5 ระดับของการเป็นผู้นำ: ระดับ 3 ผู้นำโดยการสร้างผลงาน


วันนี้จะเข้าสู่ระดับ 3 ของการเป็นผู้นำของ John C. Maxwell ซึ่งเมื่อสองวันที่ผ่านมา ก็ผ่านไปแล้ว 2 ระดับผู้นำ คือ ระดับ 1 เป็นผู้นำโดยตำแหน่ง ระดับ 2 ผู้นำโดยการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ซึ่งถือได้ว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในการสร้างภาวะผู้นำในระดับที่สูงขึ้น ระดับของผู้นำในระดับที่ 3 ก็คือ ผู้นำโดยการสร้างผลงานที่ดี

ขอทบทวนผู้นำในแต่ละระดับอีกสักครั้งนะครับ ผู้นำในระดับที่ 1 ที่เรียกว่าผู้นำโดยตำแหน่ง ผู้ตามจะทำตามก็แค่เพียงเพราะผู้นำมีตำแหน่งและเราก็ปฏิเสธไม่ได้ พอเราเลื่อนขึ้นมาเป็นผู้นำในระดับ 2 ผู้ตามจะเริ่มยอมทำตามผู้นำในระดับนี้ด้วยความเต็มใจ เพราะผู้นำกับผู้ตามมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเป็นพื้นฐาน พอขึ้นผู้นำในระดับที่ 3 ผู้ตามยินดีทำตามก็เพราะตัวผู้นำสามารถสร้างผลงานชั้นดีให้ผู้ตามได้เห็นนั่นเองครับ

ดังนั้นผู้นำในระดับ 3 นี้ ก็คือ ผู้นำที่จะต้องสร้างผลงานที่ดี จนผู้ตามให้การยอมรับ และเหตุผลที่ยอมทำตามผู้นำก็คือ มีความเชื่อมั่นในตัวผู้นำว่า จะสามารถนำพาองค์กรไปสู่อนาคตที่ดีขึ้นได้

เริ่มต้นจากการมีตำแหน่งผู้นำ ตามด้วยการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี จากนั้นก็ต้องไม่ลืมสร้างผลงานด้วย ผู้นำหลายคนสร้างแต่ความสัมพันธ์ที่ดี แต่ไม่สามารถสร้างผลงานได้ ก็จะยังไม่สามารถทำให้ผู้ตามรู้สึกอยากตามได้อย่างเต็มที่ เพราะยังรู้สึกไม่มั่นคงและไม่เชื่อมั่นที่จะตามผู้นำ สนิทสนมกันอย่างเดียว แต่งานไม่ออก ก็คงไม่มีใครอยากตามผู้นำแบบนี้เช่นกัน

การที่จะขยับและพัฒนาภาวะผู้นำของตนเองจากระดับ 2 ขึ้นสู่ระดับที่ 3 ก็คือ จากที่เราสามารถสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ตามได้แล้ว เราก็ต้องเริ่มพัฒนาตนเองต่อไปในระดับที่ 3 ซึ่งคุณสมบัติของการเป็นผู้นำโดยการสร้างผลงานที่ดีนั้นมีดังต่อไปนี้ครับ

  • มีวิสัยทัศนที่ชัดเจน การที่ผู้นำจะสร้างผลงานได้ดีนั้น ผู้นำเองจะต้องมีวิสัยทัศน์ในการนำที่ชัดเจนมาก และเป็นวิสัยทัศน์ที่ทำให้องค์กรดีขึ้นในอนาคตได้ คนที่เป็นผู้นำหลายคนที่เข้ามาเป็นผู้นำโดยที่ไม่สามารถคิดและกำหนดวิสัยทัศน์ได้เลย ทำได้แต่เพียงบริหารงานตามสิ่งที่ผู้นำคนก่อนเคยทำมา โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ แบบนี้แสดงว่าผู้นำคนนี้ไม่มีวิสัยทัศน์ มองไม่เห็นว่าจะนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมายที่แตกต่างได้อย่างไร ผู้นำที่ดีๆ หลายคน สามารถที่จะสร้างภาพในอนาคตได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น Steve Jobs, Henry Ford, Bill Gate ฯลฯ บุคคลเหล่านี้ต่างก็สามารถสร้างภาพในอนาคตได้ สร้างภาพที่ยังไม่เคยมีคนอื่นเห็นมาก่อน
  • สร้างวิสัยทัศน์ให้เกิดขึ้นจริงได้ ผู้นำโดยการสร้างผลงานนั้น นอกจากมองภาพอนาคตได้ชัดเจนแล้ว ยังต้องสามารถสร้างภาพนั้นให้เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติด้วย ผู้นำที่ดีจะต้องลงมือทำงานด้วย นอกจากทำงานแล้วยังต้องสร้างแรงบันดาลในให้ผู้ตาม และสามารถจูงใจให้ผู้ตามทำงานตามที่ตนตั้งใจไว้ด้วย ทั้งนี้เพื่อที่จะสร้างผลงานให้ออกมาให้ได้นั่นเองครับ มีผู้นำหลายคนที่เข้าใจผิดมากๆ ว่า เมื่อตนเองได้ขึ้นมาเป็นผู้นำแล้ว ก็ไม่ต้องทำงานอะไร แค่เพียงควบคุมดูแลคนอื่นให้ทำงาน แต่ตนเองไม่ต้องทำอะไร ซึ่งความคิดแบบนี้ ถูกเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น ผมไม่เคยเห็นผู้นำที่ดีในองค์กรใหญ่ๆ ในโลกนี้ ที่ไม่ต้องทำงานอะไร ทุกคนต่างลงมือทำงานกันอย่างจริงจัง พยายามที่จะสร้างผลงานที่โดดเด่น และแตกต่างจากคนอื่นให้ได้ ผิดกับผู้นำขององค์กรไทยๆ บางองค์กรที่พอเป็นผู้นำแล้วก็หยุดทุกอย่าง เพราะคิดแค่เพียงว่า คนอื่นต้องทำงานให้ ตนเองแค่รับบทบาทผู้นำก็เท่านั้น ขนาดวิสัยทัศน์ขององค์กรยังต้องให้คนอื่นคิดให้เลย ไม่เพียงแค่นั้น แผนกลยุทธ์ต่างๆ แนวทางในการทำงานทุกอย่าง ล้วนมากจากพนักงาน ไม่ได้มาจากตัวผู้นำเลยสักนิด
  • กระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ตาม ถ้าผู้นำสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีได้ตั้งแต่ในระดับที่ 2 แล้ว การสร้างแรงจูงใจให้เกิดขึ้นกับผู้ตามที่เรามีความสัมพันธ์ที่ดีด้วยแล้วนั้น ก็จะไม่ยาก แต่ถ้าผู้นำคนไหนไม่ได้เริ่มจากระดับ 2 แต่มาเริ่มระดับ 3 เลย ก็คือ พยายามที่จะสร้างผลงานที่ดี และพยายามจะจูงใจพนักงานให้ทำงาน สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ผู้นำจะรู้สึกว่าจูงใจพนักงานได้ยาก พนักงานไม่อยาก และไม่ยอมทำตามตนเอง สาเหตุก็คือ เราข้ามขั้นจากระดับ 2 มาระดับ 3 เลย ก็ทำให้ยังขาดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ผลก็คือ ผู้ตามก็ยังไม่ค่อยเต็มใจที่จะทำตามสักเท่าไร เพราะด้วยความรู้สึกที่ยังไม่สนิทใจสักเท่าไหร่

มีผู้นำหลายคนนะครับ ที่ขึ้นมาเป็นผู้นำได้เนื่องจากเขามีผลงานที่ดีมาตลอด สามารถสร้างผลงานให้กับองค์กรได้อย่างดี แต่พอขึ้นมาเป็นผู้นำแล้ว กลับไม่สามารถที่จะผลักดันผลงานให้ออกมาได้เลย สาเหตุก็มาจาก ผู้นำคนนี้ข้ามจากระดับที่ 1 กระโดดมาระดับที่ 3 เลย ไม่ได้ผ่านระดับที่ 2 ก่อน ผลก็คือ ไม่เคยได้มีการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างทีมงานกันก่อน พอเข้ามาก็ตั้งใจมาดันผลงานกันเลย สั่งงาน มอบหมายงาน และติดตามงานกันอย่างรัดกุมตามแผนงาน โดยที่ยังไม่ได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกันก่อน พนักงานก็คงจะรู้สึกไม่ค่อยดี และไม่ค่อยอยากจะทำตามคำสั่งอย่างแน่นอนครับ ผลสุดท้ายก็คืองานไม่ออกนั่นเองครับ

ผู้เขียนจึงย้ำว่า ถ้าเราต้องการที่จะสร้างภาวะผู้นำที่ดี และทำให้ผู้ตามยอมตามเราจริงๆ จะต้องไม่ข้ามระดับที่ 2 อย่างเด็ดขาด เพราะเป็นระดับที่เป็นพื้นฐานสำคัญมากที่สุดสำหรับคนที่อยากจะเป็นผู้นำที่ดีในอนาคตครับ

คำสำคัญ (Tags): #ผู้นำ
หมายเลขบันทึก: 485509เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2012 06:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 13:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท