รายการสายใย กศน. 23, 30 เม.ย., 7, 14, 21, 28 พ.ค., 4, 11 มิ.ย.55


23 เม.ย.55 เรื่อง “การจัดการศึกษาทางไกล”, 30 เม.ย.55 เรื่อง “กศน.อ.เมืองนครนายกกับการเสริมสร้างคุณธรรม”, 7 พ.ค.55 เทป ซ้ำวันที่ 13 ก.พ.55, 14 พ.ค.55 เรื่อง “โครงการยกระดับการศึกษาประชาชน จบ ม.6 ภายใน 8 เดือน อย่างมีคุณภาพ”, 21 พ.ค.55 เทป ซ้ำวันที่ 14 พ.ค.55, 28 พ.ค.55 เรื่อง “การให้บริการสื่อเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา”, 4 มิ.ย.55 เทป ซ้ำวันที่ 28 พ.ค.55, 11 มิ.ย.55 เรื่อง “การประกันคุณภาพการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย”

รายการสายใย กศน.  วันที่  11  มิถุนายน  2555

 

         เรื่อง “การประกันคุณภาพการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย”

 

         ดำเนินรายการโดย นายคุปต์  มะรินทร์
         วิทยากร คือ
         - ศุทธินี  งามเขตต์  ผอ.กลุ่มพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียน
 

          การประเมินคุณภาพการศึกษารอบสาม มีความแตกต่างกับการประเมินที่ผ่านมา คือมีการปรับเปลี่ยนชุดมาตรฐานในการประเมิน และเกณฑ์การให้คะแนน  ทั้งการประเมินภายใน และการประเมินภายนอก
         ชุดมาตรฐานการประเมินภายใน ของ กศน.อำเภอ/เขต มี 6 มาตรฐาน 26 ตัวบ่งชี้
         - มาตรฐานที่ 1 คุณภาพผู้เรียน/ผู้รับบริการ
         - มาตรฐานที่ 2 คุณภาพจัดการศึกษา/การให้บริการ
         - มาตรฐานที่ 3 การบริหารการศึกษา
         - มาตรฐานที่ 4 การประกันคุณภาพการศึกษา
         - มาตรฐานที่ 5 อัตลักษณ์ของสถานศึกษา
         - มาตรฐานที่ 6 มาตรการส่งเสริม
         ส่วนที่เพิ่มเข้ามาคือ อัตลักษณ์ เอกลักษณ์ และมาตรการส่งเสริม
         อัตลักษณ์ คือ คุณลักษณะที่สถานศึกษาต้องการพัฒนาให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน เลือกมาจากปรัชญาวิสัยทัศน์พันธกิจของสถานศึกษา มาทำให้โดดเด่น ( ทำทุกเรื่องตามพันธกิจ แต่เน้นอัตลักษณ์ )  กำหนดร่วมกับคณะกรรมการสถานศึกษาและชุมชน
         เอกลักษณ์  เป็นการพัฒนาสถานศึกษา ให้มีจุดเด่น เป็นของสถานศึกษา ( สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของนักศึกษา )

 

         การให้คะแนน มีการกำหนดน้ำหนักความสำคัญของแต่ละตัวบ่งชี้แตกต่างกัน  ต้องนำคะแนนมาคูณน้ำหนัก


         การประเมินคุณภาพภายใน  แบ่งเป็น 2 ส่วน

         - ประเมินตนเอง  และจัดทำ SAR  ( ควรประเมินตามความเป็นจริง )
         - ประเมินโดยต้นสังกัด  คือหน่วยงานสังกัด กศน. นอกสถานศึกษา  ใช้มาตรฐานเดียวกับการประเมินตนเอง  จะประเมินปีเว้นปี  เป็นการประเมินเพื่อพัฒนา

 

         การประเมินคุณภาพภายนอก  สมศ.ยึดประเมินตามกฎกระทรวงว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ.2553 ( ควรหามาศึกษา )   มี 3 มาตรฐาน  12 ตัวบ่งชี้   ในส่วนของมาตรฐานพื้นฐาน เน้นในเรื่อง
         1. ผลการจัดการศึกษา  ( Output / Outcome )
             - การศึกษาขั้นพื้นฐาน  ดูที่ความเป็นคนดี ( คุณธรรมจริยธรรม )  คนมีความสุข ( สุขภาพกาย จิต การอยู่ร่วมกันในสังคม )  คนเก่ง ( ผลสอบ N-NET ของ สทศ. )  ให้น้ำหนักที่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนมากถึง 20  ในขณะที่ตัวบ่งชี้อื่น ๆ มีน้ำหนักเพียง 5-10
             - การศึกษาต่อเนื่องที่หลักสูตร 40 ชั่วโมงขึ้นไป ต้องมีการประเมิน ติดตามผล ที่ชัดเจนเหมือนการศึกษาขั้นพื้นฐาน
         2. การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ   ครูต้องวิเคราะห์ผู้เรียน จัดกลุ่มผู้เรียน ออกแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับแต่ละกลุ่ม
         3. การบริหารจัดการศึกษา  ( บริหารงบประมาณ บุคลากร วัสดุอุปกรณ์ วิชาการ )
         4. การประกันคุณภาพภายใน  ดูผลการประเมินคุณภาพรอบสอง ว่ามีการดำเนินงานตามที่เสนอแนะไว้ อย่างไรบ้าง ( ต้องมีอยู่ในแผนฯปีต่อมา )   ในบางเรื่องจะใช้ข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี เช่น SAR, สุขภาพ

 
         เกณฑ์การรับรองในรอบสาม คือ
         1)  มีผลรวมคะแนนการประเมินคุณภาพภายนอก 80 คะแนนขึ้นไป

         2)  มีตัวบ่งชี้อย่างน้อย 10 ตัวบ่งชี้ จากทั้งหมด 12 ตัวบ่งชี้ ที่มีระดับคุณภาพ ดีขึ้นไป

         3)  ต้องไม่มีตัวบ่งชี้ใดอยู่ในระดับคุณภาพต้องปรับปรุง หรือ ต้องปรับปรุงเร่งด่วน  ( เกณฑ์ต้องปรับปรุงคือ ต่ำกว่า 60 % )   น่าเป็นห่วงผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งดูจากคะแนน N-NET  ถ้าต้องปรับปรุงในตัวบ่งชี้นี้เพียงตัวบ่งชี้เดียว ก็ไม่ผ่านการประเมินฯ  ควรจัดสอนเสริมเป็นระยะ ๆ

 
          ปี 2555 จะประเมินภายนอกเชิงพื้นที่ 8 จังหวัด ประมาณเดือน ก.ค.-ส.ค. นำเสนอผลเป็นภาพรวมทั้งจังหวัดทุกสังกัด มี ผวจ.เป็นประธาน   ส่วนสถานศึกษาที่เหลือ ประเมินในปีงบประมาณ 2556 ( เริ่ม ต.ค.- พ.ย.55 )  ควรทำ SAR เสร็จตั้งแต่สิ้น ก.ย.55  ใช้มาตรฐานชุดใหม่ในการทำ SAR

 

         จะมีการประชุมทำเกณฑ์การประเมินของสถานศึกษาขึ้นตรง กศน.    และจะมีการประชุมชี้แจงมาตรฐานการประกันคุณภาพภายในภายนอก โดยสถาบัน กศน.ภาค ในเดือน ก.ค.55

 

 

 

 

 

รายการสายใย กศน. วันที่  4  มิถุนายน  2555

 

         เทป ซ้ำวันที่ 28 พ.ค.55 เรื่อง การให้บริการสื่อเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

 

 

 

 

 

รายการสายใย กศน.  วันที่  28  พฤษภาคม  2555

 

         เรื่อง “การให้บริการสื่อเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา”

 

         ดำเนินรายการโดย นายวสันต์  บุญหนุน
         วิทยากร คือ
         - นางรักขณา  ตัณฑวุฑโฒ  ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา

 

 

         ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา เดิมชื่อ กองเผยแพร่การศึกษา สังกัดกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ  จัดรายการ “สถานีวิทยุศึกษา”  ต่อมาจัดรายการโทรทัศน์ที่ช่อง 4 บางขุนพรหม และ พ.ศ. 2502 ได้เริ่มจัดรายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษาออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 เช่นรายการเสาร์สโมสร  และจัดรายการทางช่อง 11   ต่อมา พ.ศ. 2515 ตั้งเป็น “ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา” จัดรายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย   รายการที่ได้รับความนิยมมากคือรายการติว ( Tutor Channel ) โดยเชิญอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงมาติว  ปัจจุบันใช้ชื่อรายการ “ติวเข้มเติมเต็มความรู้"   ปีนี้จะมีรายการเตรียมพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนหลายรายการ

 

         ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษามีหน้าที่และความรับผิดชอบ ดังนี้
         1. ดำเนินการจัด ผลิต พัฒนา และเผยแพร่เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาที่ทันสมัยและมีคุณภาพในรูปแบบรายการ วิทยุกระจายเสียงเพื่อการศึกษา รายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษา และสื่อผสมรูปแบบอื่นๆ รวมทั้งสื่อสำหรับผู้พิการ  เพื่อสนองตอบความต้องการทางการศึกษาตลอดชีวิต    การผลิตแต่ละรายการจะมีการสำรวจความต้องการและติดตามประเมินผล  มีการผลิตเป็น DVD พร้อมคู่มือประกอบการรับชม ชุดต่าง ๆ   “คุณภาพของคน อยู่ที่การศึกษา”
         2. บริหารจัดการสถานีวิทยุศึกษา ( FM 92 MHz  AM 1161 KHz )  สถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษา ( ETV)  กระทรวงศึกษาธิการ  วันละ 18 ชม. ( 06:00 - 24:00 น. )
         3. ให้บริการสื่อเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ทั้งสื่อ Online และ Offline  ทางเว็บไซต์  5 เว็บ คือ http://www.etvthai.tv   http://www.moeradiothai.net   http://www.moe.go.th/video/   http://www.braille-cet.in.th   http://www.cet-media.com/   ( เข้าไปที่เว็บไซต์ของศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา ที่ http://www.ceted.org/  จะมีลิ้งค์ไปถึงเว็บทั้ง 5 )
         4. ส่งเสริม สนับสนุน และดำเนินการเกี่ยวกับการวิจัย การพัฒนา การผลิต การใช้ และ เผยแพร่เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา
         5. ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาเครือข่ายการผลิต พัฒนาและเผยแพร่เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต
         6. พัฒนาบุคลากรทั้งด้านผู้ผลิตและผู้ใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะในการผลิตและการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม มีคุณภาพและประสิทธิภาพ

 

 

         ตัวอย่างรายการเด่นทาง ETV   บ้านหลังใหญ่แห่งการเรียนรู้

 

         - ติวเข้มเติมเต็มความรู้  วันเสาร์ เวลา  11.00 - 12.00  น.
         - กศน.ติวเข้มวิชาคณิตศาสตร์ ม.ปลาย  วันเสาร์ 10.00 - 11.00 น.
         - กลยุทธ์มืออาชีพกับ กศน.  วันพุธ 16.30 - 17.00 น.
         - แต่งเสริมเติมสวย/คนงามเพราะแต่ง  วันพฤหัสบดี 8.05 - 8.30 น.
         - อ่านสนุก สนุกอ่าน  วันพฤหัสบดี 13.00 - 13.30 น.

 

         และอื่น ๆ เช่น อบรมครูวิทย์-คณิต กับ สสวท.  ร้อยบุปผา  ชอบมาพากล  อาบเหงื่อต่างน้ำ  ทำกินก็ได้ทำขายก็ดี  ท่องโลก 10+1 (อาเซียน)  กลเม็ดเคล็ดอาชีพ  รายการโทรทัศน์ครู ( ทุกวัน 20.35-21.00 น. )   โดยเชิญกูรูในเรื่องนั้น ๆ มาจัดรายการให้ความรู้   ในส่วนของรายการด้านอาชีพจะให้ความรู้แบบครบวงจร ให้สามารถประกอบอาชีพได้

 

         ช่องทางรับชม
         1. ชุดอุปกรณ์ระบบจานรับสัญญาณดาวเทียม  โดยจานดาวเทียม Samart รับชมได้ที่ช่อง 64   จานดาวเทียม Dtv ช่อง 46
         2. รับชมผ่านทาง Internet ที่ http://www.etvthai.tv/   ชมได้ทั้งรายการสด และย้อนหลัง 1 เดือน   สามารถดาวน์โหลดตารางออกอากาศ  และมีกระดานถาม-ตอบ
         3. รับชมผ่านมือถือ ระบบสมาร์ทโฟน ที่ http://www.etvthai.tv.m หรือ http://www.m.etvthai.tv 
         4. รับชมผ่านระบบ IPTV (Internet Protocal)
         5. รับชมรายการทาง True Visions ช่อง 180
         6. รับชมรายการทางเคเบิลทีวีท้องถิ่นทั่วประเทศ

 

         นโยบายกระทรวงศึกษาธิการ จะพัฒนา ETV เป็น Free TV  ขณะนี้อยู่ในระหว่างทำเอกสารหลักฐานเพื่อเตรียมยื่นขอจัดสรรคลื่นความถี่ Free TV   โดยมีเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัยแล้ว บุคลากรมีความเชี่ยวชาญ  พร้อมที่จะเป็นสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการเพื่อปวงชน ( For All ) แล้ว

 

         ( ในระหว่างรายการ มีการแจก  DVD + คู่มือการรับชมรายการ “สอนน้องเพลง” กับครูแอน ให้ผู้ชมที่โทร.เข้าไปในรายการ )

 

 

         วิทยุศึกษา  
         FM 92 MHz   AM 1161 KHz   สามารถรับฟังได้ทางอินเตอร์เน็ตที่ http://www.moeradiothai.net ( ฟังได้ทั้งรายการสดและย้อนหลัง )  และทางอุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียมช่อง r 31

 

         รายการเด่นเช่น นิทาน  พบหมอตามตะวัน  เส้นทางทำกิน ( 6.15-6.30 น. )  ภาษาต่างประเทศ ( 7.00-7.30 และออกอากาศซ้ำ 18.00-18.30  วันจันทร์ภาษาจีน วันอังคารภาษาเวียตนาม วันพุธภาษาญี่ปุ่น วันพฤหัสฯภาษาพม่า วันศุกร์ภาษาเกาหลี วันเสาร์ภาษาอินโดนีเซีย วันอาทิตย์ภาษาอังกฤษ )    คนนิยมรายการดนตรี “มุมความสุข” ( 19.30 น. ทุกวัน ) เป็นรายการสด จัดโดยสุเทพ  วงษ์กำแหง

 

 

         ผู้สนใจสื่อต่าง ๆ ( สื่อมีคุณภาพ เนื้อหาตรงตามหลักสูตร )  ติดต่อได้ที่ ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา ถนนศรีอยุธยา เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400   หรือไปติดต่อด้วยตนเอง อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าพญาไท ติดกับโรงเรียนสันติราษฎร์ฯ


 

 

 

 

รายการสายใย กศน. วันที่  21  พฤษภาคม  2555

 

         เทป ซ้ำวันที่ 14 พ.ค.55 เรื่อง โครงการยกระดับการศึกษาประชาชน จบ ม.6 ภายใน 8 เดือน อย่างมีคุณภาพ

 
 

 

 

รายการสายใย กศน.  วันที่  14  พฤษภาคม  2555

 

         เรื่อง “โครงการยกระดับการศึกษาประชาชน จบ ม.6 ภายใน 8 เดือน อย่างมีคุณภาพ”

 

         ดำเนินรายการโดย นายอิทธิเดช  สุพงษ์
         วิทยากร คือ
         - ศาสตราจารย์ ดร.บุญทัน ดอกไธสง  ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

 

         หนึ่งในปัญหาสำคัญของประเทศไทย คือการขาดหรือด้อยโอกาสทางการศึกษาของประชาชนประมาณ 35 %   การศึกษาคือหัวใจหลัก   รัฐบาลและ รมว.กระทรวงศึกษาธิการจึงมีนโยบายและกำหนดโครงการยกระดับการศึกษาประชาชน จบ ม.6 ภายใน 8 เดือน อย่างมีคุณภาพ  โดยเชิญ ศ.ดร.บุญทัน ดอกไธสง มานำนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

 

         ในยุคแห่งการแข่งขันนี้ กศน.ต้องดำเนินการเชิงรุกมากขึ้น เพราะกำลังจะเข้าสู่ AEC : ประชาคมอาเซียน และมีคนไทยจำนวนมากขาดหรือด้อยโอกาส เช่น ยากจน ต้องทำงานเลี้ยงครอบครัว   ซึ่งต้องพัฒนาให้มีความสามารถในการแข่งขัน

 

         คุณสมบัติผู้มีสิทธิ์สมัครเข้าโครงการ คืออายุ 18 ปี มีวุฒิ ป.6 มาเทียบระดับให้จบ ม.ปลายเลย ผู้สมัครต้องเป็นผู้มีอาชีพแล้ว หรือเป็นพระภิกษุ ถ้าเป็นพระภิกษุสามเณรต้องได้นักธรรมชั้นตรีด้วย ( เป็นคนละส่วนกับการเทียบระดับแบบเดิม )   มีการเรียนรู้ทบทวนโดยมีสื่อให้ เมื่อผ่านครบทุกวิชา ก็ได้วุฒิ ม.ปลาย     วิชาต่างๆ คือ

 

         หมวด ( Module ) 1  เครื่องมือสร้างความรู้ความสำเร็จ
         1)  การใช้คอมพิวเตอร์
         2)  คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน
         3)  การผลิต การตลาด การบริโภค นำไปสู่ชุมชน SME

 

         หมวด 2  พัฒนาองค์กร-ชุมชนเข้มแข็ง
         4)  ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข และการเป็นพลเมืองดี
         5)  การบริหารจัดการชุมชน/องค์กร

 

         หมวด 3  ภาษาเพื่อการสื่อสารและการพัฒนา
         6)  การสนทนาภาษาอังกฤษ ( หรือภาษาจีน )   ให้พูดได้ 350 ประโยค จากในสื่อ 500 ประโยค   ตามนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาลที่มุ่งให้ภายใน 1 ปีครึ่ง คนไทยพูดภาษาอังกฤษได้
        7)  ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร

 

         หมวด 4  ความรู้ทั่วไปในการดำเนินชีวิตและวิจัยชุมชน
         8)  การวิจัยชุมชน
         9)  การจัดการอาหารเพื่อครอบครัวและชุมชน

 

         ทุกวิชาจะเชื่อมโยงกัน เป็นการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต  เป็นการศึกษาที่มีแนวคิดเป็นนวัตกรรมใหม่อย่างทั่วถึง   คำว่า “อย่างมีคุณภาพ” หมายถึง มีผลงานปรากฏในภาคปฏิบัติ

 

         ขณะนี้อยากให้ กศน.ประชาสัมพันธ์เชิงรุกไปยังทุกภาคส่วน  จะเริ่มรับสมัครในเดือนมิถุนายน  แต่ตอนนี้มีลูกค้าคอยอยู่แล้ว คือมีการลงนาม MOU กับกระทรวงเกษตรฯ จะให้หมอดิน หมอยาง หมอบัญชี ทั่วประเทศเข้ารับการประเมิน


 

 

 

รายการสายใย กศน. วันที่  7  พฤษภาคม  2555

         เทป ซ้ำวันที่ 13 ก.พ.55 เรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียงกับเกษตรธรรมชาติ”

 

 

 

 

รายการสายใย กศน.  วันที่  30  เมษายน  2555

 

         เรื่อง “กศน.อ.เมืองนครนายกกับการเสริมสร้างคุณธรรม”

 

         ดำเนินรายการโดย นายอิทธิเดช  สุพงษ์
         วิทยากร คือ
         - ว่าที่ร้อยเอก ดร.อาศิศ  เชยกลิ่น  ผู้อำนวยการ กศน.อ.เมืองนครนายก
         - นายจำเนียร  อัญญโพธิ์  ครูชำนาญการ กศน.อ.เมืองนครนายก
         - นายบุญช่วย  จันทร์พรหมมา  ประธานกรรมการสถานศึกษา ศูนย์ กศน.อ.เมืองนครนายก
         - พ.อ.ประดิษฐ์  เล็กล้อม  นักศึกษาระดับ ม.ปลาย และประธานองค์กรนักศึกษา ศูนย์ กศน.อ.เมืองนครนายก

 

         แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับปัจจุบัน ( ฉบับที่ 11 ) เน้นการพัฒนาคนเป็นสำคัญ ยึดหลักคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา มียุทธศาสตร์ 3 มิติ   มิติที่ 1 คือการพัฒนาคุณธรรม  มิติที่ 2 พัฒนาสุขภาวะ  มิติที่ 3 พัฒนาให้คนไทยอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข   และกระทรวงศึกษาธิการได้เน้นคุณธรรม 8 ประการ

 

         กศน.อ.เมืองนครนายก เห็นว่าในสภาพปัจจุบันสังคมเปลี่ยนแปลงมาก ส่งผลให้เยาวชนมีปัญหามาก เช่น ติดยาเสพติด ติดเกม อาชญากรรม   จึงทำโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมสำหรับนักศึกษา เปิดโครงการในปี 2554  มีกิจกรรม 5 ประเด็น คือ
         1. จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ธรรมศึกษา
         2. โครงการธรรมสัญจร   ให้นักศึกษากลุ่มต่าง ๆ หมุนเวียนมาฟังธรรม
         3. โครงการต้นไม้สอนธรรม
         4. ลูกเสือวิสามัญ   ช่วยส่งเสริมคุณธรรม พูดจาสุภาพ ส่งเสริมการอยู่ร่วมกัน  เข้าค่ายลูกเสือไม่เคยมีการตีกัน  เครื่องแบบ-เครื่องหมายลูกเสือ ใช้วิธีให้ยืม  ในการไปเข้าค่ายลูกเสือรวมระดับประเทศ จะเห็นว่าทั้งครูและนักศึกษาของนครนายก ถือว่าเป็นผู้นำในกิจกรรมลูกเสือของจังหวัดต่าง ๆ
         5. โครงการธนาคารความดี
         กิจกรรมที่ 1.- 4. จัดในบริเวณ กศน.อ.เมืองนครนายก จำนวน 2 ไร่ ซึ่งเดิมเป็นป่ารก  ใช้นักศึกษาจากเรือนจำและค่ายทหาร มาพัฒนาให้เป็นลานธรรม  มีศาลาทรงไทย 3 หลัง ศาลาพระพุทธรูป 1 หลัง  ทางเข้าเป็นที่เดินจงกรมรอบบริเวณ  เริ่มต้นทำ MOU กับหน่วยงานต่าง ๆ 24 หน่วยงาน และร่วมกันสร้างห้องสมุดธรรมะขึ้นอีก  มีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ฟังธรรม ทำสมาธิ
         คนเราถ้าขาดคุณธรรม จะประสบความสำเร็จเพียงบางส่วน หรือไม่ประสบความสำเร็จ

 

         กิจกรรมโครงการธนาคารความดี  เป็นการบูรณาการการเรียนการสอน  นักศึกษาทุกคนเป็นสมาชิกธนาคารความดี โดยจัดในมิติกิจกรรม กพช. เน้นกิจกรรมการทำความดี เช่น ดูแลพ่อแม่ = 20 ชม.  เข้าค่ายพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม 1 คืน = 25 ชม.   บันทึกในสมุดคู่ฝากความดี  สะสมจนครบ 100 ชม.จึงจบการศึกษา  เป็นการเรียนจากวิถีการดำรงชีวิต

 

 

         การพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม ทำให้นักศึกษาเป็นคนใจเย็น มีสติ รอบคอบ ความจำดี บุคลิกลักษณะนิสัยใจคอเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีทั้งกาย วาจา ใจ


 

 

 

รายการสายใย กศน.  วันที่  23  เมษายน  2555


         เรื่อง “การจัดการศึกษาทางไกล”


         ดำเนินรายการโดย นายวสันต์  บุญหนุน
         วิทยากร คือ
         - นายสุรศักดิ์  เพิ่มผล  ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาทางไกล
         - วิไล  แย้มสาขา  หัวหน้าส่วนจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน สทก.
         - นายเชาวลิต  ธาดาสิทธิเวท  หัวหน้าส่วนจัดการศึกษาต่อเนื่อง สทก.


         สถาบันการศึกษาทางไกล สังกัดสำนักงาน กศน. มีบทบาทในการ จัดและส่งเสริมการศึกษาทางไกลหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานตามหลักเกณฑ์และ วิธีการจัดการศึกษานอกระบบ   จัดและส่งเสริมการศึกษาทางไกลหลักสูตรการศึกษาต่อเนื่องที่สอดคล้องกับ ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายและการเปลี่ยนแปลงของสังคม   วิจัยและพัฒนาหลักสูตร สื่อ กระบวนการเรียนการสอน การวัดผลประเมินผลการศึกษาทางไกล ให้เป็นตามมาตรฐานการศึกษาของชาติ
         การศึกษาทางไกล เหมาะกับคนที่ประกอบอาชีพมีงานทำแล้ว ไม่มีเวลาพบกลุ่ม  เรียนรู้ด้วยตนเองจากชุดการเรียน สื่อทางไกล  มี VCD ปฐมนิเทศให้    

 

         หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดเช่นเดียวกับทุกสถานศึกษาของ กศน. แต่ต่างกันที่นักศึกษาทางไกล 90 % จบแล้วจะเรียนต่อ และไม่มีเวลามาพบกลุ่ม  จึงกำหนดให้มีวิชาบังคับเลือกที่เหมาะกับการเรียนต่อ โดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษา  และพัฒนาวิชาเลือกขึ้นเองร้อยกว่าวิชา   จัดทำชุดการเรียนทางไกล ( เนื่อหา-กิจกรรม-แบบฝึกหัด-เฉลย ) ให้เหมาะกับการเรียนด้วยตนเอง ไม่ต้องมาพบกลุ่ม  มีครูที่ปรึกษาสำหรับวิชาที่ยาก ๆ ( คณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์-ภาษาอังกฤษ )   และได้นำชุดการเรียนทางไกล ม.ต้น 10 รายวิชา  ม.ปลาย 29 รายวิชา ขึ้นเผยแพร่บนเว็บไซต์ของสถาบันการศึกษาทางไกล   รวมทั้งบางวิชาเช่นภาษาอังกฤษ จะมี CD  VCD ประกอบ   วิชาที่ยากจะมีการสอนเสริม และส่ง VCD การสอนเสริมไปให้ผู้ที่ไม่มีเวลามาเข้ารับการสอนเสริม   มีครูที่ปรึกษา 1-2 คน ต่อ 1 วิชา  ติดต่อครูที่ปรึกษาทางโทรศัพท์และอีเมล
         กิจกรรม กพช.  ให้ทำเอง 80 ชม. แล้วรายงานมาให้คณะกรรมการพิจารณา  อีก 20 ชม. เป็นการสัมมนาก่อนจบหลักสูตร เพื่อประเมินคุณธรรมและให้นักศึกษารู้จักกันด้วย
         ภาค 1/55 จะมีการสอบเพื่อเทียบโอนผลการเรียน ด้วยข้อสอบจากคลังข้อสอบของสถาบันการศึกษาทางไกล  และสามารถเทียบโอนจากการศึกษาต่อเนื่อง เพื่อให้จบเร็วขึ้น

         เรียนฟรี  การวัดผล ในการเก็บคะแนนระหว่างภาค 60 คะแนน ทุกวิชาเป็นข้อสอบอัตนัย ให้เวลานักศึกษาทำที่บ้าน 1 เดือน  สทก.จัดทำข้อสอบเองโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งข้อสอบระหว่างภาค ข้อสอบปลายภาค ( วิชาเลือก ) และข้อสอบซ่อม    นักศึกษาที่เรียนจบแล้วส่วนใหญ่ไปเรียนต่อหลายแห่ง บางคนจบปริญญาโทแล้ว หลายคนกำลังเรียนปริญญาโท   การเรียนทางไกลทำให้เคยชินกับการเรียนที่ต้องมีวินัยในตนเอง จึงสามารถเรียนต่อได้ดี   สมัครเรียนได้ 3 วิธี คือสมัครด้วยตัวเอง สมัครทางไปรษณีย์ และสมัครทางเว็บไซต์   รับสมัครปีละ 2 ครั้ง คือ 1-30 เม.ย. และ 1-30 ต.ค.

 

         การศึกษาต่อเนื่อง  เป็นหลักสูตรระยะสั้น ๆ 3 เดือน ถึง 5 เดือน แบบทางไกล เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต  มีชุดการเรียนและสื่อปรกอบ มีการวัดผลประเมินผลตามสภาพของแต่ละหลักสูตร บางหลักสูตรมีกิจกรรมเสริม  จบแล้วได้รับวุฒิบัตรรับรองความรู้ ใช้เทียบโอนเป็นหน่วยกิตในหลักสูตร กศ.ขั้นพื้นฐานได้  คิดหลักสูตรร่วมกับภาคีเครือข่าย  มีวิชาต่าง ๆ เช่น  วิชาการศึกษาพระเครื่องขั้นพื้นฐาน  การดูแลเด็กปฐมวัย  การร้องเพลง   เรียนไม่ฟรี ไม่จำกัดความรู้พื้นฐาน แต่ให้อ่านออกเขียนได้   ยังมีข้อจำกัดด้านการประชาสัมพันธ์ยังไม่ทั่วถึง
         วันที่ 2 พ.ค. - 8 มิ.ย. 55 นี้ เปิดรับสมัครการศึกษาต่อเนื่อง ครั้งที่ 2/55  จำนวน 5 หลักสูตร คือ
         - ภาษาจีนเพื่อการสื่อสาร  รุ่นที่ 13
         - ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร   เริ่มปีที่แล้ว  รองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
         - การจัดการนวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการ  รุ่นที่ 6
         - การวิจัยเพื่อการเรียนรู้  ตามที่กฎหมายกำหนด สำหรับครู
         - เซียนกล้อง

 

         ดูรายละเอียดต่าง ๆ ได้ที่  http://www.dei.ac.th/ 

 

 


หมายเลขบันทึก: 485833เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2012 13:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 สิงหาคม 2012 09:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

มาเยี่ยมชมผลงานและให้กำลังใจครับ

กศน.อำเภอเมืองนนทบุรีขอร่วมสนับสนุนในการประชาสัมพันธ์ค่ะ

ขอบคุณสำหรับข้อมูลข่าวสาร เป็นประโยชน์มากค่ะ

ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะครับ Ico48  และทุกคน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท