เส้นทางการขอทุน IDF BRIDGES


your project “Community-Based Diabetes Prevention Program in Thai Population” has been selected for funding

ตามที่เคยเล่าแล้วว่าดิฉันได้รับการเชิญไปเป็น Invited speaker ใน World Diabetes Congress 2011 ที่ดูไบ (อ่านที่นี่) คุณ Ronan L’Heveder ซึ่งเป็น Project manager ของ IDF BRIDGES ได้มาให้ข้อมูลและเชิญชวนให้เสนอโครงการวิจัยเพื่อขอรับทุนสนับสนุน และทีมเครือข่ายฯ ได้ช่วยกันออกแบบงานวิจัยครั้งนี้ตอนที่ไป Retreat ที่วังน้ำเขียว (อ่านที่นี่) เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2555

ดิฉันและ ศ.นพ.วิชัย เอกพลากร หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ช่วยกันเอาข้อมูลและความคิดเห็นของทีมเครือข่ายฯ มาเขียนเป็นข้อเสนอโครงการวิจัยเรื่อง Community-Based Diabetes Prevention Program in Thai Population ที่จะดำเนินการในพื้นที่ที่เรามีแกนนำเครือข่ายฯ ประจำอยู่ 4 ภาคคือกลาง เหนือ อีสาน และใต้

โครงการวิจัยของเราจะดำเนินการในกลุ่มเสี่ยงต่อเบาหวาน เป็น RCT และใช้ KM เป็นเครื่องมือในการสร้าง protocol ของ intervention รวมทั้งใช้กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ช่วยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของกลุ่มเสี่ยง

ดิฉันและอาจารย์วิชัยติดต่อกันไป-มาผ่านทาง email การทำงานในเวลาใกล้ Deadline (15 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 04 น. เมืองไทย) ทำให้ดิฉันต้องหยุดงานอื่น ๆ ห้ามใครรบกวน และนอนดึกอยู่หลายวัน ด้วยความตั้งใจว่าจะต้องส่งข้อเสนอโครงการให้ได้ คืนนั้นกว่าจะทำงานเสร็จได้ส่งงานทาง email ถึงคุณ Ronan ตอนตีสองกว่า ๆ โล่งใจจนไม่นอนเลยถึงเช้า

ข้อเสนอโครงการและเอกสารประกอบอื่น ๆ เสร็จทันเวลา ด้วยความช่วยเหลือจากกัลยาณมิตรและผู้ใหญ่หลายคน ดังนี้

  • ผศ.ดร.อัญชลี ชยานุวัชร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ทำหน้าที่ edit ภาษาอังกฤษให้
  • รศ.ดร.วัฒนพงศ์ เกิดทองมี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เขียนบรรยายเกี่ยวกับการสนับสนุนงานวิจัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
  • ดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เขียนหนังสือแสดงการ support โครงการวิจัย
  • ศ.นพ.เทพ หิมะทองคำ ในฐานะประธานมูลนิธิเพื่อพัฒนาการบริบาลผู้ป่วยเบาหวาน และ นพ.จักรกริช โง้วศิริ ผู้จัดการกองทุนบริหารจัดการโรคเรื้อรัง สปสช. เขียน Letters of reference ในฐานะองค์กรภายนอกให้
  • คุณธัญญา (หิมะทองคำ) วรรณพฤกษ์ ร่างหนังสือให้อาจารย์เทพ
  • คุณน้องนุช บ่อคำ เจ้าหน้าที่ สปสช. ประสานงานและเดินเรื่องใน สปสช. ให้

ต้องขอบคุณทุกท่านอย่างมากมาย เพราะดิฉันขอความช่วยเหลือแบบเร่งด่วน เพราะไม่ได้ตรวจสอบก่อนว่าต้องส่งหลักฐานอะไรบ้าง มารู้ว่าต้องส่งอะไรก็เหลือเวลาอีกไม่มากแล้ว และต้องขอบคุณระบบ internet ที่ทำให้การสื่อสารสะดวกรวดเร็ว

ตามกำหนดการ IDF BRIDGES จะแจ้งผลการพิจารณาให้ทราบภายในเดือนเมษายน เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2555 ดิฉันได้รับ email จากคุณ Ronan แจ้งว่าโครงการของเรา “has been pre-selection for funding” และขอให้เราส่งรายละเอียดเกี่ยวกับ intervention เพิ่มเติมภายในวันที่ 17 เมษายน เพื่อการพิจารณาก่อนที่จะตัดสินว่าจะให้ทุนหรือไม่

ดิฉันบอกคุณ Ronan ว่า “ช่วงเดือนเมษายนคนไทยมักจะพักร้อนกัน ดิฉันจะไปเยี่ยมลูกที่อเมริกาตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน จะกลับถึงเมืองไทยคืนวันที่ 21” คุณ Ronan มีน้ำใจรีบตอบกลับมาว่าให้ส่งงานตอนกลับจากอเมริกาแล้วก็ได้ “no problem”

ดิฉันส่งข่าวให้ทีมแกนนำทุกคนทราบ รู้สึกมีความหวังว่าโครงการของเราน่าจะมีโอกาสได้รับทุนสนับสนุน ไม่อย่างนั้นเขาคงไม่บอกให้เราให้ข้อมูลเพิ่มเติม ในช่วงเวลานั้นดิฉันยังไม่มีเวลาดำเนินการใด ๆ เพราะขึ้น ๆ ลง ๆ ระหว่างนครศรีธรรมราชและกรุงเทพฯ เข้าประชุมโครงการ EdPEx ของ สกอ.ที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 2 และ 4 เมษายน ดิฉันต้องหอบเอกสารแฟ้มใหญ่เกี่ยวกับโครงการวิจัยนี้ไปอเมริกาด้วยกันในเช้าวันที่ 5 

ช่วงวันหยุดสงกรานต์ อาจารย์วิชัยจะพาครอบครัวไปเที่ยวเมืองจีน จึงรีบเขียนรายละเอียดของ intervention ตามที่จดจำได้จากการประชุมที่วังน้ำเขียวส่งมาให้เมื่อวันที่ 9 เมษายน ดิฉันส่งไฟล์ของอาจารย์วิชัยต่อให้ทีมแกนนำช่วยกันให้ความเห็นและเพิ่มเติม คุณหมอนิพัธ กิตติมานนท์ ตอบกลับมาเมื่อวันที่ 11 คุณหมอจักรกริชและคุณธวัช หมัดเต๊ะ ให้ความเห็นมาเมื่อวันที่ 12 น้องมด ภญ.ปราณี ลัคนาจันทโชติ ส่งความเห็นให้เมื่อวันที่ 13 เมษายน

ตอนที่ไปอยู่และเที่ยวกับลูกที่อเมริกา รู้สึกว่ายังมีวันเวลาอีกนานกว่าจะถึงกำหนดวันส่งงาน เอกสารจึงนอนนิ่งอยู่ในกระเป๋า กว่าจะได้รื้อออกมาทำงานก็วันที่ 15 แล้ว ช่วงนั้นที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์กำลังจะเป็นเจ้าภาพงานกีฬา สกอ.ครั้งที่ 31 อาจารย์อัญชลีจึงยุ่งอยู่กับภารกิจต่าง ๆ มากมายติดต่อกันไม่ได้ ดิฉันจึงส่งไฟล์ที่เขียนเพิ่มเติมให้คุณ David Beran ซึ่งขณะนี้ทำงานอยู่ที่ University of Geneva ช่วย edit ภาษาอังกฤษให้ในเช้าวันที่ 17 เมษายน

ตอนนั้นคุณ David กำลังสอนอยู่ที่ London สอนเสร็จก็จะเดินทางกลับเจนีวา โชคดีที่เข้าถึง email ได้ จึงตอบกลับมาภายในบ่ายวันเดียวกัน มีการแก้ไขภาษา 3-4 จุด คุณ David ให้ขยายความเรื่องการ verify ความรู้ tacit knowledge ที่ได้จากตลาดนัดความรู้ ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของการสร้าง protocol ว่าทำไปเพื่ออะไร ให้ให้เพิ่มข้อมูลการดูแลกลุ่มควบคุม และยังแนะนำให้เขียน diagram แสดงการดำเนินงานวิจัยเพื่อให้กรรมการเข้าใจได้ง่าย คำแนะนำส่วนหลังนี้ดิฉันไม่ได้ทำ เพราะเกรงจะเสียเวลาเรื่องการพิมพ์และต้องตรวจทานกันอีก

งานเสร็จส่งให้คุณ Ronan ได้ในวันที่ 17 เมษายน ของอเมริกา แต่ตรงกับวันที่ 18 ของบ้านเรา หลังจากนั้นก็คอย check email ฟังข่าว วันที่ 26 เมษายน คุณ Ronan ส่ง email มาแจ้งว่า

Dear Valla,
On behalf of Professor …… and Professor……, we would like to thank you for your application.

Following careful consideration by the Review Committee, we are pleased to inform you that your project “Community-Based Diabetes Prevention Program in Thai Population” has been selected for funding......

เป็นข่าวดีที่ทำให้รู้สึกภาคภูมิใจ

ก่อนหน้าที่จะลงนามใน agreement ดิฉันนัดหมายอาจารย์วิชัยและคุณธวัช เพื่อช่วยกัน review โครงการวิจัยอีกรอบว่าจะมีการแก้ไขปรับเปลี่ยนอะไร อย่างไร หรือไม่ เรานัดคุยกันในเช้าวันที่ 8 พฤษภาคม ที่ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี หลังจากนั้นจะนัดประชุมทีมแกนนำเครือข่ายต่อไป

วัลลา ตันตโยทัย

 

หมายเลขบันทึก: 487169เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2012 22:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท