การนำรูปแบบ กระบวนการ และแนวนโยบายในการลบทะเบียนประวัติอาชญากรมาใช้ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทย


การนำรูปแบบ กระบวนการ และแนวนโยบายในการลบทะเบียนประวัติอาชญากรมาใช้ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทย*

นางสาวจงสวัสดิ์ พิสิฐพันพร**

บทนำ

          เมื่อบุคคลใดกระทำความผิดและผ่านขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมแล้ว บุคคลนั้นจะได้ชื่อว่าเป็นอาชญากรและมีข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการกระทำความผิดติดตัว หรือที่เรียกกันว่า “ทะเบียนประวัติอาชญากร” ซึ่งทะเบียนประวัติอาชญากรนี้เป็นเอกสารที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลผู้กระทำความผิด เช่น ชื่อ นามสกุลของผู้กระทำความผิด ลักษณะและพฤติการณ์ในการกระทำความผิด เป็นต้น โดยข้อมูลต่างๆในทะเบียนประวัติอาชญากรนี้จะเป็นข้อมูลที่สำคัญสำหรับกระบวนยุติธรรมทางอาญา เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถใช้ข้อมูลในทะเบียนประวัติอาชญากรในการพิจารณาสืบสวน สอบสวนหาหลักฐานและบุคคลผู้กระทำความผิดได้ ศาลหรือผู้พิพากษาสามารถใช้ข้อมูลในทะเบียนประวัติอาชญากรในการพิจารณาตัดสินคดีบังคับโทษให้เหมาะสมกับความผิดที่บุคคลนั้นได้กระทำลงได้ เป็นต้น ซึ่งการลงโทษตามวัตถุประสงค์ต่างๆมีขึ้นเพื่อต้องการให้ผู้กระทำความผิดสำนึกผิดในสิ่งที่ได้กระทำลงไป และพร้อมที่จะกลับตัวเป็นคนดีของสังคม แต่จะเห็นได้ว่าการที่บุคคลมีทะเบียนประวัติอาชญากรติดตัวนั้น ทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดความรังเกียจ ไม่อยากคบหาสมาคมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายจ้างมักจะขอให้ผู้สมัครงานให้ความยินยอมในการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำความผิด เพื่อประกอบการพิจารณาว่าสมควรรับบุคคลนั้นเข้าทำงานในองค์กรหรือไม่ หากพบว่าบุคคลนั้นมีทะเบียนประวัติอาชญากรติดตัว ก็มักไม่ให้โอกาสในการเข้าทำงานด้วย เมื่อบุคคลนั้นกลับคืนสู่สังคมได้ยากลำบาก ส่งผลให้ในที่สุดบุคคลเหล่านี้อาจหวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำอีก จากความสำคัญของปัญหานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ปัจจุบันที่ทวีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น บทความนี้จึงมุ่งศึกษาความเป็นไปได้ของการนำรูปแบบ กระบวนการ และแนวนโยบายในการลบทะเบียนประวัติอาชญากรมาใช้ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทย

 

ความสำคัญของทะเบียนประวัติอาชญากร

          การที่ทะเบียนประวัติอาชญากรเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เป็นไปตามแนวคิดของกฎหมายที่เรียกว่า Three strikes law” ที่มีแนวความคิดให้ลงโทษบุคคลผู้กระทำความผิดให้หนักขึ้น หากบุคคลนั้นได้กระทำความผิดซ้ำ เพราะถือว่าบุคคลนั้นไม่ได้หลาบจำหรือเข็ดหลาบกับโทษที่ได้รับในครั้งแรก เมื่อมีการกระทำความผิดซ้ำเกิดขึ้น จึงต้องลงโทษให้หนักขึ้นกว่าเดิม กล่าวคือ จำคุกตั้งแต่ ๒๕ ปี ถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิต นอกจากการคงไว้ซึ่งทะเบียนประวัติอาชญากรจะเป็นไปตามแนวความคิดของกฎหมาย Three strikes law แล้ว ยังเป็นไปตามทฤษฎีการลงโทษอีกด้วย เช่น เมื่อบุคคลมีทะเบียนประวัติอาชญากรติดตัว จะเป็นเครื่องเตือนใจให้บุคคลนั้นเกิดความเข็ดหลาบไม่กล้ากระทำความผิดอีก ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์การลงโทษเพื่อเป็นการข่มขู่ผู้กระทำความผิด[๑] นอกจากนี้เมื่อบุคคลทั่วไปเห็นว่าหากกระทำความผิดจะต้องได้รับโทษเช่นนี้ ก็จะเกิดความเกรงกลัวไม่กล้ากระทำความผิด อันเป็นไปตามวัตถุประสงค์การลงโทษเพื่อเป็นการป้องกันสังคม เป็นต้น

 

ข้อโต้แย้ง : แนวคิดของการลบทะเบียนประวัติอาชญากร              

          อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันแนวความคิดของการคงไว้ซึ่งทะเบียนประวัติอาชญากรมีความเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ ในหลายประเทศเริ่มมีแนวความคิดของการลบทะเบียนประวัติอาชญากรมาใช้ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ด้วยเหตุว่าการคงไว้ซึ่งทะเบียนประวัติอาชญากร ทำให้บุคคลผู้กระทำความผิดต้องมีตราบาปติดตัว เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตในสังคม ซึ่งอุปสรรคหรือผลกระทบต่างๆอย่างสังเขปนั้น มีดังต่อไปนี้

          ๑. ผลกระทบต่อตัวบุคคลผู้พ้นโทษ

          แม้บุคคลผู้กระทำความผิดจะได้รับโทษจนพ้นโทษออกมาแล้ว แต่ในสายตาของบุคคลทั่วไปก็ยังรังเกียจบุคคลนั้นอยู่ ไม่อยากจะคบหาสมาคมด้วย เพราะบุคคลนั้นเคยกระทำความผิดมาแล้ว นอกจากนี้บุคคลผู้กระทำความผิดนั้นเองยังมีความรู้สึกว่าไม่ชินต่อสภาพแวดล้อมภายนอก เพราะได้รับโทษมานาน พวกเขาจะเกิดความรู้สึกไม่เชื่อมั่นในการดำเนินชีวิตในสังคม เกิดความกังวลใจว่าสังคมจะยอมรับพวกเขาหรือไม่ เมื่อความรู้สึกส่วนตัวประกอบกับแรงกดดันภายนอก ส่งผลให้พวกเขารู้สึกสูญเสียศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ขาดกำลังใจ และในที่สุดจะกลายเป็นบุคคลที่มีเหตุผลวิจารณญาณที่ไม่ถูกต้อง[๒]

          นอกจากปัญหาจากกลับเข้าสู่สังคมแล้ว บุคคลที่กระทำความผิดจนได้รับโทษจำคุกมาแล้ว ยังจะถูกตัดสิทธิ์ตามกฎหมายต่างๆที่บัญญัติเอาไว้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นประเด็นทางด้านอาชีพการงาน หรือสิทธิทางการเมือง ดังตัวอย่างต่อไปนี้

(๑) พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พุทธศักราช ๒๕๔๗ มาตรา ๓๐[๓] กำหนดให้บุคคลที่จะรับราชการครู ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม คือ “...เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ...”

(๒) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๑๐๒[๔] บัญญัติว่า “บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

(๕) เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ...

เมื่อบุคคลผู้กระทำความผิดมีปัญหาการกลับเข้าสู่สังคม และการถูกตัดสิทธิ์ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ อาจจะก่อให้เกิดปัญหาที่ตามมา คือ การกระทำความผิดซ้ำ กล่าวคือ เมื่อไม่มีโอกาสอยู่ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินชีวิตตามปกติ หรือการประกอบอาชีพ ทำให้ในที่สุดบุคคลนั้นต้องหวนกลับเข้าสู่วงจรเดิม คือ การกระทำความผิดซ้ำ

๒. ผลกระทบต่อครอบครัวของผู้กระทำความผิด

เมื่อผู้กระทำความผิดพ้นโทษออกมาแล้ว นอกจากผลกระทบต่อตัวเองแล้ว ยังเกิดผลกระทบต่อครอบครัวของผู้กระทำความผิดอีกด้วย กล่าวคือ สังคมก็จะพลอยรังเกียจบุคคลในครอบครัวด้วย และการที่บุคคลมีทะเบียนประวัติอาชญากรติดตัว จะทำให้ชื่อเสียงของวงศ์ตระกูลเกิดความมัวหมองอีกด้วย

๓. ผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ

หากบุคคลที่มีทะเบียนประวัติอาชญากรติดตัวเป็นบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถในอาชีพใดอาชีพหนึ่ง แต่ไม่มีโอกาสประกอบอาชีพนั้น เพราะเหตุที่มีทะเบียนประวัติอาชญากรติดตัว จะเป็นการทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ เพราะบุคคลเหล่านั้นไม่มีโอกาสในการสร้างสรรค์ผลงานให้ปรากฏแก่สังคม ทำให้ขาดรายได้ นอกจากนี้ยังจะกลายเป็นภาระให้ครอบครัว รวมถึงสังคมต้องเลี้ยงดูบุคคลนั้นด้วย

ดังนั้นเมื่อการคงไว้ซึ่งทะเบียนประวัติอาชญากรก่อให้เกิดผลกระทบมากมายหลายประการ ในหลายๆประเทศจึงนำแนวความคิดของการลบทะเบียนประวัติอาชญากรมาใช้ในกระบวนการยุติธรรมของประเทศตนเอง เพื่อเป็นการให้โอกาสบุคคลในการดำเนินชีวิตในสังคมโดยปกติอีกครั้งหนึ่ง ในบทความนี้จะยกตัวอย่างประเทศที่มีความโดดเด่นในการลบทะเบียนประวัติอาชญากร อันได้แก่ ประเทศนิวซีแลนด์ ประเทศออสเตรเลีย และมลรัฐเทกซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา

          ๑. ประเทศนิวซีแลนด์

          ประเทศนิวซีแลนด์มีพระราชบัญญัติลบทะเบียนประวัติอาชญากร ได้แก่ The Criminal Records (Clean Slate) Act 2004[๕]โดยกฎหมายฉบับนี้มีขึ้นเพื่อให้บุคคลที่ได้รับประโยชน์จากการลบทะเบียนประวัติอาชญากรสามารถกล่าวอ้างได้ว่าตนเองไม่เคยมีข้อมูลประวัติการกระทำความผิดมาก่อน โดยการลบทะเบียนประวัติอาชญากรตามกฎหมายนี้ หมายถึง การปกปิดไม่เปิดเผยข้อมูลการกระทำความผิด ทั้งนี้กฎหมายได้กำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่จะได้รับประโยชน์ไว้ด้วย กล่าวโดยสรุปคือ บุคคลนั้นต้องไม่ได้กระทำความผิดตามที่ระบุเอาไว้ เช่น ความผิดเกี่ยวกับเพศ ประกอบกับบุคคลนั้นได้ผ่านขั้นตอนการแก้ไขฟื้นฟูครบตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนต้องยื่นคำร้องต่อศาล District Court เพื่อให้ศาลพิจารณาถึงความเหมาะสมในการที่บุคคลนั้นจะได้รับการลบทะเบียนประวัติอาชญากร หากศาล District Court ไม่อนุญาตให้บุคคลผู้ยื่นคำร้องได้รับการลบทะเบียนประวัติอาชญากร ผู้นั้นสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาล High Court ได้ อย่างไรก็ตามกฎหมายก็ได้กำหนดข้อยกเว้นให้มีการเปิดเผยทะเบียนประวัติอาชญากรได้ กล่าวคือ หากเป็นประเด็นเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม และอาชีพที่สำคัญ ก็จะต้องมีการเปิดเผยประวัติการกระทำความผิดให้สามารถตรวจสอบได้

๒. ประเทศออสเตรเลีย

          ประเทศออสเตรเลียมีพระราชบัญญัติ Criminal Records Act 1991[๖] ซึ่งเป็นกฎหมายที่รวบรวมประเด็นต่างๆเกี่ยวกับทะเบียนประวัติอาชญากรเอาไว้ รวมถึงการลบทะเบียนประวัติอาชญากรด้วย ซึ่งการลบทะเบียนประวัติอาชญากรนี้ หมายถึง การไม่เปิดเผยข้อมูลการกระทำความผิดเช่นเดียวกัน โดยบุคคลที่จะได้รับการลบทะเบียนประวัติอาชญากรต้องถูกตัดสินลงโทษและผ่านการคุมประพฤติมาแล้ว นอกจากนี้ยังมีข้อยกเว้นไม่ให้บุคคลได้รับการลบทะเบียนประวัติอาชญากรด้วย หากเป็นการกระทำความผิดตามที่กฎหมายระบุไว้ หรือเป็นประเด็นเกี่ยวกับการประกอบอาชีพที่สำคัญ รวมถึงหากเป็นข้อมูลในกระบวนการก่อนชั้นศาลก็สามารถเปิดเผยได้เช่นกัน ทั้งนี้บุคคลที่ได้รับอนุญาตให้ลบทะเบียนประวัติอาชญากรแล้วก็ไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลใดๆเกี่ยวกับการกระทำความผิดให้ผู้อื่นทราบ

          นอกจากนี้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายของออสเตรเลียยังมีแนวคิดในการลบทะเบียนประวัติอาชญากรให้แก่เด็กและเยาวชนด้วย โดยได้เสนอแนะแนวทางใน ALRC 84[๗] เพราะไม่ต้องการให้เด็กหรือเยาวชนมีตราบาปติดตัว เพราะเด็กหรือ เยาวชนอาจเติบโตไปเป็นอาชญากรเต็มตัวได้

          ๓. มลรัฐเทกซัส สหรัฐอเมริกา

          มลรัฐเทกซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา กำหนดการลบทะเบียนประวัติอาชญากรไว้ใน Title 1 Chapter 55[๘] ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตามกฎหมายนี้บุคคลที่จะขอลบทะเบียนประวัติอาชญากรจะต้องถูกบังคับโทษหรือมีข้อหาใดๆเกี่ยวกับการกระทำความผิดร้ายแรง นอกจากนี้กฎหมายฉบับนี้ยังเปิดโอกาสให้บุคคลอื่นยื่นคำร้องแทนบุคคลผู้กระทำความผิดได้ด้วย หากบุคคลนั้นถึงแก่ความตายไปแล้ว โดยบุคคลผู้กระทำความผิดหรือผู้ยื่นคำร้องแทนต้องยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่ศาลพิพากษาให้พ้นโทษ จากนั้นศาลจะพิจารณาจากคำร้องว่าสมควรลบทะเบียนประวัติอาชญากรให้บุคคลนั้นหรือไม่ ส่วนข้อยกเว้นการลบทะเบียนประวัติของมลรัฐเทกซัสก็คล้ายกับกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวคือ หากเกี่ยวกับการสืบสวน สอบสวน หรือการดำเนินกระบวนพิจารณาก็สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ เมื่อศาลมีคำสั่งให้ลบทะเบียนประวัติอาชญากร ห้ามมิให้มีการเผยแพร่ การเก็บรักษา หรือการใช้ข้อมูลที่ศาลสั่งลบแล้ว

          นอกจากนี้มลรัฐเทกซัสยังมีกฎหมายเฉพาะสำหรับการลบทะเบียนประวัติอาชญากรของเด็กหรือเยาวชนด้วย โดยกำหนดใน Title 3 Chapter 58 Subchapter A[๙] ในประมวลกฎหมายครอบครัวของมลรัฐ โดยเด็กหรือเยาวชนที่จะขอลบทะเบียนประวัตินั้นต้องไม่ได้กระทำความผิดอื่นใดอีก และต้องรอให้ระยะเวลา ๒ ปีนับแต่วันที่คดีถึงที่สุดผ่านไปก่อนด้วย นอกจากการปกปิดไม่เปิดเผยทะเบียนประวัติอาชญากรแล้ว กฎหมายฉบับนี้ยังได้กำหนดกรณีสำหรับการทำลายข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรซึ่งแตกต่างจากกรณีปกติอีกด้วย

 

บทสรุป

          จากที่อธิบายมาทั้งหมด ผู้เขียนจึงเห็นควรมีการนำรูปแบบ กระบวนการ และแนวนโยบายในการลบทะเบียนประวัติอาชญากรมาใช้ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทย  

          เมื่อการลบทะเบียนประวัติอาชญากรเป็นเรื่องใหม่สำหรับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทย เพราะฉะนั้นเพื่อให้การเริ่มต้นเป็นไปได้ด้วยดี จึงควรกำหนดความหมายของคำว่า “การลบทะเบียนประวัติอาชญากร” ให้มีความหมายเพียง การปกปิด ไม่เปิดเผยข้อมูลต่างๆในทะเบียนประวัติอาชญากรของบุคคลที่ได้รับการลบทะเบียนประวัติอาชญากรแล้วเท่านั้น ประกอบกับประเทศที่นำมาเป็นกรณีศึกษาก็มีวิธีการลบทะเบียนประวัติเป็นเพียงการไม่เปิดเผยข้อมูลเช่นเดียวกัน ในส่วนประเด็นอื่นๆนั้น อันได้แก่ บุคคลผู้อยู่ในเกณฑ์ได้รับการลบทะเบียนประวัติอาชญากร รูปแบบของการกำหนดการลบทะเบียนประวัติอาชญากร กระบวนการในการลบทะเบียนประวัติอาชญากร ข้อยกเว้นของการลบทะเบียนประวัติอาชญากร และผลของการลบทะเบียนประวัติอาชญากรจะได้อธิบายตามลำดับ

          ๑. บุคคลที่มีสิทธิได้รับการลบทะเบียนประวัติอาชญากร

                   บุคคลที่จะมีสิทธิได้รับโอกาสในการลบทะเบียนประวัติอาชญากรนั้นควรจะเป็นบุคคลที่ผ่านการกลั่นกรองคุณสมบัติจนพบว่าบุคคลนั้นสมควรได้รับการลบทะเบียนประวัติอาชญากรอย่างแท้จริง กล่าวคือ ไม่ใช่ผู้กระทำความผิดทุกคนจะได้รับโอกาสนี้ ดังที่ประเทศที่นำมาศึกษาก็ได้กำหนดคุณสมบัติของบุคคลไว้เช่นกัน โดยนำการกระทำความผิดมาเป็นตัวกำหนด กล่าวคือ ต้องไม่เป็นบุคคลที่กระทำความผิดร้ายแรงตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ เพราะฉะนั้นประเทศไทยก็ควรจะนำการกระทำความผิดมาเป็นมาตรฐานของคุณสมบัติของบุคคลที่จะได้รับโอกาสในการลบทะเบียนประวัติอาชญากรเช่นเดียวกัน ซึ่งความผิดร้ายแรงตามที่ผู้เขียนวิเคราะห์มานั้นเป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น ได้แก่ ความผิดต่อความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ ความผิดที่มีลักษณะเป็นการกระทำต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เช่น ความผิดฐานเป็นกบฏ การก่อการร้าย เป็นต้น ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและกระบวนการยุติธรรม เพราะอาชีพเหล่านี้ถือเป็นอาชีพที่มีความสำคัญ และความผิดที่ได้กระทำโดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่าปกติ ความผิดต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ เช่น การฮั้วประมูลในกิจการต่างๆ การฟอกเงิน เป็นต้น และความผิดที่ก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชนส่วนรวม เช่น ความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เป็นต้น   

          ๒. รูปแบบของการกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการลบทะเบียนประวัติอาชญากร

          เมื่อการลบทะเบียนประวัติอาชญากรมีการกำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่ชัดเจน ทำให้มีผลเป็นการการจำกัดสิทธิของบุคคลที่กระทำความผิดบางประเภทตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ประกอบกับการลบทะเบียนประวัติอาชญากรมีเนื้อหาที่เป็นรายละเอียดอยู่พอสมควร เพราะฉะนั้นการลบทะเบียนประวัติอาชญากรจึงควรกำหนดหรือปรากฏออกมาเป็นพระราชบัญญัติเฉพาะฉบับใหม่  ซึ่งพระราชบัญญัติที่ออกมาควรจะเป็นพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรทั้งหมด อาทิ คำนิยามของทะเบียนประวัติอาชญากร องค์กรหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดเก็บและรวบรวมทะเบียนข้อมูล การลบทะเบียนประวัติอาชญากร เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการศึกษา ทำความเข้าใจ หรือการค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องทะเบียนประวัติอาชญากร เพราะหากกำหนดให้พระราชบัญญัติมีแต่เพียงการลบทะเบียนประวัติอาชญากร อาจจะทำให้มีเนื้อน้อยไป ไม่ครอบคลุม และอาจจะส่งผลให้เกิดความยุ่งยากต่อผู้ที่ต้องการจะศึกษาหรือใช้กฎหมายในการปฏิบัติงาน เพราะต้องศึกษากฎหมายหลายฉบับ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากร กฎหมายเกี่ยวกับการลบทะเบียนประวัติอาชญากร เป็นต้น ซึ่งทั้งผู้ที่มีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายนี้และประชาชนต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควรในการทำความเข้าใจกฎหมายฉบับนี้ ประกอบกับความคิดเกี่ยวกับการลบทะเบียนประวัติอาชญากรนี้เป็นแนวความคิดใหม่ ทำให้เกิดความไม่สะดวก และไม่เป็นเอกภาพ ทำให้อาจจะส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

          ๓. กระบวนการในการลบทะเบียนประวัติอาชญากร

          บุคคลที่จะได้รับการลบทะเบียนประวัติอาชญากรนั้น จะต้องเป็นบุคคลที่กระทำความผิดและพ้นโทษออกมาแล้ว และการลบทะเบียนประวัติอาชญากรนั้นมีความหมายเพียงการปกปิด ไม่เปิดเผยข้อมูลเท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงต้องกำหนดให้มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการเก็บรักษาข้อมูลที่ได้รับการปกปิด ในประเด็นนี้ ผู้เขียนเห็นว่าควรให้เป็นหน้าที่ของกองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยงานเก็บข้อมูล ด้วยเหตุผลเพราะ กองทะเบียนประวัติอาชญากรทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลของคนร้ายเป็นหน้าที่อยู่แล้ว ประกอบกับการเข้าถึงข้อมูลในส่วนของกองทะเบียนประวัติอาชญากรนี้ทำได้ยาก เพราะมีระบบการจัดเก็บข้อมูลที่ปลอดภัย

          นอกจากนี้บุคคลที่ได้รับการลบทะเบียนประวัติอาชญากรไปครั้งหนึ่งแล้ว หากไปกระทำความผิดใดอีก ควรจะต้องมีมาตรการจัดการกับบุคคลนั้น กล่าวคือ ควรมีการเพิ่มโทษเพื่อให้เกิดความหลาบจำอย่างแท้จริง โดยกฎหมายอาจจะกำหนดให้บุคคลที่ได้รับการลบทะเบียนประวัติอาชญากรและได้กระทำความผิดอีกครั้ง ให้ได้รับโทษครั้งหลังถึงขั้นจำคุกโดยมีอัตราขั้นต่ำและขั้นสูง ซึ่งอัตราการจำคุกขั้นต่ำนั้น ให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๒[๑๐] และ มาตรา ๙๓[๑๑] กล่าวคือ ให้เพิ่มโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นหนึ่งในสามของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดนั้น และกึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดนั้นตามลำดับ ส่วนอัตราโทษขั้นสูงนั้นควรจะถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิต ตามแนวคิดของกฎหมาย Three strikes law กล่าวคือ จำคุกตั้งแต่ ๒๕ ปี ถึงจำคุกตลอดชีวิต

          ๔. ข้อยกเว้นของการลบทะเบียนประวัติอาชญากร

          แม้กฎหมายจะเปิดโอกาสให้บุคคลได้รับการลบทะเบียนประวัติอาชญากร แต่กฎหมายต้องกำหนดข้อยกเว้นให้มีการเปิดเผยข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรด้วย ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าหากเป็นกรณีต่อไปนี้ควรจะต้องมีการเปิดเผยทะเบียนประวัติอาชญากร

          (๑) หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาควรจะสามารถขอพิจารณาข้อมูลต่างๆในทะเบียนประวัติอาชญากรที่ถูกลบไปแล้วได้ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ เช่น กองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศาล พนักงานอัยการ เป็นต้น

          (๒) หน่วยงานของรัฐสามารถเปิดเผยข้อมูลได้ หากเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงาน ขอใบอนุญาต หรือนำไปใช้ตามอำนาจหน้าที่ ทั้งนี้จะต้องมีบัญชีกำหนดอาชีพต่างๆที่จะต้องเปิดเผยข้อมูล เพราะเมื่อการเปิดเผยเป็นข้อยกเว้น จึงต้องมีการกำหนดที่ชัดเจนแน่นอน ซึ่งผู้อาชีพที่ต้องเปิดเผยข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากร เช่น วิชาชีพต่างๆ เพราะเป็นอาชีพที่ต้องใช้ความรู้ ความสามารถเป็นพิเศษเฉพาะทาง อาชีพเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น ข้าราชการตำรวจ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นต้น เพราะอาชีพเหล่านี้ต้องกระทำโดยคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นสำคัญ เป็นต้น

          ๕. ผลของการลบทะเบียนประวัติอาชญากร

          เมื่อบุคคลใดได้รับการลบทะเบียนประวัติอาชญากรแล้ว บุคคลนั้นสามารถปกปิดข้อมูลการกระทำความผิดในครั้งก่อนๆของตัวเองได้ พร้อมทั้งมีสิทธิในการขอตรวจดู แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลของตนเองให้ถูกต้องอยู่เสมอ นอกจากนี้กองทะเบียนประวัติอาชญากรต้องไม่ทำการเปิดเผยข้อมูลเช่นกัน เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามที่กฎหมายกำหนดไว้

          หากมีบุคคลใดทำให้เสียหาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง เปิดเผย หรือเข้าถึงข้อมูลที่ได้รับการปกปิด บุคคลนั้นจะต้องได้รับโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เว้นแต่บุคคลนั้นจะได้กระทำโดยสุจริต ก็จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ไม่ถูกดำเนินคดีไม่ว่าทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครอง

 

ข้อเสนอแนะ

          หากมีการลบทะเบียนประวัติอาชญากรเกิดขึ้นจริงในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทย ก็จะต้องมีการพัฒนาให้การลบทะเบียนประวัติอาชญากรมีความเหมาะสมและบังคับใช้ให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด โดยอาจจะกำหนดประเภทของความผิดที่ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น หรืออาจถึงขั้นเกิดการทำลายข้อมูลในทะเบียนประวัติอาชญากร กล่าวคือ ไม่ใช่เพียงการปกปิดข้อมูลเท่านั้น ซึ่งประเด็นต่างๆเหล่านี้ก็จะต้องได้รับการพัฒนาต่อไป

 

************************

บรรณานุกรม

ณรงค์ ใจหาญ. กฎหมายอาญาว่าด้วยโทษ และวิธีการเพื่อความปลอดภัย. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วิญญูชน, ๒๕๔๓.

ทวีศักดิ์ ภักดีโต. ทะเบียนประวัติอาชญากร. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต,  สาขาวิชานิติศาสตร์  คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๔.

วาสนา รอดเอี่ยม. การลบล้างคำพิพากษาลงโทษจำคุก. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต,  สาขาวิชานิติศาสตร์  คณะนิติศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๔.

สำนักกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม. หลักการของกฎหมายว่าด้วยข้อมูลประวัติอาชญากรรม. เอกสารประกอบการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อกฎหมายว่าด้วยข้อมูลประวัติอาชญากรรม. ห้องออร์คิด โรงแรมรามาการ์เด้น กรุงเทพมหานคร. วันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๓.

 


               * เรียบเรียงจากวิทยานิพนธ์ เรื่อง “การนำรูปแบบ กระบวนการ และนโยบายของการลบทะเบียนประวัติอาชญากรมาใช้กับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทย” หลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ ดังมีรายนามดังต่อไปนี้ ศาสตรจารย์วีระพงษ์ บุญโญภาส ประธานกรรมการ อาจารย์ ดร ชัชพล ไชยพร อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลัก อาจารย์ ดร. คณพล จันทน์หอม และนายนัทธี จิตสว่าง กรรมการ

             ** นิสิตในหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คณะนิติศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

                [๑] ณรงค์ ใจหาญ,  กฎหมายอาญาว่าด้วยโทษ และวิธีการเพื่อความปลอดภัย, พิมพ์ครั้งที่ ๑ (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วิญญูชน, ๒๕๔๓), หน้า ๒๘.

                [๒] วาสนา รอดเอี่ยม, “การลบล้างคำพิพากษาลงโทษจำคุก,” (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต  คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๔), หน้า ๔๙.

                [๓] พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พุทธศักราช ๒๕๔๗, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม ๑๒๑ (วันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗), มาตรา ๓๐.

                [๔] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช ๒๕๕๐), ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม ๑๒๔, (วันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๐), มาตรา ๑๐๒.

                [๕] The Criminal Records (Clean Slate) Act 2004 Pub. No. 36 (May 16, 2004).

                [๖] Criminal Records Act 1991 Pub. No 8 (April 26, 1991).

                [๗] Australian Law Reform Commission 84.

                [๘] Texas Code of Criminal Procedure Title 1 Chapter 55.

                [๙] Texas Family Code Title 3 Chapter 58 Subchapter A.

                [๑๐] ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๒ “ผู้ใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกถ้าและได้ กระทำความผิดใดๆ อีก ในระหว่างที่ยังจะต้องรับโทษอยู่ก็ดี ภายใน เวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษก็ดี หากศาลจะพิพากษาลงโทษครั้งหลัง ถึงจำคุกก็ให้เพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้นั้นหนึ่งในสามของโทษ ที่ศาลกำหนด สำหรับความผิดครั้งหลัง”

                [๑๑] ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๓ “ผู้ใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก ถ้าและ ได้กระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดที่จำแนกไว้ในอนุ มาตรา ต่อไปนี้ ซ้ำในอนุ มาตรา เดียวกันอีกในระหว่างที่ยังจะต้องรับโทษอยู่ก็ดี ภายใน เวลาสามปีนับแต่วันพ้นโทษก็ดี ถ้าความผิดครั้งแรกเป็นความผิด ซึ่งศาลพิพากษาลงโทษจำคุกไม่น้อยกว่าหกเดือน หากศาลจะ พิพากษาลงโทษครั้งหลังถึงจำคุกก็ให้เพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้นั้นกึ่งหนึ่ง ของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดครั้งหลัง...”

 

 หมายเหตุ: ภาพประกอบบทความจากอินเตอร์เน็ต


 

หมายเลขบันทึก: 486952เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2012 18:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 สิงหาคม 2012 11:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

หากมีการลบประวัติหรือปิดบังไม่เปิดเผยประวัติของผู้กระทำผิดก็จะได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่เคยกระทำผิดได้มีโอกาสในการเข้าทำงานราชการหรือทำงานในสิ่งที่ตัวเองได้เรียนมา กล้าที่จะไปสมัครงาน เป็นเพราะความคิดที่พลาดพลั้งและอารมณ์ชั่ววูบเพียงแค่ครั้งเดียวทำให้เสียอนาคตไปตลอดชีวิต แต่เมื่อกระทำผิดแล้วสำนึกผิดไม่กระทำอีกก็น่าจะมีการให้โอกาสกับผู้ที่กระทำผิดแล้วไม่กลับมาทำอีกเพื่อสร้างโอกาสให้แก่คนที่ก้าวพลาด ข้าพเจ้าเองก็มีคดีติดตัว จำคุก 1 ปี ปรับ 2,000 บาท รอลงอาญา 1 ปี แต่ก็ไม่ได้กระทำผิดอีก เวลาผ่านมาเกือบ 10 ปี แล้วที่ไม่กล้าไปสมัครงานแต่ก็เรียนจบปริญญาตรี หวังว่าจะได้มีโอกาสทำงานและเป็นคนดีของสังคม แต่ก็ไม่กล้าที่จะไปสมัครงาน กลัวตรวจประวัติเจอแล้วเขาไม่รับ และเป็นที่รังเกียจของหน่วยงานเพื่อนร่วมงาน ทุกวันนี้ก็ไม่มีความสุขในชีวิตเลย ก็ได้แต่ทำความดีไม่ได้กระทำผิดอีกแต่สังคมคงไม่ให้อภัยถ้ารู้ว่ามีประวัติติดตัวคงคิดว่าจะเป็นแบบเดิมอีกทำให้หน่วยงานเสีย แต่สำหรับผู้ที่มีประวัติก็ทุกข์ทรมานกับเรื่องนี้มามากพอแล้วอยากจะทำดีก็ยาก ขอโอกาสให้แก่ผู้ที่เคยกระทำผิดและไม่กลับมาทำอีก ขอบพระคุณยิ่ง

เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการลบประวัติเพราะจะได้เปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิดได้ใช้ชีวิตปกติในสังคมโดยไม่มีคนรังเกียจที่มีประวัติติดตัว

อยากให้มีการลบประวัติและทำลายข้อมูลในทะเบียนประวัติอาชญากรเร็วๆ ขอบคุณครับ

ทำวันนี้ให้ดีที่สุด(อย่างถูกต้องและไม่เบียดเบียนใคร) ถึงไม่มีใครเห็น แต่..คุณจะรู้สึกนับถือตนเอง ภูมิใจในตัวเอง แค่นี้คุณก็มีความสุขแล้แล้ว ชีวิตคนเราต้องการแค่นี้ไม่ใช่หรอคะ เงินทองมีมากมาย พอตายไปก็เอาไปไม่ได้ แม้แต่เงินเหรียญในปากยังเอาไปไม่ได้เลย แต่ก่อนตายเราได้ตอบแทนแผ่นดินที่เราเกิดมารึยังนี่สิน่าคิด ในหลวงท่านทรงเหนื่อยเพื่อพวกเรามาตลอดชีวิต เราควรจะช่วยกันทำความดีเพ่ือตอบแทนในหลวงกันดีกว่าค่ะ ถ้ายังนึกไม่ออกว่าจะทำอะไร ง่ายๆค่ะ เริ่มต้นทีตัวเรา คิดดี ทำดี พูดดี หมั่นช่วยเหลือสังคม ทุกครั้งทีมีโอกาส เช่นเป็นอาสาโครงการต่างๆ หรือถ้าไม่สะดวกแค่คุณแนะนำให้คนทีอยู่รอบๆตัวคุณ ให้เป็นคนดีเช่นไม่ทิ้งขยะในที่สาธารณะ รึขับรถให้ถูกกฎจราจร เท่านี้ก็ถือว่าเป็นการทำดีได้ แล้วคุณก็จะรู้สึกดีกับตัวเอง เมื่อคุณรู้สึกดีกับตัวเอง ก็จะส่งผลให้คนอื่นที่อยู่รอบตัวคุณรู้สึกดีต่อตัวคุณด้วยโดยที่ตัวคุณอาจไม่รู้ตัวก็ได้ เป็นกำลังใจให้ค่ะ สู้ๆ สุรีรัตน์ ปราณี

 เหนด้วยค่ะ น้องชายต้องการทำงาน มีคดี  ยาเสพติดครอบครองเพื่อเสพ มีประวัติ ไม่สามารถทำงานได้ แต่เรื่องเกิดผ่านมา 14 ปีแล้ว  ได้เรียนหนังสือจบ ป.ตรี ได้บวช เปน นักธรรมเอก แต่ไม่ช่วยอารายได้เลย คนที่ต้องการกลับตัวท้อแท้ สงสาร น้องมากเลย

เห็นด้วยครับ

ผ่านมา12ปีแล้วประวัติยังไม่ลบถูกนายจ้างปลดออกทันทีที่ทราบ  เศร้ามากลูกก้อเล็กๆตั้งใจที่จะเปนคนดีของลูก ตั้งที่จะทำงาน  เพื่อครอบครัว

คนที่ทำงานพอทราบก้อพากันรังเกียจ  ทุกๆวันนี้เครียดมากๆ  สงสารลูกสงสารภรรยา 

เห็นด้วยคับ

ผมก็อีกคนคับ ที่โดนจับ. ไปสมัครงานที่ใหนเขาก็ไม่มีบริษัทใหนรับทำงานเพราะมีคดีติดตัว เป็นตราบาป ตลอดชีวิต

สงสารพวกเราบ้าง. ให้โอกาสพวกเราได้พิสูทตัวเองอีกสักครั้ง


เห็นด้วยครับ น่าจะให้โอกาศกันบ้าง ความผิดที่เกิดบ้างครั้งมันไม่ได้เกิดจากตัวเราเสมอไปหรอกครับ จะทำงานนู้นงานนี้ก็ไม่ได้แล้วจะให้ไปทำอะไรละครับ นึกถึงตนที่ไม่มีทีมีทาง มีเงินเถอะครับ คนที่พลาดไปไม่ใช้เป็นคนที่ไม่ดีเสมอไปหรอกครับ (ขอให้ผ่านด้วยเทอดครับ สาธุ สาธุ สาธุ)

  1. เห็นด้วยคับ เพราะอยากสมัครงานทำคับ


เห็นด้วยอีก 1 เสียงครับผมก็เป็น1คนที่มีประวัติและกลับใจครับ

เมื่อเป็นแบบนี้ก้อคือไม่ให้โอกาส. สรุปคนผิดไม่มีทาง ไปทางไหนก้อต้องกลับสู่วงจรเดิมๆแล้วเมื่อไหร่ จะมีโอกาสกับเขาบ้าง

เห็นด้วย นา่จะมีการลบประวัติเปิดโอาศให้เค้าได้ทำงานดีๆกันบ้างครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท