พราหมณ์ วรรณกรรม : พระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวายในวรรณคดีไทย


ขนบ ธรรมเนียม พิธีกรรมจากอินเดีย เขมร มอญ ที่ไทยรับมาและผสมผสานกับวัฒนธรรมดั่งเดิมที่มีอยู่จนออกมาเป็นรูปแบบของวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตน กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคนไทย สิ่งหนึ่งที่สะท้อนรูปแบบของวัฒนธรรมในด้านต่าง ๆ การใช้ชีวิตต่าง ๆ จึงออกมาในรูปของงานศิลปะทุกสาขา โดยเฉพาะวรรณคดีไทยได้กล่าวถึงประเพณี พิธีกรรม และวัฒนธรรมไว้อย่างมากมาย ความเชื่อและความคุ้นเคยต่อขนบประเพณีเหล่านี้แทรกอยู่ในวรรณคดีไทยหลายเรื่อง วรรณคดีบางเรื่องได้กล่าวถึงประเพณีและพิธีกรรมที่ต้องกระทำในประเพณีนั้น ๆ โดยตรง เป็นการให้ความรู้อีกทั้งยังบอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานั้น ๆ ว่าสังคมในช่วงนั้นเป็นอย่างไรด้วย

รศ. สมปราชญ์ อัมมะพันธุ์ (๒๕๓๖ : ๒๒) ได้กล่าวถึงการนำประเพณีและพิธีกรรมมาใช้ในวรรณคดีมี ๒ ลักษณะคือ

           ๑.  การนำประเพณีหรือพิธีกรรมมาอธิบายโดยตรง เนื่องหาทั้งหมดของหนังสือเป็นเรื่องของประเพณีหรือพิธีกรรมโดยละเอียด มีการกล่าวถึงความสำคัญของประเพณีและพิธีกรรม องค์ประกอบที่ต้องใช้ประกอบพิธี ระยะเวลา ผู้ประกอบพิธี ตลอดจนถึงวิธีการประกอบพิธีโดยละเอียดผู้อ่านสามารถอ่านแล้วเข้าใจวิธรการกระทำพิธี หรือประเพณีนั้น ๆ ได้ เช่น พระราชพิธีสิบเดือน  โครงพระราชพิธีทวาทศมาส

           ๒. การนำประเพณีหรือพิธีกรรมมาเป็นส่วนประกอบของวรรณคดี วรรณคดีในลักษณะนี้จะมีตัวละคร มีฉาก แต่ในเนื้อหาบางตอนจะมีการดำเนินเรื่องเกี่ยวโยงไปถึงพิธีกรรมหรือประเพณีบางอย่างและบางครั้ง อาจจะใช้พิธีกรรมหรือประเพณีเป็นเครื่องช่วยในการดำเนินเรื่องให้สนุกสนาน หรือสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เช่นวรรณคดีเรื่อง ขุนช้างขุนแผน อิเหนา ฯลฯ

 

พิธีกรรมในวรรณคดีแบ่งเป็น

           ๑.  พิธีกรรมเกี่ยวกับเรื่องส่วนรวม

           ๒.  พิธีกรรมเกี่ยวกับเรื่องครอบครัว

           ๓.  พิธีรัฐและราชพิธี

           ๔.  ประเพณีในท้องถิ่นตามคตินิยมของประชาชนแต่ละภาค (สมปราชญ์ อัมมะพันธุ์, ๒๕๓๖ : ๒๒)

พระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวายปรากฏอยู่ในรูปแบบของงานวรรณคดีทั้ง ๒ ลักษณะ คือ วรรณคดีที่อธิบายถึงลักษณะของพิธีกรรมหรือประเพณีโดยตรง และ อยู่ในรูปแบบของการเป็นส่วนประกอบของวรรณคดี เท่าที่ผู้วิจัยค้นพบนั้นมีงานวรรณคดีที่เกี่ยวข้องกับพระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวายดังนี้

 

นางนพมาศ หรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์


นางนพมาศมีชื่อเรียกกันมาแต่ก่อน ๓ ชื่อด้วยกัน คือ นางนพมาศ เรวดีนพมาศ และตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ สันนิฐานว่าถูกแต่งขึ้นในสมัยพระยาลิไทกรุงสุโขทัย แต่ก็มีผู้ศึกษาในภายหลังว่า วรรณกรรมเรื่องนี้ถูกแต่งขึ้นมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยอาศัยจากข้อสังเกตเช่น มีสำนวนที่ใหม่มาก กล่าวถึงฝรั่งชาติต่าง ๆ เช่นชาวอเมริกัน กล่าวถึงปืนใหญ่ ซึ่งทั้งหมดนั้นในกรุงสุโขทัยยังไม่มี (สมปราชญ์ อัมมะพันธุ์, ๒๕๓๖ : ๙๘)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ข้อสังเกตในเรื่องนี้ว่า

         “...หนังสือเรื่องนี้ของเดิมเขามีจริงเพราะลักษณะพิธีของพราหมณ์ที่กล่าวไว้ในหนังสือเรื่องนี้ โดยมากเป็นตำราพิธีจริง และเป็นพิธีอย่างเก่าอาจจะใช้เป็นแบบแผนก่อนครั้งกรุงศรีอยุธยาไม่ใช่เรื่องที่ผู้ใดจะมาคิดปลอมขึ้นมาใหม่ได้ทั้งหมด ดีร้ายหนังสือเรื่องนางนพมาศนี้ของเดิมจะมาในจำพวกหนังสือตำราพราหมณ์...ฉบับเดิมจะขาด ๆ วิ่น ๆ อยู่อย่างไรจึงมีผู้มาแต่งขึ้นมาใหม่เมื่อรัชกาลที่ ๒ หรือที่ ๓ ในกรุงรัตนโกสินทร์...” (ศิลปากร, กรม, ๒๕๑๓ : ซ)

เมื่อครั้งพระองศ์ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน พระองศ์ทรงตรวจสอบจากวรรณคดีนางนพมาศนี้ด้วย (อ้างใน สมปราชญ์ อัมมะพันธุ์, ๒๕๓๖ : ๙๘)

ในนางนพมาศกล่าวถึงพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวายเพียงสั้น ๆ ดังนี้

           “ครั้นล่วงมาถึงเดือนอ้าย กาลกำหนดพระราชพิธีตรียัมปวายแลตรีปวายเป็นการนักขัตฤกษ์ประชุมผมู่ประชาชนชายหญิง ยังหน้าพระเทวสถานหลวงบรรดาหมู่ชะแม่นางในทั้งหลายก็ตกแต่งกรัชกายไปตามเสด็จสมเด็จพระร่วงเจ้า ดูไกวนางกระดานสาดน้ำรำเสนง และทัศนาชีพ่อพราหมณ์แห่งพระอิศวร พระนารายณ์ในเพลาราตรี ณ พระที่นั่งไชยชุมพล เกษมสานต์สำราญใจถ้วนทุกหน้า เป็นธรรมเนียมพระนคร” (ศิลปากร, กรม, ๒๕๑๓ : ๑๐๗ - ๑๐๘)

 

โคลงทวาทศมาส (ของเก่า)


ที่ว่าของเก่าก็เพราะ มีงานวรรณกรรมอีกเล่มหนึ่งชื่อว่า โคลงพระราชพิธีทวาทศมาสซึ่งแต่งขึ้นในรัตนโกสินทร์ซึ่งจะกล่าวในหัวข้อต่อไป

โคลงทวาทศมาสสันนิฐานว่าผู้ประพันธ์คือ พระเยาวราชซึ่งน่าจะเป็นโอรสของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ อันเกิดจากพระสนม แล้วมีขุนพรมมนตรี ขุนศรีกวีราช และขุนสารประเสริฐเป็นผู้ให้การช่วยเหลือ (อ้างใน สมปราชญ์ อัมมะพันธุ์, ๒๕๓๖ : ๙๘)

โคลงทวาทศมาสกล่าวถึง การไหว้เทพยดาในลัทธิพราหมณ์ และ พระมหากษัตริย์ แล้วพรรณนาถึงความเศร้าความอาลัยที่เกิดขึ้นจากการห่างจากหญิงสาวอันเป็นที่รัก เริ่มตั่งแต่เดือน ๕ ถึงเดือน ๔ ในการผ่านแต่ละเดือน กวีได้กล่าวถึงพิธีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเดือนนั้น ๆ แต่ไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียด ของวัน เวลา รวมถึงขั้นตอนของการประกอบพิธีไว้ละเอียดเท่าใดนัก

โคลงทวาทศมาสกล่าวถึงพระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวายว่าประกอบขึ้นในเดือนอ้าย กล่าวถึงพราหมณ์ทำพิธีแขวนกระดานชิงช้า

 

             “มฤศศยรโรชเรือง             เพ็ญภักตร

จันแจ่มจัทนรจเมลือง                      ส่งฟ้า

ตรียัมพวายชกก                             ชวนเพื่อน เพาแฮ

โอ้ดไนยดยวดหม้า                         ใหม่ฤๅ

           ปางทวิชาเร่อมแรกต้งง         แขวนขดาน

ขดานดงงขดานคือ                         ดอกไม้

ถนนแสกนนสงสาร                         สายโยค

โอ้อกรยมคิดไว้                             เร่งถวิง” (อ้างใน สมปราชญ์ อัมมะพันธุ์, ๒๕๓๖ : ๑๑๘)

 

กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก


พระนิพนธ์ในเจ้าฟุ้งกุ้งธรรมมาธิเบศรไชยเชษฐสุริยวงศ์ หรือ “เจ้าฟ้ากุ้ง” พระนามสามัญชนที่ทุกคนรู้จัก ทรงนิพนธ์นิราศธารโศกประเภทกาพย์และโคลงสี่สุภาพเมื่อครั้งเสด็จประพาสธารโศก เนื้อเรื่องเป็นการพรรณนาถึงการผลัดพากจากหญิงอันเป็นที่รัก คร่ำคราญถึงตอนที่มีความสุขอยู่กับนางในทุกชั่วโมงยาม จากชั่วโมงเป็นวัน จากวันเป็นเดือน จนจากเดือนเป็นปี และจากการเดินทางเพียงผู้เดียวทำให้เวลาพบเห็นสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ต้นไม้ นก หรือปลาต่าง ๆ ทำให้หวนคิดถึงนางอันเป็นที่รัก

ในการผ่านช่วงเวลาแต่ละเดือนนั่นเองทำให้นิราศธารโศกได้กล่าวถึงพิธีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนนั้น ๆ ด้วย เจ้าฟ้ากุ้งทรงเริ่มกล่าวจากเดือน ๕ ไปจบที่เดือน ๔ เหมือนกับในโคลงทวาทศมาสของเก่า แต่พระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวายในนิราศธารโศกได้ถูกเลื่อนมาประกอบในเดือนยี่ จึงทำให้สันนิฐานได้ว่า การเลื่อนการประกอบพิธีมาหลังหนึ่งเดือน (จากเดือนอ้าย) นั้นคงเกิดขึ้นในช่วงอยุธยาตอนปลายนี้เอง ตรียัมปวาย – ตรีปวายในนิราศธารโศกกล่าวไว้ว่า

                “เดือนยี่เจ้าพี่เอ๋ย           เจ้าย่อมเคยตามพี่ชาย

ดูรำยำพวาย                                 พิธีท่านผ่านอยุธยา

บุศมาศตามพี่ด้วย                          เดือนฉาย

อรอ่าพี่รัมพรายกาย                        ดวงหน้า

ดิรำปวายสบาย                              ดูเลิศ

พิธีท่านผ่านฟ้า                              ครอบแคว้นแดนดิน” (อ้างใน สมปราชญ์ อัมมะพันธุ์, ๒๕๓๖ : ๑๒๒)

 

โคลงดั่นเฉลิมพระเกียรติพระพุทธเลิศหล้านภาลัย


โคลงดั่นเฉลิมพระเกียรติพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นงานนิพนธ์ของพระยาตรังกวีผู้มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ประพันธ์ขึ้นเมืองปีขาล พ.ศ. ๒๕๓๖ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ์พระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ อีกทั้งยังพรรณนาถึงความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมือง ความสวยงามของปราสาทราชวัง ความเจริญของพระพุทธศาสนา พระบรมราชพิธีในการได้ช้างเผือกเข้ามาสู่บารมี  การยอพระเกียรติ การบำรุงรักษาชาติบ้านเมือง และกล่าวถึงพิธีสิบสองเดือน

โคลงดั่นเฉลิมพระเกียรติพระพุทธเลิศหล้านภาลัยกล่าวถึงพระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวายดังนี้

 

         “เดือนอ้ายหลายหล่างพร้อม                พฤฒิชาติ์

ทำวิธีตรียัมปวาย                                       หย่อนช้า

พร้อมเสร็จพระไสยาสน์                               ทรงแต่ง   ไว้แฮ                    

สำหรับนคร หล้า                                        แหล่งสม” (พระยาตรัง, ๒๕๑๒ : ๕๖)

 

พระยาตรังได้กล่าวถึงการประกอบพระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวายในเดือนอ้าย หากย้อยกลับไปดูงานวรรณคดีของเจ้าฟุ้งกุ้งธรรมมาธิเบศรไชยเชษฐสุริยวงศ์ที่พระนิพนธ์ในสมัยอยุธยาตอนปลายนั้นกล่าวว่าประกอบขึ้นในเดือนยี่ อาจเป็นไปได้หรือไม่ว่า ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้น การประกอบพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวายไม่ได้ประกอบเป็นประจำเดือนใดเดือนหนึ่ง อาจจะสับเปลี่ยนไปมาระหว่างเดือนอ้ายและเดือนยี่ ในข้อสังเกตนี้คงต้องรอผู้ทำการค้นคว้าหาข้อเท็จจริงต่อไป

 

นิราศรำพึง


นิราศรำพึงแต่งโดยพระอยู่ ใน ร.ศ. ๑๒๒ (พ.ศ. ๒๔๔๗) ได้กล่าวถึงบรรยากาศของงานพระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรียัมปวายในครั้งที่เสาชิงช้ายังอยู่หน้าเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ไว้ดังนี้

 

             “แล้วคิดไปถึงเดือนยี่พิธีไสย           มีงานใหญ่แห่ชิงช้าเมื่อหน้าหนาว

พวกหญิงชายมาดูกันกรูกราว                       ทั้งเจ๊กลาวแขกฝรั่งทั้งญวนมอญ

เราติดพาพวกเหล่าเมียสาวสวย                     ทั้งรูปรวยเดินหลามตามสลอน

ไปดูแห่ตามระหว่างหนทางจร                       กรรมกรตามหลังออกพรั่งพรู

เราจะเดินออกหน้าวางท่าใหญ่                      มิให้ใครรอดเลี้ยวเกี้ยวแม่หนู

คอยระวังดูเหล่าพวกเจ้าชู้                            เกี้ยวแม่กูเตะให้คว่ำขะมำดิน

พาเมียดูหยุดชิงช้าหน้าตลาด                        ใครไม่อาจเข้ามาขวางกลัวคางบิ่น

แสนสบายมิได้มีราคิน                                เลิกงานลินมาบ้านเบิกบานใจ” (อ้างใน ส.พลายน้อย, ๒๕๑๘ : ๑๗๐)    

 

โครงพระราชพิธีทวาทศมาส


            โคลงพระราชพิธีทวาทศมาสพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์  นับว่าเป็นวรรณกรรมชิ้นสำคัญไม่แพ้พระราชพิธีสิบสองเดือนพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เนื่องจากเป็นเอกสารสำคัญเกี่ยวกับพระราชพิธีสิบสองเดือน ซึ่งจะเริ่มกล่าวตั่งแต่เดือน ๕ เป็นต้นไปอย่างละเอียด   ตลอดจนขนบวัฒนธรรมประเพณีของราษฎร์ทั่วไปในรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยเฉพาะรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในส่วนของพระราชพิธีตรียัมปวาย - ตรีปวายนั้นได้กำหนดให้เป็นพระราชพิธีประจำเดือนยี่ เนื้อหาโดยร่วมนั้นบรรยายถึงลำดับพระราชพิธีที่เริ่มตั่งแต่วันขึ้น ๗ ค่ำ ถึงวันแรม ๕ ค่ำอย่างละเอียด ที่สำคัญยังให้ภาพบรรยากาศของงาน ภาพความรู้สึกของประชาชนต่อพระราชพิธีในช่วงรัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ ได้เป็นอย่างดี นับว่าเป็นงานชิ่นสำคัญเป็นเครื่องบันทึกประวัติศาสตร์ไว้ทุก ๆ ด้านที่เกี่ยวข้องกับพระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวาย

              “ฝูงชนประชุมพรักพร้อม    เพรียงหลาย

ตกแต่งโอ่อ่ากาย                           หมดหน้า

โสร่งปูมม่วงไหมหลาย                    อย่างต่าง นุ่งนา

ห่มเพลาะบ้างห่มผ้า                        แสดย้อมชมพู

 .....................................               .....................

          หญิงหลายชายมากกลุ้ม        สันสน

 สาวกลุ่มหนุ่มเกลื่อนปน                  ไขว่คว้า

 เปรมปริ่มกริ่มกมล                         เริงรื่น

 ปีหนึ่งมีชิงช้า                               แต่ครั้งเดียวดู

 .......................................             ....................

           คนดูชิงช้าบ่าย                   นับพัน

 มวลมากยิ่งกว่าวัน                         แห่เช้า

 ผู้ดีท่านนัดกัน                              ไปเที่ยว

  เป็นที่สร่างใจเศร้า                        พรักพร้อมประชุมชน”  (บำราบปีปักษ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าฯ กรมพระยา, ๒๕๒๔ : ๑๓๗, ๒๓๘,๑๓๙)


งานวรรณกรรมสามารถสะท้อนภาพวิถีชีวิตของผู้คนในช่วงสมัยที่นั้น ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต อาหารหารกิน คตินิยม การแต่งกาย ความนิยมในการใช้สิ่งของต่าง ๆ ค่านิยมได้ต่าง ๆ   อีกทั้งเป็นเครื่อบันทึกประวัติศาสตร์ชั้นดี 

หากนักประวัติศาสตร์ละเลยหลักฐานประเภทตำนาน วรรณกรรม แล้วไซร์ ประวัติศาสตร์ที่ค้นหาจะสมบูรณ์ได้อย่างไร


วาทิน ศาสติ์ สันติ : เรียบเรียง


หนังสืออ้างอิง

สมปราชญ์ อัมมะพันธุ์. ประเพณีและพิธีกรรมในวรรณคดีไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ :โอเดียนสโตร์. ๒๕๓๖.

ศิลปากร, กรม. นางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์. พระนคร : ศิลปาบรรณาคาร. ๒๕๑๓.

ตรัง, พระยา.โคลงดั่นเฉลิมพระเกียรติพระพุทธเลิศหล้านภาลัย. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ :  องค์การค้าคุรุสภา. ๒๕๑๒. 

บำราบปีปักษ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าฯ กรมพระยา. โคลงพระราชพิธีทวาทศมาส.พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. ๒๕๔๕.

ส. พลายน้อย. เรื่องเล่าบางกอก. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา. ๒๕๑๘.



หมายเลขบันทึก: 487253เขียนเมื่อ 6 พฤษภาคม 2012 22:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2013 07:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท