แก้ปัญหาเชื้อโรคในการปลูกผักชีซ้ำที่ ต้องมีจุลินทรีย์เจ้าถิ่นด้วย


การปลูกผักชีให้ปราศจากเชื้อโรครบกวนนั้น สามารถแก้ไขบรรเทาได้

 

ผักชีเป็นพืชที่คนไทยนิยมและรู้จักค่อนข้างยาวนานใช้ปรุงรส แต่งกลิ่น เป็นเครื่องเคียงใช้รับประทานได้ทั้งใบ ก้าน ลำต้นและราก อาหารไทยส่วนใหญ่จะมีผักชีโรยหน้าตกแต่งประดับประดาเพื่อสร้างความสวยงามจนบางครั้งมีการนำไปเปรียบเปรยกับคนที่ชอบทำอะไรแบบลวกๆ หน้าไหว้หลังหลอกว่าเป็นพวก"ผักชีโรยหน้า" ผักชียังมีสรรพคุณในด้านสมุนไพรหลายอย่างทั้งช่วยย่อย บำรุงกระเพาะ ขับลมขับพิษ แก้หวัด ขับเหงื่อ ลดน้ำตาลในเลือด พอกทาแก้ผื่นคัน แก้ไฟลามทุ่ง แก้ตับอักเสบ ลดการปวดบวมข้อ ต้มดื่มแก้ไอ แก้หวัด แก้สะอึก ฯลฯ และผักชียังมีประโยชน์ในด้านอื่นอีกมากมายพอสมควรในฐานะสมุนไพร
 
แต่ปัญหาการปลูกผักชีที่สำคัญคือเรื่องโรคเน่า กล้าเน่ายุบ รากเน่า ใบไหม้ ใบจุด ใบเหลืองอันมีสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อราทั้ง ไฟท็อฟทอร่า, ไรซอคโธเนีย, พิธเธียม, ฟูซาเรียมฯลฯ ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ ปัญหาเรื่องเชื้อราที่รบกวนในแปลงปลูกผักชีถือเป็นปัญหาสำคัญของเกษตรกรมาหลายสิบปี เพราะความลำบากในการดูแลรักษา และจะต้องทำการย้ายพื้นที่ปลูกอยู่บ่อยๆ ส่งผลให้ราคาผักชีในบางฤดูกาลสูงมากถึงกิโลกรัมละ 200-300 บาท จากราคาปรกติที่สูงอยู่พอสมควรแล้วคือ 100 กว่าบาท ถือว่าเป็นราคาที่น่าสนใจพอสมควรถ้ามองในมุมเกษตรกร จึงมีผู้สนใจปลูกอยู่ค่อนข้างมาก ในช่วงที่ดินฟ้าอากาศเป็นใจผลผลิตผักชีจากทุกที่ทั่วประเทศก็จะออกมามากด้วยเช่นกัน ดังนั้นจะต้องระวังรักษาความสมดุลย์ของผู้บริโภคและผู้ผลิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เกษตรกรจะต้องหมั่นสังเกตุและศึกษาตลาดให้ลึกซึ้งเพียงพอ เพื่อป้องกันการขาดทุนจากผลผลิตล้นตลาด
 
ส่วนปัญหาในเรื่องการปลูกผักชีให้ปราศจากเชื้อโรครบกวนนั้น สามารถแก้ไขบรรเทาได้ถ้าเกษตรกรหมั่นดูแลปรับปรุงบำรุงดินอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียวเป็นระยะเวลานาน ๆ เพราะจะทำให้ดินแน่นแข็งเป็นกรด ผักชีได้รับแร่ธาตุและสารอาหารน้อย เพราะถูกดินที่เสื่อมคุณภาพจับตรึงบล็อคปุ๋ยเอาไว้ส่งผลให้ต้นอ่อนแอ ง่ายต่อการเข้าทำลายของเชื้อราโรคพืช อีกทั้งการปลูกซ้ำที่อยู่บ่อยๆ ย่อมเกิดเชื้อโรคอาศัยที่เกาะแน่นฝังตัวอยู่ในดินในรูปของสปอร์ที่สามารถทนทานต่อสภาพภูมิอากาศรอวันที่เกษตรกรจะกลับมารดน้ำใส่ปุ๋ยให้ความชุ่มชื้นแก่พืชผักหรือผักชี สปอร์ของเชื้อราโรคพืชก็อาศัยรอจังหวะนี้ด้วยเช่นกันในการตื่นขึ้นมาอาละวาด แต่ถ้าเราเลี้ยงจุลินทรีย์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเชื้อราโรคพืชอย่าง "ไตรโคเดอร์มา" ให้อยู่ในแปลงปลูกผักชีอยู่ตลอดเวลา โดยพยายามรักษาจำนวนให้สูงกว่าเชื้อโรค ปัญหาต่างๆในการปลูกผักชีซ้ำที่ก็จะค่อยๆหมดไป
 
การเตรียมแปลงก่อนปลูกผักชีควรมีการนำจุลินทรีย์ ไตรโคเดอร์มา มาเติมลงในแปลงเสียก่อน เพื่อให้เป็นจุลินทรีย์เจ้าถิ่น โดยนำเชื้อจุลินทรีย์ ไตรโคเดอร์ม่า 1 กิโลกรัม คลุกผสมกับปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกจำนวน 50 กิโลกรัม วิธีการทำให้ผสมแต่น้อยๆก่อน โดยใช้ปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกเพียง 10 กิโลกรัม ต่อ ไตรโคเดอร์มา 1 กิโลกรัมคลุกเคล้าให้เข้ากันครั้งที่หนึ่งก่อนเพื่อเชื้อกระจายได้อย่างทั่วถึง แล้วจึงค่อยนำไปผสมกับส่วนที่เหลืออีก 40 กิโลกรัม พรมน้ำพอชื้นหมักทิ้งไว้เพียงหนึ่งหรือสองคืนแล้วนำไปโรยบนแปลงได้ทั้งก่อนปลูกและหลังปลูก เราก็จะได้จุลินทรีย์เจ้าถิ่นที่ทำหน้าที่ทหารยามเฝ้าป้องกันดูแลศัตรูหรือโรคของผักชีอยู่ตลอดเวลา เชื้อราโรคพืชที่หลบอาศัยเมื่อตื่นฟื้นงอกจากสปอร์ออกมาก็จะถูก ไตรโคเดอร์ม่า เข้าจัดการทำลายทันที
 
มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ www.thaigreenagro.com
 
 
 

 
หมายเลขบันทึก: 485513เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2012 07:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 21:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท