เล่าสู่กันฟัง


เราพร้อมที่จะเป็นผู้นำการปลี่ยนแปลงหรือยัง

เล่าสู่กันฟัง

     ผมพบต้นฉบับบันทึกเก่าโดยบังเอิญ เคยเขียนลงวารสารหรือจดหมายข่าว เมื่อประมาณ ๓ - ๔ ปีก่อน อ่านแล้วเห็นแนวคิดที่ไม่เปลี่ยนแปลง ร่องรอยการเดินทางที่ทำให้มีวันนี้ได้ อยากเล่าสู่กันฟัง เผื่อจะมีประโยชน์บ้างกับโรงเรียนเล็กๆด้วยกัน ลองติดตามอ่านดูนะครับ

..... ขออนุญาตบอกเล่าเรื่องราวของโรงเรียนขนาดเล็ก ที่นับวัน ผู้บริหารและครูส่วนใหญ่ อยากจะโยกย้ายออกไปเหลือเกิน เห็นได้จากเสียงบ่นในเว็บไซต์ ที่ปฏิเสธนโยบาย สพฐ.บ้าง ไม่เห็นด้วยกับ สมศ.บ้าง แต่แท้จริงนั้น โรงเรียน(บางโรง) ก็ไม่เคยดูตัวเองเลย ไม่เคยคิดที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรเลย

     พูดเช่นนี้มีวัตถุประสงค์ ต้องการให้กำลังใจคนทำงานในโรงเรียนขนาดเล็ก ว่าสามารถประสบความสำเร็จและมีความสุขได้ แต่อย่าหนีความจริง เพราะสพฐ.ต้นสังกัด ก็ไม่ได้ทอดทิ้งพวกเรา เพียงแต่เราพร้อมที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงหรือยัง

     ปีการศึกษา๒๕๕๑ ผมมีครู ๓ คน นักเรียน ๕๒ คน ผลการประเมินภายนอกสมศ. (รอบ๒)เราได้ดีทุกมาตรฐาน ปฐมวัยมีดีมาก คณะกรรมการกล่าวชื่นชมเรานับแต่ย่างก้าวเข้าสู่โรงเรียน..ด้วยคำพูดที่ว่า "สัมผัสได้ถึงบรรยากาศทางวิชาการ" และ "สภาพที่สะอาดสดใสสวยงาม อย่างที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน"

     ครูทุกคนเตรียมการรับสมศ.ไม่ถึง ๑ เดือน ถ่ายเอกสารหมดไปไม่ถึง ๑๐๐ บาท ครูตื่นเต้นเล็กน้อย ผมบอกครูว่าสอนไปตามธรรมชาติเถอะ เดี๋ยวกรรมการเขาเข้าใจเอง ถ้าเราเตรียมมากเกิน อาจต้องทิ้งเด็ก ซึ่งเป็นเรื่องเสียหายและเป็นการประเมินผิดทาง เอกสารที่นำมาให้กรรมการดู ส่วนใหญ่เป็นผลงานนักเรียน    ที่เกิดจากการบูรณาการการเรียนการสอน ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ ด้วยโครงการใหญ่ๆ คือโครงการเกษตรเพื่อชีวิตสู่ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โครงการจัดทำหนังสือเล่มเล็ก โครงการดนตรีเพื่อคุณธรรมนำความรู้ และโครงการนิทานคุณธรรม

     ๔ โครงการนี้เท่านั้น ที่สมศ.ต้องยอมรับโรงเรียนขนาดเล็กของสพฐ.ว่ามีคุณภาพ เห็นชัดว่าหลอมรวมกิจกรรมได้จนเด็ก เก่ง ดี มีความสุขที่ได้มาโรงเรียน ทำให้เด็กอ่านคล่องเขียนหนังสือเป็นเรื่องราวได้ หลักฐานงานวิจัยเล็กๆ(หน้าเดียว)ของผม กรรมการขอถ่ายสำเนาไปเป็นที่ระลึก โดยบอกว่าเป็นนวัตกรรมที่เหมาะสม ง่ายแต่งดงาม เป็นการบันทึกปัญหาและแนวทางแก้ไขตลอดการทำงานของผม  ไม่คาดหวังว่าจะเป็นผลงานทางวิชาการ แต่พยายามหาแง่มุมที่จะพัฒนาผู้เรียนและโรงเรียนต่อไป

     ผมก็เหมือนกับผู้บริหารหลายคน ที่ภูมิใจและมีความสุขกับโรงเรียนเล็กๆ และก็เห็นใจผู้บริหารบางคนที่โหยหาโรงเรียนใหญ่และมักดูแคลนโรงเรียนเล็ก เป็นที่วุ่นวายในระดับเขตพื้นที่ ทุกวันนี้พยายามเหลือเกินที่จะเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้โรงเรียน ให้มีศักดิ๋ศรีเป็นที่ยอมรับด้านคุณภาพ มีจุดขายด้านนวัตกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้ชัดเจนและจริงจัง ภาพรวมของโรงเรียนขนาดเล็กก็จะไปได้อย่างสง่างาม

     สุดท้ายนี้ที่ผมอยากบอกเล่าก็คือ ผมควบคุมสถานการณ์ได้หมด ไม่อึดอัด ไม่คับข้องใจ ไม่เคยหดหู่หรือท้อถอย และไม่เรียกร้องใดๆ จับจุดปัญหาได้ แล้วค่อยๆแก้ไป โดยใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และแนวคิด "สถานศึกษาต้นทุนต่ำ" บริหารจัดการโดยใช้สูตร ๕๐ : ๕๐ ช่วยครูสอนและแบ่งเบาภาระ ๕๐%  บริหาร ๕๐ % ครูและนักเรียนจึงมีความสุข งานเดินหน้าตลอด มีผลงานเป็นรูปธรรม พร้อมตรวจสอบและประเมินตลอดเวลา.........

     ครับ..ผมบันทึกไว้นานแล้ว ทำได้ตามนั้น เห็นผลในทางปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ และคงต้องใช้ในแนวทางนี้ต่อไป

 

หมายเลขบันทึก: 487419เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012 14:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2013 21:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • สวัสดีครับท่านผอ.ชยันต์
  • ตั้งใจมาแวะให้กำลังใจ
  • เห็นด้วยกับวิธีการแก้ไขปัญหาในกรณีมีครูผู้สอนน้อย
  • ผมเคยเห็นท่านผอ.วิชิต ผอ.โรงเรียนบ้านดอยแดน อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน
  • ท่านใช้วิธี ทำงานร่วมกับชุมชน หาทุนเองจ้างครูผู้ช่วยสอนครับแต่ให้ชุมชนมีส่วนร่วมครับผม
  • ปัจจุบันน่าจะได้รับเป็นโรงเรียนตัวอย่างหรือต้นแบบ ไปแล้วครับ
  • ขอบคุณครับ


- ส่งกำลังใจ...มาให้...มีความเข้มแข็งและอดทน...สามารถทำงานที่ยาก  งานที่หิน ให้สามารผ่าน..ไปด้วย...ความสุข...ทุกข์น้อย  ไม่โดดเดี่ยว....นะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท