้เราทิ้งไป เราเอาแต่เป็นคนเก่ง เป็นคนฉลาด การเก่ง การฉลาดมันดี แต่เรื่องคุณธรรม มันต้องมี ถ้าไม่อย่างนั้นบ้านเมือง “ฉิบหายแน่...!” กินบ้านกินเมืองหมด เพราะว่า เป็นคนมีความสามารถแต่ขาดคุณธรรม


ถ้าเรามัวคิดว่าเราเกิดมามีบุญน้อย วาสนาน้อย เพราะพ่อแม่เรามันจน ครอบครัววงศ์ตระกูลเรายากจน เรามามัวคิดอย่างนี้ มันไม่ได้นะ

 

 Large_dsc000151


ทุกคนเกิดมาให้ถือว่า สิทธิเสรีภาพพอ ๆ กัน ไม่มีใครเอาเสื้อผ้าทรัพย์สมบัติอะไรมาด้วย เมื่อเรามีลมหายใจอยู่ก็ถือว่าเราได้สิ่งที่ดี สิ่งที่ประเสริฐที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์


เราขยันหมั่นเพียร ทำการทำงาน พร้อมกับเรียนหนังสือ ก็ถือว่าเราเกิดมาเป็นผู้เสียสละ


พระพุทธเจ้าท่านให้เราคิดอย่างนี้นะ เราเกิดมาเพื่อกอบกู้สถานการณ์ ช่วยพี่น้อง ช่วยประเทศชาติ ให้เราคิดอย่างนี้ ทำความดีแข่งกับเวลา อดเอา ทนเอา เราจะได้พัฒนาสายพันธุ์ที่มันดี ๆ นะ พัฒนาสายพันธุ์ที่มันมีประโยชน์ สายพันธุ์ขี้เกียจขี้คร้านเห็นแก่ตัวนี้ เราจะไม่เอามัน...


ทุก ๆ คนทำได้นะ ต้องทำได้ ความไม่เข้าใจของคนเรามันทำให้เราไม่เข้าใจในภาคปฏิบัติ มันปล่อยโอกาส ปล่อยเวลาให้มันเสียไป พลาดไป


กาลเวลามันไม่คอยใคร... มันประมาท เหมือนกระต่ายมันวิ่งเร็ว มันไปเห็นว่าเต่าเดินช้า มันหัวเราะ เดินช้า ๆ อย่างนี้จะไปถึงไหน เต่าก็บอกว่าเดินช้า ๆ ถ้าเดินไม่หยุดมันก็ไปได้ไกลเหมือนกันนะ...


สุดท้ายก็ท้ากันว่าใครจะวิ่งถึงเส้นชัยได้ก่อนกัน กระต่ายก็เห็นว่าเต่ามันเดินช้าก็เลยนอนก่อน มัวแต่นอน ไม่รู้นอนหลับไปกี่ชั่วโมง เต่ามันเดินไปถึงเส้นชัยก่อน กระต่ายมัวแต่นอนจนลูกมะตูมมันตก ถึงได้ตื่นขึ้นมา เหลียวซ้ายแลขวาไม่เห็นเต่า วิ่งไป เต่าไปถึงเส้นชัยก่อนตั้งนาน...


ความชะล่าใจ ความประมาทมันเป็นอย่างนี้ เราคิดไปว่าเรามันยังเป็นเด็กอยู่ เรามันยังแข็งแรงอยู่ เรากำลังสร้างเนื้อสร้างตัวอยู่ อย่าเพิ่งประพฤติปฏิบัติธรรมเลย เราตั้งใจทำมาหากินก่อน ร่ำรวยเมื่อไหร่ ถึงประพฤติปฏิบัติ อย่างนี้


ความตายเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน อาจถึงแก่เราเมื่อไหร่ก็ได้ ส่วนใหญ่คนเราก่อนจะตายมันไม่ค่อยได้เตรียมตัวนะ จู่ ๆ มันไปเลยนะ


ความตายของคนเรามันตายตลอดนะ มันตายทุกลมหายใจ ลมหายใจเก่าไปใหม่มา มันต่อเนื่องกันเลย


เมื่อเรานั่งอยู่ที่นี่ เราย้ายไป แสดงว่าเราตายครั้งหนึ่ง ถ้าเราคำนวณตั้งแต่เด็ก ๆ เราตายไปเยอะแล้ว แล้วจะตายไปอีกเรื่อย ๆ

 

 


อายุขัยเรามันจำกัดนะ ส่วนใหญ่ก็ไม่เกิน ๑๐๐ ปี...


พระพุทธเจ้าท่านถึงให้เราทำใจ ทรัพย์สมบัติที่เราหามาทั้งหมด เวลาเราตายไปก็ไม่ได้อะไรซักอย่าง ให้ถือว่าปัจจัย ๔ ทั้งหลายทั้งปวงที่เรามีอยู่ เรามีกินมีใช้ เหลือกินเหลือใช้เพื่อให้เราได้บำเพ็ญบุญกุศล สร้างความดี สร้างอริยทรัพย์ เพื่อจะได้สร้างบารมี เราจะไปมัวนอนเหมือนกระต่ายไม่ได้ ถึงเวลานาทีแล้วมันจะจัดการอะไรไม่ได้

 

Large_pic020


เดี๋ยวนี้เรากำลังติดอะไรอยู่ ประการแรกให้รู้ มันติดขี้เกียจขี้คร้าน นี่เป็นด่านใหญ่...


ปฏิปทาในการทำความดีของเราต้องให้มันต่อเนื่องนะ ขยันวันสองวัน ให้ขยันจนขี้เกียจไม่เป็น ที่มันอ่อนแอ ที่ผ่าน ๆ มาก็ให้มันแล้วไปนะ


พระพุทธเจ้าท่านบอกเราแล้วนะ ครูบาอาจารย์สอนเราแล้วนะ เราอย่าเป็นคนว่ายากสอนยาก ตั้งในความประมาท ปัญหาต่าง ๆ ในขณะนี้มันไม่เกิด มันจะเกิดภายภาคหน้า ต้องแก้ไขปัจจัยไม่ให้มันเกิด มันต้องเกิดแน่


ความดีอย่าคิดว่ามันเพียงพอ ความเห็นแก่ตัวของเรามันจะบอกตัวเองเสมอ แค่นี้พอแล้ว


“คนเราถ้ามันมีสะดุดในหัวใจ แสดงว่าความดียังไม่พอ”


การออกกำลังของคนมันดี มันออกได้ แต่ว่ามันไม่สม่ำเสมอ เมื่อมันไม่สม่ำเสมอ มันก็เป็นอันว่า เรายังทำไม่ได้ ความดีต้องทำสม่ำเสมอ เหมือนลมหายใจ หายใจเข้าสบายออกสบายไปเรื่อย


ความดีเราต้องทำสม่ำเสมอ ถ้าเราไม่ทำสม่ำเสมอนี้ไม่ได้นะ


ความเจริญงอกงามมันไม่ได้ไปตามลำดับ อย่างเราปลูกต้นไม้ไว้ ๒ ต้น ต้นหนึ่งไม่ได้ดูแล ปลูกแล้ว ก็แล้วไป อีกต้นดูแลรักษา ดูแลกำจัดวัชพืช ให้น้ำให้ปุ๋ย ให้แสงแดดตลอด ความเติบโตก็ต่างกัน ต้นที่ปลูกแล้วไปแล้ว ส่วนใหญ่มันตาย

 


ความดีเป็นสิ่งที่ทำยาก ต้องทำต่อเนื่องเสมอ ๆ คนเราส่วนใหญ่สมาธิสั้นนะ นั่งสมาธิท่องพุทโธ ไม่กี่วินาทีก็ไปแล้ว ไม่ต้องนับเป็นนาที ต้องตั้งใจท่องพุทโธไปเรื่อย ๆ อย่าให้ขาดกลายเป็น “สันสติ” ท่องพุทโธให้ได้ไปนาน ๆ

Large_pic017

 


เราทำความดีถ้าไม่สม่ำเสมอ เราสร้างฐานะการงานก็ไม่พอร่ำรวย ไม่พอที่จะมีคุณธรรม เพราะงานนี้ความตั้งมั่นของเรามันน้อยเกิน ต้องทำสม่ำเสมอ เวลาทำใหญ่ก็ทำใหญ่ หยุดก็หยุดใหญ่ ต้องทำสม่ำเสมอไปเรื่อย ๆ ความดีของเราจะได้ตั้งไว้นาน สมาธิจะได้ตั้งไว้นาน


เรามองดูเพื่อนเรารอบข้างทุกทิศทุกทางมันทำความดีตั้งไว้ไม่นาน “เดี๋ยวดีมันก็แตก” เป็นคนดีแตก


สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ มันไม่พอ ไม่เพียงพอ มันยังเข้า ๆ ออก ๆ ขึ้น ๆ ลง ๆ ความดีต้องตั้งไว้ตลอดกาลเลย ไม่ต้องลังเลสงสัย ในอนาคตต้องดีแน่ ทุกอย่างดีหมด แล้วก็ดีจริง


พระพุทธเจ้าให้ทุกคนตั้งตั้งมั่นในความดี อันไหนมันเป็นความดีให้เราตั้งมั่นไว้นาน ๆ แล้วก็พัฒนาความดีให้มันยิ่ง ๆ ขึ้นไป ให้ตัวเองไว้ใจตัวเองว่าตัวเองนี้ตั้งมั่นในความดี สิ่งที่ไม่ดีไม่ทำละ


ตัวเองต้องไว้วางใจตนเอง คนอื่นเขาอยากทำมันก็เป็นเรื่องของเขา คิดอย่างนี้จิตใจของเราก็ไม่เสื่อม เราถึงจะละโลกธรรมออกจากใจเราได้ เมื่อตนไม่ไว้ใจตนเอง จะให้คนอื่นไว้ใจมันก็เป็นสิ่งที่ยากพอสมควร เราอย่าไปคิดว่าเราทำดีพอแล้ว คิดว่าความดีของเราเพียงพอ


เราอย่าไปสันโดษในความดีนะ...


เขาเป็นพระอรหันต์แล้ว หมดกิเลสแล้ว เขายังขวนขวายเพื่อประโยชน์ของคนอื่น ให้พยายาม รู้จักตัวเองให้มากขึ้นว่าตัวเองทำอะไรอยู่ คิดอะไรอยู่ พูดอะไรอยู่


ส่วนใหญ่คนเรามันไม่รู้ตนเองนะ กว่าจะรู้ตัวเองมันสายไปแล้ว ตัวเองมันปวดหัวแล้ว มันปวดตัวแล้ว

Large_tonkla063

 


ตอนเรากินเราบริโภคอาหาร เราไม่รู้ มันไม่มีสติ อะไรมันเข้าไปในร่างกายของเรา บางทีเราก็ เอาความเอร็ดอร่อยเป็นหลัก อย่างนี้เป็นต้น


อย่างคนปวดท้อง “ท้องเดินไปทานอะไร...?” ยังไม่รู้ตัวเองทานอะไรเลย ส่วนใหญ่มันจะ เป็นอย่างนี้ เพราะว่ามันไม่ค่อยรู้ตัวเอง ส่วนใหญ่มันเป็นอย่างนี้


ทุกสิ่งทุกอย่างมีเหตุมีปัจจัย จะนอกเหตุนอกปัจจัยไปไม่ได้


เมื่อเรารู้ตัวแล้ว เราจะได้แก้ไขตนเอง พัฒนาตนเอง ทำความดีให้เพิ่มมากขึ้น


พวกที่เป็นลูกเป็นหลานทั้งหลายทั้งปวง อย่าลืมว่าพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ของเราแก่ไปทุกวันนะ เราจะอาศัยใบบุญของท่านตลอดไปไม่ได้ ก็ให้ทุกคนรู้เพื่อรู้ตัวว่า เราจะต้องตั้งใจเรียนหนังสือ ตั้งใจทำงาน เป็นคนดีมีศีลมีธรรม มีคุณธรรม ต้องปรับปรุงตนเองเป็นมนุษย์สายพันธุ์ใหม่ สายพันธุ์ดี ๆ ให้ได้
เราถือว่าเราเป็นคนโชคดี เกิดมาได้สร้างความดี สร้างบุญกุศล


พระพุทธเจ้าท่านให้กุลบุตรลูกหลานที่ได้บวชมาได้มารู้หลักประพฤติปฏิบัติ เวลาสิกขาลาเพศจะได้นำคำสั่งสอนที่ประเสริฐไปประพฤติปฏิบัติ จะได้รับความสำเร็จ ไม่มีคำว่ายากจน มีแต่เจริญรุ่งเรือง เป็นที่เชิดชูของพ่อของแม่ ญาติพี่น้อง วงศ์ตระกูล

 

 


พระพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ให้เรากระตือรือร้นในการทำข้อวัตรปฏิบัติ อย่าได้ท้อแท้ท้อถอย มีความสุขในการรักษาศีล ทำข้อวัตรปฏิบัติ เหนื่อยก็ช่างมัน ผอมก็ช่างมัน ทำความดีไปก่อน


ขออนุโมทนากับทุกท่านทุกคน ที่นำพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้ในดวงใจเพื่อนำไปใช้ประพฤติปฏิบัติ...

 

Large_tt709

 

พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ที่องค์พ่อแม่ครูอาจารย์เมตตาให้นำมาบรรยาย
เช้าวันอังคารที่ ๑๐ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๕

 

หมายเลขบันทึก: 487741เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 15:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 16:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท