กฎเกณฑ์วิทยฐานะ หนึ่งในมูลเหตุแห่งหายนะการศึกษาไทย


เพราะวิชาชีพครู เป็นวิชาชีพที่การันตีด้วย "จิตวิญญาณ" ซึ่งประเมินและสรุปผลโดยมติของ "มหาชนชาวบ้านแลศิษยานุศิษย์" มาแต่ครั้งโบราณ หาใช่ "คุณโม่งผู้ทรงศักดิ์ ๓ ท่าน" เช่นปัจจุบันไม่

บันทึกของครูวุฒิบันทึกนี้

อาจเป็นเรื่องของ "องุ่นเปรี้ยว มะนาวหวาน" ก็ได้

หากพี่น้องจะมองเช่นนั้น เพราะครูวุฒิเป็นครูที่มีวิทยฐานะแค่"ชำนาญการ" (จำเป็นต้องทำ)

แต่ครูวุฒิขออนุญาตร่ายไปตามภาพที่เห็น (และคิดไปเอง) ก่อนละกัน

ส่วนจะเปรี้ยวแบบองุ่น หรือจะหวานแบบมะนาว หรือออกรสชาติเป็นอย่างอื่น ก็สุดแท้แต่

และก็อยากจะขอรบกวนพี่น้องทุกท่านช่วยเป็น Commentator ให้บ้างก็แล้วกัน

ขอบพระคุณล่วงหน้าครับ

อ่ะ!... เข้าเรื่องเลยละกัน...

..............................

ทุกวันนี้

มีบ่อยครั้งครับที่ครูวุฒิจำต้องลงนามในหนังสือตอบรับ (แบบสำเร็จรูป)

ที่พี่น้องครูจากต่างโรงเรียน นำมา(ขอความอนุเคราะห์แบบห้ามปฏิเสธ)ให้ลงนาม

โดยเนื้อหาของหนังสือนั้น

เป็นการตอบรับการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ

ที่ส่วนใหญ่เป็นผลงานที่น้อยนักจะหาคุณค่าต่อการดำรงชีวิตของเด็กเจอ

เพราะส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ "เทคนิคการให้ความรู้แบบยัดเนื้อหาจากตำราเรียนใส่สมองเด็ก และประเมินผลโดยเน้นความจำ(ชั่วคราว)เป็นสำคัญ" เท่านั้น

แต่ที่ร้ายแบบทำใจรับยากมากๆก็คือ

"เป็นผลงานที่คัดลอกและดัดแปลงมาโดยมีมือปืนรับจ้างทำแทน" เป็นส่วนใหญ่ (ส่วนใหญ่ก็รู้ๆเห็นๆกันโดยทั่วไป)

เพราะเป็นการยากมาก ที่จะให้ครูระดับปฐมวัยและระดับประถมศึกษา มีเวลามานั่งเรียบเรียง "รายงานการวิจัย" อันเป็นผลสืบเนื่องการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และวัดผลประเมินผลตามระเบียบวิธีวิจัยแบบนักวิชาการ

เพราะงานการสอนและการปฏิบัติหน้าที่ แตกต่างจากอาจารย์มหาวิทยาลัยโดยสิ้นเชิง

ลำพังเวลาที่ต้องใช้ในการเตรียมการสอน ที่ระบบกำหนดให้เริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์หลักสูตร นำไปสู่การออกแบบและเขียนแผนการสอน-การสร้างสื่อประกอบ ออกแบบการวัดประเมินผล ไปจนถึงการลงมิอจัดกิจกรรม การวัด-ประเมินและบันทึกผล การซ่อม-เสริม และๆๆๆ....ฯลฯ

พี่น้องครูเราก็แทบไม่มีเวลาแล้ว

เพราะนอกจากงานการสอนประจำชั้น วันละ ๖ ชั่วโมง ใน ๘ สาระ ๒ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และ ๑ หลักสูตรท้องถิ่นแล้ว

 ก็ยังมีงานที่ไม่รู้อะไรเป็นอะไรแล้ว สำหรับภารกิจของครูในปัจจุบัน

ไหนจะไปจ่ายตลาดสำหรับทำอาหารกลางวันเด็ก, งานธุรการโต้ตอบหนังสือและรายงานข้อมูล(ซ้ำๆซากๆ)ให้หน่วยเหนือ (ซึ่งประกอบไปด้วยหน่วยงานหลายระดับ หลายชั้น แต่ละชั้นก็ยังมีอีกหลายกลุ่มงานที่สั่งการลงมาที่หน่วยปฏิบัติจุดเดียวคือ "โรงเรียน")

เผลอๆยังมีงานเอกสารส่วนตัวของ ผอ.ที่กำลังเรียนต่อ ป.โท- ป.เอก อีกต่างหาก (ว้าว!.....)

นี่ยังไม่นับรวมงานการเตรียมการรับการประเมินจากหน่วยงานมหาชนอย่าง สมศ. และงานกิจกรรมร่วมกับชุมชน หน่วยงาน และองค์กรภายนอกอื่นๆอีกมากมาย เช่น อบต., รพ.ส.ต.,วัดวาอาราม (ซึ่งมีกิจกรรมทางศาสนาและตามประเพณีเป็นระยะๆตลอดทั้งปี) นะครับ

 ที่สำคัญ... ที่ครูวุฒิมักบันทึกไว้ในใจ ก็คือ..

วันเวลาที่พี่น้องครูเหล่านั้นเอาเอกสารมาให้ลงนาม

เกือบร้อยทั้งร้อยก็มักเป็นเวลาที่พี่น้องครูท่านนั้นๆควรจะอยู่กับเด็กๆที่โรงเรียน

และจัดกิจกรรมการเรียนรู้อย่างมีความหมายและมีชีวิตชีวา

สร้างวุฒิภาวะทางปัญญาให้เด็กๆเติบใหญ่อย่างมีคุณค่า และเปี่ยวด้วยพลังสร้างสรรค์

แทนที่จะเอาเวลานั้นๆมาหลอกตัวเองและพี่น้องผองเพื่อน ทั้งๆที่รู้อยู่แก่ใจว่าจริงหรือไม่จริง

นั่นก็เท่ากับว่า... พี่น้องครูเราเอาเวลาของเด็กๆมาหาผลประโยชน์ส่วนตัวน่ะสิ

(เอ... ครูวุฒิคิดเล็กคิดน้อยหรือมองโลกในแง่ร้ายไปหรือเปล่านี่...)

.................

แต่ทั้งหลายทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้

ครูวุฒิไม่โทษพี่น้องเพื่อนครูเราหรอก

เพราะก่อนการมีกำหนดกฎเกณฑ์เรื่อง "การมีและเลื่อนวิทยฐานะ"

ครูวุฒิไม่เห็นพี่น้องครูเราทำกันอย่างนี้

เห็นแต่ก้มหน้าก้มตาสอนและทำงานกันอย่างขมีขมันและเอาจริง

แม้เงินเดือนจะน้อย ค่าวิทยฐานะและค่าตอบแทนอื่นๆก็ไม่มี

ครูเราก็ยังคงทำหน้าที่อย่างมีอุดมการณ์และจิตวิญญาณของครูผู้สร้างตลอดมา

แต่หลังจากการเกิดขึ้นของยุค "ผลงานทางวิชาการ" เพื่อ "การมีและเลื่อนวิทยฐานะ"

 นัยว่า เพื่อให้ครูมีรายได้ที่พอเพียงแก่การดำรงชีพและฐานานุรูป

ผู้มีปัญญาบารมีที่อยู่สูงขึ้นไปจึงกำหนดให้เงินเดือนครูมีหลายแท่ง

ซึ่งแต่ละแท่งก็มีขั้นวิ่งและเพดานสูงต่ำไม่เท่ากัน

โดยใช้ "วิทยฐานะ" อันได้จากการมี "ผลงานทางวิชาการ" เป็นตัวกำหนด

ซึ่งครูวุฒิเองยังงงอยู่จนปัจจุบันนี้ว่า "เอาอะไรมาเป็นเหตุผลในการกำหนด" กฎเกณฑ์ดังกล่าว

เพราะในเหตุผลและความเห็นของครูวุฒิแล้ว

เงินเดือนและค่าตอบแทนของครู (รวมทั้งข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในสายงานอื่นๆด้วย)

น่าจะเลื่อนไหลไปตามอายุราชการโดยไม่มีเพดานขั้นสูงสุด

และก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีมากมายหลายแท่งจนเกินไปเช่นในปัจจุบัน

โดยเฉพาะในกลุ่มงานที่เหมือนหรือใกล้เคียงกัน ไม่น่าจะมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงต่างกันมากนัก

ซึ่งการเลื่อนขั้นเงินเดือนและเลื่อนตำแหน่งกันในแต่ละครั้งแต่ละปี

ก็มีหลักและระบบการประเมินผลการทำงาน

ที่ทำให้เกิดการเลื่อนช้าเลื่อนเร็ว สำหรับเป็นขวัญกำลังใจของผู้มีผลงานดีเป็นกรณีพิเศษกันอยู่แล้ว

ขอเพียงทำงานตามหน้าที่ให้ดีที่สุดอย่างสม่ำเสมอไปเรื่อยๆ

เงินเดือนและค่าตอบแทนก็น่าจะขึ้นไปได้เรื่อยๆ ตามโครงสร้างที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม ณ วันเดือนปีช่วงนั้นๆ

ส่วนความก้าวหน้าในการเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้น

ก็มีระบบประเมินประสบการณ์และความรู้ความสามารถกันตามความเหมาะสมกับงานในแต่ละสายงานกันอยู่แล้ว

เพียงเท่านี้ ระบบการงาน (โดยเฉพาะงานการจัดการศึกษา) ก็น่าจะเดินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ไม่จำเป็นต้องมาสร้างระบบค่าตอบแทน "วิทยฐานะ" ขึ้นมาซ้ำซ้อนกับ "เงินเดือนและสวัสดิการ" ให้พี่น้องผู้ที่ไม่ได้เป็นข้าราชการแอบอิจฉาอีก

 สรุปง่ายๆว่า ไม่จำเป็นที่ต้องทำให้ครูรวย(มากๆเช่นในปัจจุบัน) แต่ขอให้ครูดำรงคงชีวิตอยู่และเลี้ยงครอบครัวได้อย่างพอเพียงและมีศักดิ์ศรีเท่านั้น การศึกษาไทยก็น่าจะมีประสิทธิภาพแล้ว

...................

แต่............

เมื่อเข้าสู่ยุคที่วงการการศึกษาไทยมี ดร.(เกลื่อนเมือง) เป็นบอร์ด ในองค์กรที่ชี้เป็นชี้ตายชีวิตครู

หลักเกณฑ์และข้อกำหนดสำหรับความก้าวหน้าในวิชาชีพครูก็เปลี่ยนไป

นัยว่าเพื่อความเป็น "วิชาชีพชั้นสูง" เทียบเท่าวิชาชีพแพทย์และวิศวกร

ซึ่งในความเห็นของครูวุฒิแล้ว... มันเห่ย... สิ้นดี

เพราะวิชาชีพครู เป็นวิชาชีพที่ทำแบบ "ใจสั่งมา" ด้วย "จิตวิญญาณ และอุดมการณ์แห่งความเป็นครู"

ไม่ใช่วิชาชีพที่ "เอาเงินหรือค่าตอบแทน" เป็นตัวตั้งอย่างวงวิชาชีพอื่น

ซึ่งจะเห็นได้จากการที่

ในวงวิชาชีพครู ได้เกิดมีวิถีการวัด-การประเมิน และสรุปผลขงาน ตลอดถึงตัวตนคนเป็นครู โดยมติ(อย่างไม่เป็นทางการ)ของ "มหาชนชาวบ้าน และศิษยานุศิษย์" มาแต่ครั้งโบราณ

ว่า "ครูคนนี้ดี สอนเก่ง เอาใจใส่เด็กเป็นอย่างดี ควรค่าแก่การเคารพนับถือยกย่อง แม้กระทั่งใช้เป็นแบบอย่าง และเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้หมู่ชนได้" หรือ...ตรงกันข้าม...

หาใช่ "คุณโม่งดีกรีนักวิชาการ ๓ คน" ผู้นั่งอ่านนั่งตรวจเอกสารในห้องแอร์ ว่ารูปแบบถูกต้องตามหลักการงานวิจัยหรือไม่ แล้วตัดสินว่าครูคนนี้สมควรได้(วิทยฐานะ) หรือตก หรือรอไปก่อน เช่นในปัจจุบันนี้ไม่

...................

 วกมาว่าด้วยเรื่องผลกระทบที่....

"การทำผลงานทางวิชาการ" เพื่อ "การมีและเลื่อนวิทยฐานะ" โดยมีเป้าหมายที่ "ค่าวิทยฐานะและขั้นวิ่งเงินเดือนที่สูงขึ้น" มีต่อคุณภาพการศึกษาของไทย

พี่น้องครับ... อย่าลืมนะครับว่า

ครูในระดับประถมศึกษา โดยเฉพาะโรงเรียนในชนบท จะต้องสอนหลายวิชา เผลอๆบางทีก็ทุกวิชา (เดี๋ยวนี้เรียกสาระแทนคำว่าวิชา) แทบจะไม่มีเวลาหยุดพักสำหรับเตรียมการสอนเลย

เพียงเท่านี้ คุณภาพการศึกษาของเราก็แย่พอแล้ว

แต่...

นอกเหนือจากงานการสอนทั้งวันแล้ว ครูยังมีภารกิจงานราชการอื่นๆอีกมากมายที่ต้องทำนอกเวลา ไม่เว้นแม้แต่วันเสาร์-วันอาทิตย์

นี่ก็ยิ่งเพิ่มดีกรี "ความตกต่ำ" ของการศึกษาซ้ำเข้าไปอีก

เพราะครูก็แทบจะไม่มีเวลาในการพัฒนาความรู้ความสามารถของตนเอง ตลอดถึงการคิดการออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนที่ดีมีชีวิตชีวา สำหรับวันพรุ่งนี้-มะรืนนี้เลย

จากภารกิจและข้อจำกัดดังกล่าวนี้

จะให้ครูมามีเวลาในการมานั่งทำและเรียบเรียง "รายงานงานวิจัย" เพื่อเป็นผลงานทางวิชาการในรูปแบบเช่นเดียวกับ "งานวิจัยของนักวิชาการในมหาวิทยาลัย" ตามกฏเกณฑ์ที่กำหนดได้อย่างไร?

แต่เมื่อมี "เงินประจำตำแหน่งมาล่อ" ในขณะที่เศรษฐกิจของครูก็กำลังฝืดเคือง

ครูไทยผู้ขยันขันแข็งทั้งหลายทั้งปวง ก็เลยจำต้องทิ้งเวลาที่ควรจัดกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างหลากหลาย

มาสวบทบาท "นักวิชาการ" ทำการ "วิจัยในชั้นเรียน" กันยกใหญ่

โดยมีนักเรียน "เป็นเครื่องมือ" ในการวิจัย

"(แม่ทอง)ใบงาน" ก็เลยเกลื่อนห้อง

ใช้เวลาราชการออกไปปรึกษาที่ปรึกษาระดับ ดร. อีกไม่มากไม่น้อย

แล้วกลับมานั่งเรียบเรียงเอกสารตามแบบที่กำหนดอย่างเอาเป็นเอาตาย

จนบางคนเป็นโรคอาจารย์ ๓ ถึงขั้นฆ่าตัวตายไปก็มี

แล้วพี่น้องทุกท่านลองหลับตานึกภาพครูที่พักผ่อนไม่เพียงพอ

ข้าวปลาอาหารทานไม่เป็นเวลา

วิ่งไปวิ่งมาหาคนโน้น ปรึกษาคนนี้ เข้า-ออกโรงเรียนในเวลาราชการเป็นว่าเล่น

แต่ละวันแต่ละคืนง่วนอยู่กับกองเอกสาร ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน

สอนบ้างไม่สอนบ้าง เด็กๆก็วิ่งเล่น หรือทำงานเป็นกุลีนอกห้องกันไปตามยถากรรม

กระทั่งเอกสารเป็นรูปเล่ม ก็ต้องวิ่งออกเผยแพร่ผลงานตามโรงเรียนต่างๆอีกเป็นนานสองนาน

กว่าได้รายงานการใช้เป็นรูปเล่มที่พร้อมส่งเข้าประเมิน

ส่วนผลงานฯและเอกสารรายงานการใช้การเผยแพร่

เมื่อสมบูรณ์แล้วก็จัดการหาโรงพิมพ์เข้ารูปเล่มกันอย่างพิถีพิถัน เพื่อส่งให้ "คณะกรรมการ ชุดที่ ๓ อ่านต่อไป

(แต่ส่วนใหญ่แล้ว ในขั้นตอนของการเข้าเล่มเอกสาร ครูวุฒิจะเห็นรื้อแล้วรื้ออีก ไม่ต่ำกว่าคนละ ๓-๔ ครั้ง นี่ยังไม่นับรวมตอนที่ยังไม่เข้าเล่ม ที่ขยำทิ้งและปริ๊นแล้วปรินต์อีกอีกนะครับ)

.....ฯลฯ....

แต่ละคนจะเป็นอยู่อย่างนี้เป็นแรมปี แรมสองปี

และพอใกล้ถึงเวลารับการประเมินด้านที่ ๑ ที่ ๒ ก็ไม่ต้องหลับต้องนอนกันเลย

พี่น้องครูทั้งโรงเรียนก็ต้องทิ้งเด็กในปกครองมาร่วมด้วยช่วยกันจัดเอกสารและแฟ้มผลงานด้านที่ ๑ และ ๒ พร้อมเสริมบรรยากาศการจัดแบบนิทรรศการ

ให้สมหน้าสมตาว่าที่... "ครู คศ ๓" คนใหม่

ใช้เวลาอีกเป็นวันสองวันหรือกว่านั้น

เด็กๆก็เลยได้ประสบการณ์การจัดเอกสารงานโรยผักชีแทนการเรียนรู้ที่มีความหมาย

จนเมื่อถึงวันประเมิน

ภาคฝ่ายที่ต้องเตรียมข้าวปลาอาหารและของฝาก ก็ต้องระดมกันเต็มที่

เงินน่ะมีหรือไม่มี เจ้าภาพผู้รับการประเมินก็ต้องหา

เด็กๆ... น่ะ อยู่นอกสายตาเป็นส่วนใหญ่

จะมีส่วนร่วมก็เฉพาะเด็กที่ดูดี ดูได้ ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กหญิง และโตๆหน่อยเท่านั้น

ที่เหลือ "เล่นและพัฒนาการเอาเองตามอัธยาศัย"

..........................

พี่น้องครับ

จะเห็นได้ว่า กว่าจะผ่านพ้นกระบวนการนับแต่ต้นจนจบ

จะใช้เวลาเป็นปีๆ

ทั้งครูทั้งเด็กก็กระอักและเหนื่อยล้าไปตามๆกัน

ยิ่งคนที่เป็นเจ้าภาพยิ่งไม่ต้องพูดถึง

วิ่งหาเจ้าหนี้กันขาขวิด ชนิดดอกเบี้ยเท่าไรไม่ต้องถาม

แต่ส่วนใหญ่ตก บางส่วนต้องแก้ไข มีส่วนน้อยเท่านั้นที่ผ่าน

คนตกก็ท้อแท้ เหนื่อยหน่ายไม่เป็นอันทำงานทำการ ป่วยกายป่วยใจไปเลยก็มี

(คงเคยได้ข่าวครูเผาเอกสารในห้องเรียน เพราะผลงานไม่ผ่านมาบ้างนะครับ)

ส่วนคนที่กรรมการให้แก้ไข ก็ต้องกลับมาตั้งหน้าตั้งตาลงมือกันอีกคำรบ

กว่าครบกว่าจะเข้าที่ก็เหนื่อยและลงทุนเพิ่มกันอีกรอบ (บางคนก็สาม-สี่รอบก็มี)

...หลังๆมา...

พี่น้องครูส่วนหนึ่งก็เลยต้องลงทุนแบบ "หนักเงินแต่เบาแรง"

ด้วยการปรึกษา "มือปืนรับจ้าง" และ "ตกลงราคา"

อันเป็นที่มาของคำเยาะ การวิจัยแบบ "R&C" (Reserce & Coppy) ในปัจจุบัน

นี่ยังไม่นับรวมการที่ครูและผู้บริหารโรงเรียน

ต้องออกจากโรงเรียนเพื่อเข้ารับการอบรมบ่มหลักการ

ตามโครงการที่บุคลากรทางการศึกษาระดับบนคิดขึ้นสร้างขึ้น เพื่อประกอบผลงานทางวิชาการของเขานะครับ

ถ้านับแล้ว... จะขนาดไหน...

คิดๆไปแล้ว...สยอง...นะครับท่าน...

.............................

แล้วเมื่อที่มาที่ไปของการทำผลงานทางวิชาการเป็นซะอย่างนี้

"คุณภาพการศึกษา" ที่เป็น "เป้าหมายของการกำหนดให้ครูมีงานวิจัย" จะมาจากไหน

และอยากถามหน่อยว่า "ใครกันนะ?... ที่เป็นต้นเหตุ"

ท่านผู้รู้ช่วยตอบ และ Comment หน่อย

.....จักเป็นพระคุณยิ่งครับ....

..................

หมายเลขบันทึก: 485586เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2012 03:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 20:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ที่ท่านกล่าวมาเป็นจริง ประมาณ 90 % ค่ะ ที่เหลืออีกประมาณ 10 % ไม่ใช่ไม่จริงนะคะ เผื่อไว้สำหรับความคลาดเคลื่อนตามธรรมชาติของการแสดงความเห็น
  • ตนเองต้องมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้อง ด้วยความอึดอัดใจในสภาพที่ท่านกล่าวมาและยังมีหายนะอื่นๆ อีกที่ท่านไม่ได้กล่าวถึง ปฏิเสธการทำหน้าที่แล้วแต่ยังถูกยัดเยียดให้ทำ จึงจำต้องทำแบบกลืนไม่เข้าคายไม่ออกค่ะ

ผมมีความสุขกับงาน ถ้าพูดถึงการทำงานเพื่อวิทยฐานะ เป็นอะไรที่ฝืนและฝืดครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท