ภารกิจที่เปลี่ยนไปของโรงเรียนแพทย์


 

          วันที่ ๒๗ มี.ค. ๕๕ ผมไปร่วมประชุม เครือข่ายเสริมสร้างศักยภาพด้านนโยบายสาธารณสุข(Health Policy Capacity Building Network) ที่ห้องประชุมอุทัย ทุติยะโพธิ  หอสมุดศิริราช  คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล    เครือข่ายนี้เกิดจากข้อตกลงของ ๔ คณบดีของคณะแพทยศาสตร์ คือ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล   คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น   ในการประชุมเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๔    โดยมี ศ. นพ. ประเวศ วะสี เป็นประธาน ดังในบันทึกนี้

          ผมจะเรียกเครือข่ายนี้ด้วยตัวย่อว่า คศ.นส. (เครือข่ายเสริมสร้างศักยภาพด้านนโยบายสาธารณสุข)

          ทางศิริราชรับทำหน้าที่ประสานงานเครือข่าย โดยมีคณะเลขานุการกิจ (secretariat) นำโดย ศ. พญ. วณิชชา ชื่นกองแก้ว เป็นหัวหน้า   อ. นพ. อัครินทร์ นิมมานนิตย์ เป็นผู้ช่วย  และมีสำนักงานทำงานเลขานุการ ติดต่อสื่อสาร

          เป้าหมายของเครือข่ายนี้คือ เพื่อสร้างอาจารย์แพทย์ที่มีความรู้ความสามารถเชิงระบบ (Health Systems) เชิงนโยบายสุขภาพ (Health Policy)  และเชิงสุขภาพโลก (Global Health) ขึ้นในโรงเรียนแพทย์จำนวนหนึ่ง    โดย อ. หมอประเวศ เสนอให้เริ่มจากโรงเรียนแพทย์ละ ๑๐ คน    เพื่อเป็นพื้นที่ให้อาจารย์แพทย์ที่ชอบงานเชิงระบบ เชิงมหภาค (Macro) ได้มีโอกาสทำงานวิชาการและงานพัฒนา

          และที่สำคัญ เพื่อขับเคลื่อนโรงเรียนแพทย์เข้าสู่ภารกิจเชิงมหภาค คือบทบาทเชิงระบบ ต่อระบบสุขภาพ ระดับประเทศและระดับโลก   กล่าวใหม่ว่า เพื่อเปิดช่องทางและสร้างพื้นที่ให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่เป็น อาจารย์ในโรงเรียนแพทย์ได้ทำหน้าที่ร่วมสร้างสรรค์ระบบสุขภาพ คือทำงานเชิงกว้างด้วย    ไม่ใช่ทำงานจำกัดวง อยู่เฉพาะในโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์  และเฉพาะงานเวชปฏิบัติดูแลผู้ป่วยรายคนเท่านั้น    แต่เอาความรู้และ ประสบการณ์ด้านเวชปฏิบัติมาเป็นฐานความรู้ สู่การทำงานสร้างสรรค์ระบบ ที่จะช่วยลดปัญหาสุขภาพ ช่วยให้บริการมีคุณภาพสูงขึ้น มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เป็นต้น

          เราตระหนัก ว่าอาจารย์แพทย์ที่เป็น super-specialist ที่มีจริตเชิงระบบเช่นที่กล่าว มีไม่มาก   แต่ก็มี และที่ผ่านมา ท่านเหล่านี้ทำงานเชิงระบบด้วยความรักและเห็นคุณค่างานแนวนี้   โดยไม่มีการสนับสนุนเชิงระบบ จากหน่วยงาน หรือบางโรงเรียนแพทย์มีการสนับสนุนก็เป็นการสนับสนุนในวงแคบ เป้าหมายแคบ  คศ.นส. จะเป็นกลไกสู่การสนับสนุนอย่างเป็นทางการ และสู่วิชาการนโยบายระดับชาติ และระดับโลก  ช่วยให้ super-specialist ที่รักงานด้านพัฒนาระบบหรือนโยบายด้วย ได้มีโอกาสทำงานสร้างสรรค์ทำประโยชน์แก่สังคมเพิ่มขึ้น  

          มีคนถามว่า การส่งเสริมงานสร้างสรรค์เชิงระบบ เชิงนโยบาย เช่นนี้ โรงเรียนแพทย์ได้อะไร   คำถาม เช่นนี้มีได้หลายคำตอบ และไม่ทีคำตอบที่ถูกหรือผิด   คำตอบของผมคือ โรงเรียนแพทย์ได้ทำงานรับใช้และ สร้างสรรค์สังคมในมิติใหม่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับยุคสมัย ที่ระบบสาธารณสุขหรือระบบสุขภาพมีความซับซ้อน เพิ่มขึ้นอย่างเหลือคณา    เวชปฏิบัติที่ดีไม่ได้มีมิติเดียวอย่างในอดีต แต่มีหลากหลายมิติ แล้วแต่จะมองมุมใด   หากโรงเรียนแพทย์ยังมองแค่มุมของเวชปฏิบัติแบบดูแลผู้ป่วยเป็นรายคนเท่านั้น   โรงเรียนแพทย์ก็จะตกยุค ล้าสมัย ขาดความสามารถด้านระบบหรือด้านมหภาค

          โรงเรียนแพทย์ต้องเป็นผู้นำในการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศ โดยทำงานร่วมมือเคียงบ่าเคียงไหล่ กับนานาประเทศ   วิชาการของโรงเรียนแพทย์ ต้องขยายครอบคลุมตั้งแต่ระดับไมโคร คือระดับโมเลกุล  ขึ้นมา ระดับเซลล์ เนื้อเยื่อ อวัยวะ ระบบร่างกาย  บุคคล  ครอบครัว  ชุมชน  สังคม  ขึ้นมาจนถึงระบบสาธารณสุข หรือ ระบบสุขภาพ ที่เชื่อมโยงไปทั่วโลก ที่เรียกว่าระบบสุขภาพโลก (Global Health)   ระบบสุขภาพของประเทศ และของโลกนี้ เชื่อมโยงกับระบบอื่นๆ ในสังคมอย่างซับซ้อน เชื่อมโยงถึงกันหมด   ประเทศใดพลาดพลั้ง จัดระบบสุขภาพของตนผิดพลาด   จะก่อปัญหาใหญ่หลวงเรื้อรังยากที่จะแก้ไข   ตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุดคือระบบ ของสหรัฐอเมริกา    ที่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก เป็นระบบที่ราคาแพง แต่ไม่ครอบคลุมประชากรของประเทศ   มีคนที่ไม่ได้รับการคุ้มครองถึง ๕๐ ล้านคน

          เวลานี้ ระบบสุขภาพของประเทศไทยเป็นที่ยกย่องไปทั่วโลก   เพราะเป็นระบบที่ครอบคลุมประชากร ทั้งหมด และราคาไม่แพง    แต่เราก็ประมาทไม่ได้ เพราะจะมีแรงกดดันจากหลายทาง ให้เราต้องใช้เทคโนโลยี สมัยใหม่ราคาแพง ที่อาจได้ผลไม่คุ้มค่าหากมองเชิงระบบ   หาก super-specialist ในโรงเรียนแพทย์ไม่ได้เข้ามา เป็นผู้ทำความเข้าใจเทคโนโลยีใหม่ๆ ในเชิงความคุ้มค่า เมื่อมองมิติของระบบสุขภาพทั้งระบบเสียเอง    super-specialist เหล่านี้ แทนที่จะเป็น part of the solution  ก็จะกลายเป็น part of the problem เสียเอง    คือกลายเป็นผู้ ร่วมขับเคลื่อนระบบที่ไม่สมเหตุสมผล

          คศ.นส. นัดประชุมทุกๆ ๓ เดือน หมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ   ประชุมครั้งต่อไปวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๕ ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี   โดยทางรามาเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารเที่ยงแล้วประชุม   ศ. นพ. ประเวศ วะสี รับนิมนต์มาประพรมน้ำมนตร์ ด้วยคำแนะนำคุณค่าต่อสังคมที่ คศ.นส. จะร่วมกันสร้างสรรค์

          กิจกรรมเพื่อสร้างศักยภาพด้านนโยบาย/ระบบสุขภาพ มีหลากหลาย   จะได้นำมาเล่าในโอกาสต่อไป

          ผมโชคดีจริงๆ ที่ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่สร้างสรรค์และทรงคุณค่าต่อบ้านเมืองเช่นนี้

 

วิจารณ์ พานิช

๒๘ มี.ค. ๕๕

บนเครื่องบินไปภูเก็ต

หมายเลขบันทึก: 486799เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2012 08:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 13:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

 

 - การส่งเสริมงานสร้างสรรค์เชิงระบบ เชิงนโยบาย 

- โรงเรียนแพทย์ต้องเป็นผู้นำในการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศ โดยทำงานร่วมมือเคียงบ่าเคียงไหล่กับนานาประเทศ  

- วิชาการของโรงเรียนแพทย์ ต้องขยายครอบคลุมตั้งแต่ระดับไมโคร คือระดับโมเลกุล  ขึ้นมา ระดับเซลล์ เนื้อเยื่อ อวัยวะ ระบบร่างกาย  บุคคล  ครอบครัว  ชุมชน  สังคม  ขึ้นมาจนถึงระบบสาธารณสุข หรือ ระบบสุขภาพ ที่เชื่อมโยงไปทั่วโลก ที่เรียกว่า ระบบสุขภาพโลก (Global Health) 

- เห็นด้วยกับ แนวคิดท่านอจ. หมอมากๆๆค่ะ .... ที่รพ. เป็นที่ฝึกงาน ของ นศพ. ศิริราช ปี 4 และปี 6 .... หนูเป็น อจ. ภายนอก....ก็พยายามให้น้องหมอ...ลงชุมชน...วิเคราะห์...และเข้าใจชุมชน...ให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งอยู่นะค่ะ...แต่กระบวนที่อาจต้องรอเวลา+ใช้เวลา ...และ... ปลูกจิตสำนึกของ ... ความเป็นหมอที่...สมบูลย์ทั้งใจ+หน้าที่ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท