Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

มาช่วยกันแนะนำอาจารย์ซาริเพื่อให้ความช่วยเหลือน้องบิมเด็กไร้สัญชาติแห่งแม่สายซึ่งป่วยด้วยอาการขาซ้ายโตกว่าปกติ


กรณีศึกษาน้องบิม : สิทธิในสุขภาพเด็กชายไร้สัญชาติที่มีสถานะเป็นราษฎรไทยประเภทคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยชั่วคราวตามกฎหมายคนเข้าเมืองไทย แต่ยังไม่มีสิทธิเข้าเมืองตามกฎหมายดังกล่าว

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๕

http://www.facebook.com/note.php?note_id=10150782592758834

--------

คำถาม

--------

           เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๕ อาจารย์ซาริ (Sari, Kayoko Ishii) แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว ได้มีอีเมลล์มาหารือสมาชิกบางกอกคลินิกคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงความเป็นไปได้ที่จะให้ความช่วยเหลือ น้องบิม” หรือ “เด็กชายอภิชาต หงส์คำ” โดยอาจารย์ซาริได้เล่าให้พวกเราทราบว่า “ตอนนี้ ซาริได้ข้อมูลเกี่ยวกับเด็กและผู้หญิ่งไร้สัญชาติที่เด็กคนนั้นต้องการการรักษาที่โรงพยาบาลแต่ยังไม่มีที่รับเขาค่ะ จำได้ไหมคะ ซาริจะส่งเอกสารทั้งหมดอย่างเป็น atteched file นะคะ ซาริกำลังจะคิดอยู่ว่าจะไปหาเด็กที่แถวแม่สาย และพาเด็กคนนั้นไปโรงพยาบาล แต่สงสัยว่าต้องหาคนไทยที่ไปช่วยด้วยกันและโรงพยาบาลที่ยอมรับเด็กไร้สัญชาติค่ะ มีเพื่อนของซาริเป็นหมอคนญี่ปุ่นทำงานที่โรงพยาบาลสำหรับคนไรัสัญชาติอยู่แม่สอดค่ะ ก็ซาริคิดจะพาเด็กคนนั้นไปที่โนน แต่เพื่อนคนนั้นบอกว่า ถ้าเด็กคนนั้นไม่ใช่อพยพหนีมาจากพม่า และมีบัตรอะไรจากประเทศไทยแล้ว ย่อมรับไม่ได้ค่ะ ถ้าอาจารย์ๆ รู้จักคนหรือชื่อโรงพยาบาลที่อาจจะช่วยเขาได้ด้วยซาริ ช่วยแนะน้ำให้หน่อยได้ไหมคะ ขอโทษที่รบกวนนะคะ ซาริ

          ปรากฏมีเอกสารที่แนบมากับอีเมลล์ของอาจารย์ซาริ ๑๐ ฉบับ อันได้แก่ (๑) บัตรประจำตัวผู้รับบริการที่ออกโดยโรงพยาบาลแม่สายตามแบบ รบ.๑ ต.๐๑ ให้แก่ นางกัณณิดา หงษ์คำ ซึ่งเป็นมารดาของเด็กชายอภิชาต หงษ์คำ เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๑ (๒) สมุดบันทึกประวัติสุขภาพที่ออกโดยโรงพยาบาลแม่สายเพื่อนางกัณณิดา หงษ์คำและเด็กชายอภิชาต หงษ์คำ (๓) สูติบัตรตามแบบ ท.ร.๓ ที่ออกให้แก่เด็กชายอภิชาต หงษ์คำ โดยสำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลตำบลแม่สาย เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๒ และระบุให้เลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลักขึ้นต้นด้วยเลข ๗ (๔) ทะเบียนบ้านประเภทคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยชั่วคราวที่สำนักทะเบียนอำเภอแม่สายออกให้แก่นายอรุณ หงษ์คำ และเด็กชายอภิชาติ หงส์คำ (๕) บัตรประจำผู้มารับบริการโรงพยาบาลแม่สาย ที่ออกให้แก่เด็กชายอภิชาติ หงษ์คำ โดยระบุเลขที่ HN 52/178366 (๖) ใบคัดกรองและแสดงความจำนงในการใช้สิทธิค่ารักษาพยาบาล โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ออกให้เด็กชายอภิชาติ หงษ์คำ เลขที่โรงพยาบาลที่ ๓๑๙ เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๒ (๗) ใบรับรองแพทย์เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๒ ออกโดย นพ.รัฐเขตต์ เพื่อเด็กชายอภิชาติ หงส์คำ (๘) ใบนัดโรงพยาบาลมหาราชเชียงใหม่ออกโดย นพ.รัฐเขตต์ เพื่อนัดให้เด็กชายอภิชาต หงษ์คำ มาพบในวันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๒ เวลา ๘.๐๐ น. ณ ตึกกุมาร ๒ ชั้น ๖ ตึกสุจิณโณ (๙) ใบนัดโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่เลขที่ รพ.๓๑๙๔๕๐๑ เพื่อนัดเด็กชายอภิชาติ หงษ์คำ ให้มาที่ห้องตรวจ ณ คลินิก Ped คลินิกเด็กป่วยโรคทั่วไป ณ ชั้น ๖ ตึกศรีพัฒน์  ในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๓ และ (๑๐) ภาพอีก ๔ ภาพที่แสดงความผิดปกติของขาข้างหนึ่งของเด็กชายอภิชาต หงษ์คำ

           โดยการสอบถามนางกัณณิดา หงส์คำหรือ “ฝ้าย”  มารดาของน้องบิมโดยอาจารย์บงกช นภาอัมพร สมาชิกของบางกอกคลิกนิกเมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๕  เราทราบว่า ตั้งแต่เกิดมาน้องบิมมีขา ๒ ข้างที่ไม่เท่ากัน ขาซ้ายตั้งแต่โคนขาจนถึงข้อเท้ามีขนาดใหญ่กว่าขาขวา ผิวหนังของขาซ้ายที่ใหญ่ขึ้นมาเป็นเนื้อเหลวๆ มีลักษณะเหมือนเป็นไขมันขนาดใหญ่ คุณฝ้ายมารดาเล่าว่า ครั้งแรกได้พาไปที่โรงพยาบาลแม่สาย แต่ได้รับคำแนะนำว่าเนื่องจากที่โรงพยาบาลแม่สายไม่มีเครื่องมือเพียงพอที่จะทำการตรวจและรักษา จึงควรส่งตัวไปที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดเชียงราย ให้โรงพยาบาลส่งตัวต่อไปที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ (สวนดอก) และหากยังรักษาไม่ได้ก็ต้องส่งตัวมาที่ กทม. คุณฝ้ายเห็นว่ามีหลายขั้นตอนเลยพาน้องอภิชายมาที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่เลย

            การรักษาอาการขาซ้ายผิดปกติของน้องบิมเริ่มใน พ.ศ.๒๕๕๒ โดยคุณฝ้ายพาน้องบิมมาที่ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คุณหมอวินิจฉัยเบื้องต้นว่า ขาซ้ายโตผิดปกติแต่กำเนิด คุณฝ้ายว่า หมอให้กลับมาหาใหม่เนื่องจากน้องยังเล็กเกินไป ยังไม่สามารถตรวจได้ละเอียด ต่อมา คุณฝ้ายพาน้องมา รพ.สวนดอก อีกครั้ง แต่ไม่เจอคุณหมอท่านที่เคยตรวจ คุณหมออีกท่านบอกกับคุณฝ้ายว่า น้องไม่ได้ผิดปกติอะไรมาก ถ้ายังเดินได้อยู่ก็ไม่น่ามีปัญหา ไว้ให้เดินไม่ได้ก่อนค่อยมาหาหมออีกที หลังจากนั้น คุณฝ้ายก็เลยไม่ได้ไปหาหมออีกเลย อาการล่าสุดของน้องอภิชาติ คือ แม้จะยังเดินได้ แต่ก็จะรู้สึกหนักขาข้างซ้ายตลอดเวลา และไม่สามารถเดินได้แบบคนปกติ (เดินขากะเผลก)

         อาจารย์ซาริซึ่งเป็นนักวิชาการจากญี่ปุ่นมาเก็บข้อมูล และพบน้องบิม จึงคิดที่จะพาน้องบิมไปรักษา จึงเป็นที่มาของข้อหารือข้างต้น

--------

คำตอบ

--------

           เราจึงสรุปข้อเท็จจริงจากเอกสารต่างๆ และวิเคราะห์สิทธิของน้องบิมได้ดังต่อไปนี้

             ในประการแรก เราพบว่า น้องบิมมีสถานะเป็นคนต่างด้าวในประเทศไทย แต่ก็มีสถานะเป็นราษฎรไทยประเภทคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยชั่วคราว ทั้งนี้ ปรากฏตามสูติบัตรที่ออกโดยสำนักทะเบียนอำเภอแม่สายระบุว่า น้องบิมหรือเด็กชายอภิชาต หงส์คำ เกิด ณ โรงพยาบาลแม่สายเมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๒ เวลา ๑๙.๑๔ น. จากนางกัณณิดา หงส์คำ ซึ่งมีสัญชาติ “บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน” ซึ่งเกิดในประเทศพม่า และนายอรุณ หงส์คำ ซึ่งมีสัญชาติ “ไทยลื้อ” ซึ่งเกิดในประเทศพม่า สูติบัตรนี้ระบุว่า น้องบิมไม่มีสัญชาติไทย แต่ก็ยอมรับให้เลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข ๗ แก่น้องบิม และปรากฏว่า สำนักทะเบียนอำเภอแม่สายก็ได้บันทึกชื่อของน้องบิมในทะเบียนบ้านที่สำนักทะเบียนนี้ออกให้แก่นายอรุณ ซึ่งเป็นบิดาของน้องบิม

             ในประการที่สอง เราพบว่า นางกัณณิดา หงส์คำ มีสถานะเป็นคนไร้สัญชาติในประเทศไทย จึงไม่อาจสืบทอดสิทธิในสัญชาติของตนให้แก่บุตร  โดยเอกสารที่ส่งมาโดยอาจารย์ซาริและการสอบปากคำเบื้องต้นโดยบางกอกคลินิก เราสรุปได้ว่า มารดาของน้องบิมเกิดในประเทศพม่า และประสบความไร้รัฐเนื่องจากมิได้มีการแจ้งการเกิดในทะเบียนราษฎรของประเทศพม่า และต่อมา ได้อพยพเข้ามาในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตาม ต่อมา ก่อนการเกิดของน้องบิม นางกัณณิดาได้รับการบันทึกใน ทะเบียนประวัติตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรของรัฐไทย ประเภท ท.ร.๓๘ ก ซึ่งออกให้แก่คนต่างด้าวที่ไม่มีสิทธิเข้าเมืองหรืออาศัยในประเทศไทยตามกฎหมายคนเข้าเมือง แต่ไม่อาจส่งกลับไปยังประเทศต้นทาง เธอได้รับการออกเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข ๐ เอกสารของรัฐไทยจะระบุว่า เธอไม่มีสัญชาติ หรือมีสัญชาติ “บุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน” นั่นก็หมายความว่า เธอประสบปัญหาความไร้สัญชาติ จึงไม่อาจสืบทอดสิทธิในสัญชาติของประเทศใดประเทศหนึ่งแก่น้องบิม

             ในประการที่สาม เราพบว่า นายอรุณ หงส์คำ มีสถานะเป็นคนไร้สัญชาติในประเทศไทย จึงไม่อาจสืบทอดสิทธิในสัญชาติของตนให้แก่บุตรเช่นกัน  โดยเอกสารที่ส่งมาโดยอาจารย์ซาริและการสอบปากคำเบื้องต้นโดยบางกอกคลินิก เราสรุปได้ว่า บิดาของน้องบิมเกิดในประเทศพม่า และประสบความไร้รัฐเนื่องจากมิได้มีการแจ้งการเกิดในทะเบียนราษฎรของประเทศพม่าเช่นกัน และต่อมา ได้อพยพเข้ามาในประเทศไทยเช่นกัน แต่นายอรุณได้อพยพเข้าก่อนนางกัณณิดา กล่าวคือ นายอรุณได้อพยพเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ก่อน พ.ศ.๒๕๔๒ เขาจึงมีสถานะบุคคลตามกฎหมายคนเข้าเมืองที่ดีกว่านางกัณณิดา เราจะเห็นว่า เขาได้รับการบันทึกในทะเบียนบ้านประเภทคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยชั่วคราวตามกฎหมายคนเข้าเมือง (ท.ร.๑๓) และเขาได้รับการออกเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข ๖ ทะเบียนบ้านนี้ระบุว่า เขามีสัญชาติ “ไทยลื้อ” ซึ่งเมื่อประเทศไทยลื้อไม่มีอยู่จริงบนโลกนี้ เขาจึงประสบปัญหาความไร้สัญชาติ จึงไม่อาจสืบทอดสิทธิในสัญชาติของประเทศใดประเทศหนึ่งแก่น้องบิมเช่นกัน

            ในประการที่สี่ เราจึงต้องสรุปว่า น้องบิมจึงประสบปัญหาความไร้สัญชาติดังเช่นบุพการีทั้งสอง แต่อย่างไรก็ตาม น้องบิมย่อมไม่ประสบปัญหาความไร้รัฐหรือปัญหาความไร้รัฐเจ้าของตัวบุคคล ทั้งนี้ เพราะเขาได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย แม้เขาจะปราศจากรัฐเจ้าของสัญชาติ แต่รัฐไทยก็ยอมรับที่จะเป็นรัฐเจ้าของภูมิลำเนาทั้งตามกฎหมายเอกชนและตามกฎหมายมหาชนของเขา เขามีรัฐไทยเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State)

             ในประการที่ห้า เราคงต้องชี้สถานะบุคคลตามกฎหมายไทยของน้องบิมให้ชัดเจนต่อไปอีกว่า น้องบิมย่อมตกเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย ทั้งนี้ เป็นไปตามกฎหมายที่ถือว่า คนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยย่อมถูกถือเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เว้นแต่จะมีการกำหนดเป็นอย่างอื่นตามกฎกระทรวงหรือกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เราควรจะต้องต้องทราบว่า ยังไม่มีกฎกระทรวงกำหนดฐานะการอยู่ในประเทศไทยของคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย กรณีจึงต้องไปพิจารณาภายใต้กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ซึ่งข้อเท็จจริงที่เราสืบพบว่า ทั้งบิดาและมารดายังมิได้รับอนุญาตให้เป็นคนเข้าเมืองถูกกฎหมาย บุพการีทั้งสองได้รับเพียงสิทธิอาศัยชั่วคราวตามกฎหมายคนเข้าเมือง ดังนั้น น้องบิมจึงตกอยู่ในสถานะบุคคลตามกฎหมายคนเข้าเมืองในลักษณะเดียวกับบุพการี ผลของเรื่องนี้ที่ชัดเจนก็คือ น้องบิมและครอบครัวย่อมมีสิทธิอาศัยในประเทศไทยในพื้นที่จังหวัดที่มีทะเบียนบ้านหรือทะเบียนประวัติอยู่เท่านั้น การออกนอกพื้นที่จะต้องร้องขออนุญาตตามที่กำหนดโดยกฎหมายคนเข้าเมือง

             ในประการที่หก ไม่ว่าน้องบิมจะสถานะเป็นคนสัญชาติไทยหรือไม่ หรือจะเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายก็ตาม น้องบิมซึ่งมีสถานะเป็นมนุษย์ ย่อมสิทธิในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งสิทธิดังกล่าวถูกรับรองโดยมาตรา ๔ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณษจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ ทีเดียว สิทธิดังกล่าวนี้ อันหมายความว่า มนุษย์ย่อมมีสิทธิในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินอันเป็นปัจจัยยังชีพ รวมตลอดถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิทธิในการศึกษา สิทธิในสุขภาพดี และ สิทธิในการอยู่ร่วมกันกับครอบครัว สิ่งที่เราควรจะต้องตระหนักต่อไปสำหรับน้องบิม ก็คือ ประเทศไทยยอมผูกพันต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ.๑๙๘๙/พ.ศ.๒๕๓๒ ดังนั้น ในเชิงหลักการ การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิในสุขภาพดีของน้องบิมจึงเป็นพันธกรณีของรัฐไทยอย่างไม่ต้องสงสัย เหลือเพียงแต่วิธีการที่จะต้องออกแบบว่า สิทธิในสุขภาพดีของน้องบิมจะเป็นจริงได้อย่างไร

               ในประการที่เจ็ด และเป็นการวิเคราะห์ในประการสุดท้ายถึงสิทธิในสุขภาพดีของน้องบิม ซึ่งมีสถานะเป็นคนต่างด้าวไร้สัญชาติในทะเบียนบ้านประเภทคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยชั่วคราว เขาจึงมีสิทธิหลายประการที่ดีกว่าคนต่างด้าวอื่น โดยเฉพาะในประเด็นที่อาจารย์ซาริถามา คณะรัฐมนตรีไทยเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๓ ยอมรับให้สิทธิในหลักประกันสุขภาพแก่ราษฎรไทยซึ่งมีสถานะเป็นคนไร้สัญชาติที่มีนโยบายให้สถานะคนที่มีสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทย ซึ่งราษฎรไทยไร้สัญชาติเชื้อสายไทยลื้อดังบิดาของน้องบิมก็เป็นบุคคลเป้าหมายด้วย ดังนั้น น้องบิมจึงมีสิทธิในนโยบายให้สถานะคนที่มีสิทธิอาศัยถาวรเช่นกัน ตลอดจนสิทธิในหลักประกันสุขภาพ  คงต้องเข้าใจว่า สิทธิในหลักประกันสุขภาพเพิ่งได้รับการยอมรับโดยรัฐบาลภายหลังการเกิดของน้องบิม และโดยการตรวจสอบสิทธิดังกล่าวแล้ว เราพบว่า ชื่อของน้องบิมปรากฏเป็นผู้ทรงสิทธิกองทุนเพื่อผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ สถานบริการหลักคือ โรงพยาบาลแม่สาย สถานบริการรองคือ สถานีอนามัยตำบลโป่งผา สิทธิของน้องบิมเริ่มต้นใช้ได้ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๓ โดยข้อแนะนำของคุณหมอหลายท่านและนักสงเคราะห์สังคมประจำโรงพยาบาลสำหรับการจัดการสิทธิของน้องบิม[1] คุณแม่ฝ้ายจะต้องพาน้องบิมไปแสดงตัวเพื่อขอหนังสือ/เอกสารยืนยันสิทธิจากงานประกัน (หรือฝ่ายที่รับผิดชอบเรื่องสิทธินี้) ของโรงพยาบาลแม่สาย หากจะต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาราชเชียงใหม่ ก็ต้องให้โรงพยาบาลแม่สายทำหนังสือส่งตัวหรือที่เรียกในภาษาปฏิบัติว่า “ใบ REFER” ซึ่งหากเป็นกรณีผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลมหาราชเชียงใหม่จะเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลมาที่โรงพยาบาลแม่สาย หากเป็นผู้ป่วยใน โรงพยาบาลมหาราชเชียงใหม่จะเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากกระทรวงสาธารณสุขได้ โดยอ้างหนังสือส่งตัวดังกล่าว

---------------------------------------

หมายเลขบันทึก: 484621เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2012 22:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 01:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท