ระวังจิตเภท (Schizophrenia ) โรคนี้ทำให้คนดี หลงผิดมามากแล้ว


บทบาทของพยาบาลแผนกผู้ป่วยนอกที่สำคัญก็คือการซักประวัติและคัดกรองคนไข้ ก่อนส่งไปพบแพทย์ ซึ่งไม่ใช่ว่าสักซัก โดยไม่ดูหรือแก้ไขอะไร ปล่อยไว้ให้เป็นหน้าที่ของแพทย์ “ ก็แพทย์มีหน้าที่รักษานี่หว่า” นี่คือความคิดของพยาบาลหลายๆคน  แต่สำหรับชลัญแล้ว บางอย่างที่แก้ไขได้ต้องจัดการก่อนถึงมือแพทย์ เพื่อสิทธิ์ประโยชน์ของคนไข้เอง เช่นหากวันนี้คนไข้เยอะมาก แพทย์ อารมณ์เสียหงุดหงิด  สิ่งที่เราอยากให้แพทย์ตรวจอาจไม่ได้รับการตรวจที่ถูกต้องเหมาะสม ดังกรณีตัวอย่าง  คนไข้เบาหวานรายนี้

                คุณป้าวัย 58 ปี ป่วยด้วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงมาซักประวัติ  นุ่งขาวห่มขาวคล้ายแม่ชี แต่ที่แปลกคือทัดดอกไม้ที่หู ทาปากแดง ถือศิลคงไม่ใช่แน่ เอ๊ะ!!!เกิดอะไรขึ้น   ชลัญคิดในใจ

                ชลัญ : คุณป้าวันนี้เป็นอะไรมาจ๊ะ

                ป้า   :  ป้ามารับยาเบาหวานความดันต่อจ้า คุณหมอ

                ชลัญ :  ( ก็พูดจารู้เรื่อง  จึงลองถาม การรับรู้ต่างๆ คน วัน เวลาสถานที่ ตอบได้หมด เอ! ไม่น่าผิดปกติ  ) จึงให้คุณป้าออกไปรอก่อน ขอคุยกับญาติบอกว่าจะทบทวนเรื่องการกินยา   คุณป้าออกไปอย่างว่าง่าย

                ลูกสาวป้า : หมอมีอะไรจะถามชั้นหรือจ๊ะ

                ชลัญ : ทำไมคุณป้าแต่ตัวแปลก ๆ

                ลูกสาวป้า : อ๋อ .... แม่เป็นร่างทรง พอดี  สัก  6 เดือน ก่อนนี่ แม่ป่วยมากรักษายังไงก็ไม่ดีขึ้น มาตรวจที่ รพ. หมอบอกเป็นติดเชื้อเข้ากระแสเลือด  รักษาอยู่ รพ.นาน เป็นเดือน หลังจากนั้นแม่ก็ฝันว่า เจ้าแม่ ......(จำไม่ได้แล้ว )  มาขอให้แม่ รับองค์ จะมาอยู่ด้วย  ถ้าไม่รับก็ไม่หาย  หลังจากนั้นแม่ก็รับและก็ใส่ชุดแบบนี้มาตลอด  แม่ก็หายป่วยนะ   แต่พฤติกรรมแม่เปลี่ยนไป คือ กับสามีฉัน  นี่แต่ก่อนแม่ก็รักลูกเขยดี แต่ตอนหลังนี่แม่บอกว่าสามีฉันเป็นกาละกิณีบ้าน  ต้องแยกกันอยู่  นี่ฉันก็จะต้องสร้างบ้านใหม่  แต่ก็ห่วงแม่จะไม่มีคนอยู่ด้วย   ยิ่งช่วงหลังนี่มีคนมาหาแกมากเพราะแกเคยบอกหวยชาวบ้านถูก  และบอกว่าสามีฉันจะฆ่า พี่น้องคนอื่นๆก็พลอยโกธร ฉันด้วย แต่ฉันก็ทน เพราะห่วงแม่   สามีฉันก็ลาบากใจแต่ห่วงฉันกับลูกก็ทน  นี่ลูกคนอื่นๆ มีแต่คนว่าฉันกับสามี แต่แม่ป่วยก็มีแต่ฉันกับสามีนี่แหล่ะที่ดู  บางทีฉันก็รู้สึกไม่พอใจเจ้าแม่.... แต่ไม่กล้า ฉันกลัวเขาจะมาเอาชีวิต ครอบครัวฉันน่ะหมอ

                ชลัญ :( โอ้ว ....ได้ข้อมูลเพียบ  )  นี่มันไม่ใช่เจ้าม่งเจ้าแม่แล้วมันเป็นอาการจิตเภท  ซึ่งเป็นโรคจิตประเภทหนึ่งนี่เอง  อาการนี่จะเนียนๆดูไม่ออกนักหรอกว่าผิดปกติ   ก็เลยถามลูกสาวต่อว่า  “ ป้าแกมีพูดบ่นคนเดียวมั๊ย “

                ลูกสาวป้า : มีหมอบางครั้งกลางคืนฉันเห็นเหมือนนั่งคุยกับใคร  ถามแม่บอกคุยกับเจ้าแม่  ฉันก็กลัว อ้อ ... บางคืนไม่นอนนะหมอ  เดินไปมาบ่นพรึมพรำ  พอไม่ถาม ก็ตวาด  บอก “ มึงรู้มัยว่ากูเป็นใคร “ กูไม่อยากนอน เดี๋ยวส่งผีตายโหงไปหักคอ “  ฉันกลัวบริวารเจ้าแม่ ก็ได้แต่นอนเฉย  แต่กับคนอื่นแม่จะพูดจาดีมากยกเว้นกับฉันกับสามีฉัน

                ชลัญ : แล้วเราเชื่อมั๊ยว่าแม่เป็นร่างทรง มีเจ้าแม่จริง 

                ลูกสาวป้า :  ก็ตอนแรกว่าจะไม่เชื่อแต่แม่ให้หวยถูกมา 2งวด แล้ว คนแถบนั้นเชื่อถือแกมาก  ถ้าไม่เชื่อแล้วจะเป็นอะไรเหรอ ผีเข้าหรือหมอ (โอ๊ย..ไปกันใหญ่ ชลัญคิดในใจ )

                ชลัญ : เอางี้ ...ถ้าให้ความร่วมมือพยาบาล แม่เราจะหาย O.K มั๊ย

                ลูกสาวป้า : หมอจะทำไง  แล้วไม่กลัวเจ้าแม่เหรอ 

                ชลัญ :  โอ๊ย ...ไม่ต้องห่วง พยาบาลมีเจ้าแม่ ชลัญธรวดี  (ชื่อตั้งเอง เพราะคนไข้ไม่รู้ชื่อเรา ชลัญธรมักลืมแขวนป้าชื่อประจำ  ส่วนใหญ่เขารู้กันในชื่อหมอโจ้มากกว่า  ) เก่งกว่าเจ้าแม่อะไรนั่นอีก   รับรองหาย

                ลูกสาวป้ายอมรับเจ้าแม่ ชลัญธรวดี   รักษาแม่เธอ จากนั้นก็เป็นปฏิบัติการเตรียมการกับแพทย์  แพทย์ก็ให้ความร่วมมือด้วยดีสั่งยา ให้สำหรับผู้ป่วย Case schizophrenia   คือ Haloperidol ขนาดที่แพทย์สั่งจำไม่ได้แล้ว  และฉีด  Deca  นัดติดตามอาการ อีก 1เดือน ลูกสาวป้ามาส่งข่าว ว่า เจ้าแม่  ชลัญธรวดี  นี่แน่จริง  แม่ พูดจากับฉันและสามีดีขึ้น   เหมือนปกติ  แม่เห็นของบูชาที่อยู่ในบ้าน  แม่บอกจำไม่ค่อยได้ว่าเอามาไว้ทำอะไร  พอเล่าให้แม่ฟังถึงเจ้าแม่....และแม่ก็บอกงงเหมือนฝันแต่ก็ให้เก็บเพราะแม่บอกว่าเจ้าแม่คงไปแล้วมั๊งเพราะตอนนี้แม่หลับสบายดี  

                สุดท้ายชลัญธรก็เลยต้องเฉยว่าที่ป้าเป็นน่ะเป็นอาการทางจิต หรือเรียกว่า โรคจิตเภท  รักษาได้ แต่ต้องดูแลให้กินยาต่อเนื่อง  บรรดาลูกๆป้ากลับมาขอบคุณกันใหญ่ เกือบผิดใจกับเขย คิดว่าจะทำร้ายแม่จริงๆเพราะหวังสมบัติ

                เรื่องนี้ก็จบแบบ happy ending ป้ามารับยาอย่างสม่ำเสมอ ลูกดูแลให้ป้ากินยาต่อเนื่อง เจ้าแม่ “ชลัญธรวดี”ก็ไม่ต้องออกโรงอีก   คิดไปก็น่าขัน อิ  อิ ... 

โรคจิตเภทคือ กลุ่มอาการของโรคจิต ที่มีความผิดปกติของความคิด มีลักษณะอาการแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ ลักษณะอาการทางบวก และลักษณะอาการทางลบ
กลุ่มลักษณะอาการทางบวกหมายถึง อาการที่มีเพิ่มมากกว่าคนปกติทั่วไป ได้แก่
- ประสาทหลอน เช่นได้ยินเสียงคนพูดคุย ได้ยินเสียงคนพูดตำหนิ พูดโต้ตอบเสียง นั้นเพียงคนเดียว
- อาการหลงผิด เช่นคิดว่ามีเทพวิญญาณอยู่ในร่างกาย คอยบอกให้ทำสิ่งต่างๆ
- ความคิดผิดปกติ เช่นพูดไม่เป็นเรื่องเป็นราว พูดไม่ต่อเนื่อง เปลี่ยนเรื่องพูด  โดยไม่มีเหตุผล
- พฤติกรรมผิดปกติ เช่นอยู่ในท่าแปลกๆ หัวเราะหรือร้องไห้ สลับกันเป็นพักๆ

กลุ่มลักษณอาการทางลบหมายถึง อาการที่ขาดหรือบกพร่องไปจากคนปกติทั่วๆไป ได้แก่
- สีหน้าอารมณ์เฉยเมย ชีวิตไม่มีจุดหมาย ไม่มีสัมพันธภาพกับใคร ไม่พูด   ไม่มีอาการยินดียินร้าย

อะไรคือสาเหตุ
เชื่อว่าเกิดจากความผิดปกติของสมองบางส่วน โดยอาจขาดการกระตุ้นให้ทำงาน จากสารสื่อสารของใยประสาทในสมอง ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่
ในปัจจุบันยังไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงของโรคจิตเภท ดูเหมือนว่ากรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อมจะมีอิทธิพลต่อการเกิดโรคนี้พอๆกัน นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ตรงไปตรงมาว่ายีนส์อะไร สารเคมีตัวไหน หรือความเครียดแบบใดที่เป็นสาเหตุของโรคจิตเภทนี้โดยตรงโรคจิตเภทมีสาเหตุมาจากปัจจัยทางด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งทางร่างกายนั้นเกิดจากความผิดปกติในการทำงานของสมองในการสร้างสารบางอย่างที่มีปริมาณมากหรือน้อยเกินไป ส่วนทางด้านจิตใจนั้น เกิดจากความเครียดในชีวิตประจำวันเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความเจ็บป่วยขึ้น ดังนั้นหากสงสัยว่าท่านหรือผู้ใกล้ชิดมีอาการดังกล่าว ขอแนะนำให้รีบไปปรึกษาแพทย์ เพื่อจะได้ให้การบำบัดรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เริ่มแรก
การรักษาโรคจิตเภท
เป้าหมายของการรักษามี 3 ประการคือ
1. รักษาอาการให้หายหรือบรรเทาลง
2. ป้องกันไม่ให้ป่วยอีก โดยการให้ยากินติดต่อกัน หลีกเลี่ยงสาเหตุที่จะทำให้ ป่วย หรืออาการกำเริบขึ้นควรสังเกตุอาการก่อนที่จะมีอาการกำเริบใหม่ 
    เพื่อปรับการรักษาก่อนที่จะมีอาการรุนแรง
3. การฟื้นฟูสมรรถภาพ ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่นฝึกทักษะ การใช้ชีวิตในสังคม ทักษะในการประกอบอาชีพ ทักษะในการสื่อสาร

 

 

คำสำคัญ (Tags): #โรคจิตเภท
หมายเลขบันทึก: 487165เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2012 22:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 23:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ชอบจังครับ...ได้ทักษะนำไปใช้ในการทำงานครับ

ขอบคุณ Ico24 ทิมดาบ, Ico24 นาง นงนาท สนธิสุวรรณ, และ Ico24 ที่ให้กำลังใจ  โรคจิตเภทนี้ครอบครัวไหนมีคนไข้ น่าสงสาร  เพราะอาการที่ครึ่งปกติ ครึ่งไม่ปกติ นั้น  ทำให้ญาติประเมินยากว่า  ตกลงเป็นปกติหรือโรคจิต 

ชลัญธรมักได้ซักประวัติคนไข้ กลุ่มนี้ แบบยากๆ น้องผู้ช่วยชอบนำมาให้ชลัญซัก อาจเป็นเพราะชลัญมีความอดทนต่อสิ่งเร้าสูง  หรือ เราเป็นจิตเภทแบบหนึ่งก็เลยคุยกับคนไข้รู้เรื่องก็ไม่รู้

คุณชลัญธร ผมเปลี่ยนรูปใหม่ ในบล็อก พอเป็นนายแบบได้มั้ยครับ

เรียนท่านวอญ่า ว่าจะโพสต์ ขึ้นพร้อมๆกันหลายคน กำลังออกแบบ แต่เห็นของท่านแล้ว แบบของชลัญชิดซ้ายเลย ว่าจะออกแบบให้ท่าน ใส่กับกางเกงที่คนถางทางออกแบบ อยากรู้แบบไหน ตามไปดู http://www.gotoknow.org/blogs/posts/487092

เป็นประโยชน์มากครับ ขอเอาไปเป็นบทเรียนชีวิตนะครับ

ขอนำเรื่องไปศึกษาต่อด้วย จะได้ช่วยเหลือคนที่เค้าลำบากได้ ^^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท