ปฏิรูปการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ ๒๑: ๓. เรียนวิทยาศาสตร์เพื่อความเป็นพลเมือง


 

          ผมเกิดแรงบันดาลใจให้เขียนบันทึกชุดนี้จากการอ่านหนังสือ A Framework for K-12 Science Education : Practices, Crosscutting Concepts and Core Ideas ซึ่งจัดพิมพ์โดย The National Academies ของสหรัฐอเมริกา  ผมขอเสนอให้นักการศึกษาและครูอาจารย์ไทยอ่านหนังสือเล่มนี้ทุกคน   อ่านอย่างพินิจพิเคราะห์   เพื่อเอามาใช้ปฏิรูปการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของไทย   โดยที่หนังสือเล่มนี้เขาอนุญาตให้ ดาวน์โหลดมาอ่านได้ฟรี

 

          ผมตีความหนังสือเล่มนี้ ลงเป็นบันทึกชุด “ปฏิรูปการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ ๒๑” นี้ เพื่อเป็นบรรณาการแก่ “ครูเพื่อศิษย์”

          ในย่อหน้าต่อมาของเอกสาร ระบุดังนี้   “We anticipate that the insights gained and interests provoked from studying and engaging in the practices of science and engineering during their K-12 schooling should help students see how science and engineering are instrumental in addressing major challenges that confront society today, such as generating sufficient energy, preventing and treating diseases, maintaining supplies of clean water and food, and solving the problems of global environmental change. In addition, although not all students will choose to pursue careers in science, engineering, or technology, we hope that a science education based on the framework will motivate and inspire a greater number of people—and a better representation of the broad diversity of the American population—to follow these paths than is the case today.”

 

          ผมตีความว่า ทักษะทางวิทยาศาสตร์ที่ได้เรียนรู้ จะช่วยให้เข้าใจสภาพความท้าทายต่างๆ ต่อสังคม และต่อโลก ที่กำลังดำเนินอยู่ จากมิติของวิทยาศาสตร์    เช่นความท้าทายด้านพลังงานสำหรับนำมาสนองความ อยู่ดีกินดีของมนุษย์  ด้านการป้องกันและบำบัดโรค  ด้านการจัดหาน้ำสะอาดและอาหารคุณภาพอย่างเพียงพอ  ด้านการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพแวดล้อมของโลก เป็นต้น

          และตีความต่อว่า การเรียนวิทยาศาสตร์ตามแนวทางสมัยใหม่ จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจสภาพแวดล้อม รอบตัวในชุมชนของตนเอง   สามารถอธิบายสาเหตุของความท้าทายต่างๆ ได้   และเกิดสำนึกพลเมือง ที่ตนเอง จะต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา รวมทั้งมองเห็นลู่ทางของการแก้ปัญหา

          ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง กับข้อความที่คัดลอกมา    ว่าเป้าหมายสำคัญที่สุดของการเรียนวิทยาศาสตร์คือ การได้แรงบันดาลใจ  ได้ความพิศวง  ที่จะขับดันให้นักเรียนจำนวนหนึ่ง  (ในสัดส่วนเพิ่มขึ้น) รักการเป็นนัก วิทยาศาสตร์ หรือเรียนในสายวิทยาศาสตร์ (และเทคโนโลยี) เพิ่มขึ้น

          เป้าหมายของการเรียนวิทยาศาสตร์ (และวิศวกรรมศาสตร์) ในระดับอนุบาลถึงมัธยมปลาย มี ๒ ด้าน   ด้านแรกเพื่อวางพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ (และวิศวกรรมศาสตร์) แก่พลเมืองทุกคน ไม่ว่าจะเรียนต่อในสายใด หรือไม่เรียนต่อก็ตาม   และด้านที่ ๒ เพื่อวางพื้นฐานสำหรับการเรียนต่อในสาย วิทยาศาสตร์  วิศวกรรมศาสตร์  และเทคโนโลยี

          กรอบแนวคิดตามที่ระบุไว้ในตอนที่ ๑ ของบันทึกชุดนี้ สำหรับนักเรียนทุกคน ไม่ว่าต่อไปจะ เรียนต่อสายใด   โดยที่นักเรียนที่มีเป้าหมายเรียนต่อในสาย วิทยาศาสตร์  วิศวกรรมศาสตร์  และเทคโนโลยี  จะเรียนเข้มข้นขึ้น (ทั้งทางลึกและทางเชื่อมโยง) ในโครงการเรียนล่วงหน้า (AP – Advanced Placement Program)    นักเรียนที่มีเป้าเรียนต่อสายวิทย์ ควรได้เรียนเพื่อเพิ่มความกว้างของตัวเองทั้งในวิชาวิทยาศาสตร์แท้ๆ และในวิชาที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ แต่จะช่วยเพิ่มทักษะที่กว้างขึ้นในการเข้าใจและใช้วิทยาศาสตร์   วิชาเหล่านี้ได้แก่ เศรษฐศาสตร์  จิตวิทยา  และวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์

          ข้อความนี้ ทำให้ผมคิดว่า การศึกษาไทยเราหย่อนวิทยาศาสตร์มาก   เราแยกนักเรียนสายศิลป์ ออกไปตั้งแต่ชั้น ม. ๑ และให้นักเรียนสายศิลป์เรียนวิทยาศาสตร์น้อยมาก   มีผลทำให้พลเมืองของเราอ่อนด้อย ในความเข้าใจธรรมชาติรอบตัว   สมัยผมเรียน เราไม่แยกสายจนจบ ม. ๖ ซึ่งเทียบเท่ากับ ม. ๔ สมัยนี้ 

          สิ่งที่อยู่เบื้องหลังเอกสารกรอบแนวคิดนี้คือ การกำกับคุณภาพของการศึกษาวิทยาศาสตร์ (และวิชาอื่นๆ) ไม่ควรกำกับด้วยรายละเอียดของหลักสูตรอย่างที่เคยทำมาในอดีต   ในยุคปัจจุบันต้อง กำหนดเป็นกรอบความคิด และมาตรฐาน กว้างๆ    แล้วเปิดช่องให้ฝ่ายปฏิบัตินำไปตีความเป็น ภาคปฏิบัติที่เหมาะสม   และในการปฏิบัตินั้น ก็มีการเรียนรู้ปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา    แล้ว feedback ให้มีการปรับปรุงกรอบแนวคิดและมาตรฐานไปพร้อมๆ กันด้วย    ผมตีความว่า นี่คือกระบวนการ ของการกำกับดูแลระบบการศึกษา อย่างเป็นพลวัต    และอย่างที่เป็น “ระบบที่เรียนรู้และปรับตัว” 

          การกำกับด้วยรายละเอียด จะทำให้เกิดสภาพ “หลงในรายละเอียด จนหาหลักการไม่พบ”

          เกิดสภาพขยันทำในสิ่งที่ไม่จำเป็น หรือทำสิ่งที่เคยถูกต้อง แต่เวลานี้เป็นสิ่งไม่ควรทำ    พูดง่ายๆ ว่า หลงจัดการศึกษาแบบล้าสมัยนั่นเอง    ซึ่งจะมีผลทำให้คนรุ่นใหม่เป็นคนล้าสมัยโดยไม่รู้ตัว    แสดงอาการออกมาเป็นปัญหาสังคมด้านต่างๆ    อย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

          ความสนุกของครูอยู่ที่การทำงานแบบซับซ้อน ไม่ตรงไปตรงมา    ต้องการให้ศิษย์เข้าใจเรื่องแสง ก็ไม่ใช่สอนเรื่องแสงโดยตรง    แต่เริ่มจากตรวจสอบพื้นความรู้ของศิษย์ นำมาออกแบบกิจกรรมโครงงาน (project) ให้ศิษย์ทำเป็นทีม เพื่อให้ศิษย์เกิดทักษะ (skills / Competencies) สำคัญตามที่แนะนำในเอกสาร กรอบแนวคิด   แล้วจึงตรวจสอบว่าศิษย์ได้ทักษะสำคัญเหล่านั้นหรือไม่   ในการเรียนนั้นศิษย์เกิดแรงบันดาลใจ ที่จะเรียนรู้ต่อเนื่องหรือไม่  

          ที่จริงครูสามารถหาหนังสือที่แนะนำวิธีออกแบบการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนระดับต่างๆ เช่น ป. ๕, ม. ๔ เอามาศึกษาและเลือกปรับใช้ให้เหมาะสมกับศิษย์ของตนได้    ไม่ใช่จะต้องคิดเองทั้งหมด   และในการคิดและทำงานของครู ต้องทำเป็นทีม   โดยมีเป้าหมายว่าเป็นทั้งการทำงานและการเรียนรู้จากการปฏิบัติ  คือเป็น PLC นั่นเอง

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๖ มี.ค. ๕๕

 

 

หมายเลขบันทึก: 485437เขียนเมื่อ 18 เมษายน 2012 11:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท