อยุธยา : พระราชพิธีสิบสองเดือนในสมัยอยุธยา


สารานุกรมพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรอบ ๖๐ ปี แห่งการครองราชย์ (กรมศิลปากร, ๒๕๕๑) ได้ให้ความหมายของคำว่า พระพิธี หมายถึง งานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมดำหนดไว้เป็นประจำตามราชประเพณี เช่นพระพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงถวายพระพุทธมหามณีปฏิมกร  พระราชพิธีสเด็จทอดผ้าพระกฐินทารงชลมารค เป็นต้น พิธีรัฐ หมายถึง งานที่รัฐบาลเป็นผู้กำหนดและกราบบังคมทูบพระกรุณาเพื่อทรงรับไว้ เช่นรัฐพิธีวันที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า  ฯลฯ และ พิธี หมายถึง งานที่มีผู้จัดขึ้นตามลัทธิธรรมเนียมหรือจัดขึ้นเพื่อถวายพระเกียรติ์ และกราบบังคมทูลพระกรุณาเพื่อทรงเป็นประทาน เช่น พิธีตรียัมปวาย – ตรีปวาย ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๙ เป็นต้น (กรมศิลปากร,  ๒๕๕๑ : ๒๗๑)

 

พระราชพิธีทวาทศมาส หรือ ที่ประชาชนทั่วไปรู้จักกันในนามที่ว่า พระราชพิธีสิบสองเดือน เป็นพระราชกรณียกิจของพระเจ้าแผ่นดิน เป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวกับเทพเจ้าที่จะต้องจัดทำขึ้นเป็นประจำในแต่ละเดือนเพื่อจะคงไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์และความมั่นคงของบ้านเมือง และเพื่อแสดงความเป็นพระเจ้าแผ่นดินหรือพระเจ้าจักรพรรดิราช เชื่อกันว่า หากมีการขาดตกบกพร่องในการประกอบพระราชพิธีดังกล่าวจะก่อให้เกิดอันตรายแก่บ้านเมือง ดังนั้นจึงมีการประกอบพระราชพิธีสิบสองเดือนสืบต่อกันเป็นเวลายาวนาน (เทพพิทู, ออกญา (ฌืม กรอเสม, ๒๕๕๐ : ๑)  ความสำคัญของการปฏิบัติพระราชพิธีสิบสองเดือนในแต่ละยุคแต่ละสมัยนั้น ก็เพื่อแผ่พระเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์ให้เป็นที่ประจักษ์ เช่นการเสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐินทางสถลมารถและทางชลมารถนั้นจะมีขบวนใหญ่โต    ตลอดจนเป็นการเตรียมความพรักพร้อมด้านกำลังและอาวุธในคราวที่บ้านเมืองจะต้องรบพุ่งเพื่อรักษาเอกราชจากอริราชศัตรู และ รวมทั้งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นทางจิตใจให้กับสังคมในยุคนั้น ๆ ด้วย  


พระราชพิธีทั้ง  ๑๒  เดือนในสมัยอยุธยาปรากฏในกฎมณเฑียรบาล (๒๕๔๘ : ๙๕ – ๑๑๖) ตราขึ้นในสมัยอยุธยา ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า กฎมนเทียรบาลนี้ถูกตราขึ้นในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อปีขาล จุลศักราช ๘๒๐ (พ.ศ.๒๐๐๑) ซึ่งกฎมนเทียรบาลได้สูญหายไปเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง พ.ศ. ๒๓๑๐ แต่เมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นเมืองหลวงแห่งใหม่แล้วพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมกฎหมายเก่าไว้เป็นหมวดหมู่ ในกฎหมายตราสามดวง ในศุภมัศดุ ๑๑๖๖ (พ.ศ. ๒๓๔๗) (อ้างใน  ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร,๒๕๔๖ : ๑๔) นั้นประกอบด้วย (ลำดับเรียงตามในกฎหมายตราสามดวง เล่ม ๑, ๒๕๔๘ : ๙๕ – ๙๖)

 

เดือนห้า                      - การพระราชพิทธีเผดจ์ศกลดแจตรออกสนาม 

เดือนหก                     - พิทธีไพศากขยจรดพระราชอังคัล                                    

เดือนเจ็ด                    - ทูลน้ำล้างพระบาท                                                             

เดือนแปด                   - เข้าพระวษา                                                                         

เดือนเก้า                    - ตุลาภาร                                                                                               

เดือนสิบ                    - พัทรบทพิทธีสาท                                                               

เดือนสิบเอ็ด               - อาสยุชแข่งเรือ                                                                    

เดือนสิบสอง              - พิทธีจรองเปรียงลดชุดลอยโคม                                      

เดือนอ้าย                  - ไล่เรือเถลีงพิทธีตรียำพวาย                                               

เดือนยี่                      - การพิทธีบุตรยาภิเศกเฉวียรพระโคกินเลี้ยง                    

เดือนสาม                    - พิทธีธานยะเทาะห                                                              

เดือนสี่                      - การสํพรรษฉิน

 

                เดือนห้า การพระราชพิทธีเผดจ์ศกลดแจตรออกสนาม ในเดือนนี้จะมีพระราชพิธีสำคัญถึง ๔ พระราชพิธีคือ

            ๑.       เผด็จศก หมายถึง การตัดปี ขึ้นปีใหม่

            ๒.     ลดแจตร มีความหมายคลุมเครือ แต่หลายท่านสันนิษฐานว่าหมายถึงการลดน้ำในเดือนห้า (ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร,๒๕๔๖ : ๒๕)

            ๓.      ออกสนามคือพระราชพิธีคเชนทรัศวสนาน  เป็นพิธีของพราหมณ์พฤติบาศทอดเชือก ดามเชือกเป็นกระบวนเรื่องคชกรรมการของหมอช้าง เป็นส่วนหนึ่งของพิธีทางคชกรรม เพื่อสร้างความเป็นสิริมงคลแก่ช้างพระที่นั่งซึ่งเป็นพาหนะสำคัญของพระมหากษัตริย์และช้างศึกของเหล่าทหาร ซึ่งเป็นพระราชพาหนะและเป็นกำลังแผ่นดิน และบำบัดเสนียดจัญไรในผู้ซึ่งเกี่ยวข้องอยู่ในการช้างทั้งปวง แต่การพิธีนี้เฉพาะเหมาะกับคราวที่ควรจะประกอบการอื่นหลาย ๆ อย่าง เช่นเดียวกับช้างและม้า ตะเตรียมอาวุธกำลังรีพลให้พรักพร้อมอยู่เสมอ เป็นต้น พิธีนี้ทำปีละสองครั้ง คือทำเดือนห้าครั้งหนึ่งกับเดือนสิบอีกครั้งหนึ่ง โดยจัดให้มีกระบวนแห่ช้าง ม้า เพื่อให้พระเจ้าแผ่นดินทอดพระเนตรตรวจตราเพื่อเป็นการตรวจกำลังพล ความเข้มแข็งของกองทัพปีละสองครั้ง และยังเชิญให้เจ้าประเทศราชเดินทางมาร่วมชุมนุมเพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดิน

           ๔.      พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เดิมเรียกว่า พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล เป็นพระราชพิธีที่ยิ่งใหญ่และศักดิ์สิทธิ์สำหรับแผ่นดินสืบเนื่องมาแต่โบราณ มีความผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบรูณาญาสิทธิราชย์ที่พระมหากษัตริย์เป็นผู้มีพระราชอำนาจ สูงสุดและเป็นศูนย์กลางของพระราชอาณาจักร มีรูปแบบที่จัดขึ้นเพื่อให้พระบรมวงศานุวงศ์และ ข้าราชการดื่มน้ำสาบานว่าจะจงรักภักดีและซื่อตรงต่อพระมหากษัตริย์ เป็นการให้สัตย์สาบาน ประเภทหนึ่งที่ใช้น้ำเป็นสื่อกลาง ส่วนในทางปฎิบัติของการถือน้ำนั้นเป็นการเอาคมศาสตราวุธต่าง ๆ มาทำพิธีสวดหรือสาปแช่งด้วยการโอมอ่านลิลิตโองการแช่งน้ำ ถือว่าเป็นพิธีระงับยุคเขนของบ้านเมือง (เบญจมาศ พลอินทร์, ๒๕๒๓ : ๒๒)  พระราชพิธีนี้เชื่อว่ามีมาก่อนการก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา และยังเป็นที่แพร่หลายใน ดินแดนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังมีหลักฐานจารึกที่กรอบประตูศิลาของโบราณสถาน พิมานอากาศในเมืองนครธมว่า เป็นคำสาบานของพวกข้าราชการที่เรียกว่า พระตำรวจ ถวาย สัตย์สาบานต่อพระเจ้าศรีสูริยวรมันที่ ๑ (ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร, ๒๕๔๖ : ๓๑)

                ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีนั้นมีหลักฐานวรรณกรรมเรื่อง ลิลิตโองการแช่งน้ำ ใช้เป็นประกาศคำถวายสัตย์ในพระราชพิธีถือน้ำ พระราชพิธีดังกล่าวนี้ยังประกอบในโอกาสต่างๆ เช่น พระราชพิธีถือน้ำเมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จขึ้นครองราชย์ พระราชพิธีถือน้ำเมื่อออกสงคราม นอกเหนือไปจากที่กระทำเป็นประจำทุกปี ๆ ละสองครั้ง ในสมัยอยุธยาข้าราชการถือน้ำที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ ต่อมาย้ายไปที่วิหารพระ มงคลบพิตร เมื่อถือน้ำแล้วใช้ดอกไม้ธูปเทียนไปถวายบังคมพระเชษฐบิดร เป็นเทวรูปฉลองพระองค์ของพระเจ้าอู่ทอง หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ แล้วจึงเข้าไปถวายบังคมพระเจ้าแผ่นดินพร้อมกัน หากผู้ใดไม่สามารถเข้ามาถือน้ำในกรุงศรีอยุธยาได้ จะประกอบพระราชพิธีถือน้ำที่วัดอารามใหญ่ ๆ ในท้องที่นั้น

                เดือนหก พิทธีไพศากขยจรดพระราชอังคัล คือพระราชพิธีจรดพระนังคัล เป็นชื่อพระราชพิธีแรกนา ในกฎมนเทียรบาลกล่าวว่า พระมหากษัตริย์มิได้เสด็จในพระราชพิธี แต่โปรดฯให้เจ้าพระยาจันทกุมาร เป็นผู้แทนโดยมอบพระแสงอาญาสิทธิให้ ซึ่งตรงกับคำให้การชาวกรุงเก่าที่กล่าวว่า พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาโปรดฯให้พระจันทกุมารแรกนาต่างพระองค์ ส่วนพระมเหสีจัดนางเทพีต่างพระองค์เช่นกันนั่งเสลี่ยงเงิน มีกระบวนแห่พระเกียรติยศ ไปยังโรงพิธีที่ตำบลวัดผ้าขาว ครั้นถึงมงคลฤกษ์พระจันทกุมารถือคันไถเทียมด้วยโคอุสุภราช ออกญาพลเทพจูงโคไถ สามรอบ นางเทพีหว่านข้าวเสร็จแล้วจึงปลดโคอุสุภราช ให้กิน น้ำ ถั่ว งา ข้าวเปลือก ถ้ากินสิ่งใดก็มีคำทำนายต่างๆ กัน

                เดือนเจ็ด พระราชพิธีทูลน้ำล้างพระบาท กฎมนเทียรบาลกล่าวไม่ชัดเจนเหมือนอย่างพระราชพิธีอื่นๆ เป็นพิธีพราหมณ์ ปรากฏในกฎมนเทียรบาลว่า บรรดาหัวเมืองทั้งหลาย ตลอดจนข้าราชการทั้งปวงมาทูลน้ำล้างพระบาท โดยเอากะละออมน้ำ ทอง นาค เงิน (ตามลำดับศักดินา) ตั้งศีรษะมาทูลถวาย ทั้งเสด็จออกรัตนสิงหาสน์เบญจาเก้าชั้นเป็นการถวายความจงรักภักดีและความสวามิภักดิ์ (ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร, ๒๕๔๖ : ๒๕)

                เดือนแปด เข้าพระวษา หรือ พระราชพิธีเข้าพรรษา เป็นพิธีการในพระพุทธศาสนา เป็นประเพณีเมื่อถึงฤดูฝนพระสงฆ์หยุดอยู่ ณ เมืองใดเมืองหนึ่ง เป็นการจำพรรษาในที่สงัดแห่งใดแห่งหนึ่ง เช่นเดียวกับที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติ เมื่อเข้าพรรษาแล้วไม่ให้ท่องเที่ยวไป ต้องอยู่จำพรรษาในวัดแห่งเดียวให้ครบ ๓ เดือน มีการบวชนาคหลวง สมัยอยุธยาในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีการบวชนาคหลวงเท่าพระชนมายุถือเป็นพระราชกุศลอันยิ่งใหญ่ (ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร, ๒๕๔๖ : ๒๖)

                เดือนเก้า  ตุลาภาร หรือ พระราชพิธีตุลาภาร เป็นพิธีพราหมณ์ เป็นพระราชพิธีสะเดาะเคราะห์หรือบำเพ็ญทานอย่างหนึ่ง กระทำโดยเอาเงินชั่งเท่าน้ำหนัก พระมหากษัตริย์เพื่อการสะเดาะเคราะห์ แล้วพระราชทานเงินนั้นให้แก่พราหมณ์

                เดือนสิบ พัทรบทพิทธีสารท คือพระราชพิธีภัทรบท และ พิธีสารท พิธีภัทรบทเป็นพิธีกลางเดือนของพราหมณ์ เป็นพิธีพราหมณ์แท้ เป็นพิธีนำหน้าพิธีสารท เป็นการชำระบาปของพราหมณ์ให้บริสุทธิ์ไว้ พิธีภัทรบทนี้เป็นนักขัตฤกษ์ ประชาชนทำมธุปายาสทาน และจะเด็ดรวงข้าวสาลีเป็นปฐมฤกษ์ในการเก็บเกี่ยว พราหมณ์ทำพลีกรรม สรวงสังเวยบูชาพระไกรสพ อ่านพระเวทย์เผยศิลาไลย เพื่อบำบัดอุปัทวจัญไร จากนั้นประชาชนจะเก็บเกี่ยวข้าวมาทำมธุปายาสยาคูเลี้ยงพราหมณ์ เพื่อจะให้เป็นมงคลแก่ข้าวในนา พราหมณ์กระทำพิธีภัทรบทลอยบาปเพื่อจะรับมธุปายาส และยาคูคัพภสาลี ส่วนพิธีสารทนั้นเป็นของพราหมณ์ พุทธศาสนาทำตามอย่างพราหมณ์ เช่นการกวนข้าวปายาสหรือข้าวทิพย์เป็นต้น การกวนข้าวปายาสนั้น เพื่อจะให้เกิดสวัสดิมงคล แก่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการ ไม่ให้เกิดโรคภัยอันตรายต่าง ๆ ส่วนยาคูนั้นเป็นการป้องกันข้าวในนามิให้อันตราย

                ในมณเฑียรบาลได้กำหนดให้เดือนนี้ประกอบพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาด้วย

                พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในสมัยอยุธยาจะประกอบพระราชพิธีนี้ในวาระต่าง ๆ ๔ วาระด้วยกันคือ (สุภาพรรณ ณ บางช้าง, ๒๕๓๙ : ๑๑๘ – ๑๔๘)

                            - พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสวยสิริราชสมบัติ กล่าวคือ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จสวรรคต พระบรมโอรสาธิราชผู้สืบราชสมบัติ ปรงโปรดเกล้าฯให้มีพระบรมราชโองการให้พระบรมวงนุสานุวงศ์ ข้าราชกาล เจ้าหัวเมืองน้อยใหญ่มาเข้าเฝ้ายังพระราชวังเพื่อดื่มน้ำถวายสัตย์สาบานแสดงความจงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดินองศ์ใหม่

                           - พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาประจำปี อันประกอบด้วยเดือนห้าและเดือนสิบ  ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการตรวจสอบบรรดาข้าราชกาลและเจ้าหัวเมืองต่าง  ๆ หากผู้ใดไม่เข้ามาร่วมพิธีก็จะถือว่าเป็นกบฏ  อีกทั้งยังเป็นการสร้างความสามัคคีในหมู่ข้าราชการด้วย

                          - พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในสงคราม เป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดินและประเทศชาติที่กำลังจะเสียสละชีวิตในการออกสงคราม เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังให้แก่เหล่าทหาร เพราะน้ำพระพิพัฒน์สัตยานั้นถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ด้วย

                         -  พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในทางการเมือง ถือเป็นพิธีช่วยประสานไมตรีและสร้างความมั่นคงทางการเมืองของบรรดาหัวเมืองต่าง ๆ จะประกอบพระราชพิธีก็ต่อเมื่อเห็นว่า หัวเมืองนั้นแสดงความกระด้างกระเดื่องมีแนวโน้มจะแข็งเมือง

                 

                   เดือนสิบเอ็ด พระราชพิธีอาศยุชแข่งเรือ ในเดือนสิบเอ็ด เป็นฤดูน้ำหลาก เนื่องจากมีฝนตกหนัก ต้นข้าวในนากำลังชูกอเพราะได้น้ำมากพอสำหรับหล่อเลี้ยงลำต้น จึงมีพระราชพิธีแข่งเรือ อันเป็นการซักซ้อมกำลังทางเรือและฝีพาย การเตรียมความพร้อมทางน้ำดูได้จากกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค

                เดือนสิบสอง พิทธีจรองเปรียงลดชุดลอยโคม      คือ พระราชพิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคม คือพระราชพิธีลอยพระประทีป เป็นการพิธียกโคมขึ้นบูชาเทพเจ้าทั้งสาม คือพระอิศวร พระนารายณ์และพระพรหมในศาสนาพราหมณ์         

                   เดือนอ้าย คือ พระราชพิธีไล่เรือ และตรียัมปวาย – ตรียัมปวาย เป็นพิธีพราหมณ์ทั้งหมด พระราชพิธีไล่เรือ พิธีนี้เป็นพิธีไล่น้ำ หรือจะให้น้ำลดเร็ว ๆ เพื่อให้การเกี่ยวข้าวได้สะดวกและได้ผลดี พิธีนี้ไม่ได้กระทำทุกปี เพราะปีไหนน้ำน้อยก็ไม่จำเป็นต้องกระทำ ส่วน พระราชพิธีตรียัมปวายเป็นพิธีต้อนรับพระอิศวรผู้เป็นเจ้าเสด็จลงมาเยี่ยมโลกปีละครั้ง ครั้นถึงกำหนด ๑๐ วัน วันรับคือวันขึ้น ๗ ค่ำ เดือนอ้ายเป็นวันเสด็จลง วันแรม ๑ ค่ำเป็นวันเสาร์เสด็จกลับ ส่วนพระราชพิธีตรีปวายเป็นการตอนรับพระนารายณ์ในวัน ๑ ค่ำ เดือนยี่ วันแรม ๕ ค่ำเป็นวันเสด็จกลับเสด็จกลับ ในตอนปลายอยุธยาพระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวายเปลี่ยนมาทำในเดือนยี่

                เดือนยี่ การพิทธีบุตรยาภิเศกเฉวียรพระโคกินเลี้ยง             คือ พระราชพิธีบุษยาภิเษกและ เฉวียนพระโคกินเลี้ยง คล้ายกับพระราชพิธีพืชมงคล แรกนาขวัญ

                เดือนสาม พิทธีธานยะเทาะห คือ พระราชพิธีธานยเฑาะห์ เป็นพิธีเผาข้าวเพื่อการเสี่ยงทาย เป็นพระราชพิธีคู่กับพระราชพิธีจรดพระนังคัล เพื่อให้เป็นสวัสดิมงคลแก่พืชพันธุ์ธัญญาหารอันเป็นเสบียงสำหรับบ้านเมือง

                เดือนสี่ การสํพรรษฉิน คือพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ เป็นพระราชพิธีทำบุญตรุษสุดปี คือ พิธีตัดปีส่งปีเก่าเพื่อจะขึ้นปีใหม่ ปรากฏในกฎมนเทียรบาลเป็นโบราณราชประเพณี เริ่มด้วยเจ้าพนักงานตั้งพระราชพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์ที่หอเวทวิทยาคมในวังหลวง มีการสวดอาฏานาฎิยสูตร หรือเรียกว่าสวดภาณยักษ์รอบกำแพงพระบรมมหาราชวังในวันสิ้นปี แล้วยิงปืนใหญ่ที่เรียกว่า ยิงปืนอาฏานาขับไล่ภูตผีปีศาจทุกชนิดให้ตกใจและหนีไป ทำให้มีความสะอาดหมดจดในวันขึ้นปีใหม่ต่อไป เป็นพระราชพิธีประจำปีเพื่อความมีสวัสดิมงคลแก่พระนคร และพระเจ้าแผ่นดิน พระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการฝ่ายหน้าฝ่ายในตลอดจนราษฎร มีการให้สวมมงคลที่ศีรษะและสายพิสมรสะพายเฉียงไหล่ซึ่งเป็นเครื่องรางชนิดหนึ่งและแจกจ่ายกระบองเพชรที่มีลักษณะเหมือนพระแสงขอทำด้วยใบลานพับเป็นรูปคล้ายขอช้างมีด้ามยาวประมาณฟุตกว่าๆให้ถือไว้ตลอดเวลา เพื่อแสดงว่าผู้นั้นได้เข้าอยู่ในพระราชพิธี เพื่อความสุขสวัสดีในโอกาสที่จะถึงปีใหม่

 

วาทิน ศานติ์ สันติ : เรียบเรียง

หนังสืออ้างอิง

กฎหมายตรา ๓ ดวง เล่ม ๑. แก้ไขปรับปรุงใหม่ ๒๕๔๘. กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ. ๒๕๔๘.

ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร. “การพระราชพิธีสิบสองเดือนในจิตกรรมฝาผนัง วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร”. สาระนิพนธ์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย.มหาวิทยาลัยศิลปากร. ๒๕๔๖.

เบญจมาศ พลอินทร์. วรรณคดีขนบประเพณีพระราชพิธีสิบสองเดือน. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ :สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์. ๒๕๒๓.

สุภาพรรณ ณ บางช้าง. “ขนบธรรมเนียมประเพณี : ความเชื่อและแนวการปฏิบัติในสมัยสุโขทัยถึงสมัยอยุธยาตอนกลาง .” โครงการเผยแพร่ผลงานวิจัย ฝ่ายวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์. ๒๕๓๕.

สุพาภรณ์ ไผ่แก้ว.  “สถานะและบทบาทของพราหมณ์ในราชสำนักในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (พ.ศ. ๒๓๒๕ – ๒๓๕๒).” สารนิพนธ์ศิลปะศาสตร์มหาบัณฑิตย์ (ประวัติศาสตร์), มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ๒๕๔๙.

ศิลปากร,กรม. สารานุกรมพระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรอบ ๖๐ ปี แห่งการครองราชย์. กรุงเทพฯ : กรมศิลากร. ๒๕๕๑. 

หมายเลขบันทึก: 487258เขียนเมื่อ 6 พฤษภาคม 2012 22:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2013 07:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท