ศาลพระภูมิเจ้าที่และท้่าวทั้งสี่ : ละเมียดศิลป์ภูมิปัญญไทย


พิธีกรรมตั้งศาลพระภูมิเจ้าท่ีและท้าวทั้งสี่ เป็นการกล่อมเกลาให้คนรุ่นใหม่ นักศึกษา นักเรียนในโรงเรียนเกิดความเข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่น และรู้จักเคารพนอบน้อมต่อสรรพสิ่ง เข้าใจนัยสำคัญของการที่มนุษย์เป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง ซึ่งหมายถึง การดำเนินชีวิตที่เชื่อมประสานสอดคล้องกับเพื่อนมนุษย์ คติความเชื่อ และทรัพยากรธรรมชาติ

            เมื่อวันอังคาร  ที่  11 เมษายน 2555  เวลา 09.00  น. ได้ประกอบพิธีกรรมตั้งศาลพระภูมิเจ้าที่  ในบริเวณโรงเรียนกวดวิชาหลังมอ (CMAC) โดยปู่จารย์ ซึ่งเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมกำหนดว่า วันเวลานี้ฤกษ์ดีตามโหราศาสตร์แบบล้านนา  

            โรงเรียนกวดวิชาฯ ได้เปิดการเรียนการสอนมานานกว่าหนึ่งปี และผู้ที่เป็นหุ้นส่วนมีความเห็นร่วมกันว่า  ควรมีการตั้งศาลพระภูมิเจ้าที่ เพื่ออัญเชิญเทพารักษ์มาสถิตย์ เพื่อปกปักรักษาบริเวณโรงเรียน และหอพัก ให้ร่มเย็นเป็นสุข รวมทั้งขัดเกลาวัฒนธรรมไทยให้เด็กนักเรียนระลึกมั่นในสิ่งที่ดีงาม  และมีความกตัญญูต่อแผ่นดิน เคารพบูชาบรรพบุรุษผู้ปกป้องรักษาแผ่นดิน

           การประกอบพิธีกรรมตั้งศาลพระภูมิเจ้าที่ครั้งนี้  เราผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมภาคกลางและภาคเหนือ  คือ มีการตั้งศาลตามแบบภาคกลางและมีการขึ้นท้าวทั้งสี่ ตามแบบล้านนา โดยได้รับคำแนะนำจากปู่จารย์ชื่อลุงจันทร์  อายุ 65 ปี เป็นมรรคทายกวัดแห่งหนึ่งในอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่    

          ลุงปู่จารย์  บอกให้เราจัดเตรียมอุปกรณ์ในพิธี ประกอบด้วย บายศรี ดอกไม้ ธูป เทียน เครื่องเซ่นสังเวย ได้แก่ ผลไม้ กล้วย ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว ขนมถ้วยฟู ขนมเทียน  ขนมทองหยิบทองหยอด  ผ้า 7 สี  น้ำ ๒ แก้ว

          สำหรับอุปกรณ์สำหรับขึ้นท้าวทั้งสี่นั้น  ได้พี่นิกร ช่วยดูแลจัดเตรียมให้  เครื่องสังเวยประกอบด้วย  ดอกไม้ ธูปเทียน  หมากพูล  เมี่ยง บุหรี่พื้นเมือง ขนม ข้าวต้ม จ้อ(ช่อ - ทำเป็นธงสามเหลี่ยมด้วยกระดาษต่าง ๆ) สำหรับใส่ “สะตวง”  ซึ่งสะตวงทั้งหมดมีจำนวน  6  อัน จะถูกว่าบนเสาท้าวทั้งสี่ 

             การทำพิธี เริ่มด้วยการนำเครื่องเซ่นสังเวยต่าง ๆ วางเรียงลำดับจากซ้ายไปขวา ดังนี้  ผลไม้  กล้วย ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว ขนมถ้วยฟู ทองหยิบทองยอด ขนมเทียน และนำสิ่งที่จะตั้งไว้ในศาลพระภูมิมาวางไว้ในถาดข้างหน้าเครื่องเซ่น ซึ่งได้แก่  ช้าง ม้า ตุ๊กตาชาย-หญิง เพื่อเสมือนปกครองบ้านเรือน อาณาบริเวณและทรัพย์สิน
            จากนั้นจุดธุปเทียน   ลุงปู่จารย์กล่าวพิธีปลุกแม่ธรณี ว่า แม่ธรณีเอ๋ย เจ้าอยู่ รู้หรือยัง แล้วตอบเองว่า อยู่ รู้แล้ว  สาวะคะตั๋ง โลก๋าวิทู นะมามิ ๓ ครั้ง เสกมือแล้วตบที่เสา ๓ ครั้ง  กล่าวคาถาชุมนุมเทวดา  กล่าวคำปูจาแม่ธรณีและท้าวทั้งสี่  กล่าวคำปูจาพญาอินทร์  พร้อมอัญเชิญพระภูมิเจ้าที่ให้มาสถิตในศาล  โดยนำก้อนดินบริเวณนั้นสมมติเป็นตัวแทนของเจ้าที่นำไปวางในศาลและเจ้าที่    หลังจากการสวดอัญเชิญเสร็จ  ได้มีการผูกข้อมือเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้เข้าร่วมพิธี   ซึ่งในวันนี้มีหุ้นส่วนโรงเรียน   ครูผู้สอน  นักเรียนและน้อง ๆ เจ้าหน้าที่ร่วมพิธีกรรมยี่สิบกว่าคน    หลักงจากเสร็จพิธีกรรมทั้งหมด  ขนมผลไม้ที่ใช้ประกอบพิธีกรรมก็ถูกนำมาแบ่งปันน้อง ๆและนักเรียนสำหรับอาหารว่างมื้อกลางวัน

         การประกอบพิธีกรรมใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง   หลังจากเสร็จพิธีกรรมได้คุยกับลุงปู่จารย์เกี่ยวกับพิธีกรรมตั้งศาลพระภูมิเจ้าที่และการขึ้นท้าวทั้งสี่  ได้ความรู้ดังนี้คะ

         คนไทยทุกภาคมีความเชื่อว่าตามฟ้า ดิน น้ำ ภูเขา ต้นไม้ และอาคารบ้านเรือน มีผีเจ้าที่เจ้าทาง ปกปักรักษาอยู่ ผนวกกับความเชื่อทางศาสนาพุทธ และพราหมณ์ฮินดู ทำให้เกิดการพัฒนาพิธีการอัญเชิญผีเจ้าที่เจ้าทาง และสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาประทับในศาลพระภูมิ,ศาลเจ้าที่ เพื่อปกป้องคุ้มครองดูแล รักษาสถานที่บ้านเรือนที่อยู่อาศัย ให้มีความเป็นสิริมงคลเจริญก้าวหน้า

         การตั้งศาลพระภูมิ นำแนวคิดมาจากศาสนาพราหมณ์ฮินดูว่า พระอิศวร หรือพระศิวะ ทรงมีวิมาน ประทับบนยอดเขาพระสุเมรุ เปรียบประดุจมณฑลจักรวาล พระภูมิถือเป็นเทวดา ขั้นหนึ่งเหมือนกัน วิมานของศาลพระภูมิ จึงต้องมีเสาเดียว เปรียบประดุจเขาพระสุเมรุมาศวิมานของ พระอิศวร  ส่วนศาลเจ้าที่ นั้นเปรียบเสมือนบ้านเรือนชาวบ้านจึงมี 4 เสา

         การตั้งศาลพระภูมิเจ้าที่ ต้องกระทำอย่างถูกต้อง เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล แก่ผู้อยู่อาศัย การบวงสรวงเซ่นสังเวย และการตั้งศาลพระภูมิ ถือเป็นพิธีกรรมโบราณของไทย เพราะเชื่อว่า การตั้งศาลจะเป็นการขับไล่สิ่งอัปมงคลทั้งหลายให้ออกไปจากบ้าน แล้วจึงอัญเชิญ พระภูมิมาสถิติที่ ศาลพระภูมิเพื่อปกป้องคุ้มครองเจ้าบ้าน และบริวารให้อยู่เย็นเป็นสุข มีความเจริญรุ่งเรือง เพราะถือว่าพระภูมิเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่งของบ้านหรือสถานที่

            สำหรับสถานที่ที่ตั้งศาล มีข้อคำนึงดังนี้

            1. ที่ตั้งศาลต้องเป็นบริเวณพื้นดิน มิใช่บริเวณเดียวกับพื้นของตัวบ้าน 
            2. จุดที่ตั้งของศาลต้องไม่ถูกเงาของตัวบ้านทอดลงมาทับ 
            3. ที่ตั้งของศาลควรอยู่ห่างจากบริเวณที่ตั้งของห้องน้ำ สิ่งปฏิกูล
           4. อย่าหันหน้าศาลเข้าสู่บริเวณที่ตั้งของห้องน้ำ 
           5. ไม่ควรตั้งศาลให้หันหน้าตรงกับประตูหน้าบ้าน 
           6. ตั้งศาลให้ห่างจากรั้วหรือกำแพงบ้านอย่างน้อย 1 เมตร 
           7. ความสูงของศาล ควรสูงเหนือระดับสายตาของผู้เป็นเจ้าของบ้านขึ้นไปเล็กน้อย

            ในส่วนพิธีกรรมการขึ้นท้าวทั้งสี่นั้น  คนชาวล้านนามีความเชื่อว่า ในแต่ละบ้านเรือนจะมีท้าวทั้งสี่เป็นเทพารักษ์เฝ้าดูแลรักษาชีวิต ป้องกันเภทภัยต่างๆมิให้กล้ำกรายผู้คนที่อยู่อาศัยในบ้าน  เป็นการสร้างบุคลาธิษฐาน ให้ผู้คนร่วมกันกราบไหว้บูชา เพื่อให้เกิดความอบอุ่นมั่นใจในการดำเนินชีวิตและกิจกรรมต่าง ๆ   สำหรับท้าวทั้งสี่   มี  4 องค์ ได้แก่
                1.ท้าวมหาราชธตรฐผู้เป็นใหญ่แห่งคนธรรพ์รักษา ทิศตะวันออก

                2.ท้าววิรุฬหกผู้เป็นใหญ่แห่งกุมภัณฑ์รักษาทิศใต้ 
                3.ท้าววิรูปักษ์ผู้เป็นใหญ่แห่งนาครักษาทิศตะวันตก

                4. ท้าวเวสสุวรรณหรือท้าวกุเวรผู้เป็นใหญ่แห่งยักษ์รักษาทิศเหนือ 

                นอกจากท้าวทั้งสี่ ซึ่งเป็นเทพประจำทิศแล้ว  ข้างบนบ้านเรือนมีพระอินทร์รักษา และด้านที่เป็นพื้นดินสุดมีพระแม่ธรณีรักษา
                ดังนั้นการขึ้นท้าวทั้งสี่  จะจัดเครื่องสักการะเป็น หก ส่วนคือบูชาท้าวทั้งสี่และพระอินทร์    พระแม่ธรณี     สำหรับเครื่องสักการะที่สำคัญในการบวงสรวงบูชามีข้าวเหนียว  แคบหมูกล้วย  อ้อย และข้าวแต๋น  ซึ่งเป็นอาหารพื้นเมืองที่ใช้ในพิธีกรรมทั่วไป 

                ที่สำคัญมีตุงช่อ คือสัญลักษณ์ในการบูชาทำด้วยกระดาษตัดเป็นรูปคล้ายธงสามเหลี่ยมสีเขียวไว้ด้านบนสุดของแท่นไม้เพื่อบูชาพระอินทร์   สีแดงบูชาท้าววิรุฬหก  สีฟ้าบูชาท้าวธตรฐ  สีดำบูชาท้าววรูปักษ์  สีหม่นหรือเทาบูชาท้าวกุเวร  และสีขาวบูชาพระแม่ธรณี 

                ลักษณะท้าวทั้งสี่จะใช้ไม้เสาต้นเดียว แต่มีไม้ตีไขว้เป็นกากบาทสูงกว่าพื้นดินราวศอกกว่าๆหันปลายไม้กากบาทไปยังทิศทั้งสี่  แล้ววางสะตวง (กระทงกาบกล้วย) ไว้ทั้งสี่ทิศ 
ส่วนด้านบนสุดของเสาวางสะตวงบูชาพระอินทร์และส่วนล่างสุดวางไว้บนดินชิดโคนเสาเพื่อบูชาพระแม่ธรณี

               หลังจากเสร็จพิธีตั้งศาลพระภูมิเจ้าที่   ผู้เข้าร่วมพิธีกรรมต่างรู้สึกอิ่มเอิบสบายใจ และที่สำคัญเป็นการกล่อมเกลาให้คนรุ่นใหม่ นักศึกษา นักเรียนในโรงเรียนเกิดความเข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่น และรู้จักเคารพนอบน้อมต่อสรรพสิ่ง  เข้าใจนัยสำคัญของการที่มนุษย์เป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง  ซึ่งหมายถึง  การดำเนินชีวิตที่เชื่อมประสานสอดคล้องกับเพื่อนมนุษย์  คติความเชื่อ และทรัพยากรธรรมชาติ 

หมายเลขบันทึก: 485328เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2012 22:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เป็นกิจกรรมการรักษาเชิดชูวัฒนธรรมท้องถิ่นที่น่ายกย่องค่ะ ขอบคุณสำหรับความรู้ที่นำมาแบ่งปันค่ะ :)

ขอบพระคุณมากสำหรับความรู้ในการตั้งศาล แต่ดิฉันอยากทราบขั้นตอนในการย้ายศาลเจ้าที่จากที่เก่าไปที่ไหม่่ มีขั้นตอนแบบใด และใช้คำกล่าวว่าอย่างไรบ้าง หรือใช้คำสวดบทใด หากท่านจะตอบกลับอีเมลของดิฉันก็จะขอบพระคุณเป็นอย่างมาก

มีอีกอย่างหนึ่ง ดิฉันอ่านเวปไซอื่นที่เกี่ยวกับเดือนไทยเช่น เดือน ห้า แต่เดือนเมืองคือเดือนเจ็ด แล้วจะมีคำบอกว่าเดือนห้า พระภูมิเจ้าที่กินอะไรทำนองนี้ ดิฉันอยากจะทราบเดือนของเมืองเหนือว่า เดือนอะไรพระภูมิ หรือเจ้าที่ กินอะไรหรือต้องเตรียมเครื่องไหว้เป็นอะไรบ้าง และอีกอย่างหนึ่ง ที่บ้านมีศาลสี่เสาร์ เวลาไหว้ดิฉันพูดไหว้รวมกันทั้งพระภูมิเจ้าที่และแม่นางธรณีเจ้าที่เจ้าแดน อาจารย์เห็นว่าอย่างไรขอคำแนะนำหรือติชมด้วยค่ะ ขอบพระคุณมากค่ะ สะดวกอ่านทางอีเมลมากกว่าค่ะ

ขอบพระคุณล่วงหน้า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท