สระลดรูป แปลงรูป 2/1 ชาตรี สำราญ


ในการสอนครั้งหนึ่ง ๆ นั้นได้ตั้งใจไว้ว่า ให้ผู้เรียนเกิด รู้ลึก ๆ ในจิตใจของผู้เรียน 3 เรื่องด้วยกันคือ รู้วิธีการเรียนรู้ รู้สึกต่อการเรียนรู้ รู้เรื่องที่เรียน

ได้กล่าวมาตั้งแต่ตอนต้นแล้วว่า  การสอนภาษาไทยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย  แต่ถึงแม้จะยากเพียงใดก็ต้องสอนเพราะการสอนคือชีวิตของเรา

            ในการสอนครั้งหนึ่ง ๆ นั้นได้ตั้งใจไว้ว่า  ให้ผู้เรียนเกิด  รู้ลึก ๆ ในจิตใจของผู้เรียน  3  เรื่องด้วยกันคือ

            1.  รู้วิธีการเรียนรู้  คือ  เมื่อจบบทเรียนแล้วผู้เรียนแต่ละคนต้องบอกตนเองได้ว่า  “เรื่องราวที่รู้นี้ตนมีวิธีการเรียนรู้ได้อย่างไร  เพราะวิธีการเรียนรู้วิธีหนึ่ง ๆ นั้นจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถดึงออกมานำใช้เรียนรู้เรื่องราวอื่น ๆ ที่มีสาระเรื่องราวคล้าย ๆ กันได้  เมื่อนำวิธีการเรียนรู้นั้นมาใช้บ่อย ๆ   ใช้จนได้ผลเป็นที่พอใจของผู้เรียน  วิธีการเรียนรู้นั้นจะฝังใจผู้เรียน

            2.  รู้สึกต่อการเรียนรู้  ตรงนี้สำคัญมาก   ถ้าผู้เรียนมีความรู้สึกดีต่อวิธีการเรียนรู้แล้ว  เขาจะตั้งหน้าตั้งตาเรียนรู้อย่างเต็มที่  ดั่งเช่น   สัดดัมอุเซ็ง  ลูกศิษย์คนหนึ่งของผม  เขาพยายามจัดทำหนังสือเล่มเล็กมาส่งผม  เขาทำอย่างดีมาก   วันที่นำผลงานมาส่ง  สัดดัมอุเซ็ง  ส่งผลงานด้วยดวงตาที่บ่งบอกความพอใจเห็นได้ชัดเจน  อีก  3  วันต่อมาผมเข้าไปทำงานที่กรุงเทพฯ  วันกลับมาสอนวันแรก  ผมยื่นเงินให้สัดดัมอุเซ็ง  200   บาท   บอกเขาว่า “ครูขายหนังสือเล่มนั้นไป  200  บาท”  สัดดัมอุเซ็งดีใจมาก  เขานำเงินกลับไปให้แม่ของเขาที่บ้าน  และผลงานเล่มต่อ ๆ มาของสัดดัมอุเซ็งก็พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ   เด็กคนอื่น ๆ  ก็เช่นกัน พอรู้ว่า สัดดัมอุเซ็งขายผลงานได้ เขาก็รีบพัฒนาฝีมือการทำหนังสือเล่มเล็กขึ้นจนขายได้เช่นกัน  นี่คือความรู้สึกดี ๆ ที่มีต่อการเรียนรู้

            3.  รู้เรื่องที่เรียน  เมื่อผู้เรียนรู้และเข้าใจต่อวิธีการเรียนรู้  มีความรู้สึกดี ๆ ต่อการเรียนรู้  สิ่งที่แฝงเข้าไปทีละนิด ๆ  ในจิตใจของเขาคือ  รู้เรื่องที่กำลังเรียนรู้  จากการรู้เล็ก ๆ เป็นภาพจาง ๆ  เกิดขึ้นภายในใจของเขา  ภาพนั้นจะค่อย ๆ  ชัดเจนขึ้น ๆ  ขยายวงกว้างขึ้น  นั่นคือ เขาจะมีความรู้ในเรื่องนั้นแบบลึกและกว้างขึ้นในที่สุด  แต่เป็นการรู้แบบค่อย ๆ รู้  การรู้แบบนี้เรียกว่า  รู้มาจากข้างใน  ความรู้แบบนี้เป็นความรู้ที่ผู้เรียนสร้างขึ้นมาเองด้วยตัวของผู้เรียน  ความรู้แบบนี้เกิดจากการหลอมรวม  ความรู้ด้วยตัวของผู้เรียนเอง  เริ่มจากความรู้เดิมที่เขาพอจะมีอยู่บ้าง  ค่อย ๆ  ผสมกับความรู้ใหม่ที่เขาค่อย ๆ ได้มา  มาหลอมรวมกันจนเกิดรู้  พอภาวะรู้เกิดขึ้น จิตของเขาจะกระจ่าง  เพราะเขารู้เรื่องนั้นอย่างเต็มที่และครบองค์ความรู้  ตัวองค์ความรู้นี้ถ้าผู้เรียนนำมาคิดใคร่ครวญ  พินิจพิจารณาบ่อย ๆ  จากความรู้ใหญ่ ๆ ค่อยบีบเข้ามาๆ  เป็นผลึกคิดหรือ มโนทัศน์  ตัวนี้เองที่สามารถฝังแน่นในใจของผู้เรียน  เป็นความรู้ลึก ๆ ที่เขามีในเรื่องนั้น ๆ

            การสร้างความรู้แบบนี้ผู้เรียนจะต้องผ่านการนำสิ่งที่เขารู้มาใช้มาคิดบ่อย ๆ จนความรู้นั้นเกาะติดในใจแน่นแล้วจะหล่อหลอมเป็นผลึกคิด

            การทำซ้ำ ๆ  นี้ ผู้สอนจะต้องจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนกระทำโดยไม่ซ้ำแบบ  เพราะเด็ก เบื่อที่จะทำ    ซ้ำ ๆ  ดังนั้นต้องให้พวกเขามีโอกาสเคลื่อนไหวร่างกายโดย

            1.  ศึกษาค้นคว้าหาความรู้จากหลายแหล่งเรียนรู้

            2.  นำตัวรู้ที่ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

            3.  บันทึกความรู้ที่ได้มาในรูปแบบเล่าเรื่อง  ทบทวนเรื่องที่เขียนเล่าจนเป็นที่พอใจ ตรวจสอบความถูกต้อง

            4.  นำเรื่องที่เขียนเล่า (จากข้อ 3) มาจัดทำเป็นหนังสือเล่มเล็กหรือตำราเรียนเขียนด้วยเด็ก

อ่านเป็นเล่มได้ที่นี่ครับ https://docs.google.com/docume...

หมายเลขบันทึก: 484202เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2012 11:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 ตุลาคม 2018 12:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท