องค์ประกอบความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ที่ส่งผลต่อประสิทธิผลองค์การของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา


องค์การแห่งการเรียนรู้

องค์ประกอบความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ที่ส่งผลต่อประสิทธิผลองค์การ

ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา

LEARNING ORGANIZATIONSHIP FACTORS AFFECTING

THE EFFECTIVENESS of the Primary Educational service Area

บทคัดย่อ

              การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1)ศึกษาระดับการดำเนินการตามองค์ประกอบความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (2)ศึกษาระดับประสิทธิผลองค์การของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ (3)ศึกษาองค์ประกอบความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ที่ส่งผลต่อประสิทธิผลองค์การของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ ผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงานและกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จังหวัดภาคใต้ จำนวน 15 เขตพื้นที่ จำนวน 360 คน ใช้เกณฑ์การคำนวณสูตรการเลือกกลุ่มตัวอย่างของ   ทาโร่ ยามาเน่ (Taro Yamane) ที่ระดับความคลาดเคลื่อน 0.05 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามประมาณค่า 5 ระดับ ที่ครอบคลุมความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้และประสิทธิผลองค์การของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ค่าความสอดคล้องอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย = 4.42) ผลทดลองใช้เครื่องมือมีความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.983 และมีค่าอำนาจจำแนกรายข้อทุกข้อมีค่าความสัมพันธ์ระหว่าง .384-.843 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบ Pearson Product Moment Co-efficient และการวิเคราะห์องค์ประกอบความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ที่ส่งผลต่อประสิทธิผลองค์การ     

               ผลการวิจัย พบว่า

  1.  ระดับความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาที่ตั้งอยู่ในภาคใต้ 14 จังหวัด อยู่ในระดับมากทุกด้าน เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ด้านการจัดองค์การ ด้านภาวะผู้นำ ด้านเทคโนโลยี ด้านการเรียนรู้ และด้านการจัดการความรู้

2.  ระดับประสิทธิผลองค์การของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาที่ตั้งอยู่ในภาคใต้ 14 จังหวัด อยู่ในระดับมากทุกด้าน เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ด้านความสำเร็จในการดำเนินงานด้านความสำเร็จทางการเงิน ด้านความพึงพอใจของผู้รับบริการ และด้านความสำเร็จในการเรียนรู้และพัฒนา

3.  องค์ประกอบของความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ มีความสัมพันธ์กับประสิทธิผลองค์การของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอยู่ในระดับสูง และองค์ประกอบความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ ร่วมกันส่งผลหรืออธิบายประสิทธิผลองค์การของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาได้ถึงร้อยละ 64.70 

คำสำคัญ  :  องค์ประกอบความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ ประสิทธิผลองค์การ

                                                Abstract

 The research objectives were (1)to investigate the learning organization of the primary educatio n service area, (2)to identify effectiveness of the primary education service area and (3) to study the learning organization which affected the effectiveness of the primary education service area. The sampling subjects included the administrator, work group directors  and members of the service area committee of the Southern provinces with total of 360 subjects by utilizing  formula  of Taro Yamane (a .05) The developed questionnaire which was checked by IOC(                         =4.42) and reliability of 0.983 and item-total correlation ranging 0.384-0.843. The percentage, , S.D. And analyzes the organization of learning that contribute to organizational effectiveness.

The results  were as follows :

  1. All factors of learning organization, including, organizing, leading, learning, knowledge management and information technology utilizing, were operated “much”
  2. The effectiveness of  the education service area, including, budgeting, stakeholders’ satisfaction, work achievement and learning achievement,  was “much”.
  3. There was considerably “high” relationship between learning organizationship  and  effectiveness of the education service area and learning organizationship could predicfor the effectiveness of the education service area by 64.70% 

 

Keyword: Learning Organizationship Factors, Effectiventss

บทนำ

              ในยุคโลกาภิวัตน์การเปลี่ยนแปลงด้านองค์ความรู้และกระบวนการบริหารจากองค์การหนึ่งจะส่งผลกระทบต่อองค์การอื่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความห่างไกลไม่ใช่อุปสรรคในการติดต่อสื่อสาร การเรียนรู้ร่วมกัน ความจำเป็นในการพัฒนาองค์การให้มีศักยภาพมีความสำคัญต่อความอยู่รอดความก้าวหน้าขององค์การมาก นั่นคือทำให้องค์การเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ ทุกคนจำเป็นต้องพัฒนาความรู้ความสามารถของตนเองให้สามารถใช้ในการปฏิบัติงานได้ดียิ่งขึ้น (ธีระ  รุญเจริญ, 2553 : 232) คนและองค์การจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์โดยอาศัยการเรียนรู้ เพราะโลกยุคใหม่จะทำให้เกิดรูปแบบใหม่ของกฎ ระเบียบ เงื่อนไขและข้อตกลงใหม่หรือที่เรียกว่า “Set of Rules & Regulation” แต่เนื่องจากโลกนี้เป็นโลกแห่งการแข่งขันที่รุนแรงในลักษณะของสงครามแห่งการแข่งขัน จึงอาจเรียกว่า ไม่มีกระบวนทัศน์ (No Paradigm) ก็อาจเป็นไปได้ ถึงอย่างไรก็ตามการที่คนและองค์การเกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องอย่างน้อยจะช่วยในเรื่อง 1)เพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขัน 2)เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถขององค์การ 3)เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง 4)เพื่อเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง (พิชัย  เสงี่ยมจิตต์, 2550 : 14) 

    สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาส่วนราชการไปสู่การเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ ดังที่ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 หมวด 3 มาตรา 11 ว่า “ส่วนราชการมีหน้าที่พัฒนาความรู้ ในส่วนราชการเพื่อให้มีลักษณะเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ โดยต้องรับรู้ข้อมูลข่าวสารและสามารถประมวลผลความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติราชการได้อย่างถูกต้อง รวดเร็วและเหมาะสมกับสถานการณ์ รวมทั้งต้องส่งเสริมและพัฒนาความรู้ ความสามารถ สร้างวิสัยทัศน์และปรับเปลี่ยนทัศนคติของข้าราชการในสังกัดให้เป็นบุคลากรที่มีประสิทธิภาพและมีการเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ  ให้สอดคล้องกับการบริหารราชการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามพระราชกฤษฎีกานี้” (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ, 2547 : 43) และได้กำหนดให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามีการพัฒนาองค์การให้เป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ ตามที่ระบุไว้ในมาตรฐานสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในมาตรฐานที่ 1 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา บริหารจัดการโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์และพัฒนาระบบการจัดการตามเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) ตัวบ่งชี้ที่ 2 มีการพัฒนาเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศ เกณฑ์การประเมินที่ 2 “มีการพัฒนาองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้” (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2552 : 25)  

    สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและส่วนราชการอื่นๆ ได้นำเอาความคิดเรื่ององค์การแห่งการเรียนรู้ไปดำเนินการในองค์การต่างๆ รวมถึง ตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน ถือได้ว่าสำนักงาน เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแต่ละเขตได้รับรู้ รับทราบและดำเนินการเกี่ยวกับการเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ และจากการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับองค์ประกอบ

ความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้กับประสิทธิผลองค์การส่วนใหญ่ จะเป็นการศึกษาในระดับสถานศึกษาหรือองค์การอื่น ๆ แต่สำหรับงานวิจัยองค์ประกอบความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาที่ส่งผลต่อประสิทธิผลองค์การนั้น ยังไม่พบว่ามีผู้ใดทำการศึกษาวิจัยไว้และยังมีปัญหาหลายประการที่กระทบต่อประสิทธิผลของสำนักงาน กอปรทั้งในปัจจุบัน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้มีการจัดระเบียบบริหารราชการในเขตพื้นที่การศึกษา โดยแยกเป็นสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2553 ตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2553

    ผู้วิจัยจึงเห็นควรศึกษาเกี่ยวกับองค์ประกอบของความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้  ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาที่ส่งผลต่อประสิทธิผลองค์การของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เพื่อได้สารสนเทศที่จะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาให้สอดคล้องกับทิศทางในการพัฒนาสังคมไทยและสังคมโลกในอนาคต อีกทั้งเป็นแนวทางในการวางแผนปรับปรุง พัฒนาหรือรักษาเสถียรภาพของความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้และประสิทธิผลองค์การของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาให้ดีขึ้น

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

  1. เพื่อศึกษาระดับการดำเนินการตามองค์ประกอบความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้

ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา

  1. เพื่อศึกษาระดับประสิทธิผลองค์การของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา
  2. เพื่อศึกษาองค์ประกอบความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ที่ส่งผลต่อประสิทธิผลองค์การของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา 

อุปกรณ์และวิธีดำเนินการวิจัย

              กรอบแนวคิดของการวิจัย การวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยได้ศึกษาแนวคิดทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง นำมากำหนดเป็นกรอบแนวคิดในการศึกษา (Conceptual Framework)  ซึ่งเป็นโครงสร้างของตัวแปรที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย ตัวแปรต้น คือองค์ประกอบความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้   ผู้วิจัยได้สังเคราะห์แนวคิดองค์ประกอบความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ตามแนวคิดของ Pedler, Burgone and Boydell (1991), Daft(1999), Kaiser(2000), Marquardt(2002) และ Senge(2006) ได้องค์ประกอบความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ซึ่งป็นตัวแปรต้น 5 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการจัดองค์การ ด้านภาวะผู้นำ ด้านการเรียนรู้ ด้านการจัดการความรู้  และด้านเทคโนโลยี  ส่วนตัวแปรตาม คือ ประสิทธิผลของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา กรอบแนวคิดประสิทธิผลองค์การของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาในการวิจัยครั้งนี้อาศัยแนวคิดของแคปแลนด์และนอร์ตัน (Kaplan and Norton, 1996) ที่เสนอแนวคิดในการประเมินองค์การแบบสมดุล (Balanced Scorecard)  4 มุมมอง ตามกรอบแนวคิดที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) นำมาประยุกต์ใช้ในการประเมินผลการปฏิบัติงานภาครัฐ 4 มุมมอง แต่เรียกเป็น 4 มิติ  และผู้วิจัยนำมาประยุกต์ใช้ในการประเมินประสิทธิผลองค์การของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาในงานวิจัยนี้ในมุมมอง 4 ด้าน ประกอบด้วย ด้านความสำเร็จทางการเงิน ด้านความพึงพอใจของผู้รับบริการ ด้านความสำเร็จในการดำเนินงาน และด้านความสำเร็จในการเรียนรู้และพัฒนา

              ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ประชากร ได้แก่ บุคลากรและกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจังหวัดภาคใต้ 30 เขต จำนวน  3,068 คน ประกอบด้วย ผู้บริหาร จำนวน 499 คน ผู้ปฏิบัติงาน จำนวน 2,089 คน และกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 480 คน กลุ่มตัวอย่าง ใช้สูตรของ ทาโร่ ยามาเน่ (Taro Yamane) ที่ระดับความคลาดเคลื่อน 0.05 ได้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 360 คน ประกอบด้วย ผู้บริหาร จำนวน 109 คน ผู้ปฏิบัติงาน จำนวน 145 คน และกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา ประถมศึกษา จำนวน 106 คน

              เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล เรื่อง องค์ประกอบความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้และประสิทธิผลองค์การของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา  สร้างโดยผู้วิจัยนำเอาองค์ประกอบที่ได้จากกรอบแนวคิดในการศึกษามาแปลความว่าในแต่ละองค์ประกอบควรมีข้อคำถามใดบ้าง แล้วสร้างข้อคำถามในแต่ละประเด็นตามกรอบแนวคิด   ในการวิจัย และให้อาจารย์ที่ปรึกษาตรวจสอบความถูกต้องตามโครงสร้างเนื้อหา แล้วนำข้อคำถามที่ได้จากการตรวจสอบจากอาจารย์ที่ปรึกษามาสร้างเป็นแบบสอบถาม แบ่งออกเป็น 3 ตอน ประกอบด้วย ตอนที่ 1 ข้อมูลพื้นฐานของผู้ตอบแบบสอบถาม มีลักษณะเป็นแบบเลือกตอบ ตอนที่ 2 ข้อมูลองค์ประกอบความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา มีลักษณะเป็นมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ และตอนที่ 3 ข้อมูลประสิทธิผลของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามีลักษณะเป็น มาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ ค่าอำนาจจำแนกเท่ากับ .384 - .843 และค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.983 การเก็บรวบรวมข้อมูล ผู้วิจัยได้จัดส่งแบบสอบถาม และได้รับกลับคืนมาร้อยละ 87.50

              การวิเคราะห์ข้อมูล ผู้วิจัยได้ดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้

  1. การวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับสภาพของผู้ตอบแบบสอบถาม โดยหาค่าร้อยละ (Percentage)
  2. การวิเคราะห์ระดับการดำเนินการเกี่ยวกับองค์ประกอบความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา โดยการหาค่าเฉลี่ย ( ) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)
  3. การวิเคราะห์ระดับการดำเนินการเกี่ยวกับประสิทธิผลองค์การของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา โดยการหาค่าเฉลี่ย ( ) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)
  4. การวิเคราะห์ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบ Pearson Product Moment Conefficient และการวิเคราะห์องค์ประกอบความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ที่ส่งผลต่อประสิทธิผลองค์การของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา

ผลการวิจัย

              ผลการวิจัยเรื่ององค์ประกอบความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ที่ส่งผลต่อประสิทธิผลองค์การของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา พบว่า

              1. ระดับความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาที่ตั้งอยู่ในภาคใต้ 14 จังหวัด อยู่ในระดับมากทุกด้าน เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ด้านการจัดองค์การ ด้านภาวะผู้นำ ด้านเทคโนโลยี ด้านการเรียนรู้ และด้านการจัดการความรู้

               2. ระดับประสิทธิผลองค์การของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาที่ตั้งอยู่ในภาคใต้ 14 จังหวัด อยู่ในระดับมากทุกด้าน เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ด้านความสำเร็จในการดำเนินงานด้านความสำเร็จทางการเงิน ด้านความพึงพอใจของผู้รับบริการ และด้านความสำเร็จในการเรียนรู้และพัฒนา

               3. องค์ประกอบของความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ มีความสัมพันธ์กับประสิทธิผลองค์การของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอยู่ในระดับสูง และองค์ประกอบความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ ร่วมกันส่งผลหรืออธิบายประสิทธิผลองค์การของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาได้ถึงร้อยละ 64.70

สรุปและอภิปรายผล

             สรุปผลการวิจัย เรื่ององค์ประกอบความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ที่ส่งผลต่อประสิทธิผลองค์การของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา พบว่า

              1.  ระดับความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาที่ตั้งอยู่ในภาคใต้ 14 จังหวัด อยู่ในระดับมากทุกด้าน เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ด้านการจัดองค์การ ด้านภาวะผู้นำ ด้านเทคโนโลยี ด้านการเรียนรู้ และ ด้านการจัดการความรู้

              2.  ระดับประสิทธิผลองค์การของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาที่ตั้งอยู่ในภาคใต้ 14 จังหวัด อยู่ในระดับมากทุกด้าน เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ด้านความสำเร็จในการดำเนินงาน ด้านความสำเร็จทางการเงิน ด้านความพึงพอใจของผู้รับบริการ และด้านความสำเร็จในการเรียนรู้และพัฒนา

              3.  องค์ประกอบของความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ มีความสัมพันธ์กับประสิทธิผลองค์การของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอยู่ในระดับสูง และองค์ประกอบความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ทุกด้าน ร่วมกันส่งผลหรืออธิบายประสิทธิผลองค์การของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาได้ถึงร้อยละ 64.70 

ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการนำผลการวิจัยไปใช้

 1. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ควรกำหนดนโยบายและแผนการพัฒนาให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพัฒนาองค์การให้เป็นองค์การแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะด้านการจัดการความรู้ที่ผลการวิจัยพบว่าความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ด้านนี้ยังมีการดำเนินการอยู่ในระดับมากแต่มีค่าเฉลี่ยน้อยน้อยที่สุด ควรส่งเสริมสนับสนุนให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาให้ความสำคัญกับพัฒนาระบบการจัดการความรู้ให้ มีการถ่ายโอนและเผยแพร่ให้ทุกคนในองค์การสามารถเข้าถึงความรู้และพัฒนาตนเองให้เป็นผู้รู้ รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาได้ค้นคว้าและพัฒนาระบบการจัดการความรู้อย่างต่อเนื่อง และนำข้อค้นพบจากการวิจัยไปใช้เป็นข้อมูลในการกำกับ ติดตาม วัดและประเมินผลการพัฒนาความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

             2. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาควรส่งเสริม สนับสนุนให้บุคลากรในองค์การ   ใช้ประโยชน์จากระบบเทคโนโลยีที่มีอยู่ในการจัดการความรู้ การเรียนรู้ของบุคลากรและประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการและพัฒนาองค์การให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มประสิทธิผลองค์การในด้านความสำเร็จในการเรียนรู้และพัฒนาที่ผลการวิจัยพบว่าอยู่ในระดับมากแต่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด รวมถึง นำผลการวิจัยมาเป็นแนวทางในการวางแผน ปรับปรุงพัฒนาหรือรักษาเสถียรภาพของความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิผลองค์การทั้งระบบอย่างต่อเนื่อง และนำผลมาปรับปรุงพัฒนาสู่ความเป็นเลิศในแต่ละด้านต่อไป

3. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาควรส่งเสริมและสนับสนุนให้โรงเรียนในสังกัดพัฒนาโรงเรียนให้เป็นองค์การแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืน

 ข้อเสนอแนะสำหรับการทำวิจัยครั้งต่อไป

                             1)  ศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิผลองค์การของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา นอกเหนือจากความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้

                                2)  ศึกษาองค์ประกอบความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ที่ส่งผลต่อประสิทธิผลองค์การของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษา         ขั้นพื้นฐานโดยภาพรวมของประเทศ

           3)  ศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิผลองค์การด้านความพึงพอใจของผู้รับบริการโดยตรง

เอกสารอ้างอิง

กระทรวงศึกษาธิการ. (2553). พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวง

                 ศึกษาธิการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2553.  สืบค้นเมื่อ 7 มีนาคม  2554

              จาก http://skm.sskedrea.net/law/2307-53-2.pdf.

ชยาธิศ  กัญหา. (2550). ปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิผลของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด

                 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. ปริญญานิพนธ์การศึกษาดุษฎี

              บัณฑิต. (การบริหารการศึกษา) บัณฑิตวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยบูรพา.

ชินภัทร  ภูมิรัตน์. (2554). การจัดการความรู้ในการจัดการศึกษา(Knowledge Management in

    Education). สืบค้นเมื่อ 16 พฤษภาคม  2554 จาก

    http://www.eng.ubu.ac.th/~personnel/personneldata/.../KM1.doc

 

ญาณิศา  บุญจิตร์.(2552).  การวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิผลองค์การของสำนักงาน

                 เขตพื้นที่ การศึกษา. วิทยานิพนธ์ครุศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (การบริหารการศึกษา) 

              บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ธวัช  กรุดมณี. (2550). การวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิผลองค์การของโรงเรียนที่บริหาร

    โดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน.

                วิทยานิพนธ์ครุศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (การบริหารการศึกษา)  บัณฑิตวิทยาลัย

              จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ธีระ  รุญเจริญ. (2553). ความเป็นมืออาชีพในการจัดและบริหารการศึกษา ยุคปฏิรูป

                 การศึกษา . กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด นวสาส์นการพิมพ์.

ปาลิกา  นิธิประเสริฐกุล. (2547). ปัจจัยด้านภาวะผู้นำและองค์การแห่งการเรียนรู้ที่ส่งผลต่อ

                 ประสิทธิผลของโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษา

                 ขั้นพื้นฐานในเขตพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก. วิทยานิพนธ์ปริญญา

              มหาบัณฑิต (การบริหารการศึกษา) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา.

ผดุงศักดิ์  หงส์ทอง. (2547). วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการพัฒนาองค์การแห่งการเรียนรู้

                 กับผล การประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงาน

                 เขตพื้นที่การศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 1 และเขต 2. ครุศาสตร์มหาบัณฑิต

              (การบริหารการศึกษา)  บัณฑิตวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา.

พิชัย  เสงี่ยมจิตต์. (มิถุนายน-พฤศจิกายน 2550) . “การบริหารองค์การแห่งการเรียนรู้

              สู่องค์การอัจฉริยะ”. วารสารครุทัศน์. (9) : 13-19.

มาลี  สืบกระแส. (2552). การพัฒนารูปแบบองค์การแห่งการเรียนรู้ของสำนักงานเขตพื้นที่

                 การศึกษา. วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (การบริหารการศึกษา) บัณฑิต

              วิทยาลัยมหาวิทยาลัยสยาม

มาร์ควอร์ดท. (2553). การพัฒนาองค์การแห่งการเรียนรู้.  แปลจาก Building the Learning

              Organization โดย บดินทร์  วิจารณ์ และวีระวุธ  มาฆะศิรานนท์. พิมพ์ครั้งที่ 7.

              กรุงเทพฯ : บริษัท ธนาเพรส จำกัด

วิโรจน์  สารรัตนะ และอัญชลี  สารรัตนะ. (2545). ปัจจัยทางการบริหารกับความเป็นองค์การ

                 แห่งการเรียนรู้ในโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการ

                 ประถมศึกษาแห่งชาติ เขตการศึกษา 9. กรุงเทพฯ : ทิพย์วิสุทธิ์.

สมศักดิ์  ชาญสูงเนิน. (2552). ตัวแปรที่ส่งผลต่อระดับความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ของ 

                 โรงเรียน. วิทยานิพนธ์  ศึกษาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (การบริหารการศึกษา)

              บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล.

สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ. (2545). เอกสารประกอบการศึกษา

                 ด้วยตนเองหลักสูตรผู้ช่วยผู้บริหารสถานศึกษาและผู้บริหารสถานศึกษา

                 ตามหลักเกณฑ์และวิธีพัฒนาข้าราชการครูเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งสายงานบริหาร

                 ในสถานศึกษา, กรุงเทพฯ : องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์.

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน.(2552) มาตรฐานสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 

                 การดำเนินงานตามกลยุทธ์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์งานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ. (2547). กรอบการประเมินผลการปฏิบัติราชการ

                 ตามคำรับรองการปฏิบัติราชการของส่วนราชการระดับกระทรวง กลุ่มภารกิจ

                 และส่วนราชการระดับเทียบเท่า ปีงบประมาณ พ.ศ. 2548. กรุงเทพฯ : สำนักงาน

              พัฒนาระบบราชการ.

Daft, Richard L. (1999). Leadership theory and practice. Fort worth : Tax Dryden Press.

Ellinger, A.D., Yang, B. & Ellinger, A.E. (2000). Is the Larning Organization for Real?

                 Examinig the Impacts of the Dimensions of the Learning Oganization on 

                 Performance. [On-line]. Available : http://www.edst. educ.ubc. ca/aerc/  

              2000/ellingeraetall-final.pdf.

Kaiser, S.M. (2000). Mapping the learning organization : Exploring a model of 

                 organizational learning. Dissertation for the Degree of Doctor of Philosophy

              of the , Louisiana State University.

Kaplan, R.S. & Norton, D.P. (1996). The Balanced Scorecard : Translating Strategy.

              Boston : Harvard Business School Press.

Pedler, Burgone & Boydell. (1991). The Learning Company :  A Strategy for sustainable

   development. Mardenhead :  McGraw – Hill.

Senge, P. M. (2006). The Fifth Disciplines: The Art and Practice of the Learning

   Organization. New York : Currency Doubleday books.

 

หมายเลขบันทึก: 484235เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2012 16:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 03:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท