เฉียดอรหันต์


ไปอินเดียครั้งนี้ ผมตั้งหลักไว้ว่า ไม่ว่าจะพบเจออะไรดี ไม่ดีอย่างไร จะคิดว่าเป็นเรื่องดีทั้งหมดอะไรดี ก็ดี อะไรไม่ดี-ไม่ชอบ ก็ถือว่าได้เรียนรู้และฝึกฝนความอดทน และฝึกมองเรื่องต่างๆ ในหลายๆ แง่มุมไม่เอาใจเราเป็นตัวตัดสินตามความเคยชิน

เฉียดอรหันต์

 เกริ่นนำ

             สมัยเรียนหนังสือชั้นประถม เราเรียนเรื่องพุทธประวัติกันต่อเนื่องหลายปี  รู้หมดว่าพระพุทธเจ้าเป็นลูกใคร ประสูติที่ไหน ตรัสรู้ที่ไหน แสดงธรรมโปรดปัญจวัคคีย์ที่ไหน ปรินิพพานที่ไหน เรียกว่าท่องเป็นนกแก้วนกขุนทอง เอาไว้ตอบข้อสอบ แต่พอถามว่า ธรรมะ คืออะไร เราก็ตอบกันอย่างสนุกว่า

“ธรรมะคือคุณากร......”

เพราะในบทสวดมนต์ที่ครูให้พวกเราสวดทุกสัปดาห์ มีอยู่บทหนึ่งที่ขึ้นต้นอย่างนั้น

สมัยนั้น จำได้ว่าหลังตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าเสด็จไปแสดงธรรมโปรดปัญจวัคคีย์ ได้แก่ อัญญา โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ที่ป่าอิสิปัตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ซึ่งชื่อพวกนี้สะกดยากชะมัด ครูก็ชอบออกข้อสอบให้เขียนตอบอยู่เรื่อย 

  

เรียนจบการศึกษาภาคบังคับ ๑๒ ปี กลับไม่ค่อยเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้เรื่องอะไร รู้เพียงว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้เรื่องอริยสัจ ๔ อันประกอบด้วย ทุกข์ สมุทัย นิโรจ และมรรค แต่ไม่ค่อยเข้าใจว่าจะนำหลักพุทธศาสนามาปฏิบัติในชีวิตจริงได้อย่างไร และพาลเข้าใจไปว่า คนที่จะพ้นทุกข์ได้ หรือนิพพานได้ ก็มีแต่เฉพาะพระอรหันต์เท่านั้น

ใครนับถือพุทธก็ให้หมั่นสวดมนต์ ภาวนา ฟังพระสวด พระเทศน์ หมั่นใส่บาตร ทำบุญทำกุศลไว้ให้มากๆเข้าไว้ ไหว้พระก็ขอโน่นขอนี่ ให้พระช่วย ไม่เข้าใจว่าพระพุทธเจ้าสอนให้เราช่วยตัวเองเป็นสำคัญ

จนกระทั่งเรียนจบวิชาชีพออกไปทำงาน เผชิญสุข-ทุกข์ในชีวิต เคยประสบอุบัติเหตุครั้งร้ายแรงที่สุดในชีวิต สูญเสียครอบครัว ตัวเองรอดตามมาได้อย่างหวุดหวิด ได้ไปบวชเรียนอยู่กับท่านพุทธทาส ๓ เดือน ทำให้ได้เรียนรู้ เข้าใจธรรมะ เข้าใจสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้และสอนสรรพสัตว์มากขึ้น

 

 ตอนนั้น พี่หมอพยัต สินธุสะอาด แพทย์รุ่นพี่ที่จังหวัดอ่างทอง สอนธรรมะแบบเซ็นให้ผม โดยเขียนเป็นร้อยกรองให้กำลังใจผม ว่า

          เขียนโคลงบทนี้แด่                  “อำพล”

“ชีวิต”สุดแยบยล                              หยั่งยาก

สุข ทุกข์ คลุกระคน                          สับเปลี่ยน

ยิ่งรับ “ทุกข์” มากมาก                       ยิ่งเร่ง “นิพพาน”

          ตัดใดไป่ยากเท่า                    ตัดใจ

เหตุเพราะยึด “ใจ” ไว้                        แบนแน่น

เตะ “ใจ” กระเด็นไป                         ใจหมด

หมด “ใจ” “จิตว่าง” แจ่น           แล่นถึง “นิพพาน”

          เจ็บใดไป่เจ็บเท่า                    เจ็บใจ

เหตุเพราะ “ยึด”ใจไว้                         ติดแน่น

“เตะ” ใจกระเด็นไป                          ใจหมด

หมด “ใจ” “จิตว่าง” แจ้น           แล่นเข้า “นิพพาน”

 ท่องแดนพุทธภูมิ

 

            เมื่อปี ๒๕๕๓ พวกเราสนับสนุนให้เกิดโครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างเสริมสุขภาพแนวใหม่ (คศน.) ขึ้น เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้าร่วมศึกษาเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเองและของเครือข่าย เพื่อนำไปสู่การร่วมกันทำงานพัฒนาสุขภาวะของสังคมในระดับที่ยากยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากการเรียนรู้เรื่องโลกภายนอกแล้ว ก็มีกระบวนการสร้างให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาภายในตนไปพร้อมๆกัน มีการพากันไปทัศนศึกษาสังเวชนียสถานที่ประเทศอินเดียและเนปาล ผมไม่ได้ไปด้วย ส่งคุณสุนีย์ สุขสว่างผู้ประสานงานของสช.ไปร่วมคณะในครั้งนั้น

            มาปี ๒๕๕๕ เป็นการจัดทัศนศึกษาให้กับนักศึกษาผู้นำรุ่นที่ ๒ ผมหลงโปรแกรม เพิ่งมาทราบกำหนดการก่อนวันเดินทางเพียง ๖ วัน  ผมยังไม่เคยไป ก็อยากไป จึงรีบประสานขอไปด้วย โชคดีที่ธรรมะจัดสรร ได้น้องมินท์ ผู้ประสานงานคศน. คุณหมอธงชัย(หมอเฮาส์) ผู้จัดการคศน. และคุณณัฐ (ผู้จัดการทัวร์) ช่วยจัดการให้อย่างเร่งด่วน  ผมต้องขอขอบคุณทุกคนที่เกี่ยวข้องไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย

            นี่เป็นการยืนยันชัดเจนว่า ชีวิตของคนเรา อยู่ได้และดำเนินไปด้วยการช่วยเหลือเกื้อกูลของผู้อื่นและสรรรพสิ่งรอบตัวเรา (สาธุ)

            เมื่อรู้ว่าได้ไปแน่ๆ  ก็รีบหาหนังสือ ”ท่องแดนพุทธภูมิ” ของอาจารย์ประเวศ วะสี มาอ่านทันที อาจารย์และคณะไปท่องแดนพุทธภูมิเมื่อเกือบ ๑๐ ปีก่อน แล้วเขียนลงนิตยสารหมอชาวบ้าน หลังจากนั้นก็พิมพ์เป็นหนังสือเล่ม อาจารย์เขียนอ่านง่าย ได้สาระภาพรวมครบถ้วน ทั้งเชิงประวัติศาสตร์และเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธศาสนา ผมอ่านรวดเดียวจบ ได้ทวนความรู้ความเข้าใจก่อนออกเดินทาง เป็นการเตรียมตัวสำหรับการทัศนศึกษาที่มิใช่สักแต่ว่าไปทัวร์

            ใครที่อยากฝึกเขียนหนังสือ ให้อ่านหนังสือที่อาจารย์ประเวศฯเขียนบ่อยๆ อาจารย์เขียนหนังสืออ่านง่าย เราจะค่อยๆซึมซับวิธีการเขียนให้อ่านง่ายไปด้วย

            ผมเคยไปอินเดียมาแล้วเมื่อหลายปีก่อน แต่ยังไม่เคยไปสังเวชนียสถาน เที่ยวนี้นับว่าโชคดีมากที่ได้ติดสอยห้อยตามน้องๆนักศึกษาผู้นำไป โดยเขากำหนดให้อยู่ในฐานะรุ่นพี่ที่เป็นกัลยาณมิตร (Mentor)

  

            ไปอินเดียครั้งนี้ ผมตั้งหลักไว้ว่า ไม่ว่าจะพบเจออะไรดี ไม่ดีอย่างไร จะคิดว่าเป็นเรื่องดีทั้งหมดอะไรดี ก็ดี อะไรไม่ดี-ไม่ชอบ ก็ถือว่าได้เรียนรู้และฝึกฝนความอดทน และฝึกมองเรื่องต่างๆ ในหลายๆ แง่มุมไม่เอาใจเราเป็นตัวตัดสินตามความเคยชิน

ผมคิดว่าในชีวิตของเราทุกวัน ก็น่าจะตั้งหลักไว้เช่นนี้ แล้วเราก็จะพบแต่ความสุข ไม่ว่าเจอเรื่องดีหรือเรื่องร้าย เรื่องพอใจหรือไม่พอใจ เจอเรื่องสุข คือเรื่องที่เราพอใจ ก็ให้รู้ว่าสุข และอย่าไปหลงยึดติดกับมันมากเกินไป เพราะมันไม่ได้อยู่ตามตัวอย่างนั้นตลอดไป เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนไป

เจอเรื่องทุกข์ ก็ต้องรู้ว่าทุกข์  รีบออกจากทุกข์โดยเร็ว เดี๋ยวมันก็ผ่านไป ใช้สติปัญญาดำเนินชีวิตและทำหน้าที่การงาน แก้ปัญหาทั้งปวง เราก็จะเจอแต่ความสุข หรือเจอความทุกข์น้อย

             ซึ่งนี่ก็คือหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั่นเอง

หลักง่าย แต่ปฏิบัติยาก จึงต้องหมั่นฝึกฝนอยู่เสมอให้ชำนาญ

            ไม่งั้นก็จะเข้ารูปที่มีคนเตือนว่า

“กูรู้ (ธรรมะ) หมด แต่กูอด (ทุกข์) ไม่ได้” (ฮา) 

 

           ทวนความพุทธธรรม

 

            เดินทางไปสังเวชนียสถานครั้งนี้ ใช้เวลา๗ วัน  ได้เยี่ยมชมและสักการะสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงใช้ชีวิตของพระองค์ ตลอด ๘๐ พรรษา ในพื้นที่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๖-๗๐๐กิโลเมตร ตั้งแต่สถานที่ประสูติที่ลุมพินี สถานที่ทรงใช้ชีวิตในวัยเยาว์ที่กรุงกบิลพัสดุ์ ซึ่งทั้งสองแห่งนี้ ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศเนปาล สถานที่ทรงบำเพ็ญเพียรและตรัสรู้ใต้ร่มพระศรีมหาโพธิ์ พุทธคยา สถานที่แสดงปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปัตนมฤคทายวัน  สถานที่ประทับบนยอดเขาคิชฌกูฏ และวัดเวฬุวันวิหาร กรุงราชคฤห์สถานที่ที่พระอรหันต์๑,๒๕๐รูปมาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย อันเป็นที่มาของวันมาฆะบูชา วัดเชตวัน ที่สาวัตถี สถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าอยู่จำพรรษานานที่สุด และสถานที่ปรินิพพานที่กุสินารา

            ทุกแห่งที่มีชาวพุทธต่างเชื้อชาติ ที่นับถือพุทธศาสนานิกายต่างๆจำนวนมากไปเยี่ยมสักการะ ในจำนวนเหล่านี้ มีคนไทยไม่น้อย

 

 วันเวลาตั้งแต่พระพุทธองค์ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ผ่านไปแล้วกว่า ๒,๕๕๐ปี ได้เห็นต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่เซอร์คันนิงแฮม ชาวอังกฤษผู้ไฝ่ในพุทธศาสนา ได้ปลูกใหม่เมื่อปีพ.ศ.๒๔๒๓ ซึ่งเป็นต้นโพธิ์รุ่นที่ ๔   ได้เห็นพระพุทธรูปที่ไม่เคยมีในสมัยสมัยพุทธกาล  ได้เห็นสถูป เจดีย์ วิหาร กองอิฐ ดิน หินที่ก่อสร้างขึ้นในสถานที่ต่างๆ เพื่อเป็นหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ที่ช่วยทำให้เราเชื่อมโยงรำลึกถึงเรื่องราวสมัยพุทธกาล

 

 

             ได้มีเวลาคิดคำนึงถึงพุทธประวัติ เรื่องราวสมัยอดีต และ “ธรรมะ” อันเป็นแก่นแกนที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้และเผยแผ่คำสอน ซึ่งต้องมองให้ลึกและเลยไปกว่าพระพุทธรูป สถูป กองอิฐ กองหิน หรือเรื่องเล่าอภินิหารต่างๆ ที่เป็นเพียงเป็นส่วนประกอบหนึ่งเท่านั้น

 

            ธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้และทรงสอน แท้จริงแล้วก็คือแก่นแกนความจริงของโลกและจักรวาลนี้  ที่เป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เรื่องวิเศษเหนือธรรมชาติใดๆ

ธรรมะ คือ ความจริงแท้แน่นอนตามธรรมชาติ ธรรมะคือกฎแห่งธรรมชาติ ธรรมะคือการปฏิบัติตามกฎแห่งธรรมชาติ และธรรมะคือผลจากการปฏิบัติตามกฎธรรมชาติ

สิ่งทั้งหลายล้วนเกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยที่หนุนเนื่องกัน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ไม่มีอะไรคงที่ อยู่เป็นนิจจัง ทุกอย่างล้วนเป็นอนิจจัง แม้หินผา ภูเขาใหญ่สักปานใด ก็ใช่ว่าจะอยู่เป็นอนิจจัง มีการเปลี่ยนแปลงไปอยู่ทุกวินาที ชีวิตของเรา ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ก็ไม่มีอะไรนิจจัง เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา

  

 ที่ด้านในจิตของเรา เมื่อเกิดผัสสะ (สัมผัส) เข้าที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จากสิ่งที่เข้ามากระทบ ก็ปรุงแต่งเป็นทุกขัง ทุกข์น้อยก็เรียกว่าสุข ทุกข์มากก็เรียกว่าทุกข์

สุข-ทุกข์ทั้งหมด อยู่ที่จิตเราปรุงแต่ง เกิดแล้วก็ดับ ดับแล้วก็เกิดใหม่ สลับสับเปลี่ยนไป ไม่อยู่คงที่

สรรพสิ่งในโลกนี้ก็เป็นเช่นนี่ทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่มียกเว้น

พระพุทธเจ้าสอนความจริงนี้ และสอนวิธีการดับทุกข์ ด้วยการทำความเข้าใจความจริงนี้ ว่าสรรพสิ่งล้วนเป็นอนิจจัง หากเข้าไปยึดติดไม่ว่าทางใดก็เป็นทุกข์ 

“สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสายะ”  สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่น ถือมั่น

พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เราไปดับทุกข์ที่ไหน ไปสังเวชนียสถานก็ดับทุกข์ไม่ได้ พร่ำบ่นสวดมนต์ ภาวนาก็อาจดับทุกข์ไม่ได้ ทำบุญมากๆก็ดับทุกข์ไม่ได้ รวยมาก มีมากก็อาจยิ่งดับทุกข์ได้ยาก

การดับทุกข์ ต้องดับที่ใจเรานี่เอง ใครทำให้เราก็ไม่ได้

  

 การไปท่องแดนพุทธภูมิ เป็นเพียงทำให้เราได้มีโอกาสไปดูด้วยตา ไปรู้ด้วยตัว ว่าดินแดนที่พระพุทธเจ้าเกิดมา และทรงดำเนินชีวิตเพื่อชี้ทางสว่างให้แก่มนุษย์และสรรพสัตว์นั้นมีจริงๆ  อยู่ที่ไหน เป็นอย่างไร ทำให้เราได้ทบทวนความเข้าใจธรรมะที่พระองค์ทรงสอน

เพื่อย้ำเตือนตัวเองว่า เรามีบุญมากนักที่ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา เราต้องรู้จักนำแก่นธรรมะมาปฏิบัติด้วยตัวเองให้มากและจริงจังมากขึ้น

ไม่ต้องไปบวชก็ได้ ไม่ต้องปลีกวิเวกไปอยู่ป่าเขาที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องนั่งท่องพระไตรปิฎกก็ได้

แต่เราสามารถนำพุทธธรรมมาปรับใช้กับชีวิตได้ทุกวัน ทุกเวลา ทุกลมหายใจ

 

 ส่งท้าย

 

            ก่อนพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ท่านตรัสไว้ว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา”

  

 ไปท่องแดนพุทธภูมิ ๗ วัน ได้เอาหัวกบาลไปแตะเท้าพระพุทธรูปปางปรินิพพาน ที่กุสินารา ถ่ายรูปเอาไว้ดูเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจ  ได้กราบไหว้สถานที่สำคัญต่างๆ  ได้มีโอกาสทำจิตให้นิ่ง ได้เก็บทรายจากแม่น้ำเนรัญชรา บริเวณที่อยู่ไม่ไกลจากสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธองค์ ใส่ขวดมาไว้เป็นที่ระลึก (ซึ่งหลายคนบอกว่า มีแต่ขี้แขกทั้งนั้น 555) ฯลฯ

เหล่านี้เป็นเพียงแค่การสร้างเสริมกำลังใจ เป็นกระพี้เล็กๆน้อยๆ  ที่ช่วยทำให้เราหมั่นใฝ่เรียนรู้พุทธธรรม เพื่อนำมาใช้กับการดำเนินชีวิตให้ยิ่งขึ้นไป

เมื่อเราปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้าก็อยู่กับเรานี่เอง (สาธุ สาธุ สาธุ)

                                                          

   โดย นพ.อำพล จินดาวัฒนะ

กัลยาณมิตร

 เครือข่ายร่วมพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะแนวใหม่

คำสำคัญ (Tags): #ผู้นำ#อินเดีย
หมายเลขบันทึก: 485434เขียนเมื่อ 18 เมษายน 2012 11:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 17:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขออนุโมทนาบุญด้วยคนครับคุณหมอ สาธุ....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท