๑๖. ภาวะผู้นำกับการบริหารสถาบันอุดมศึกษา : (๖) แนวการวิเคราะห์สถานการณ์การทำงานและเตรียมภาวะผู้นำตนเอง


จากการจัดกระบวนการให้นั่งคุยกันแบบสบายๆให้ได้รู้จักกันผ่านบทบาทการทำงานในวันแรก ซึ่งเป็นการให้กลุ่มผู้บริหารรุ่นใหม่ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หรือกลุ่มผู้บริหารในระดับรองและผู้ช่วยผู้บริหารในสถาบันอุดมศึกษา ได้มีโอกาสหยุดพิจารณาและเห็นความเป็นตัวตนร่วมกันที่ใหญ่กว่าปัจเจกและความแยกส่วนเอกเทศ

หากกล่าวในเชิงวิธีวิทยาการสร้างความรู้และเข้าถึงความจริงภายใต้ปรากฏการณ์ต่างๆเท่าที่อยู่ในเงื่อนไขให้ทำได้ ก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นการได้เห็นมิติความเป็นส่วนรวมด้วยวิธีสำรวจและประเมินมิติต่างๆแบบเทียบเคียงกับประสบการณ์จำเพาะตนของแต่ละคน ลงไปบนประสบการณ์และการถ่ายทอดสู่กันด้วยการสนทนาบอกเล่าของผู้ที่อยู่ในปรากฏการณ์ของสิ่งที่เล่า จากนั้น ก็ให้วิเคราะห์และอภิปรายเป็นกลุ่มโดยเวที ซึ่งในทางวิธีวิทยาก็จัดว่าเป็นกระบวนการตรวจสอบ ยืนยัน และสร้างความหนักแน่นต่อการรู้สิ่งต่างๆ ที่มีคุณภาพเชื่อถือได้เท่าที่สังคมนั้นๆจะยังคงมีความเข้มแข็งในความศรัทธาต่อมนุษย์ รวมทั้งสามารถมีความวางใจและเชื่อถือต่อสมาชิกในสังคมของตน

กระทั่งในเช้าวันที่สอง ก็ยกกรณีตัวอย่าง ๒ กรณีมาเล่าให้เวทีได้เห็นสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งหลายมิติจะแสดงให้เห็นถึงสภาพความเป็นจริงและจำเป็นต้องใช้ภาวะผู้นำอย่างมีวิธีคิด ทั้งสำหรับการนำการปฏิบัติของตัวเราเองและการทำบทบาทหน้าที่ในการบริหารจัดการระดับต่างๆเพื่อนำความสำเร็จในด้านที่มีนัยะเชื่อมโยงกับสังคมและความเป็นส่วนรวม


ผมสรุปและดึงประเด็นสำคัญบางประการจากเรื่องราวที่นำมาเป็นตัวอย่างสำหรับพัฒนามุมมองและวิธีคิด เพื่อให้เวทีนำไปผสมผสานกับความเป็นตัวของตัวเองและใช้เป็นแนวนำเอาประสบการณ์และการทำงานที่กำลังดำเนินการอยู่ ตลอดจนสิ่งที่มีในมหาวิทยาลัยและเครือข่ายชุมชน ทั้งในระดับท้องถิ่น ในระดับประเทศ ในระดับอนุภูมิภาค และในระดับสังคมวงกว้าง มาพิจารณา เพื่อได้พัฒนาแนวคิดสำหรับกลับไปใช้ทำงานตามบทบาทหน้าที่ที่มีด้วยภาวะผู้นำและการเตรียมตนเองให้มีความเชื่อมั่นต่อการริเริ่มและตัดสินใจต่างๆให้ดีและเหมาะสมที่สุด ซึ่งจะจัดให้เวทีได้ศึกษาลงไปบนประสบการณ์ที่อยู่ในตัวคนในกระบวนการลำดับต่อไป

ในกระบวนการลำดับต่อจากนี้ ผมได้เตรียมแนวคำถามสำหรับจัดกระบวนการ เพื่อให้เวทีได้ใช้ภาวะผู้นำเป็นกลุ่ม ผ่านการแบ่งกลุ่มย่อยวิเคราะห์และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์โดยใช้แนวคิดเท่าที่ได้รู้จักในเวทีเป็นเครื่องมือทำงาน รวมทั้งจะสอดแทรกให้การเรียนรู้ทฤษฎีความรู้และทฤษฎีการเรียนรู้เชิงกระบวนการ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับชุมชนวิชาการแห่งนี้ที่ต้องสอนและบริหารชุมชนวิชาการในสถาบันอุดมศึกษา บนความแตกต่างหลากหลายของศาสตร์สาขาและผู้คน ที่จะสามารถหาประสบการณ์ความรอบด้านทางวิชาการให้แก่ตนเองได้จากกระบวนการลักษณะนี้ไปในตัว.

.................................................................................................................................................................................

หมายเลขบันทึก: 484632เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2012 05:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2012 06:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อยากเห็นตัวอย่างดีๆเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายด้วยค่ะ

สวัสดีครับพี่ใหญ่ครับ
หากถือตามแนวท่านพุทธทาส ที่ให้แนวว่าหากมองด้านที่เป็นความดีและเห็นผู้คนแตกต่างหลากหลายอย่างที่เขาเป็นแล้วละก็ ทุกคนก็จะมีความดีและมีสิทธิอย่างเต็มที่ของตนเองที่จะอยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่นเหมือนกับทุกคน ซึ่งก็ใช้ได้ได้ดีในชีวิตจริงเหมือนกันนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท