การสอนให้เด็กเกิดอาการอ่านเรียนเขียนคล่องภาษาไทย


การสอนที่อาศัยความใจเย็น เห็นความสำคัญของการอ่านของเด็กไทย

          เมื่อปี 2554  วันหนึ่งหลังจากกลับจากไปให้คำปรึกษาการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยในโรงเรียนเอกชนที่เพิ่งจะเปิดทำการสอนกลับมาที่บ้านพบว่าที่ใต้ถุนบ้านมีเด็ก ๆ  ๕  คนนั่งอยู่ที่เก้าอี้ จึงถามว่ามาธุระอะไร ก็ได้ความว่าเรียนอ่อนภาษาไทยก็จะให้ครูพรทิพย์ ซึ่งเพิ่งจะลาออกก่อนเกษียณ  ช่วยสอน และครูพรทิพย์ให้ฝึกอ่านตามหนังสือที่นำมาและครูไปปรุงอาหารในครัว

เดี๋ยวครูก็จะออกมาฝึกอ่านอีกครั้ง

              ครูพรทิพย์น่าจะใช้เวลาปรุงอาหารอีกนานคงจะเสร็จ  ก็เลยบอกเด็ก ๆว่าครูจะสอนแทนได้ไหมก็ได้รับคำตอบว่าได้  ก็จัดที่จัดทางนั่งใกล้ ๆ เด็ก ๆ แล้วลองให้อ่านตามที่ครูพรทิพย์ให้ฝึก  สิ่งที่พบน่าตกใจเพราะเด็ก ๆ ทั้งหมดอ่านหนังสือไม่คล่อง  บางคนไม่รู้จักพยัญชนะ  สระและวรรณยุกต์   ก็คงไม่ต้องพูดถึงว่าเขาเหล่านั้นอยู่ชั้นไหน  แต่ไม่ใช่ ป.๑หรือ ป.๒              และมีถึง ๒ คน กำลังเรียนระดับมัธยม

             ความคิดหนึ่งคิดว่าในฐานะครูเก่าเราน่าจะทำอะไรสักอย่างเพื่อจะทำให้เด็ก ๆ เหล่านี้อ่านหนังสือให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ให้ได้ ก็เลยประกาศให้เด็ก ๆ คนใดที่อ่านเรียนเขียนไม่คล่องให้มาเรียนที่ใต้ถุนบ้านครูในเดือนเมษายนจะสอนให้เปล่าไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย เรียนจันทร์ถึงเสาร์หยุดวันอาทิตย์ และวันที่ ๑๓-๑๕ อันเป็นช่วงหยุดวันสงกรานต์  มีเด็ก ๆ  มาสมัครเรียน ๕๒ คน ทำการคัดเลือก เหลือ ๓๒ คนที่หนักไว้ทำการสอน ใช้วิธีสอนแบบผสมคำ ปรากฏว่าได้ผลผู้ปกครองเห็นการเปลี่ยนแปลงในการอ่านที่เห็นได้ชัดเจน ซึ่งผมก็เคยนำมาแบ่งปันไว้ในบันทึกในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๕๔ ดังที่หลายท่านได้อ่านแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา

             ปีนี้ ปี ๒๕๕๕ ก็เปิดรับอีก  มีผู้ที่ค้างไว้ปีที่แล้วมาสมัคร  ๓๕  คน  ขณะที่แบ่งปันให้สมาชิกมาเยี่ยมอ่านอยู่นี้ก็กำลังสอนอยู่ทุกวันจนถึงวันที่ ๓๐  เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๕ ตั้งแต่เวลา  ๐๘.๓๐-๑๖.๓๐ น.          

             การฝึกอ่านฝึกผสมคำได้อาศัยคำพื้นฐานของสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา    สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  เป็นสื่อหนึ่งในจำนวนหลาย ๆ สื่อ เพราะเป็นคำจำเป็นที่ต้องใช้ที่ได้รวบรวมไว้ที่เด็ก ๆ ระดับประถมศึกษา ต้องอ่านเรียนเขียนได้

             ขอบคุณ ผู้อำนวยการโรงเรียนท่าจีนอุดมวิทยาซึ่งได้จัดสรรงบอุปถัมภ์เป็นค่า อาหารกลางวันและอาหารว่างแก่เด็ก ๆ  ที่สามารถทำให้เขาเหล่านั้นร่างกายอิ่มตลอดเวลาและสามารถเรียนเฉพาะภาษาไทยได้วันละ ๖  ชั่วโมง โดยไม่แสดงอาการเบื่อหน่ายแต่อย่างใด          ขอบคุณในความเมตตาของพระครูปภัศร์ปัญญารัตน์    เจ้าอาวาสวัดท่านางหอมที่อุปถัมภ์จัดหาโปรเจคเตอร์มาให้ไว้ใช้ในการสอนที่ทำให้เด็กสนใจการเรียนเพิ่มขึ้นได้ดีอีกด้วย

หมายเลขบันทึก: 485075เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2012 20:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กรกฎาคม 2012 12:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

 

เรียนท่าน อจ.ที่เคารพ

- เด็ก...ไม่รู้จักพยัญชนะ  สระ ...และวรรณยุกต์....น่าตกใจนะค่ะ

- น่าจะทำอะไรสักอย่างเพื่อจะทำให้เด็กๆ ... อ่านหนังสือให้ดีกว่าที่เป็นอยู่...ขอบคุณ แทนนะค่ะ....

- ความดี...ทำได้ด้วนคนดี....นะค่ะ





  •   เคยพบปัญหาเช่นเดียวกันกับอาจารย์ค่ะ เป็นเด็กมัธยมเช่นกันค่ะ ขึ้นมาอยู่ ม.๒ ซึ่งหนูเป็นทั้งครูประจำชั้นและสอนภาษาไทยเองด้วย   สิ่งแรกที่สังเกตอาการแปลก ๆ เวลาอ่านหนังสือทำปากขมุบขมิบตามเพื่อนไปงั้นนะคะ  ไม่ตั้งใจเรียน  (  เพราะไม่เข้าใจสิ่งเรียนเนื่องจากอาการอ่านไม่ออกนี่เอง ) เลยเรียกมาอ่านตัวต่อตัว ก - ฮ อ่านได้เฉพาะตัวที่คุ้น  สระก็รู้จักตัวที่คุ้น  สะกดคำไม่เป็น อ้าว ๆ ไม่ได้การแล้วต้องจัดการด่วน  ไม่ต้องมัวแต่โทษครูประถมหรือเพิกเฉยละเลย

 

  •   แต่ที่ตัวเองเคยพลาดคือไม่ได้ฝึกให้อ่านเองเป็นประโยคอย่างต่อเนื่อง  พออ่านสะกดคำเองได้  ประสมคำเองได้  ก็ได้แต่เรียกมาอ่านย่อหน้านึงบ้าง  สองย่อหน้าบ้าง  ตามที่เรามีเวลาว่างตอนพัก แต่ไม่ได้ทำต่อเนื่องค่ะ  ปัญหาที่พบคือ อ่านตะกุกตะกัก  แต่ยังดีที่พออ่านแล้วตั้งคำถามว่าย่อหน้าที่ให้อ่านมีใจความว่ายังไง ยังพอตอบได้  แต่การอ่านมันไม่สมู๊ด ( ไม่คล่องน่ะเอง ) เลยได้ลองแก้ไขใหม่  ด้วยการให้อ่านอย่างน้อย ๑๐ ประโยค หรือเลือกเรื่องสั้น ๆ มาอ่านให้ครูฟังอย่างน้อย ๆ หนึ่งถึงสองย่อหน้า ทุกวันก่อนกลับบ้าน ปรากฏว่าจากที่อ่านไม่ออก  สอนอ่านสะกดคำ ประสมคำ อ่านขึ้นได้นิดหนึ่ง  เวลาเจอตัวยาก ๆ ถึงค่อยสบตาครูที แต่ครูใจแข็งค่ะ  รอให้สมองน้อย ๆ ของเขาได้ทบทวนการอ่านที่ได้สอนก่อน  ถ้าไม่ได้จริง ๆ ค่อยไล่กันใหม่  บางคำรอเป็นสิบนาทีเลยนะคะ  ห้ามทำโทษเด็ดขาด ให้กำลังใจไปเรื่อย ๆ ค่ะ ขนมบ้าง น้ำบ้าง หลัง ๆ มา ค่อย ๆ อ่านได้บ้าง  ผิดบ้างเล็กน้อย  พออ่านเป็นประโยค อาจจะเห็นอาการเบื่อหรือเริ่มถอนใจ อ่านไปตะกุกตะกัก ทำไปสักสี่สัปดาห์ หาเรื่องใหม่ ๆ มาให้อ่าน  อ่านได้เกือบคล่องนะคะ  และจับใจความของเรื่องที่อ่านได้ด้วย  แต่ต้องใช้ความเข้าใจ  รอคอย ให้กำลังใจลูกศิษย์อย่างมาก ๆ ค่ะ

 

  • เป็นกำลังใจให้ค่ะ  ลูกศิษย์อาจารย์ ๓๒ คน  เทียบกับของหนู มีแค่ ๓ คน  คนละเรื่องกับอาจารย์เลยนะคะ  เข้าใจเลยค่ะว่าอาจารย์จะต้องใช้ความอดทน ความมานะบากบั่น ความพากเพียรแค่ไหน ในการส่งลูกศิษย์อาจารย์ให้ถึงฝั่ง ที่สำคัญในช่วงปิดภาคเรียนที่เด็ก ๆ อยากไปวิ่งเล่นไหนต่อไหน  แต่ลูกศิษย์อาจารย์ใฝ่รู้ใฝ่เรียน พยายามพัฒนาตนเองได้ขนาดนี้  นับถือน้ำใจทั้งอาจารย์และลูกศิษย์จริง ๆ ค่ะ

(@^_________^@)

 

ตามมมาเชียร์การสอนหนังสือ การทำงานครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท