การพัฒนาการวิจัยทางเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา


ผมได้มีโอกาสไปช่วยดูการทำวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ โดยเป็นประธานสอบป้องกันและเป็นที่ปรึกษา ซึ่งส่วนหนึ่งจะเป็นการทำวิจัยวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท ทางด้านสื่อ เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ๓-๔ รายแล้วด้วยกัน นักศึกษาทุกคนเป็นคนทำงานทางด้านการศึกษาอยู่แล้ว ทั้งเป็นครูผู้สอน ผู้บริหารงานการศึกษา และเป็นคนทำงานเชิงนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญของมหาวิทยาลัย ดังนั้น จึงมีความสำคัญต่อการจบออกไปเป็นเครือข่ายผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่จะสามารถนำเอาวิธีการทางสื่อ เทคโนโลยี และสื่อสารการศึกษา ไปใช้ทำงานให้เกิดผลกระทบที่ดีทั้งต่องานที่รับผิดชอบและต่อสังคมโดยรวม

การวิจัยและพัฒนาทางเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา

การวิจัยวิทยานิพนธ์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ทางด้านสื่อ เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา เน้นการวิจัยและพัฒนาทางด้านการศึกษาที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาท้องถิ่นและสนองตอบต่อความจำเป็นในเงื่อนไขแวดล้อมของท้องถิ่น โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นพื้นที่ในความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัย ดังนั้น จึงมุ่งตอบโจทย์การวิจัยเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ทั้งในและนอกระบบโรงเรียน รวมทั้งการเลือกสรรการเปลี่ยนแปลง ที่มุ่งนำเอาปัจจัยด้านสื่อ ระบบเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาไปใช้ในลักษณะต่างๆ ทั้งในระดับปฏิบัติของผู้เรียน ผู้สอน ผู้บริหาร ตลอดจนการออกแบบและดำเนินงานเชิงระบบ เพื่อปฏิรูปการศึกษาเรียนรู้และเพิ่มขีดความสามารถของมนุษย์ในการบรรลุจุดหมายเพื่อการศึกษาเรียนรู้ ซึ่งก็เป็นแนวการวิจัยและพัฒนา ที่สอดคล้องกับแนวดำเนินการกันทั่วไปในสาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ของมหาวิทยาลัยต่างๆทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

ความสำคัญของการบูรณาการประเด็นทางสังคม
เข้าสู่การวิจัยและพัฒนาทางเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาที่พอดี-พอเพียง

ด้วยความที่ผมเองนั้น นอกจากถือเอาการทำงานทางด้านสื่อกับเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา เป็นเครื่องมือทำงานต่างๆได้อย่างดีอยู่เสมอแล้ว ก็เล็งเห็นความสำคัญมากของการดำเนินงานทางด้านสื่อ เทคโนโลยี และสื่อสารการศึกษา ในอันที่จะมีส่วนต่อการพัฒนาการศึกษาและการสร้างคน ทั้งในวงการศึกษาและการพัฒนาในสาขาการพัฒนาอื่นๆหลายประการด้วยกัน

ขณะเดียวกัน ก็เห็นความจำเป็นจำเพาะของประเทศกำลังพัฒนาดังเช่นประเทศไทย ที่ต้องให้ความสำคัญต่อการสนองตอบต่อสภาพปัญหาและความจำเป็นหลายอย่างพร้อมกันไปในเวลาเดียวกัน ซึ่งการพัฒนาตนเองบนรากฐานภูมิปัญญาและเทคโนโลยีของตนเองในท้องถิ่น ก็มีความสำคัญ ขณะเดียวกัน การเลือกสรรการเปลี่ยนแปลงเพื่อสนองตอบต่อพัฒนาการทางด้านวิทยาการและเทคโนโลยีที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็วของสังคมโลก ก็มีความจำเป็นไม่น้อยไปกว่ากัน จึงจำเป็นต้องดำเนินไปด้วยความเหมาะสม พอเพียง พอดี มีความสมดุลและเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งทฤษฎีที่ใช้ชี้นำการปฏิบัติ ตลอดจนความรู้ที่นำมาใช้ดำเนินการในบริบทของสังคมไทย ก็ย่อมมีความแตกต่างจากทั่วไปในสังคมโลก และอธิบายได้ในเงื่อนไขความเป็นสังคมไทย แต่การวิจัยโดยทั่วไปยังไม่สามารถตอบโจทย์ในลักษณะนี้ได้ [๑] ซึ่งทำให้องค์ความรู้และบทเรียนการปฏิบัติหลายอย่างของนักศึกษาที่ได้ค้นพบและมีคุณค่ามากทั้งต่อนักศึกษาเอง วงวิชาการ และต่อสังคม ไม่มีวิธีรายงานให้สอดคล้องกับธรรมชาติเฉพาะของงานทางเทคโนและนวัตกรรมเพื่อการศึกษาเรียนรู้

ข้อจำกัด โอกาสการพัฒนา และวัตถุประสงค์ของการบันทึกรายงาน

จากที่กล่าวมาในข้างต้น ผมจึงเห็นความสำคัญที่จะต้องถือว่า การที่นักศึกษาและนักวิชาการศึกษาทางเทคโน จะมีความเข้าใจต่อสภาพปัญหาในบริบทของสังคมตนเอง การมีวิธีคิด ความมีปัญญาในการมองและเห็นโอกาสในการแก้ปัญหา การทำได้ ความแตกฉานและรอบรู้ในสิ่งที่ตนเองได้ทำ ความมุ่งมั่นและจริงจังต่อการทำงานเพื่อสังคม การอธิบาย ใช้ข้อมูลและความรู้ การสร้างความรู้ความเข้าใจ การรายงานและเผยแพร่แก่สาธารณะ ความเป็นผู้นำทางวิชาการ และความสามารถ ในอันที่จะนำเอาความรู้ไปใช้พัฒนาสังคม เหล่านี้ เป็นสิ่งที่เมื่อมีโอกาส ก็ควรจะได้เน้นให้มีอยู่ในงานวิจัยและภาวะผู้นำทางวิชาการที่ติดไปกับตัวนักศึกษา ส่วนเทคนิคต่างๆของการทำวิจัยและรูปแบบการทำวิทยานิพนธ์ จะนำมาเป็นองค์ประกอบสนับสนุน ในขณะที่การออกแบบและดำเนินการโดยทั่วไปจะมุ่งดำเนินตามรูปแบบและเทคนิคการวิจัย [๒] ไม่ยืดหยุ่นสำหรับการออกแบบและพัฒนาวิธีคิดเพื่อสนองตอบต่อลักษณะเฉพาะของกระบวนการทางการศึกษาในบริบทสังคมวัฒนธรรมไทย

แนวทางดังกล่าวนี้ มีความสำคัญมากพอสมควร เนื่องจากในสาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษานั้น มีความเกี่ยวข้องกับมิติที่เป็นการ แก้ปัญหาในระดับจุลภาคหรือระดับการคิดและทำได้จริงในภาคปฏิบัติ ขณะเดียวกัน ก็เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบทางระบบเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาในระบบเชิงมหภาค ซึ่งมีความก้าวหน้าและเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเร็วมากอย่างยิ่ง การวิจัย สร้างความรู้ และสร้างความเป็นผู้นำทางวิชาการให้กับกำลังคนในสาขาการพัฒนาต่างๆทางด้านนี้ จึงต้องมีความสามารถในการพัฒนาให้ทัดเทียมกับสภาวการณ์สังคม และสะท้อนธรรมชาติความเป็นจริงจำเพาะของสาขานี้ โดยเฉพาะความมีลักษณะผสมผสานกันทั้งทฤษฎี ศาสตร์ ศิลป์ องค์ประกอบทางการปฏิบัติ และการขับเคลื่อนมติสังคมวัฒนธรรมที่ดำเนินไปกับพัฒนาการทางวิทยาการและเทคโนโลยี

ด้วยการเห็นนัยสำคัญดังกล่าวต่อความจำเป็นในการวิจัยและพัฒนาในสาขานี้ให้สอดคล้องกับความจำเป็นจำเพาะของสังคมไทย รวมทั้งต่อความจำเป็นของการพัฒนาสร้างคนและสังคมในเงื่อนไขแวดล้อมใหม่ๆของสากล ซึ่งเรียกร้องให้การเลือกสรรการเปลี่ยนแปลงในขอบเขตต่างๆ และการทำงานเพื่อบรรลุจุดหมายทางการปฏิบัติด้วยพลังการเรียนรู้ของมนุษย์ ได้มีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ในกระบวนทัศน์ใหม่ๆ ให้เพียงพอและทัดเทียมต่อการบูรณาการกับปัจจัยทางด้านอื่นๆให้มากยิ่งๆขึ้นนั้น

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงเห็นข้อจำกัดของรูปแบบการวิจัยที่ดำเนินการอยู่ทั่วไปบางประการ เมื่อมีโอกาสดูแลงานวิจัยทางด้านนี้ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็จะถือโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมกันพัฒนาด้วยกันให้ได้มากที่สุดภายใต้ข้อจำกัดที่จะเอื้อให้ทำกันได้กับทีมอาจารย์ที่ช่วยกันเป็นกรรมการและนักศึกษา เช่น ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็ได้ร่วมกับคณาจารย์ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย นำเอาการวิจัยเชิงคุณภาพ และการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม เข้าไปสู่การวิจัยในสาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ในมหาวิทยาลัยมหิดลหลายสาขา ก็สามารถนำเสนอตัวแปรทางด้านเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา รวมทั้งมิติสังคมวัฒนธรรมของกระบวนการศึกษาเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับองค์ประกอบทางเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา เข้าสู่กรอบแนวคิดการวิจัย ส่งเสริมความเข้มแข็งและสร้างความรอบด้านมากขึ้นให้กับการวิจัยและทำงานในสาขาต่างๆ

เมื่อได้ดูแลการทำวิจัยวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่อีก ผมจึงได้มีโอกาสร่วมกับคณะกรรมการทั้งภายในและภายนอกของมหาวิทยาลัยอีก ในอันที่จะช่วยนักศึกษาวิเคราะห์ รายงานผล และเข้าถึงการเรียนรู้ต่างๆในเรื่องที่นักศึกษาได้ทำ ให้มีความเหมาะสมที่สุด รวมทั้งกรอบในการวิเคราะห์และรายงานผล ที่ขอให้ปรับปรุงทุกเรื่องให้สอดคล้องกับลักษณะการวิจัยทางเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา

ดังนั้น บันทึกนี้ จึงเป็นทั้งการบันทึกและรายงานพัฒนาการ รวมทั้งเป็นการนำเสนอและสร้างกระบวนการคิด เพื่อส่งเสริมให้เกิดการร่วมกันพัฒนากันต่อไปของคนทำงานและผู้เชี่ยวชาญในสาขานี้ของประเทศ ซึ่งการค่อยทำและค่อยเรียนรู้เพื่อทำให้ก้าวหน้าไปบนการปฏิบัติ เชื่อว่าจะก่อให้เกิดคุณูปการมากยิ่งๆขึ้นเป็นลำดับต่อการวิจัยและพัฒนาทางการศึกษาในสาขานี้ ซึ่งทั้งในปัจจุบันและอนาคต ก็เชื่อว่าการพัฒนาทางเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษานั้น จะเป็นมาตรการเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญและมีความหมายมากที่สุดอย่างหนึ่งต่อการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ และการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ ทั้งในระบบการศึกษาและการพัฒนาสังคมสาขาต่างๆ

การออกแบบและรูปแบบการวิจัยโดยทั่วไป
ของการวิจัยทางเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา

 

ภาพที่ ๑ ตัวแบบการวิจัยสื่อและทางเทคโนโลยีการศึกษาโดยทั่วไปในประเทศไทยและสาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาในต่างประเทศ  เป็นตัวแบบที่เน้นการเปรียบเทียบสื่อและวิจัยประเมินประสิทธิภาพสื่อกับระบบเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา โดยมุ่งให้สื่อกับระบบเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาเป็นตัวแปรอิสระ และประสิทธิภาพต่อผลสัมฤทธิ์ทางด้านต่างๆที่เกิดต่อกลุ่มเป้าหมาย เป็นตัวแปรตาม สร้างความรู้เพื่ออธิบายเปรียบเทียบกับบทบาทการสอนโดยครูหรือสถานการณ์อื่นๆ [๓] ซึ่งเหมือนกับมีคำตอบอยู่ในใจอยู่เพียงยืนยันว่าต้องใช้สื่อกับเทคโนโลยี แต่ไม่มีองค์ความรู้และยุทธศาสตร์การคิดที่มีพลังต่อการริเริ่มและตัดสินใจอย่างมีเหตุผลมากไปกว่าการถือเอาเทคโนโลยีเป็นตัวตั้ง

จากภาพ  เป็นรูปแบบการวิจัยแบบทั่วไปทางด้านการศึกษาและพฤติกรรมศาสตร์ ซึ่งเมื่อนำมาใช้ในสาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ก็จำเป็นที่จะต้องมุ่งอธิบายและสร้างความรู้ใหม่ทางด้านการแก้ปัญหาและพัฒนาประสิทธิภาพของระบบเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาที่จะส่งผลต่อตัวแปรตามทางด้านผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาเรียนรู้ที่ดีขึ้นในกรอบแนวคิดต่างๆ ซึ่งโดยมากนั้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ก็มักนิยมใช้รูปแบบการวิจัยกึ่งทดลองซึ่งควบคุมโดยเทคนิคทางสถิติวิจัย มากกว่าการที่จะใช้วิจัยเชิงทดลองแบบมีกลุ่มควบคุมอย่างแท้จริง ด้วยเหตุผลและข้อจำกัดหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความละเอียดอ่อนของการทำการทดลองต่อมนุษย์ และการจำกัดโอกาสของกลุ่มผู้เรียนในกลุ่มควบคุม

นอกจากนี้ รูปแบบการวิจัยแบบทั่วไปดังกล่าวนี้ จะเห็นว่า ตัวแปรอิสระหรือตัวแปรต้นในปรากฏการณ์ที่ต้องการทำวิจัยนั้น ได้แก่สื่อและระบบเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาที่ใช้ โดยผลสัมฤทธิ์ต่อการเรียนรู้และการเกิดความพึงพอใจจะเป็นตัวแปรตาม ซึ่งก็จะต้องมีการวัดผ่านตัวบ่งชี้และองค์ประกอบต่างๆที่จะสามารถสังเกตและวัดได้อย่างเป็นระบบที่เป็นที่ยอมรับและเชื่อถือได้ในวงวิชาการ

ดังนั้น เครื่องมือและการปฏิบัติการที่เป็นการจัดกระทำใส่ลงไปในสถานการณ์ อันได้แก่สื่อและระบบเทคโนโลยี จึงมีความเป็นเครื่องมือการวิจัยและเป็นองค์ประกอบหลักในการกำหนดขอบเขตความเป็นการวิจัย ซึ่งก็จะส่งผลต่อการกำหนดวิธีวิเคราะห์และหน้าตาของการเขียนรายงานตามมาตรฐานทั่วไปของการวิจัยทำวิทยานิพนธ์ต่อไปอีกด้วย ตรงส่วนนี้นั่นเอง

ภาพที่ ๒ แสดงความเป็นการลดทอนสภาวการณ์และธรรมชาติที่เป็นจริงของกระบวนการทางการศึกษาเรียนรู้กับความเป็นระบบเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา

อย่างไรก็ตาม จากภาพบน เราจะเห็นว่า หากออกแบบการวิจัยและทำการสังเกตปรากฏการณ์ของกระบวนการเรียนรู้กับผลการเรียนรู้ที่จะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงประสบการณ์ที่สามารถสังเกตและวัดได้ด้วยองค์ประกอบต่างๆทั้งหมดทุกด้านหรือบางด้าน ทางด้านอารมณ์ ความรู้สึก และจิตใจ ทักษะสมองและปัญญาการคิด และทักษะการปฏิบัตินั้น ตัวแปรของการใช้สื่อกับระบบเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ที่จะส่งผลต่อพฤติกรรมการเรียนรู้ จะมีข้อจำกัดในการอธิบายปรากฏการณ์ให้ครอบคลุมความเป็นจริงอันเป็นธรรมชาติและลักษณะเฉพาะของศาสตร์และศิลป์ในงานเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา และกระบวนการเรียนรู้ในสภาพความเป็นจริงของสังคม

ในการวิจัยสื่อกับเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา รวมทั้งการวิจัยเชิงทดลองทางการศึกษาโดยทั่วไปนั้น หากเขียนกรอบแนวคิดเป็นแผนภาพ ก็จะเป็นชุดปรากฏการณ์ความสัมพันธ์ของตัวแปร ดังแสดงในเส้นรอบวงสีฟ้าในภาพบน เป็นหลัก จากที่แสดงในภาพนี้ การวิจัยทางเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา มักจะออกแบบและจัดให้องค์ประกอบอื่นๆที่อยู่นอกเส้นรอบวงสีฟ้า เป็นขั้นเตรียมการและขั้นการพัฒนาเครื่องมือการวิจัย ซึ่งตรงจุดนี้นั่นเอง ที่ไม่สะท้อนธรรมชาติความเป็นจริงของงานทางเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา

ภาพที่ ๓ แสดงกรอบแนวคิดการวิจัยทางเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ที่เป็นการสร้างความรู้พื้นฐาน อธิบายปรากฏการณ์ในการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของตัวแปรด้านผลลัพธ์ต่อผู้เรียน ที่ทำนายหรือส่งผลจากตัวแปรอิสระด้านสื่อกับระบบเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา กับตัวแปรร่วมอื่นๆ

ในงานวิจัยขั้นสูงบางมหาวิทยาลัยที่ผมเคยได้ดูแลนักศึกษา รวมทั้งในงานวิจัยบางเรื่องที่นักศึกษามีความมุ่งมั่นทางวิชาการสูง ก็จะขยายกรอบแนวคิดการวิจัยให้ครอบคลุมไปถึงปัจจัยและตัวแปรที่จะร่วมส่งผลต่อการเรียนรู้ของกลุ่มเป้าหมายการวิจัย ร่วมกับตัวแปรด้านระบบสื่อ เทคโนโลยี และสื่อสารการศึกษา ที่เป็นตัวแปรอิสระที่ใส่เข้าไปในสถานการณ์ของการวิจัย ดังนั้น โดยมากแล้ว กรอบการวิจัยโดยทั่วไปก็มักจะลดทอนและจำกัดอยู่กับตัวแปรดังแสดงในกล่องสีเหลือง

การออกแบบการวิจัยและกรอบแนวคิดที่จำกัดไปตามรูปแบบและเทคนิคการวิจัยที่มุ่งอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆผ่านตัวแปรตามกรอบทฤษฎีที่ระบุได้อย่างแน่นอนล่วงหน้านี่นั่นเอง ที่ผมมีข้อสังเกตว่าไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของงานทางเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาในโลกการปฏิบัติที่เป็นจริง และไม่เพียงพอต่อการบันทึก วิจัย สร้างความรู้ และถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆที่จะเกิดขึ้นจริง

จากแผนภาพข้างบนนี้ มุ่งแสดงให้เห็นว่า ในการวิจัยโดยทั่วไปของสาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษานั้น มักจัดให้องค์ประกอบของสิ่งที่อยู่ในกรอบสีขาวดังภาพข้างบน เป็นส่วนที่ยังไม่ใช่การวิจัย แต่เป็นส่วนการสร้างเครื่องมือและเตรียมการวิจัย ซึ่งในทรรศนะของผู้เขียน เห็นว่าจะส่งผลให้เกิดความไม่สอดคล้องกับการวิจัยและพัฒนาในทางเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาเป็นอย่างยิ่งบางประการ ที่มีความสำคัญและมีความหมายมากต่อการพัฒนางานทางด้านนี้ของสังคม ดังนี้......

  • ส่วนที่อยู่ในกรอบสีเหลือง จึงจะวิเคราะห์และเขียนรายงานไว้ในบทรายงานผลการวิจัย ส่วนองค์ประกอบในกรอบสีขาว มักรวบรวมและเขียนไว้ในบทที่ว่าด้วยระเบียบวิธีการวิจัย ในขณะที่ในความเป็นจริงแล้ว กระบวนการดังในกรอบสีขาวนั้นนั่นเอง ที่เป็นเครื่องมือในความเป็นนักการศึกษาด้วยของนักเทคโน กับเป็นเครื่องมือการทำงานสร้างสรรค์ ทั้งระดับความคิด ศิลปะสื่อ และการลงมือปฏิบัติ ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญในโลกความเป็นจริง และเป็นตัวแปรสำคัญของการผลิตและพัฒนาระบบเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ที่จะส่งผลต่อการนำไปใช้ต่อกลุ่มเป้าหมายต่างๆ
  •  กระบวนการค้นพบจากการปฏิบัติ ศาสตร์และศิลป์ที่ถูกตรวจสอบด้วยการปฏิบัติในสภาพความเป็นจริงของสังคม ตลอดจนองค์ความรู้เป็นจำนวนมากที่จะเกิดการประมวลผล ใช้ ตรวจด้วยการปฏิบัติ และค้นพบความเป็นจริงที่มีองค์ประกอบของการปฏิบัติกับการแก้ปัญหาได้ในสังคม เหล่านี้ ดังสิ่งที่อยู่ในกรอบสีขาว จะหลุดออกจากความเป็นผลการวิจัย สูญหายไปจากการรายงานและการบันทึกไว้ใช้ร่วมกันในระบบความรู้
  • มุ่งให้น้ำหนักต่อการสร้างความรู้ที่เน้นการอธิบายปรากฏการณ์ในฐานะผู้สังเกตที่แยกออกจากการปฏิบัติ จึงขาดการให้น้ำหนักต่อกระบวนการที่เป็นจริง ซึ่งสาระสำคัญจะอยู่ที่ศาสตร์และศิลป์ของกระบวนการทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการออกแบบสร้างสรรค์ ทางด้านสื่อ ศิลปะของสื่อ นวัตกรรมและเทคโนโลยีการศึกษา รวมทั้งระบบเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ซึ่งเป็นสาระสำคัญและเป็นธรรมชาติของการดำเนินงานในสาขานี้
  • ทำให้การวิจัย ไม่เข้มข้นเพียงพอต่อการสร้างนักเทคโนโลยีทางการศึกษา ที่มีความเป็นผู้นำทั้งทางการปฏิบัติ ผู้นำทางวิชาการ และผู้นำในการอธิบายเพื่อเชื่อมโยงมิติเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาเข้ากับสาขาอื่น ซึ่งเชื่อว่าจะเพิ่มโอกาสและทางเลือกในการแก้ปัญหาและพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ โดยนำเอาระบบเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษามาใช้ อย่างได้ผลมากขึ้น

การออกแบบและรูปแบบการวิจัยที่ควรจะเป็น
ของการวิจัยทางเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา

 

ภาพที่ ๔ แสดงความครอบคลุมต่อสภาวการณ์และธรรมชาติที่เป็นจริงของกระบวนการการศึกษาเรียนรู้ที่มีการออกแบบวิธีเรียนรู้กับออกแบบระบบสื่อและเทคโนโลยีการศึกษาเรียนรู้ ซึ่งมีความสำคัญต่อการวิจัยและพัฒนาทางเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาในกระบวนทัศน์การศึกษาใหม่ๆ

ในความเป็นจริงแล้ว ในขั้นตอนการทดลองใช้สื่อกับระบบเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษานั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการสร้างความเป็นจริงให้เกิดขึ้นของปรากฏการณ์ในการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงโดยปฏิบัติการทางระบบเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา อีกทั้งองค์ความรู้และข้อค้นพบจำเพาะในส่วนของการทดลองและสร้างปฏิสัมพันธ์ของสื่อและเครื่องใช้ กับกลุ่มผู้เรียน ก็เป็นองค์ความรู้ที่มีข้อจำกัดในการอธิบายผลที่เกิดขึ้นได้อย่างครอบคลุมกับความเป็นจริงตามธรรมชาติของการวิจัยในแนวปฏิบัติการทางเทคโน 

แต่ในการวิเคราะห์และเขียนรายงานให้ครอบคลุมตัวแปรทั้งหมดทุกกล่องสีขาวในกรอบการวิจัยดังภาพข้างบนนี้ ก็มีข้อจำกัดอย่างยิ่ง ทั้งเนื่องจากขาดแบบอย่างของการวิจัยและเขียนรายงานมากกว่า ๕ บท ขาดการสร้างความรู้และหลักฐานเชิงทฤษฎีช่วยกันให้พอใช้ในแวดวงเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาในประเทศ รวมทั้งขาดการพัฒนานักวิจัยและนักวิชาการที่จะเป็นผู้นำในการพัฒนาการวิจัยในแนวทางที่จะมีความจำเพาะทางเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษานี้ให้มากขึ้น

ผมได้มีโอกาสทำงานกับครูอาจารย์หลายท่าน แล้วก็ช่วยกันพัฒนาการวิจัยในแนวทางนี้อยู่บ้าง ดังนั้น ข้อสังเกตเหล่านี้ จึงไม่ได้เป็นการคิดจินตนาการเลื่อนลอยอย่างสิ้นหวังเกินไป แต่ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพยายามร่วมกันทำบ้างแล้วพอสมควร เช่น ผมได้ร่วมกันกับรองศาสตราจารย์ ดร.โยธิน แสงดี มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.นายแพทย์ถวัลย์ พบลาภ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐมและอ่างทอง รองศาตราจารย์ศิริพงษ์ พยอมแย้ม  รองศาสตราจารย์สมหญิง เจริญจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร รองศาสตราจารย์ ดร.ประศักดิ์ หอมสนิท รองศาสตราจารย์ ดร.อรจรีย์ ณ ตะกั่วทุ่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขยายกรอบการวิจัยให้กว้างกว่าการทดลองหาประสิทธิภาพสื่อ หรือการอธิบายผลสัมฤทธิ์ต่อการเรียนรู้ผ่านตัวแปรที่มุ่งลดทอนไปตามกรอบทฤษฎีล่วงหน้า มากกว่าการเข้าถึงความเป็นจริงและสร้างข้อค้นพบองค์ความรู้ใหม่ทางการปฏิบัติ

แต่ความยากของการเดินออกจากกรอบเดิมที่มีอยู่ทั่วไป ซึ่งมิใช่ในสังคมไทยเท่านั้น แต่ของสาขานี้ทั่วโลกด้วย ก็คือ ต้องใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพและการวิจัยเชิงปฏิบัติเข้าไปช่วย อีกทั้งต้องทำโดยทีมสหสาขา ข้ามศาสตร์ ข้ามคณะ ข้ามมหาวิทยาลัย ซึ่งทั้งเป็นงานที่หนัก ขาดคน เปลืองตัว เปลืองชีวิต  และติดกรอบมากมาย อีกทั้งเมื่อเทียบกับพัฒนาการที่รวดเร็วมากทางวิทยาการและเทคโลยี รวมทั้งการขยายตัวและเพิ่มพูนความซับซ้อนมากของความจำเป็นต่อการพัฒนาด้าน การศึกษาเพื่อสังคมของประเทศแล้ว ก็จัดว่ายังเป็นกำลังส่วนน้อยเกินไป

กระนั้นก็ตาม ก็พอจะทำให้เห็นโอกาสมากพอสมควรว่า สามารถทำได้และให้ผลดีอีกด้วย ทั้งต่อวงวิชาการ การแก้ปัญหาให้กับสังคม และการสร้างคนในแนวทางใหม่ๆเพื่อสนองตอบต่อเงื่อนไขความจำเป็นทางด้านนี้ของสังคมไทย ซึ่งในเรื่องนี้ ก็เชื่อว่าคงจะมีแต่นักวิชาการและนักพัฒนาทางการศึกษา กับนักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาในมหาวิทยาลัยและแวดวงการทำงานต่างๆทางด้านนี้นั่นเอง ที่จะสามารถเป็นผู้นำในการพัฒนาในสาขานี้ของประเทศ ทั้งทางด้านการวิจัยและอื่นๆ มิเช่นนั้นแล้ว ก็จะไม่สามารถสร้างความรู้และเข้าถึงบทเรียนตามธรรมชาติที่เป็นจริงของสาขาวิชาชีพตามที่ดำเนินการอยู่จริง อีกทั้งสังคมก็จะขาดการชี้นำทางปัญญาเพื่อมีส่วนร่วมอย่างเพียงพอของสาขาที่มีความจำเป็นมากของโลกยุคปัจจุบัน ที่เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาจะยิ่งมีบทบาทมากยิ่งๆขึ้นเป็นลำดับ.

...............................................................................................................................................................................................

เชิงอรรถและอ้างอิง

[๑] [๒] ตัวอย่างทรรศนะเชิงวิพากษ์ในต่างประเทศของ Briggs, Mielke และอื่นๆ ซึ่งเป็นนักวิชาการและนักวิจัยทางด้านการศึกษา ที่ได้ตั้งข้อสังเกต รวมทั้งพัฒนาประเด็นการวิจัยเพื่อตั้งคำถามใหม่ๆต่อการวิจัยทางเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาที่น่าสนใจ ใน Learning from Media : Arguments, Analysis, and Evidence โดย Richard  E. Clark     

[๓] อ้างแล้ว

หมายเลขบันทึก: 487264เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2012 01:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2013 08:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

ตอนนี้นอนฟังเสียงหรีดหริ่งเรไรอยู่บนดอยใช่ไหมครับอาจารย์
วันนี้เชียงใหม่ฝนตกทั้งวัน ค่อยยังชั่วนะครับ ร้อนตับแทบแตกเลย

May I use this post as a reference in my work on 'from idea to product' (in the blog ทำไทยทำ -- just started). I think the two topics have many things in common and perhaps just are different 'fascades' of the same thing.

สวัสดีครับ sr ครับ ทั้งด้วยความยินดียิ่ง และจัดว่าเป็นวิธีให้เสียงสะท้อนแบบหนุนกำลังใจกันแก่ผมมากเลยละครับ จะติดตามอ่านบล๊อก ทำไททำ ของคุณ sr ไปด้วยเสมอๆนะครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์วิรัตน์

  • ชื่นชมมากค่ะ ถ้าพูดถึงงานวิจัยหลายคนอาจส่ายหน้า เพราะมึนตึ๊บ คุณยายขออนุญาตนำไปบอกต่อนะคะ

สวัสดีครับคุณมนัสดาครับ ขอบพระคุณครับผม
สวมเสื้อเป็นนางแบบกิตติมศักดิ์ให้ GotoKnow ด้วยนะครับเนี่ย

สวัสดีครับอาจารย์วิรัตน์

ได้ข้อคิดดีๆ จากอาจารย์เสมอครับ จริงอยู่ที่การพัฒนานวัตกรรมเป็นมรรควิธี เพื่อไปสู่เป้าหมาย คือ การพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน แต่ในทัศนะของผม ความรู้ที่ได้จากขั้นตอนการพัฒนานวัตกรรม ก็คือเป้าหมายของการวิจัยที่สำคัญ

ว่าไงท่านว่าที่ดอกเตอร์ เป็นอย่างไรกันบ้างรึ ฝากเรียนดร.ศิรินา ดร.นรินทร์ และทุกท่านในสาขาพัฒนศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิตด้วยนะครับ ดีใจเน้อที่เข้ามาอ่านและคุยกัน ฝากรำลึกถึงทุกคนในหมู่เพื่อนๆนะครับ

  • ที่สำคัญคือ องค์ความรู้ในขั้นพัฒนานวัตกรรม เพื่อจะนำไปทดลองและวิจัยอีกขั้นหนึ่งนั้น เป็นองค์ความรู้และทฤษฎีการปฏิบัติเสียด้วยสิ ความรู้ ความสร้างสรรค์ และความเป็นผู้นำทางวิชาการในด้านนี้ เป็นความรู้จำเพาะตน จึงย่อมมีการแก้ปัญหาและข้อค้นพบที่แตกต่างกันในสถานการณ์ต่างๆมากมาย
  • แต่การศึกษาและรายงานได้เพียงยืนยันความมีประสิทธิภาพนั้น ทุกงานวิจัยก็ยืนยันและให้คำตอบอยู่กับที่เหมือนๆกันว่า นวัตกรรม สื่อ ระบบเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ที่มีการนำมาใช้นั้น ได้ผลดีตามที่คาดหวัง เป็นคำตอบเดิมเหมือนกัน
  • ในขณะที่ข้อค้นพบ บทเรียน และองค์ความรู้การปฏิบัติ ซึ่งนอกจากจะได้จากการวิจัยที่ดีมากจริงๆแล้ว ก็จะเป็นสิ่งที่นักวิจัยมีติดตัวนำไปใช้ทำงานได้อย่างแตกต่างหลากหลายอีกด้วย กลับมักไม่มีวิธีรายงาน แง่มุมนี้เป็นความจำเพาะของงานทางเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษามากเลยนะครับ
  • ค่อยๆช่วยกันคิดและทำให้ก้าวหน้าไปเรื่อยๆในวงวิชาการทางด้านนี้เมื่อมีโอกาสนี่ ก็ดีเหมือนกันนะครับ

ระลึกถึงอาจารย์ทีไรก็แวะมาอ่านบล็อกครับ แล้วผมจะนำความระลึกถึงไปเรียนอาจารย์นะครับ ผมโชคดีที่ได้ขยายขอบฟ้าของความรู้ด้วยการเรียนสาขาการศึกษาตลอดชีวิตและการพัฒนามนุษย์ครับ โดยเฉพาะแนวคิดมนุษยนิยม (humanism) ทำให้คนที่เคยเรียนเทคโนฯ เข้าใจเทคโนฯ ที่มีความเป็นมนุษย์ และสามารถมองเห็นการเรียนรู้ที่แฝงอยู่ในกิจกรรมตลอดชีวิตของมนุษย์ด้วย (ช่างดีอะไรอย่างนี้)

อืมมม ชื่อสาขาการศึกษาตลอดชีวิตและการพัฒนามนุษย์นี่ ดีมากเลยนะครับ

ขอบคุณ ได้รับความรู้ ทำให้เขียนกรอบได้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท