กรณีศึกษาที่ครูน่านำสอน 2/1 โดย ชาตรี สำราญ


กรณีศึกษาเป็นการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนเดินเข้าสู่โลกกว้างของการเรียนรู้ที่แท้จริงในวิถีชีวิตและธรรมชาติ ผู้เรียนจะเดินออกจากห้องเรียนไปรับประสบการณ์ตรงจาก “นอกรั้วโรงเรียน” (Beyond the school Wall Experiences) ซึ่งเน้นการเรียนรู้แบบการศึกษานอกสถานที่ (Outdoor Education)

กรณีศึกษาที่ครูน่านำสอน

 

การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเองอีกวิธีหนึ่ง  คือ  การเรียนรู้แบบกรณีศึกษา (Case Study)  ซึ่งเป็นการศึกษาแบบเจาะลึก  เฉพาะเรื่อง  เฉพาะงาน  ที่ผู้เรียนสามารถออกไปสังเกต  ศึกษา  สืบค้น  สืบสอบ  และสอบค้น  ความรู้ที่มีอยู่ในชุมชน  ในท้องถิ่นที่โรงเรียนตั้งอยู่

กรณีศึกษาเป็นการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนเดินเข้าสู่โลกกว้างของการเรียนรู้ที่แท้จริงในวิถีชีวิตและธรรมชาติ  ผู้เรียนจะเดินออกจากห้องเรียนไปรับประสบการณ์ตรงจาก  “นอกรั้วโรงเรียน” (Beyond the school Wall Experiences)  ซึ่งเน้นการเรียนรู้แบบการศึกษานอกสถานที่  (Outdoor Education)  การเรียนรู้แบบนี้  ผู้เรียนจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง  สามารถสัมผัสเรียนรู้จากเรื่องราวที่เป็นจริง  จากของจริงที่สัมผัสได้และเรียนรู้จากชีวิตแห่งความเป็นจริง  ส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถดำเนินการปฏิบัติกิจกรรมเพื่อให้เกิดประโยชน์  (Activity  Based  Instruction)  ซึ่งผู้เรียนสามารถดำเนินการเรียนรู้  โดยการศึกษาเรื่องราวเจาะลึกแบบโครงงาน  (Project Work)  หรือเรียนรู้แบบ  Story line  ได้อย่างดี  ทั้งนี้ในการเรียนรู้ด้วยของชุมชน  หรือท้องถิ่นนั้นๆ ส่งผลให้บทเรียนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน  จึงทำให้บทเรียนบทนั้นไม่แปลกแยกออกจากชุมชน  ผู้เรียนจะมีโอกาสดำเนินการเรียนรู้ได้ด้วยการเข้าไปสืบค้นหรือสอบค้น  หาความรู้จากผู้รู้ในชุมชนที่เป็นผู้ปฏิบัติจริงหรือผ่านประสบการณ์นั้นๆ มาด้วยตนเองได้  ดังนั้นความรู้ที่ผู้เรียนสามารถสรรหามาได้นั้นจะได้ทั้ง

-   วิธีการเรียนรู้หรือวิธีการค้นหาความรู้ของผู้ให้ความรู้

-   องค์ความรู้ที่ผู้ให้ความรู้รู้

-   ความรู้สึกหรือความเห็นต่อเรื่องที่รู้จากผู้ให้ความรู้

องค์ประกอบทั้ง 3 อย่างนี้คือ  ความรู้แท้ของภูมิปัญญาท้องถิ่นที่จะสามารถถ่ายทอดให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้  สำหรับตัวผู้เรียนเองนั้น  ก็จะเกิดองค์ความรู้ในตนเอง  ในด้าน

                -   วิธีการเรียนรู้หรือวิธีการค้นคว้าหาความรู้

                -   องค์ความรู้ที่ศึกษาค้นคว้ามาได้ด้วยตนเอง

                -   ความรู้สึกหรือความคิดเห็นที่มีต่อการเรียนรู้

สิ่งที่ผู้เรียนได้มาจากการเรียนรู้ทั้ง 3 อย่างนี้  คือการศึกษาที่ยั่งยืน  เป็นการเรียนรู้ที่สามารถฝังใจผู้เรียนอยู่ได้นาน  เมื่อมีเรื่องหนึ่งเรื่องใดที่ผู้เรียนใคร่รู้  ผู้เรียนจะสามารถนำวิธีการเรียนรู้นี้ไปศึกษาเรียนรู้เรื่องนั้นๆ ได้

                การที่ผู้เรียนได้เรียนรู้เรื่องราวต่างๆ จากชุมชน  จากผู้รู้ในชุมชน  จะส่งผลให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าของชุมชน  จะเกิดความตระหนักรักและเห็นความสำคัญของชุมชน  เพราะเรื่องราวของชุมชนเป็นรอยประทับใจของผู้เรียน

                กรณีศึกษาเป็นวิธีการเรียนรู้ที่สามารถบูรณาการสรรพวิชาต่างๆ  เข้าด้วยกันตามที่ผู้สอนสามารถนำมาจัดการดำเนินเรื่องราวให้สอดรับกับชีวิตแห่งความเป็นจริง  ในสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในชุมชน  เรื่องราวเหล่านั้นเป็นเรื่องราวใกล้ตัวผู้เรียน  ที่ผู้เรียนควรจะเรียนรู้และสอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ที่รัฐกำหนดไว้

                วิธีการเรียนรู้แบบเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้สืบค้น  สืบสอบ  และสอบค้นความรู้ด้วยตนเองนั้น  ผู้เรียนจะต้องใช้ทักษะการตั้งคำถาม  ทักษะการฟัง  การพูด  การอ่าน  การเขียน  และการคิด  รวมทั้งคุณธรรมจริยธรรมและมารยาทการเข้าสู่สังคม  พูดได้ว่าการเรียนรู้แบบกรณีศึกษานี้ผู้เรียนสามารถฝึกทักษะการใช้ชีวิต  ทักษะการเรียนรู้แบบการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสมบูรณ์แบบ

                กรณีศึกษา  (Case Study)  คืออะไร  นี่คือเรื่องราวที่ควรจะต้องศึกษาเรียนรู้กันต่อไป  มีนักวิชาการหลายคนได้กล่าวถึงกรณีศึกษาไว้  พอที่จะสรุปได้ว่า  “กรณีศึกษาคือวิธีการเรียนรู้รูปแบบหนึ่งที่ผู้เรียนสามารถศึกษาเรียนรู้แบบเจาะลึกในประเด็นปัญหาเฉพาะเรื่องหนึ่งเรื่องใด  หรือประเด็นหนึ่งประเด็นใด  ที่ผู้ศึกษาสนใจใคร่รู้อย่างทะลุปรุโปร่ง  ด้วยการใช้วิธีการ  สืบค้น  สืบสอบ  และหรือสอบค้นหาคำตอบให้รู้เรื่องนั้นๆ อย่างแท้จริง”

                ในการศึกษาแบบกรณีศึกษานั้น  ผู้เรียนจะต้องตั้งประเด็นคำถามหรือประเด็นปัญหาที่ใคร่รู้ขึ้นมาแล้วพยายามสืบค้นถึงสาเหตุ  ความเป็นมาของปัญหา  นำมาทำความเข้าใจถึงเงื่อนไข  ปัจจัยต่างๆ ที่มีสาเหตุอันก่อให้เกิดปัญหาที่แท้จริง  จนส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อเรื่องนั้นๆ โดยที่ผู้เรียนจะต้องอาศัยกระบวนการศึกษาอย่างเป็นระบบ  แล้วนำข้อมูลจากหลากหลายแหล่งที่ผู้เรียนสืบค้นมาได้  มาทำการวิเคราะห์  สังเคราะห์  สรุปเป็นความรู้ในเรื่องนั้นๆ

                ที่กล่าวว่าโรงเรียนในเมืองหลวง  สามารถจัดการเรียนการสอนแบบกรณีศึกษาได้นั้น  ขอยกตัวอย่างโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครมากมาย  ตั้งอยู่ในบริเวณวัดหรืออยู่ใกล้วัด  ตั้งอยู่ใกล้สถานที่ที่ผู้คนเคารพนับถือ  เช่น  ศาลแม่นาคพระโขนง  และตั้งอยู่ใกล้บริเวณโบราณสถานโบราณวัตถุ  จุดเหล่านี้เป็นจุดที่ผู้เรียนจะต้องศึกษา  เจาะลึก  ถึงเรื่องราวเหล่านั้น  อันมีเรื่องหรือประเด็นที่เกี่ยวข้องกันว่า 

(แนวความคิดจากสาระสังคมศึกษาฯ  กระทรวงศึกษาธิการ)

                -   สภาพความเป็นมาและความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมนั้นมีความเป็นมาอย่างไร  มีความเป็นอยู่อย่างไร  มีค่านิยม  จริยธรรม  และความเชื่ออย่างไร

                ซึ่งเรื่องราวที่สืบค้นมาได้นี้  จัดอยู่ในกลุ่มหรือหมวดมานุษยวิทยา  จิตวิทยา  สังคมวิทยา  ศาสนาและจริยธรรม

                -   สภาพสังคมความเป็นอยู่ที่ผู้คนในสังคมนั้นอาศัยเป็นอย่างไร

                เรื่องราวที่ผู้เรียนสามารถสังเกต  ศึกษา  สืบสวนได้มานั้นจะจัดอยู่ในประเด็นของภูมิศาสตร์

                -   ผู้คนในสังคมนั้นดำเนินชีวิตกันอย่างไร

                เรื่องราวนี้ผู้เรียนสามารถสืบ (ถามความรู้จากชุมชน)  สอบ  (หาข้อมูล  ความจริงด้วยวิธีการสังเกตศึกษา  ไต่ถามจากชุมชนแล้วมา)  ค้น  (คว้าจากเอกสารอ้างอิงต่างๆ สรุปเป็นข้อมูลความรู้  ประเด็นปัญหานี้จัดอยู่ในหมวดเศรษฐศาสตร์

                -   ชุมชนนี้มีการจัดระเบียบทางสังคมอย่างไร

                ประเด็นคำถามนี้เป็นประเด็นทางด้านการเมืองการปกครอง  ซึ่งผู้เรียนจะต้องใช้วิธีการสังเกต  สอบค้น  สืบค้นหา  สภาพความเป็นจริงของพฤติกรรมทางสังคมในชุมชนนั้น  อันเกี่ยวกับสภาพการจัดระเบียบทางสังคม

                -   สังคมนี้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงจากอดีตสู่ปัจจุบันอย่างไรบ้าง

                ข้อมูลอย่างนี้ผู้เรียนจะแสวงหามาได้ด้วยวิธีการสืบ  (หาความจริงจากชุมชนและ)  ค้น  (คว้าจากเอกสารต่างๆ ที่ปรากฏอยู่มาสรุปเป็นข้อมูลความรู้ของผู้เรียน  เป็นความรู้ด้านประวัติศาสตร์

                จะเห็นได้ว่า  ประเด็นปัญหาที่ผู้เรียนจะต้องค้นหาคำตอบนั้น  ผู้เรียนจะต้องสืบค้นมาจากชุมชนนั้นๆ ตามกระบวนการเรียนรู้ที่เตรียมไว้  เมื่อได้คำตอบมาแล้ว  ผู้เรียนจะต้องนำข้อมูลความรู้เหล่านั้นมา  วิเคราะห์  สังเคราะห์  อภิปรายแล้วสรุปเป็นความรู้ก่อนที่ผู้เรียนจะออกไปสืบเสาะหาความรู้จากชุมชนด้วยวิธีกรณีศึกษาได้นั้น  ผู้เรียนจะต้องเตรียมตัวก่อนเรียน  คือ

1. ผู้เรียนจะต้องรู้ก่อนว่า  การเรียนรู้แบบกรณีศึกษา  คืออะไร  นั่นหมายถึงว่า  ผู้เรียนจะต้องศึกษาความหมายและวิธีการเรียนรู้แบบกรณีศึกษาให้เข้าใจก่อน

ตรงนี้ผู้สอนจะต้องสร้างความมั่นใจให้ผู้เรียนก่อนว่า  การเรียนแบบกรณีศึกษานั้นเป็นการเรียนที่ผู้เรียนจะต้องดึงความสามารถเฉพาะตนออกมาให้มากที่สุด  จึงจะสามารถดึงความรู้จากชุมชนออกมาเป็นข้อมูลความรู้ของผู้เรียนได้

ข้อมูลความรู้ที่ผู้เรียนได้มานั้น  ไม่มีผิด  ไม่มีถูก  แต่ผู้เรียนจะต้องใช้ดุลยพินิจพิจารณา  วิเคราะห์  สังเคราะห์  ข้อมูลเหล่านั้นสรุปสรุปเป็นความรู้เฉพาะของผู้เรียน

การได้ข้อมูลจากชุมชนนั้นไม่ใช่ไปครั้งเดียวได้ข้อมูลมาอภิปรายสรุปเป็นความรู้  แต่ผู้เรียนจะต้องจัดการกับข้อมูลนั้นในรูปแบบ  กระบวนการย้อนกลับ  (Interactive)  กล่าวคือ  ผู้เรียนจะต้องย้อนกลับไปพิจารณาสืบหาข้อมูลเดิมครั้งแล้วครั้งเล่า  ในระหว่างปฏิบัติการภาคสนาม  เพื่อที่จะสืบค้นหาข้อมูลความจริงแบบเจาะลึกให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้  ซึ่งเป็นการศึกษากรณีศึกษาย้อนกลับเป็นวงกลม (Circular)  ไม่ใช่ศึกษาแบบกระบวนการศึกษาทางเดียว (Linear)

การที่ผู้เรียนจะสามารถมองเห็นปัญหาได้ชัดเจน  เก็บข้อมูลชุมชนได้ตรงประเด็น  ผู้เรียนจะต้องสามารถวิเคราะห์เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ในชุมชน  รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง  เพื่อทำให้ภาพของปัญหามีความชัดเจนและเป็นองค์รวม

การที่จะทำให้ข้อมูลที่ได้มาจากชุมชนนั้นมีความน่าเชื่อถือ  ผู้เรียนจะต้องแสวงหาข้อมูลจากหลากหลายแหล่งเรียนรู้ที่อยู่ในชุมชน  โดยเฉพาะข้อเท็จจริงจากแหล่งเรียนรู้ในชุมชน  รวมทั้งผู้เรียนจะต้องเข้าใจถึงวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลที่ถูกต้องและทันสมัย

สำหรับประเด็นปัญหาที่ผู้เรียนร่วมกันสร้างขึ้นมานั้น  จะได้มาจากการสำรวจชุมชนในเบื้องต้นและความสงสัยใคร่รู้ต่อ  ในขณะที่สืบค้นข้อมูลในชุมชน  สิ่งนี้จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถตั้งคำถามเจาะลึกถึงเรื่องที่ใคร่รู้ได้มากยิ่งขึ้น  ประเด็นปัญหาเหล่านี้จะผิดแผกแตกต่างไปจากที่ผู้เรียนเคยเรียนรู้ในตำราเรียนหรือจากหนังสือ  ส่งผลให้ผู้เรียนเข้าถึงวิธีการเรียนรู้แบบเรียนรู้เพื่อไปหาความรู้  เป็นการสร้างความรู้  ความเข้าใจ  ให้กับผู้เรียนเกี่ยวกับวิธีการหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ในชุมชนที่หลากหลาย  ซึ่งเป็นความรู้ที่มีข้อเท็จจริงเกิดขึ้นในชุมชนหรือแหล่งเรียนรู้นั้นๆ แล้วมาเชื่อมโยงสู่เนื้อหาวิชาการหรือศาสตร์ต่างๆ อย่างบูรณาการ

เมื่อผู้เรียนเตรียมตัวเตรียมใจ  พร้อมที่จะเรียนรู้ด้วยวิธีการเรียนแบบกรณีศึกษาแล้ว  ผู้เรียนสามารถดำเนินการขั้นที่สองต่อไป  คือ

2. เลือกปัญหาที่จะศึกษา  การเลือกประเด็นปัญหาที่จะศึกษานี้  ถ้าผู้สอนเปิดโอกาสให้ผู้เรียนออกไปสำรวจศึกษาชุมชนก่อน  ผู้เรียนมีโอกาสศึกษาพบปะกับผู้นำชุมชน  ตัวแทนชาวบ้าน  หรือชาวบ้านในแหล่งเรียนรู้นั้น  การสอบถามพูดคุยกับบุคคลเหล่านี้  อาจจะเป็นที่มาของประเด็นปัญหาที่ผู้เรียนสนใจใคร่รู้  โดยที่ผู้เรียนจะต้องศึกษาลงลึกไปว่า

-   ประเด็นปัญหานี้คืออะไร

-   อะไรคือเงื่อนไขสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหานี้ขึ้นมา

-   ผู้เรียนมีความคิดรวบยอดในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

ความคิดรวบยอดของผู้เรียนที่มีต่อเรื่องที่จะเรียนรู้นั้นมีความสำคัญมาก  เพราะผู้เรียนจะสามารถนำความคิดรวบยอดนั้นไปตอบประเด็นคำถามที่กำหนดไว้ทั้ง 3 ข้อได้  แต่ผู้เรียนไม่มีฐานความรู้ในเรื่องนี้ก่อนแล้ว  ผู้เรียนจะมองภาพงานได้ไม่ตลอด  นั่นหมายถึงว่า  ผู้สอนหรือผู้เชี่ยวชาญ  (ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ผู้สอนเชิญมาเป็นวิทยากร)  จะต้องช่วยกันเติมเต็ม  ให้ผู้เรียนหรือเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ศึกษาค้นความหาความรู้เพิ่มเติมจากตำราวิชาการ  และผู้สอนอาจจะเตรียมการล่วงหน้าโดยการจัดรวบรวม  เรียบเรียงเอกสารประกอบการเรียนการสอนขึ้นมาให้ผู้เรียนนำไปศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม  ความรู้ที่ผู้เรียนจะสามารถเรียนรู้ได้จากการทำกรณีศึกษานั้น  จะประกอบด้วยความรู้ในสาขาวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์เป็นหลัก

                การเลือกประเด็นปัญหาเพื่อศึกษาเรียนรู้นี้  แรกเริ่มเรียนรู้เป็นเบื้องต้นนั้น  ถ้าผู้เรียนเลือกปัญหาที่ตนรู้และเข้าใจเรื่องราวเหล่านั้นมาบ้างแล้ว  จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถตั้งประเด็นคำถามได้ลุ่มลึกมากยิ่งขึ้น  เพราะเรื่องที่ผู้เรียนเลือกเรียนด้วยความอยากเรียนนั้น  เป็นเรื่องที่อาจจะเป็นเรื่องที่ผู้เรียนคุ้นชินมาบ้างแล้ว  เพียงแต่ว่ายังรู้เรื่องอย่างไม่ลึก  ไม่กว้าง  และไม่รอบ  ผู้สอนจะต้องฝึกหัด  ฝึกฝน  ให้ผู้เรียนมีโอกาสเรียนรู้เรื่องราวที่อยู่รอบๆ ตัวผู้เรียนในเบื้องต้น  ทั้งที่เป็นเรื่องราวที่เป็นสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นที่ผู้เรียนอาศัยอยู่  แล้วค่อยๆ สอนให้ผู้เรียนรู้เชื่อมโยงเรื่องราวและประสบการณ์นั้นให้ขยายออกไปสู่โลกกว้าง  อีกทั้งบทเรียนเหล่านั้นควรจะจบลงตรงที่ผู้เรียนมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมชุมชนที่ชุมชนร่วมกับผู้เรียนคิดพัฒนาชุมชน  ในระหว่างที่ผู้เรียนกำลังเรียนรู้เรื่องนั้นๆ

                ประเด็นปัญหาที่ผู้เรียนเขียนขึ้นมา  เพื่อจะศึกษาค้นหาคำตอบนั้น  ผู้เรียนจะต้องรู้และเข้าใจลักษณะของปัญหานั้นว่า  “แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร  สาเหตุเกิดจากอะไร  และมีแนวทางในการแก้ไขปัญหานั้นอย่างไร”  ถ้าผู้เรียนเข้าใจต่อปัญหานี้แล้ว  ผู้เรียนจะสามารถเขียนประเด็นปัญหาการเรียนรู้หรือเรียกง่ายๆ ว่า  ปัญหาวิจัยได้  เช่น  ปัญหาที่เกี่ยวกับตลาดสดใกล้โรงเรียน  หรือ  ตลาดสดในชุมชน  ซึ่งส่งกลิ่นเหม็น  สกปรก  มีขยะทิ้งเกลื่อนกลาด  ผู้เรียนเห็นว่า  ทั้งกลิ่นเหม็นและความสกปรกของตลาดนั้น  จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมชุมชน  โรงเรียน  และสุขภาพของผู้คนที่อยู่ใกล้  อีกทั้งมีผลต่อแมลงวัน  แมลงสาบ  หนูจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น  ส่งผลให้พืชผัก  ผลไม้  ปลาสด  ปลาแห้ง  ปลาเค็ม  ที่นำมาวางจำหน่ายมีความน่าเป็นห่วงต่อการรับและแพร่เชื้อโรคได้

                ความคิดรวบยอดที่ผู้เรียนมีต่อภาพของตลาดสดชุมชนดังกล่าวข้างต้นนั้น  จะส่งผลให้ผู้เรียนสามารถนำมาคิดวิเคราะห์  ประเด็นปัญหาที่ตนต้องการจะเรียนรู้ต่อยอดออกไปได้  เช่น 

1)      ประเด็นเกี่ยวกับเชื้อโรคที่อาจติดต่อจากสัตว์สู่สินค้า  สู่คน  เพราะผลจากความสกปรกของตลาด

2)    ประเด็นเกี่ยวกับความร่วมมือร่วมใจของแม่ค้า  พ่อค้า  และคนในชุมชน  ในการร่วมกันรักษาความสะอาดของตลาดสดชุมชน

3)      ประเด็นการขยายพันธุ์ของแมลงวัน  แมลงสาบ  และหนู  ที่เกิดจากสภาพตลาดสดชุมชนสกปรก

เมื่อผู้เรียนสามารถเลือกประเด็นปัญหาหรือปัญหาวิจัยมาเขียนได้แล้ว  ก็จะสามารถตั้งคำถามย่อยหรือคำถามวิจัยขึ้นมา  เพื่อจะนำมาสู่การสืบค้นข้อเท็จจริงต่อไปได้

                การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเข้าไปสัมผัสกับชุมชนหรือแหล่งเรียนรู้ก่อนที่ผู้เรียนจะตั้งประเด็นปัญหานั้น  จะช่วยให้ผู้เรียนมีโอกาสนึกตัดสินใจได้ว่า  ตนสนใจจุดใด  แล้วสิ่งนั้นจะกระตุ้นให้ผู้เรียนได้คิดเรื่อง  แล้วสามารถนำมาสร้างประเด็นปัญหาได้ดีมากยิ่งขึ้น  กับความสามารถนำมาคิดวางแผนการเรียนรู้ในข้อต่อไปได้

                3. วางแผนการเรียนรู้  ตรงนี้สำคัญมาก  ผู้สอนจะต้องฝึกให้ผู้เรียนรู้จักและเข้าใจ  หรือสามารถคิดวิธีการวางแผนการเรียนรู้ก่อนที่จะทำการเรียนรู้ให้ได้  นั่นคือ  ต้องฝึกฝนให้เป็นนิสัย  หัวใจของกรณีศึกษาอยู่ตรงที่วางแผนการทำงาน  (การเรียนรู้)  และทำงานตามแผนที่วางไว้ได้  ขั้นตอนของการวางแผนการเรียนรู้นั้นมี

                3.1)   ในการวางแผนการเรียนรู้นั้น  ผู้เรียนจะต้องกำหนดวัตถุประสงค์การศึกษาก่อน  การที่ผู้เรียนจะกระตุ้นให้ผู้เรียนคิดคำนำมาสร้างวัตถุประสงค์การศึกษาได้นั้น  ผู้สอนควรใช้ภาษาง่ายๆ ที่ผู้เรียนเข้าในได้ทันที  ด้วยคำถามให้ผู้เรียนถามตนเองว่า  “เราเรียนเรื่องนี้ทำไม”  เมื่อผู้เรียนได้คำตอบมาแล้ว  ผู้สอนหรือผู้เรียนนำมาเขียนบนกระดานดำช่วยกันเลือกที่ตรงใจทุกคน  แล้วมากลั่นกรองภาษาให้เป็นวัตถุประสงค์ (ของการ) เรียนรู้  บันทึกไว้  นี่เป็นการแรกเริ่ม  เมื่อผู้เรียนรู้วิธีการแล้ว  กรณีศึกษาเรื่องต่อๆ ไปก็จะทำได้ด้วยตัวของผู้เรียนเอง

                3.2)   กำหนดขอบข่ายข้อมูลการเรียนรู้  ตรงนี้สำคัญมาก  เพราะถ้าผู้เรียนสามารถกำหนดขอบข่ายของเรื่องที่จะเรียนรู้ได้ตรงประเด็นชัดเจน  ก็จะสามารถศึกษาเรียนรู้ได้ง่ายยิ่งขึ้น  ถ้าไม่กำหนดขอบข่ายการเรียนรู้จะทำให้เรียนได้ไม่ครอบคลุมเรื่องที่ต้องการเรียน  และยิ่งเรียนยิ่งเรื่องมาก  และมากเรื่อง  จะไม่ตรงประเด็นที่วางไว้ได้

                การกำหนดขอบข่ายการศึกษานี้  ถ้าเหลือบไปดูคำถามวิจัยหรือคำถามย่อยที่ตั้งไว้ในตอนต้น  ตอนเลือกปัญหาจะศึกษานั้น  จะช่วยให้การกำหนดขอบข่ายข้อมูลที่จะศึกษาเรียนรู้มีความสอดคล้องกับตัวปัญหาและวัตถุประสงค์ได้มากยิ่งขึ้น

                ผู้เรียนจะต้องรำลึกไว้เสมอว่า  การเรียนรู้กรณีศึกษานั้น  ผู้เรียนจะต้องทำความเข้าใจต่อปัญหาเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม  และเรื่องราวรายละเอียดของเรื่องที่จะเรียนรู้  ซึ่งจำเป็นที่จะต้องเก็บรวบรวมข้อมูลมาอธิบายถึงสภาพของปัญหา  สาเหตุของปัญหาว่าเป็นอย่างไร  และ  ทำไมจึงเกิดเร่องนั้นขึ้นมา

                ตรงนี้ผู้สอนจะต้องกระตุ้นให้ผู้เรียนคิดเชิงวิเคราะห์หาข้อมูลที่หลากหลายที่ก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมา  โดยการใช้คำถามถามตนเองว่า  “ทำไมจึงเกิดเรื่องนี้ขึ้นมาและเกิดขึ้นอย่างไร”  ภาพของปัญหาที่ได้มาจะช่วยให้ผู้เรียนนำมากำหนดขอบข่ายของข้อมูลได้ง่ายขึ้น  พูดง่ายๆ ว่า  ผู้เรียนสามารถบอกได้ว่า  “กรณีศึกษาเรื่องนี้จะศึกษาเรียนรู้เรื่องใดบ้าง”

อ่านเป็นเล่มได้ที่นี่ครับ https://docs.google.com/docume...

หมายเลขบันทึก: 485432เขียนเมื่อ 18 เมษายน 2012 11:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 ตุลาคม 2018 12:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท